xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคราว “ฟรีทีวี” ตกอับ ประชาชนเอือม ไม่เป็นกลาง หันพึ่งสื่อออนไลน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังเมื่อวานที่ผ่านมา สื่อหลักอย่างฟรีทีวีทั้ง 5 ช่อง ตกเป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายการตบเท้าของเหล่าผู้ชุมนุม ทำให้ต้องมานั่งขบคิดกันว่า เหตุใดสื่อฟรีทีวี ที่สมควรทำหน้าที่บอกเล่าข้อเท็จจริงถึงปิดหู ปิดตาประชาชน ไม่เป็นกลางในการนำเสนอข่าว จนถูกประชาชนติติงว่า สื่อฟรีทีวีทั้งหลายถึงคราวตกต่ำ ในยามวิกฤตก็พึ่งพาไม่ได้ ต้องหันหนีไปพึ่งสื่อออนไลน์หรือทีวีดาวเทียมแทน

สื่อหลัก ปิดหูปิดตา??

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์อันน่าจดจำในพลังของเหล่ามวลมหาชนคนไทยที่ออกมาแสดงจุดยืนเรียกร้องความถูกต้อง ถึงแม้จำนวนตัวเลขไม่สามารถระบุได้แน่ชัด บ้างก็ว่าหลักแสนจนถึงหลักล้าน แต่สื่อเลือกข้างบางสื่อกลับบิดเบือนบอกว่าม็อบครั้งนี้มากันแค่ไม่กี่หมื่นคน แม้กระทั่ง สื่อต่างประเทศยังให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ชุมนุมครั้งนี้ แต่สื่อฟรีทีวีทั้งหลายกลับเพิกเฉยและนำเสนอข่าวน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น เลยถูกตั้งคำถามจากประชาชน คุณได้ทำหน้าที่ของสื่อที่ดีบ้างแล้วหรือยัง

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนั้นเอง สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังช่อง 3 นำโดย นายณัฐพล ทีปสุวรรณ, ช่อง 5 นำโดย นายอิสสระ สมชัย, ช่อง 7 นำโดย นายชาญวิทย์ วิภูศิริ, ช่อง 9 นำโดย นายถนอม อ่อนเกตุพล, ช่อง 11 นำโดย นายถาวร เสนเนียม เพื่อนำดอกไม้ และนกหวีดไปให้ และจะขอถามกับสื่อทั้งหลายว่า ท่านเป็นสื่อของประชาชน หรือเป็นสื่อของ ทักษิณ ชินวัตร กันแน่?

เหตุการณ์ที่ถูกกล่าวขานว่า “ฟรีทีวีตายแล้ว” ความจริงเคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงต่อต้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติอย่างเข้มข้น ทั้งในสภาโดยพรรคประชาธิปัตย์ และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนนอกสภา ภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสี สยามสามัคคี รวมถึงเหล่าผู้ชมจากรายการสายล่อฟ้า

ครั้งนั้น ประชาชนต่างก็หันมาเคลื่อนไหวกันบนโลกอินเทอร์เน็ตแทน เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเอง การนำเสนอข่าวของฟรีทีวีไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในการต่อสู้เพื่อยับยั้งกฎหมายที่ทำร้ายประเทศ พร้อมกับระบุว่า “ฟรีทีวีตายแล้ว” จนต้องเข้ามาเสาะหาข้อมูลการชุมนุมจากในเฟซบุ๊ก แฟนเพจต่างๆ แทน รวมถึงเพื่อให้ผู้ที่สนใจแต่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมชุมนุมติดตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

โพลชัด ฟรีทีวีไม่สนม็อบ

ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาจากมีเดีย มอนิเตอร์ (Media Monitor) หรือ โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ เรื่องการนำเสนอเหตุการณ์ดังกล่าวในรายการข่าว (News and Current Affairs) ทางช่องฟรีทีวี (ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ThaiPBS) และทีวีดาวเทียม (Nation, Spring News และ Voice TV) ระหว่างวันที่ 12-15 พ.ย. 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศมาตรการอารยะขัดขืน เพื่อต่อต้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยผลการศึกษาพบว่า

สถานีที่มีการนำเสนอข่าวสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม มากที่สุด ได้แก่ ช่อง Spring News (21 ชั่วโมง 53 นาที ) รองลงมา ได้แก่ ช่อง Nation (13 ชั่วโมง 9 นาที) ช่อง ThaiPBS (9 ชั่วโมง 50 นาที) ช่อง Voice TV (8 ชั่วโมง 50 นาที) ช่อง 3 (5 ชั่วโมง 5 นาที) ช่อง 7 (2 ชั่วโมง 41 นาที) ช่อง 9 (3 ชั่วโมง 32 นาที) และช่อง 5 (1 ชั่วโมง 28 นาที) โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นการรายงานความเคลื่อนไหวสถานการณ์การชุมนุม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมือง และความเห็นของกลุ่มต่างๆ ที่มีต่อมาตรการอารยะขัดขืน

