ถ่ายทอดแถลงการณ์ดรามาน้ำตานองของรักษาการนายกฯ ได้ตั้งหลายนาที พอถึงทีฝั่งผู้ชุมนุมอ่านแถลงการณ์บ้าง NBT (ช่อง 11) กลับเพิกเฉย ไม่ยอมเผยแพร่ข้อเท็จจริง ส่วน MCOT (ช่อง 9) เองก็ยอมสละเวลาเพียง 10 นาทีแล้วตัดสัญญาณหนีเข้ารายการปกติ ทั้งที่ฟรีทีวีช่องอื่นๆ อย่าง 3, 5, 7 และ ThaiPBS ยอมนำเสนอจนจบสาระสำคัญ
เลือกปฏิบัติ ทำหน้าที่ไม่เป็นกลางแบบนี้ มีหรือจะรอดพ้นสายตานับล้านของประชาชนไปได้ ชาวเน็ตจึงลุกขึ้นมาก่นด่ากันยกใหญ่ ตั้งชื่อใหม่ให้ฟรีทีวีทั้ง 2 ช่องว่าไม่มีคุณสมบัติของสื่อมวลชน แต่เป็นได้แค่ “ทาสรัฐบาล”!!
เลิกดูนานแล้ว ช่องแบบนี้!!
“ช่วงหลังมา ช่อง 3 นำเสนอข่าวฝั่งมวลมหาประชาชนเยอะขึ้นมาก ทั้งยังเสนอในแง่ที่ดูแล้วเป็นบวกด้วย แต่ช่อง 9 นี่ทุเรศมากๆ ตั้งแต่ปีนู้นที่ถอดรายการคุณกนกออก ช่อง 9 ก็รับใช้แม้วเต็มตัวแล้วล่ะครับ”
“เลิกดูมานานแล้ว มีแต่การเมืองภายใน คนดีอยู่ไม่ได้ ต้องคอยพูดเอาใจรัฐบาล ถึงจะอยู่ได้”
“ก็เข้าใจนะว่าทั้ง 2 ช่องนั้นดูแลโดยรัฐบาล แต่ถ้ามองถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องมีหน้าที่รายงานเหตุการณ์หรือเรื่องสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นให้คนได้รับทราบ ตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นการทำงานที่น่าผิดหวังมากๆ ต้องถือว่ามันเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยเลยนะ”
“หลังจากเอาผู้บริหารติดคุกแล้ว เอาช่อง 9 ให้ประชาชนบริหารดีกว่า ผมเลิกดูมันตั้งนานแล้วไอ้ช่องนี้”
และอีกมากมายหลากความคิดเห็นที่ประโคมโพสต์แสดงความรู้สึกเอาไว้บนโลกออนไลน์ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยหมดศรัทธาในการทำหน้าที่ “สื่อมวลชน” ของทั้งช่อง MCOT และ NBT หลังจากเห็นแล้วว่าเลือกที่จะไม่นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน
คือในระหว่างที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อ่านแถลงการณ์ ฟรีทีวีทุกช่องยินดีถ่ายทอดสดเหตุการณ์ทั้งหมดพร้อมๆ กัน แต่ NBT กลับไม่ยอมให้พื้นที่ แล้วออกอากาศการสัมภาษณ์ วิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำลังวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมอย่างรุนแรงแทน
ส่วน MCOT ยอมโอนอ่อนผ่อนตามเพียงเล็กน้อย ให้เวลาออกอากาศแถลงการณ์เพียง 10 นาที แล้วตัดสัญญาณเข้ารายการเกมโชว์ “My Man Can แฟนฉันเก่ง” ทันที อย่างกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับผืนแผ่นดินไทย ยิ่งเปรียบเทียบกับเวลาที่ให้รักษาการนายกฯ ออกมาแถลงการณ์เคล้าน้ำตาแล้ว ยิ่งทำให้หลายฝ่ายเห็นได้ชัดว่าสื่อทั้ง 2 ช่องนี้ ไม่ควรค่าที่จะถูกเรียกว่า “สื่อมวลชน”
