xs
xsm
sm
md
lg

แก้ไม่ตก โฆษณาเคเบิ้ลทีวี โม้เกินจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใกล้ได้สัมผัสกันไปทุกทีสำหรับทีวีดิจิตอลที่คนไทยบางส่วนเริ่มตื่นตัวและตื่นเต้นกันอยู่ไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาเรื้อรังยาวนานของโฆษณาทางเคเบิลทีวีที่มักอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงก็ยังไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมได้รับความนิยมมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค จึงน่าวิตกกังวลว่า ผู้บริโภคจำนวนมากอาจหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหาย

ปัญหาการโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทางเคเบิลทีวี (Cable TV) และโทรทัศน์ดาวเทียม (Satellite TV) ถูกนำมาถกกันอีกครั้ง หลังเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรงศิริ จุมพล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาเตรียมเสนอเลขาธิการ สคบ. ให้พิจารณาแนวทางควบคุมการโฆษณาที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการโฆษณาสินค้าและบริการ ผ่านเคเบิลทีวีและดาวเทียม อาทิ อาหารเสริมสุขภาพและเครื่องสำอาง เนื่องจากมีผู้เข้ามาร้องเรียนว่า เนื้อหาการโฆษณาสินค้านั้นมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

ในเบื้องต้นมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาของโฆษณาแล้ว หากพบว่าอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอาจมีความผิดตามกฎหมาย สคบ. สำหรับสินค้าที่เป็นอาหารเสริม ทาง สคบ. จะเข้าร่วมตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสามารถพิจารณาโทษตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 5 การขึ้นทะเบียนและการโฆษณาเกี่ยวกับอาหาร มาตราที่ 40 มาตราที่ 41 และมาตราที่ 42 ดังนี้

มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร

มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้

มาตรา 42 เพื่อพิทักษ์ประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ (1) ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้จำหน่ายอาหาร หรือผู้ทำการโฆษณาระงับการโฆษณาอาหารที่เห็นว่าเป็นการโฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 41 (2) ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้จำหน่ายอาหาร หรือผู้ทำการโฆษณาอาหาร ระงับการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย หรือการโฆษณาอาหารที่คณะกรรมการเห็นว่าอาหารดังกล่าวไม่มีคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณตามที่โฆษณา

นอกจากนั้น ทาง สคบ. ยังได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับหน่วยงานราชการ 11 แห่ง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมป้องกันการโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภคของผู้ประกอบกิจการทางโทรทัศน์แบบเคเบิลทีวีและดาวเทียม เพราะในปัจจุบันการโฆษณาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหลงเชื่อและได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวได้ถูกร้องเรียนมาเป็นระยะ ดังเช่นในปี 2555 ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 16 จังหวัด ก็ได้มีการยื่นหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง เพื่อให้ควบคุมโฆษณาที่เป็นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพเผยแพร่ทางทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และวิทยุชุมชน โดยระบุว่า เนื้อหาการโฆษณากว่าร้อยละ 95 ฝ่าฝืนพ.ร.บ.อาหาร มีการโฆษณาที่แสดงสรรพคุณเป็นยา ว่าบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค รวมถึงบำรุงร่างกายได้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น