อุบลราชธานี - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟันธงพฤติกรรมบวกความไม่รู้ และแรงกระตุ้นฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม สถานีวิทยุชุมชน ตัวการชักชวนประชาชนใช้สารอันตราย ทั้งเสริมความงาม รักษาโรค แนะรัฐเพิ่มโทษ ยึดทรัพย์ผู้ผลิตตามความผิดที่ทำ จะได้เกรงกลัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้างสรรพสินค้าซิตี้ มอลล์ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเสด ประเทศไทย จัดเวทีเสวนา “ฉลาดซื้อ ฉลาดกิน ฉลาดใช้ภัยไม่มี” โดยมีตัวแทนกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขจังหวัด ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมระดมความเห็น
นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการ ถาม เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบอาหาร และยารักษาโรคที่เป็นอันตรายต่อประชาชนถึงการตรวจจับที่ผ่านมา ซึ่งเภสัชกรวรวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะพบปัญหาการจำหน่ายยา หรืออาหารเสริมที่โอ้อวดสรรพคุณเกินความจริงตามชนบท แต่ปัจจุบันพบการจำหน่ายในเขตเมืองด้วย
ปัญหาการจำหน่ายยา หรือาหารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะในชนบท คนในเมืองก็มีโอกาสได้รับอันตรายด้วย ส่วนตัวยาที่ห้ามใช้มีหลายตัว แต่ที่พบมีการนำใช้มากที่สุดคือ กลุ่มตัวยาสเตียรอยด์ผสมอยู่ในกลุ่มอาหารเสริม เช่น โสมสกัด น้ำผลไม้ลดน้ำตาลในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาหารลดความอ้วน และเครื่องสำอาง บางผลิตภัณฑ์ยังพบสารบางตัวที่มีฤทธิ์ต่อการทำลายตับสูงกว่าปกติถึง 300 เท่า
โดยตัวยาที่ถูกผสมอยู่ในอาหาร และเครื่องใช้ต่างๆ นี้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ ทำให้เสียชีวิตได้ และบางคนที่ไม่ป่วย เมื่อได้รับสารพิษจากตัวยาที่ผสมอยู่ ก็ทำให้กลายเป็นผู้ป่วยได้ ส่วนอาการทำให้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน คือ หัวใจวายจากการได้รับสารพิษเกินปริมาณ
แนวทางการแก้ไขการลักลอบขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชนนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการออกแบบชุดตรวจสอบผลิตภัณฑ์เบื้องต้นให้ อสม.ใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่สงสัย และถ้ายังมีความสงสัยเพื่มเติม อสม.จะส่งผลิตภัณฑ์นั้นมาให้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจซ้ำอีกที เพื่อยืนยันความผิดปกติของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ได้ทำเว็บไซต์ชื่อ www.tumdee.org ใช้เผยแพร่รูปร่างหน้าตา ชื่อของผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ที่เป็นอันตราย และห้ามจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้สะดวก จะได้ไม่ซื้อมาใช้อีก
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องมีการเพิ่มบทลงโทษผู้ผลิต หรือจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันมีอัตราโทษน้อย และต้องใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาแก้ปัญหาด้วย เพราะถ้าทำความผิดมากเพียงใด ก็ควรให้ได้รับโทษ และยึดทรัพย์สินมาชดใช้ตามความเสียหายที่ก่อขึ้น จะทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเกรงกลัวไม่กล้าทำอีก ซึ่งปัจจุบัน แม้จะมีการตรวจจับได้ ผู้ผลิตก็เปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์แล้วกลับมาทำผิดซ้ำอีก จึงยังแก้ปัญหาการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันตรายในตลาดไม่ได้
ขณะที่เภสัชกรหญิงกาญจนา มหาพล หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการตรวจจับผลิตภัณฑ์อันตรายว่า มีการสร้างเครือข่ายตรวจสอบผ่าน อสม. และมีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายตามร้านที่มีอยู่กว่า 9,000 ร้าน ของจังหวัด ที่ผ่านมา ตรวจพบผลิตภัณฑ์อันตรายหลายยี่ห้อ ส่วนใหญ่ไม่ติดฉลากแสดงแหล่งผลิต หรือหากมีการติดฉลากก็ใส่ที่อยู่ปลอม
ปัจจุบัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ทำโครงการ “หมู่บ้านกักกันสุขภาพ” โดยให้เครือข่าย อสม.เป็นกลไกสำคัญที่จะเข้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายตามร้านค้าในชุมชน ตามตลาดนัดเคลื่อนที่ และการขายตรง หากพบความผิดปกติ จะส่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์มาให้ตรวจสอบ แล้วเข้าจับกุมยึดผลิตภัณฑ์อันตรายออกจากแผงจำหน่ายทันที ซึ่งก็เป็นกระบวนการหนึ่งใช้ป้องกันไม่ให้ประชาชนเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์ปลอม ที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตได้
สำหรับนายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้ประชาชนภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การโฆษณาผ่านสื่อเป็นตัวจักรสำคัญทำให้ประชาชนหลงเชื่อ หันมาใช้ผลิตภัณฑ์อันตราย โดยปัจจุบันพบว่า มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อาหารเสริมยี่ห้อหนึ่งผ่านสถานีโทรทัศน์ระดับแนวหน้าของเมืองไทย สามารถช่วยลดไขมัน ลดความอ้วนได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะอาหารไม่ใช่ยา และยาก็ไม่ใช่อาหาร
โดยเฉพาะตามสถานีวิทยุชุมชนปัจจุบัน พบมีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม น้ำผลไม้หมักอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบการกระจายเสียง ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการเฝ้าฟัง และบันทึกเทปการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ ทั้งฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และสถานีวิทยุชุมชนทุกจังหวัด เพื่อเอาผิดต่อผู้โฆษณาเหล่านี้เป็นระยะ แต่ก็ยังพบการฝ่าฝืน
และที่สำคัญคือ แม้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณสินค้าเกินจริง ทำให้คนป่วยหลงเชื่อมากินแทนยาที่แพทย์ให้ ทำให้เสียชีวิตก็มีเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และเอาผิดต่อเจ้าของผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง ไม่ใช่จับมาแล้วก็เปรียบเทียบปรับเป็นเงินแค่ 5,000 บาท ก็กลับไปทำใหม่ เพราะมีรายได้มากกว่าค่าปรับหลายพันเท่า
ด้านนายวิรัตน์ คำคูณ ผู้แทนของ กสทช.อุบลราชธานี กล่าวถึงการควบคุมดูแลการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ว่า เจ้าหน้าที่ กสทช.ไม่มีอำนาจไปตรวจจับการโฆษณาชวนเชื่อได้โดยตรง เมื่อตรวจพบ หรือได้รับการร้องเรียนก็ต้องส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อปรากฏหลักฐานการทำผิดชัดเจนก็จะถอนใบอนุญาตการตั้งสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ได้เท่านั้น
ขณะที่ นางแสงดาว ดวงแก้ว ประธาน อสม.บ้านหัวดูน ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงการตั้งกลุ่มป้องกันตนเองจากภัยของผลิตภัณฑ์อันตรายว่า จะมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์แบบขายตรง ที่มีผู้นำมาเสนอขายให้แก่ชาวบ้าน โดยจะพูดคุยกับผู้นำมาจำหน่าย เพื่อขอดูตัวผลิตภัณฑ์ หากไม่ให้ตรวจสอบก็จะไม่อนุญาตให้นำมาขายในชุมชน
เมื่อคนขายเห็นว่าเราเอาจริง และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความผิดปกติก็ไม่กล้าเอาผลิตภัณฑ์ให้ดู จะรีบเดินหนีขึ้นรถขับออกไปจากชุมชน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาการหลอกขายผลิตภัณฑ์อันตรายได้
ด้านนายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนสมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวถึงกระบวนการสร้างความรู้ให้แก่ชาวบ้านในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ว่า ในอดีตมีคนนำผลิตภัณฑ์ไปเดินเร่ขายตามหมู่บ้าน เมื่อคนในชนบทซื้อไปกินแล้วรู้สึกอาการป่วยดีขึ้นทันที จะหลงเชื่อซื้อมากินต่อเนื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าไปพูดคุยก็ไม่ยอมให้รายละเอียด กระทั่งต่อมาเมื่อกินเข้าไปมากๆ แล้วเกิดผลข้างเคียง ทำให้ตัวบวมฉุถึงยอมบอกความจริง
ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ ไม่กล้าร้องเรียนผู้นำผลิตภัณฑ์มาขาย หรือบางรายก็ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน ทำให้กระบวนการขายอาหารเสริม หรือยาที่เป็นอันตราย ยังสามารถดำเนินธุรกิจของตนไปได้เรื่อยๆ มูลนิธิต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไปแก้ความเชื่อแบบผิดๆ ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ในจังหวัดดีขึ้น แต่ก็ยังมีการนำผลิตภัณฑ์อันตรายวางจำหน่าย แต่มีปริมาณน้อยลง
ข่าวแจ้งว่า ระหว่างการดำเนินรายการ ปรากฏว่า มีประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังนำตัวผลิตภัณฑ์หลายชนิดให้เจ้าหน้าที่เภสัชกรทำการทดสอบ พบมีผลิตภัณฑ์บางตัวอยู่ในข่ายต้องสงสัยจะมีอันตรายต่อผู้ใช้ เจ้าหน้าที่จึงขอเก็บตัวอย่างไปทดสอบด้วย
รวมทั้งประชาชนที่มาร่วมฟังได้แสดงความเห็นว่า บทลงโทษผู้ทำผิดยังเบาทำให้ไม่เกรงกลัว และพบว่า สถานีวิทยุชุมชนส่วนใหญ่ยังมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอย่างผิดกฎหมาย โดยบางสถานีถูกสั่งปิดไปแล้ว แต่ก็เปลี่ยนชื่อสถานีมาเปิดดำเนินการใหม่อีกด้วย