xs
xsm
sm
md
lg

ปล้นประชาชนรายวัน คลังเอาจริง!! คิดภาษีน้ำชาเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จ้องจะเก็บเงินจากประชาชนเข้าคลังทุกบาท ทุกสตางค์ จริงๆ สำหรับรัฐบาลนี้ หลังรองปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ เล็งเก็บภาษีน้ำชาเขียว ด้วยเหตุผลที่ว่า ชาดื่มบรรจุขวดตามท้องตลาด มีส่วนผสมของชาเขียวน้อยมาก ดังนั้น ข้ออ้างในการยกเว้นภาษีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจึงฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว เป็นอันว่า เร็วๆ นี้ วงการน้ำชาเขียวจะสะเทือน กระทบถึงผู้บริโภคหรือไม่ ต้องจับตาดู!!

เล็งจ่ายภาษีชาเขียว 10%

แน่นอนแล้วว่า หากได้นั่งเก้าอี้รองปลัดกระทรวงการคลังเต็มตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ จะขอทบทวนการปรับขึ้นภาษีอีกหลายประเภทหลังศึกษามาแล้วเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกับภาษีน้ำชาเขียว เครื่องดื่มยอดนิยมของคนไทยที่น่าจะถูกเพ่งเล็งยกเลิกการละเว้นภาษีสินค้าประเภทเครื่องดื่มเป็นลำดับแรกๆ โดยเป้าหมายภาษีน้ำชาเขียวที่ศึกษามาแล้วว่าเหมาะสมคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้า และคาดว่าการเก็บภาษีครั้งนี้จะสามารถสร้างรายได้อีกหลายพันล้านบาท

เหตุผลที่ชาเขียวถูกกเว้นไม่ได้เป็นเครื่องดื่มที่ต้องชำระภาษีนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาต้องการช่วยเหลือเกษตรกรตามแนวคิดส่งเสริมการใช้สินค้าเกษตร แต่เมื่อกรมสรรพสามิต ได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติเครื่องดื่มชาเขียวที่ขายในท้องตลาด พบว่าส่วนใหญ่มีส่วนผสมของชาเขียวน้อยมาก ดังนั้น ข้ออ้างในการยกเว้นภาษีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจึงฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องหารือกับผู้ประกอบการใหม่อีกรอบ เพราะได้หารือร่วมกันมาแล้ว คาดว่าจะสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีได้ในเร็วๆ นี้ โดยใช้ประกาศคำสั่งของอธิบดีก็สามารถดำเนินการได้ คาดว่าเริ่มจัดเก็บภาษีได้ภายในปีงบประมาณ 2557

ทั้งนี้ แนวคิดการขึ้นภาษีน้ำชาเขียว ย้อนความไปเมื่อปลายปี 2555 ขณะที่ สมชาย พูลสวัสดิ์ นั่งคุมตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต เคยกล่าวไว้ว่า สำหรับการจัดเก็บภาษีน้ำชาเขียวนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกใบชาได้ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ

สำหรับเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ดังนั้น สินค้าเครื่องดื่มที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีจึงได้แก่ เครื่องดื่มทั้งหลายที่อยู่ในรูปดื่มได้ทันที หรือ "พร้อมดื่ม" นั่นเอง ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ตามปกติใช้เป็นเครื่องดื่มได้โดยไม่ต้องเจือปนและไม่มีแอลกอฮอล์ โดยจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม บรรจุในภาชนะและผนึกไว้ เช่น น้ำแร่ น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำพืชผัก และน้ำโซดา เป็นต้น

ใครได้-ใครเสีย ประโยชน์??

เรื่องการเก็บภาษีน้ำชาเขียวนั้น คาดว่าต้องส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาก็อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นเรื่องปกติ หากมองในแง่ของการตลาด เสริมยศ ธรรมรักษ์ อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็คาดการณ์ว่า ผลกระทบจากการคิดภาษีน้ำชาเขียว อาจทำให้หลายแบรนด์หันเหไปจับตลาดเครื่องดื่มประเภทอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงได้ อย่างเช่น เครื่องดื่มสมุนไพรไทยที่กำลังติดตลาดเครื่องดื่มในขณะนี้