“การที่เราพูดถึง NBT และ MCOT เราก็อาจจะต้องมองภายใต้บริบทขององค์กรด้วย ว่าอาจจะถูกควบคุมโดยใคร และอาจจะต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องเกิดขึ้นจริงๆ ในบ้านเรา เป็นการขัดขวางเสรีภาพการนำเสนอ และอาจจะทำให้ทางรัฐเองถูกประณาม เพราะไม่ได้รับผิดชอบต่อสังคม แต่รับผิดชอบต่อผู้มีอิทธิพลในการครอบงำแทน
หลักการเรื่องเสรีภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่สื่อเองควรรักษาไว้ แต่สิ่งที่ NBT และ MCOT ทำ อาจจะทำให้มองได้ว่าเป็นเพราะใกล้ชิดกับรัฐบาล เลยทำให้นำเสนอแบบเข้าข้าง ประเด็นนี้ยังพูดได้ไม่ชัดเจนมากนัก เพราะถ้าจะบอกว่าสื่อทุกชนิดจะต้องเสนอคำแถลงการณ์ยาวๆ ของทุกฝ่าย อันนี้บางสถานีเขาอาจจะไม่สะดวก ด้วยระบบองค์กร จึงทำให้ต้องเลือกใช้วิธีตัดมาเสนอเป็นช่วงๆ แทน และถ้าประชาชนอยากดู ปัจจุบันก็มีสื่อทางเลือก สื่ออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและประชาชนสามารถพึ่งพาได้จริงๆ”
รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล อนุกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ดูแลเรื่องการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แสดงความคิดเห็นเอาไว้ เหมือนต้องการพูดเป็นนัยว่า เมื่อสื่อหลักพึ่งไม่ได้ ก็ให้หาทางเสพสื่อทางเลือกเอาแล้วกัน
NBT = กระบอกเสียงรัฐบาล
"สื่อทาสรัฐบาล" ศัพท์ใหม่ที่มอบให้ช่อง NBT และ MCOT ไม่ใช่แค่วาทกรรมเพื่อสาดอารมณ์จากประชาชนเท่านั้น แม้แต่ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ยังช่วยยืนยันอีกแรงว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะจากการนั่งมอนิเตอร์สื่อฟรีทีวีมาตลอดช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า NBT ทำหน้าที่หลักๆ เพียงอย่างเดียวคือ “เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล”
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับช่อง NBT ชัดเจนว่าพื้นที่ข่าวค่อนไปในทางสนับสนุนรัฐบาลมากกว่าทางอื่น หลักฐานสำคัญก็คือว่าแหล่งข่าวที่ใช้มี 2 ประเภท อันที่หนึ่ง นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล รัฐมนตรีหัวหน้าพรรค มาให้สัมภาษณ์ในรายการทอล์กโชว์ อันที่สอง กลุ่มนักการเมืองมาออกในรายการสนทนาของช่อง NBT ทั้ง 2 กลุ่มนี้ คือกลุ่มคนที่เป็นไปในทางเดียวกัน
เวลาที่พูดถึงว่าสื่อไหนดำรงความเป็นกลางทางการเมืองเอาไว้หรือเปล่า เราต้องดูว่าความคิดเห็นมันมีหลากหลายหรือไม่ เท่าที่ผมดู ปรากฏชัดว่า ช่อง NBT ถึงแม้จะเอาหลายคนมาออกรายการ แต่ว่าความคิดเห็นหรือทัศนะทางการเมืองที่แสดงออกมามันไปทางเดียวกันทั้งหมด คือปกป้องหรือสนับสนุนสิ่งที่รัฐบาลกระทำ
เพราะฉะนั้น เวลาที่เราดูรายงานข่าวสนทนาช่อง NBT ให้รู้ไว้เลยว่าไม่ได้รายงานข่าวในลักษณะการแสดงความคิดเห็นที่สมดุลเลย นี่คือปัจจัยแรก