เมื่อพิจารณาการนำเสนอข่าวสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการอารยะขัดขืน พบว่า ช่อง Spring News เป็นช่องที่มีการนำเสนอข่าวในประเด็นดังกล่าวมากที่สุด (10 ชั่วโมง 8 นาที) รองลงมา ได้แก่ ช่อง Nation (7 ชั่วโมง 8 นาที) ช่อง Voice TV (5 ชั่วโมง 31 นาที) ช่อง 3 (2 ชั่วโมง 29 นาที) ช่อง ThaiPBS (2 ชั่วโมง 10 นาที) ช่อง 11 (1 ชั่วโมง 25 นาที) ช่อง 9 (52 นาที) ช่อง 7 (47 นาที) และช่อง 5 (19 นาที)

ในภาพรวม พบว่าทุกสถานีมีการให้พื้นที่แหล่งข่าวที่ไม่สนับสนุนมาตรการอารยะขัดขืนค่อนข้างมาก โดยช่องที่พบว่า มีการให้พื้นที่แหล่งข่าวกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ประกอบด้วย ช่อง Nation (2 ชั่วโมง 30 นาที) ช่อง Spring News (1 ชั่วโมง 24 นาที ) ช่อง 9 (33 นาที) ช่อง 11 (25 นาที) และช่อง 5 (10 นาที) ในขณะที่ช่องที่มีการให้พื้นที่แหล่งข่าวกลุ่มที่สนับสนุนมาตรการอารยะขัดขืนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ช่อง Voice TV (1 ชั่วโมง 8 นาที) ช่อง ThaiPBS (1 ชั่วโมง 8 นาที) ช่อง 3 ( 1 ชั่วโมง 51 นาที) และช่อง 7 (17 นาที)

จวกเละ ฟรีทีวี ตายแล้ว

นอกไปจากนั้นแล้ว ยังมีการแสดงความคิดเห็นจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมากว่า สื่อฟรีทีวีปิดหู ปิดตาประชาชน อย่าง บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ก็ได้โพสต์ภาพลงในอินสตาแกรม ระบุว่า “ผิดวิสัยสื่อมวลชนจริง ๆ สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของประเทศวันนี้ แต่สื่อ free TV ของประเทศไม่นำเสนอ.. เลิกปิดหูปิดตาประชาชนกันเถอะ”

ในด้านแวดวงนักวิชาการสื่ออย่าง ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ก็ได้แสดงทัศนะต่อการนำเสนอข่าวของฟรีทีวีผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Time Chuastapanasiri

“ม็อบราชดำเนินหายไปไหน? ผู้คนเรือนแสน มาประท้วงขับไล่รัฐบาล แต่สื่อฟรีทีวีแทบไม่ให้ความสำคัญเลย? น่าเศร้าที่เราอยู่ในประเทศเสรีภาพประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือก เราจะมีทีวีไปอีกร้อยช่องพันช่องไปทำไม ถ้าไม่มีสักช่องที่นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นจริงบนนาทีนี้?”

รวมถึงยังได้เขียนบทความวิเคราะห์สั้นๆ “หรือไม่? อย่างไร?”

“การที่ผู้ชุมนุมเดินทางไปเยี่ยมสื่อฟรีทีวี 5 ช่องนั้น ย่อมมิใช่เหตุการณ์ปกติไร้ที่มา หากแต่มันคือภาพสะท้อนการทำหน้าที่ของสื่อตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันโดยตลอด โดยสายตาที่ไม่บิดเพี้ยน ว่าช่องฟรีทีวีส่วนมาก "นำเสนอข่าว" เพื่อคงรักษาผลประโยชน์ของรัฐบาลมากกว่าประชาชน

วิธีการคือ
1. กำหนดวาระข่าวสารที่รัฐได้ประโยชน์
2. เป็นเครื่องมือให้ทางการเมือง
3. เลือกนำเสนอข่าวเอนเอียง ไม่รอบด้าน ไม่สมดุล
4. นำเสนอข่าวประกอบสร้างความจริง (ที่ลวง) ให้กับประชาชน
5. ออกโรง ปกป้อง แก้ต่างให้กับนักการเมืองที่ตนถือข้างหางเสียง และที่สำคัญที่สุด คือ
6. ไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ ปริมาณข่าว และคุณค่าข่าวสารที่ประชาชนควรได้รับรู้อย่างแท้จริง

แต่กลับนำเสนอข่าวสารให้ประชาชน "โง่ลง" เรื่อยๆ (dumbing down journalism)

ข่าวสีสัน ข่าวดรามา ข่าวเบาสมอง ข่าวดารา ข่าวใบ้หวย ข่าวปรากฏการณ์ ข่าวขัดแย้ง ฉาวโฉ่ คือสินค้าหลักของรายการคุยข่าวเล่าข่าวทุกวันนี้.