“ถามว่าการขึ้นภาษีน้ำชาเขียวจะมีผลกระทบหรือไม่ ต้องดูผู้เล่นในตลาด คนที่เป็นผู้เล่นหรือที่ครองตลาดอยู่ซึ่งขณะนี้กำลังทำสงครามโปรโมชั่นกันอยู่ จะเห็นว่าการทำโปรโมชั่นส่วนหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นการซื้อ แล้วก็เชื่อว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลพอสมควรในการลงไปเล่น ทีนี้พอมีเรื่องของมาตรการของหน่วยงานภาครัฐในการเก็บภาษี มันก็อาจจะทำให้คนที่ทำแบรนด์ต่างๆ ก็ต้องมาทบทวนวิธีการทำตลาดใหม่ สำหรับบริษัทที่มีธุรกิจอื่นเค้าก็อาจจะหันไปขับเคลื่อนสินค้าที่อาจจะไม่ใช่ชาเขียว เพราะตอนนี้ตลาดเครื่องดื่มเริ่มหันไปที่ทางเครื่องดื่มสมุนไพร

คืออาจจะบอกว่าชาเขียวเป็นสมุนไพรก็ใช่ แต่ว่าตอนนี้มันก็เริ่มเบนไปในเรื่องของตลาดสมุนไพรอื่นๆ แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องมานั่งทบทวนต่อว่า คำว่าชาเขียวมันคืออะไร เพราะเครื่องดื่มสมุนไพรบางยี่ห้อก็อาจมีส่วนผสมของชาเขียว แล้วภาษีตรงนี้มันจะครอบคลุมด้วยหรือเปล่ายังไม่แน่ใจ ถ้าสมมติมันเป็นส่วนผสมก็อาจไม่ต้องโดนเก็บ 10% แต่ถ้าเป็นชาเขียวเพียวๆ ที่เอามาแต่งรส แต่งกลิ่นต่างๆ อันนี้ก็น่าจะเข้าข่ายภาษีตรงนั้น

จากนั้นก็ต้องมาดูต่อว่าแบรนด์เครื่องดื่มชาเขียวเหล่านี้ เค้าจะมาผลักภาระให้ประชาชนหรือเปล่า การขึ้นภาษีมันก็คือการเพิ่มต้นทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งตรงนี้อาจจะมีการผลักภาระมาให้ลูกค้าหรือเปล่า นั่นคือประเด็นที่สำคัญ ส่วนอีกประเด็นคือเค้าอาจหันไปทำตลาดในกลุ่มสินค้าที่เป็นเครื่องดื่มอื่นๆ แทน อย่างเช่นสมุนไพรที่เพิ่งกล่าวไป หรือหาตลาดที่ใกล้เคียงกับชาเขียว”



อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เครื่องดื่มน้ำชาเขียวในตู้แช่เย็นของร้านสะดวกซื้อก็พบว่ามีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อ รวมถึงการเพิ่มรสชาติให้มีความหลากหลายสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น อย่างล่าสุดที่ทาง ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ Live ลงไปตรวจสอบในร้านสะดวกซื้อสาขาหนึ่ง พบว่า มีเครื่องดื่มชาเขียวทั้งสิ้น 5 ยี่ห้อ ราคาอยู่ที่ 16-25 บาท แต่ส่วนมากจะอยู่ที่ราคา 20 บาท เป็นราคาที่คุ้นตาผู้บริโภคมากที่สุด

หากมีการคิดภาษีน้ำชาเขียวขึ้นมาจริงๆ ร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้า น้ำชาเขียวราคาขวดละ 20 บาท ก็จะเพิ่มค่าภาษีขึ้นมาอีก 2 บาท เป็นราคา 22 บาท ทั้งนี้เป็นเพียงแค่การประมาณการณ์เท่านั้น ส่วนเรื่องการกำหนดราคาคงต้องรอดูทีท่าของกรมสรรพสามิต, กระทรวงการคลัง และผู้ประกอบการอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ อ.สมยศ เห็นสมควรว่าแนวคิดการเก็บภาษีน้ำชาเขียวนั้นน่าสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการที่ค้ากำไรกับเครื่องดื่มน้ำชาเขียวจนเกินควร

“สมมติเกษตรกรส่งชาเขียวมาให้ ตัวเกษตรกรจริงๆ เงินที่จะถึงมือเค้าน้อยมาก ส่วนคนที่กอบโกยมหาศาลก็คือคนที่ทำแบรนด์พวกนี้แหละ เอาจริงที่ทานๆ กันก็เหมือนเศษชาผสมน้ำตาล เราก็จะเห็นอยู่ว่าน้ำชาเขียวเหล่านี้มันเหมือนน้ำหวานมากกว่า แล้วก็ส่วนผสม ถ้าเราลองไปดูนะ ก็จะเห็นว่ามีชาเขียวในปริมาณน้อยมาก โดยส่วนตัวก็เห็นด้วย เพรามันอาจจะทำให้สโคปของการตลาดมันมีสีสันในแง่นี้