ปัจจัยที่ 2 สังเกตเห็นว่าปริมาณพื้นที่รายการถูกปรับเปลี่ยนให้มีรายการพิเศษเพิ่มมากขึ้น ปกติ NBT จะมีรายการอื่นๆ ด้วย แต่พอเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ทางช่องก็ยกรายการปกติออกไป แล้วเพิ่มรายการพิเศษเข้ามา เป็นรายการเกาะติดสถานการณ์การชุมชุม และมีรายการอีกรูปแบบหนึ่งคือสารคดีเชิงข่าว พูดปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาว่ามีที่มาอย่างไร แต่ไม่ค่อยยอมพูดถึงประเด็นขัดแย้งในเรื่องที่มาที่ไปของระบอบทักษิณ
มีการพูดถึงข้อมูลเพียงบางส่วนเท่านั้น คือเป็นความจริงครึ่งหนึ่ง อีกส่วนก็ละเลยทิ้งไป เพราะฉะนั้น เวลาดูรายการข่าวก็จะรู้สึกเหมือนเอนเอียงไปข้างเดียว แต่ก็โอเค อาจจะบอกได้ว่าช่อง NBT กำลังทำหน้าที่ปกป้อง พิทักษ์รัฐบาลอยู่ นี่คือจุดเด่นของเขาเลย จะใช้ช่องนี้แหละโต้วาทกรรมของ กปปส. หมดเลย
จริงๆ แล้ว NBT เขาต้องมีพันธกิจในการสร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาล รัฐสภา กับประชาชน แต่ดูเหมือนว่า NBT จะตีความคำว่า “ความเข้าใจอันดี” เป็นไปในแบบทางเดียว ซึ่งเป็นแง่มุมที่ค่อนข้างบิดเบี้ยว มีแต่พิทักษ์ผลประโยชน์ของรัฐบาล ไม่ใช่รายการเพื่อทำประโยชน์สาธารณะของประชาชนสักเท่าไหร่ ผมว่าเป็นการตีความที่ผิดเพี้ยนจากที่กฎหมายเขียนเอาไว้เยอะ กฎหมายเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะ การประชาสัมพันธ์นิทรรศการที่ประชาชนควรจะรู้ เพื่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน แต่ NBT ตีความไปเข้าฝั่งรัฐบาล ตีความผิดไปไกลเลยล่ะ
ยิ่งมีรายการ “ความจริงวันนี้” เข้ามาอีก ยิ่งสะท้อนข้อเท็จจริงเข้าไปอีกว่า NBT ไม่ใช่สื่อสาธารณะ แต่เป็นกระบอกเสียงฝ่ายเดียวของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหมือนกันนะ”
เบื้องหลัง "ฟรีทีวีทาส"
ส่วนช่อง MCOT ก็อาการหนักไม่แพ้กัน ถึงแม้จะไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์อย่าง NBT แต่ก็เป็นฟรีทีวีที่ถูกครอบงำทุกยุคทุกสมัย เรียกว่าเป็น “แดนสนธยา” ของสื่อมวลชน ไม่มีทางออกให้คนข่าว ไร้เสรีภาพที่แท้จริงในการนำเสนอ
ด้วยโครงสร้างองค์กรที่ผิดมาตั้งแต่ต้น อยู่ภายใต้การดูแลของ อสมท ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้นหลักอยู่ถึง 2 ใน 3 ของหุ้นทั้งหมด ที่สำคัญ บอร์ด อสมท ก็เป็นบอร์ดที่ถูกแต่งตั้งมาจากฝั่งการเมือง มีนักการเมืองนั่งชี้นิ้วอยู่ภายใน และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองอยู่มากมาย บอร์ดผู้บริหารจึงมีอิทธิพลล้นฟ้าในการควบคุมดูแลรายการข่าวของช่อง ทำให้ฟรีทีวีนี้กลายเป็น “ฟรีทีวีทาส” อย่างที่ประชาชนครหาเอาไว้ได้อย่างง่ายดาย
“รายการอื่นๆ ของ MCOT ไม่ค่อยมีปัญหาหรอกครับ เพราะเป็นรายการบันเทิง เป็นธุรกิจแบบเหมาช่วงเวลาตามปกติ แต่ทิศทางข่าวของ MCOT ก็ไม่เป็นอิสระ แต่ก็ไม่ถึงกับชัดมากอย่าง NBT ที่ปกป้องรัฐบาลอย่างถึงลูกถึงคน