สิ่งที่สรยุทธทำ คือ ทำลายแก่นแท้ของงานข่าว เอาดารา ตลก นักร้องมาอ่าน ไม่ทำข่าวเอง แต่ใช้คนดังมาอ่านข่าว เอาคนไม่ทำข่าวมาแสดงการอ่านข่าวเสมือนว่ารู้

การซื้อตัวคนข่าวในวงการ คือส่วนหนึ่งของงานข่าวแบบนี้ คือ ทำให้เด็กรุ่นใหม่ อยากเป็นแบบสรยุทธ เพราะดูเก่ง เท่ รวย ในสายตาจนกลายเป็นไอดอล

วงการวารสารศาสตร์กำลังตกต่ำด้วยแนวทางข่าวแบบนี้!

ที่สุดแล้ว กรรมกรข่าว เป็นแค่นักโฆษณาชวนเชื่อ "หรือไม่ อย่างไร!?" ด้วยการนำเสนอข่าวสารดรามา ไร้สาระ วนเวียน เพื่อดึงสาธารณะไปในทางที่วนหลงอยู่กับความบันเทิงมอมเมา”

ประชาชนแห่ตามข่าว คึกคักออนไลน์

เรียกได้ว่า ในช่วงนี้ตามแฟนเพจเฟซบุ๊กประเภทการเมืองทั้งหลายทั้งเก่าและใหม่ ต่างคึกคัก มีสีสัน และช่วยกันเป็นกระบอกเสียงแบบตามติดได้ 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม การแลกเปลี่ยน-ข่าวสาร ภาพหลากหลายของผู้มาชุมนุมในอิริยาบถต่างๆ แม้กระทั่งภาพตัดต่อใส่มุกตลก การ์ตูนล้อเลียน เรียกเสียงหัวเราะดับความเดือดของคอการเมือง เป็นพื้นที่เสรีที่ทุกคนสามารถรู้เห็นข้อเท็จจริงได้โดยไม่ต้องชะเง้อรอข่าวต้นชั่วโมง หรือรายการข่าวจากฟรีทีวีแต่อย่างใด

รวมถึงการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ อย่างเฟซบุ๊ก แฟนเพจ พี่คนดี กวีสมัครเล่น ที่แสดงออกจุดยื่นทางการเมืองว่าไม่ชื่นชมรัฐบาลสักเท่าไหร่นักมาโดยตลอดก็ขอมีส่วนร่วมในการแต่งกลอนไว้อาลัยสื่อบางสื่อที่ไร้ความเป็นกลาง ในบทกลอนที่ชื่อว่า “จิตสำนึกสื่อไทย”

จิตสำนึก คงลึกมาก ยากกระตุ้น
ทุนอุดหนุน เป็นบุญคุณ ที่ทับถม
เงินปิดบัง ฝังมิด จิตใจจม
ไม่เงยหน้า ได้แต่ก้ม อมพะนำ

สื่อทีวี เริงรมย์ ชมโลกสวย
สื่อเฮงซวย ช่วยปลุก ทุกเช้าค่ำ
ยอมเป็นทาส เงินทุน ที่หนุนนำ
จึงยอมทำ ตามสั่ง ไม่ลังเล

เมื่อเป็นสื่อ ถือเป็น กระบอกเสียง
อย่าลำเอียง เลี่ยงบิด คิดหักเห
จรรยาบรรณ ถ้าขาดลด ปดทั้งเพ
จะว้าเหว่ ต่อ ไป ใครจะดู

และอีกเฟซบุ๊กแฟนเพจอย่าง Nakarach กลอนรักชาติ by กวีซีฟู๊ด ที่นำบทกวีเหน็บแนม พร้อมตั้งคำถามกับสื่อฟรีทีวีถึงการนำเสนอข่าวมาฝากแฟนเพจให้ได้อ่านเช่นเดียวกัน

ปิดข่าวเฝ้าปิดบัง จากใบสั่งจำนงค์ใคร
ข่าวสารที่เป็นไป บังบอดใบ้ประชาชน
จิตใจอุดมการณ์ ผู้สื่อสารของมวลชน
ใยยอมค้อมจำนน เผด็จกลเผด็จการ

สื่อไทยหรือไพร่ทาสใต้อำนาจทุนสามานย์
ไร้ซึ่งความกล้าหาญ หรือตายด้านด้วยเทิดทุน
ไร้สำนึกศักดิ์ศรี หรือภักดีพวกสถุล
ถามสิพินิจดุล ใดเป็นคุณแก่ประชา

เปิดเผยเอ่ยความจริง หรือปิดนิ่งเป็นใบ้บ้า
สื่อใดวายชีวา จากความกล้าอาชีพตน
ลาก่อนฟรีทีวี ประชาชีจะเลิกทน
หมาเฝ้าเชื่องโจรปล้น ประชาชนจะสู้เอง

ถึงแม้ว่า การเคลื่อนขบวนไปเยือนสื่อฟรีทีวีทั้งห้าในครั้งนี้ อาจจะยังไม่เห็นผลลัพธ์ว่าจะเปลี่ยนแปลงและเรียกสำนึกของความเป็นสื่อกลับคืนมาได้หรือไม่ แต่เชื่อว่า ถ้าคิดคดหักหลังประชาชนกันอีก ฟรีทีวีคงจะไม่มีพื้นที่ให้ยืนแล้วจริงๆ
 
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live






กำลังโหลดความคิดเห็น