เพราะบางทีชาเขียวมันก็ถึงเวลาแล้วล่ะ วันนี้การตลาดชาเขียวในมุมมองของผมนะครับ ถ้าเราดูหลายๆ ยี่ห้อเนี่ย ผมว่ามันไม่ได้แข่งกันที่คุณค่าของตัวสินค้าแล้ว แต่มันแข่งกันที่กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาด ทำโปรโมชั่นแข่งกัน ใครแจกรางวัลดีกว่ากัน”

กระแสนิยม ดื่มชาเขียว

ทั้งนี้ กระแสการดื่มชาเขียวในสังคมไทยได้เกิดขึ้นมาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็น “ชาเขียวฟีเวอร์” ที่ไม่ได้แค่ฮิตเฉพาะเครื่องดื่ม แต่กระแสของชาเขียวถูกนำลงมาใช้ในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ แต่ที่นิยมที่สุดคือเครื่องดื่มที่เข้ามาแย่งตลาดเครื่องดื่มอื่นๆ โดยอาศัยจุดเด่นที่ผู้ประกอบการทั้งหลายมักอวดอ้างว่า “น้ำชาเขียว” เป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางสารอาหาร เป็นเครื่องดื่มธรรมชาติที่ปลอดภัยและต้านโรคได้ ดังนั้น เหล่าคนรักสุขภาพทั้งหลายจึงตกเป็นเหยื่อของการตลาดน้ำชาเขียวเหล่านี้

โดยช่วงที่น้ำชาเขียวสร้างมูลค่ามหาศาล ในช่วงแรกของตลาดคือในปี 2544 สามารถกวาดรายได้จากตลาดเครื่องดื่มไปถึง 25-30 ล้านบาทเมื่อช่วงปลายปี และเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีกอย่างไม่น่าเชื่อเกือบ 400 ล้านบาท ในช่วงปี 2545 และยังคงสร้างกระแสอีกเมื่อตัวเลขของปี 2546 มีมูลค่าตลาดรวมถึง 1,500 ล้านบาท

กล่าวได้ว่า ณ ห้วงเวลานั้น หลายคนติดดื่มน้ำชาเขียวแทนน้ำเปล่าเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งการตลาดที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดด้วยการงัดกลยุทธ์ต่างๆ นานา ทั้งลด แลก แจก แถม น้ำชาเขียวจึงเป็นเครื่องดื่มที่คนเลือกซื้อดับกระหายมาเป็นลำดับต้นๆ แม้กระทั่ง เมื่อปี 2549 เคยมีผลสำรวจจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็กไทยดื่มนมเพียงปีละ 12 ลิตร ขณะที่บริโภคน้ำอัดลมมากกว่าปีละ 50 ลิตร แม้แต่ชาเขียวก็ขึ้นไปถึง 20 ลิตรแล้ว

ถึงจะถูกการันตีว่า ชาเขียว เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แต่สำหรับในประเทศไทยแล้ว น้ำชาเขียวบรรจุขวดที่ผสมใบชาอันน้อยนิดกลับเป็นโทษเสียมากกว่า อย่างที่มีการเตือนกันว่า การดื่มชาเขียว ชาขาว หรือชาดำที่ชงสำเร็จบรรจุขวดไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก เพราะร่างกายเราจะได้รับน้ำตาลในปริมาณมากกว่าได้คุณค่าจากชา ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาเตือนว่า ชาเขียว ไม่ได้มีประโยชน์อะไรไปมากกว่าเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเลยซักนิดเดียว ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการโฆษณาเชิญชวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสการโฆษณาเรื่องการดื่มชาเขียวช่วยลดน้ำหนักได้ ดังนั้นการดื่มชาเขียวหรือชาอื่นๆ จึงควรพิจารณาเลือกบริโภคเฉพาะชนิดที่ไม่มีน้ำตาลผสม การชงชาด้วยตนเองนอกจากจะได้อรรถรสของการดื่มชาแล้ว ยังให้อรรถประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่า และควรพิจารณาเรื่องการบริโภคชาในปริมาณสูงๆ ซึ่งอาจมีผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว

สุดท้าย ผลประโยชน์และภาระจะตกอยู่ที่ใคร และตลาดน้ำชาเขียวจะแผ่วลงดังการคาดการณ์หรือไม่ ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องรอลุ้นกันเอาเอง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น