โดยแท้จริงแล้ว MCOT มีองค์ประกอบของคนทำงานในสำนักข่าวไทยที่ถูกฟูมฟักมานานในเชิงของความเป็นอิสระส่วนหนึ่ง แต่ช่วยไม่ได้ที่บอร์ด อสมท และผู้อำนวยการสถานี ถูกแต่งตั้งจากทางการเมือง และมีนโยบายชัดเจนต่อการนำเสนอข่าวเชิงบวกให้รัฐบาล
เพราะฉะนั้น ถามว่าข่าวรายงานสถานการณ์ เช่น การชุมนุม เป็นไปในทางที่พอรับได้มั้ย? ตอบว่ารับได้ เพราะ MCOT ไม่ถึงกับ NBT ที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน แก้ต่าง-แก้ตัวให้รัฐบาล แต่ MCOT จะใช้วิธีหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ พูดง่ายๆ ว่าMCOT จะให้ความสำคัญกับม็อบแค่เพียงเหตุการณ์อันเป็นสาระสำคัญ แต่จะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ม็อบเรียกร้องหรือพูดถึงเท่าไหร่” ธาม นักวิชาการด้านสื่อชื่อดัง ยังคงวิเคราะห์อย่างดุเด็ดเผ็ดมันต่อไป
“ผมคิดว่าจะต้องมีคนในMCOT บางส่วนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทั้งหมด ข่าวMCOT จึงไม่ได้ทำในเชิงปกป้องรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เอาใจความของม็อบมานำเสนอเหมือนกัน พูดง่ายๆ คืออาจจะปิดตาข้างหนึ่งและเลือกที่จะเงียบ ไม่นำเสนออีกครึ่งนึง”
หลังจากม็อบเดินขบวนเข้ามาขอพื้นที่สื่อตามสำนักต่างๆ ถึงสำนักงานก็ทำให้บางรายพยายามปรับเพิ่มพื้นที่การนำเสนอ มอบพื้นที่ให้ฝั่งผู้ชุมนุมมากขึ้น รวมถึง MCOT ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อ “ความเป็นกลาง” ที่สื่อมวลชนควรมีอยู่ดี
“วิธีการปรับการรายงานข่าวให้มีความเป็นกลางมากขึ้น มีอยู่ 2 แบบคือ ปรับจากไม่เคยให้พื้นที่ เปลี่ยนเป็นมาให้พื้นที่บ้าง คือ เพิ่มสัดส่วนพื้นที่ในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมว่า อยู่จุดไหน ทำอะไร เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จากเดิมอาจจะไม่รายงานความเคลื่อนไหวของม็อบเลย แต่พอม็อบมาเดินขบวนเรียกร้อง ก็เพิ่มพื้นที่ให้ แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่นำเสนอฝั่งรัฐบาลขึ้นเหมือนกัน คือไม่ได้เพิ่มพื้นที่ข่าวให้เฉพาะผู้ชุมนุม แต่เพิ่มพื้นที่ข่าวให้รัฐบาลด้วย
แบบที่ 2 คือปรับแค่การรายงานข่าวเชิงสถานการณ์ แต่ไม่ได้ปรับให้มีการรายงานข่าวเชิงลึก วิเคราะห์สถานการณ์สืบสวนเบื้องหลัง คือจะได้ข้อมูลแค่คุณสุเทพพูดว่าอะไร แต่ยังไม่ค่อยมีการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สำหรับการสนทนาปัญหาบ้านเมือง อันนี้เขาไม่ยอมปรับ เพราะปรับไม่ได้ อย่าง MCOT ที่ผังรายการยืดหยุ่นไม่ได้
ซึ่งจริงๆ แล้ว รายการวิเคราะห์สถานการณ์เชิงลึกสำคัญมากนะในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ประชาชนไม่ได้ต้องการเสพข่าวเฉพาะหน้า ข่าวเหตุการณ์เท่านั้น แต่ประชาชนต้องการบทวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจ แต่หลายๆ ช่องก็ไม่กล้าเสี่ยง เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมเนื้อหาบทสนทนา
อีกอย่าง อาจจะเป็นเพราะเรื่องความสามารถของนักข่าวด้วย คุณจะเห็นว่าบ้านเราจะมีไม่กี่ช่องที่มีนักข่าวที่สามารถประกาศข่าวได้ และเป็นผู้สัมภาษณ์ได้ด้วย ทำให้กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราได้เสพข่าวผ่านฟรีทีวีแบบเชิงปรากฏการณ์ มากกว่าจะเปิดพื้นที่ให้มานั่งวิเคราะห์เชิงลึก วิเคราะห์เชิงลึกที่ว่า ไม่ใช่แค่จับ 2 ฝ่ายมาโต้วาทีกันนะครับ อย่างที่ช่อง 3 ทำก็น่าจะเป็นการถกเถียงมากกว่าจะหาทางออก เพราะเลือกคนลักษณะเถียงเก่ง ใช้วาทกรรมเก่ง มากกว่าจะให้พื้นที่กับมุมมองหลายๆ แบบเพื่อเสนอหนทางแก้ไข”
ถามว่าเป็นไปได้แค่ไหนที่ทั้งช่อง NBT และ MCOT จะหลุดพ้นจากการเป็นทาส? คนถูกถามได้แต่ตอบด้วยน้ำเสียงปลงตกว่า “แทบจะเป็นไปไม่ได้”
“ประเด็นสำคัญคือ วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ของคนในองค์กร ของคนในช่องนี้ ไม่ได้ยืนหยัดในเรื่องความเป็นอิสระด้านวิชาชีพสื่อจริงๆ กรมประชาสัมพันธ์ NBT ไม่ใช่สื่อมวลชนนะ เป็นเพียงแค่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำตามนโยบายคำสั่ง เป็นเพียงแค่หน่วยงานโฆษณาของรัฐ ผมคิดว่าวัฒนธรรมการทำงานของ NBT ไม่เอื้อต่อการที่จะทำให้คนทำงานสื่อคิดว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชนที่คำนึงถึงเรื่องอิสระเสรี
ส่วน MCOT ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่า MCOT จะคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจ เพราะ MCOT มีผู้ถือหุ้น อสมท และกองบรรณาธิการของ MCOT ก็ไม่มีอิสระเพราะบอร์ดบริหารมาจากทางการเมือง กรรมการบริหารช่องก็พิจารณาว่ากิจการของทางช่องต้องเป็นไปเพื่อกำไรสูงสุดเพราะอยู่ในตลาดหุ้น เรียกว่า NBT ถูกปัจจัยทางการเมืองครอบงำเกือบทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์เลย ส่วน MCOT แบ่งเป็น 50 เปอร์เซ็นต์มาจากเรื่องการเมือง เพราะบอร์ดบริหารถูกแต่งตั้งมา และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ยึดกุมอำนาจ มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลชัดเจน
และอีกทางหนึ่ง MCOT ก็ไม่ได้เพื่อการเป็นสื่อสาธารณะ แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุด ทำให้ข่าวของ MCOT ออกมาในแนวหลีกเลี่ยงการปะทะ การจะให้มาทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะอย่าง ThaiPBS จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะถูกแทรกแซงทั้งจากทางการเมืองและผลประกอบการขององค์กร”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
ชาวเน็ตจวกช่อง 9, ช่อง 11 ทาสรัฐบาล เผยคลิปจับผิดวินาที “ปู” ยิ้มร่าหลังแหลบีบน้ำตา
ถึงคราว “ฟรีทีวี” ตกอับ ประชาชนเอือม ไม่เป็นกลาง หันพึ่งสื่อออนไลน์