เป็นธรรมดาที่จะอยากได้ “ไลค์” และ “แชร์” จากโพสต์ของตัวเอง แต่ไม่น่าเชื่อว่าคนสมัยนี้จะ “คลั่งไลค์” อยากเรียกร้องความสนใจ จนยอมทำทุกวิถีทาง แม้กระทั่งวิธีพิเรนทร์ๆ อย่าง “มอมกัญชาแมว” และ “กรีดแขนฆ่าตัวตาย” กันบนโซเชียลมีเดีย พฤติกรรมเกรียนๆ แบบนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องตลกขำขัน แต่หนักถึงขั้นเรียกได้ว่า “โรคจิต” เลยทีเดียว
ทรมานสัตว์-คน พวกโรคจิตออนไลน์!
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง เมื่อมีคนนำโพสต์ของหญิงสาวคนหนึ่งมาแฉโดยการแชร์ต่อ ถึงพฤติกรรมการโพสต์เรียกไลค์ที่แปลกแหวกแนว จับน้องแมวมาดมกัญชาแล้วถ่ายรูปอวดเพื่อนๆ ลงบนเฟซบุ๊ก พร้อมบรรยายรูปภาพว่า “555+ เมาจุงเบย” บางคนมองเห็นเป็นเรื่องตลก แต่บางคนกลับตกอกตกใจกับโพสต์พิเรนทร์ๆ นี้ จึงแชร์ต่อและนำเรื่องราวเหล่านี้ไปแปะไว้ในกระทู้พันทิป บอกว่า “รับไม่ได้ เห็นแล้วสะเทือนใจ” เป็นเหตุให้มีผู้คนมากมายเข้ามาถกเถียงกันเรื่องทารุณกรรมสัตว์ และด่าทอเจ้าของเฟซบุ๊กกันยกใหญ่
แม้ตอนนี้ ภาพพฤติกรรมประหลาดนี้ได้ถูกลบออกไปจากเฟซบุ๊กคนต้นเหตุแล้ว เหลือทิ้งไว้แค่สเตตัสขอโทษโพสต์อธิบายว่า รูปแมวถูกมอมกัญชานั้นเป็นฝีมือของเพื่อน ตัวเธอเองไม่รู้เรื่องแม้แต่นิดเดียว แต่ถึงอย่างนั้น ชาวโลกออนไลน์ก็ยังไม่หายค้างคาใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคงวิเคราะห์กันว่าตัวผู้กระทำอาจเป็นพวก “เกรียนออนไลน์” หรือไม่ก็ “มีปัญหาทางจิต”
เหตุการณ์ดังกล่าวชวนให้นึกถึงโพสต์ของหญิงสาวคนหนึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งโพสต์ลาตายเอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยข้อความว่า “ฉันคงมีชีวิตอยู่ไม่พ้นคืนนี้ ลาก่อน ชีวิตที่ทุกข์ทรมาน จบสักที” พร้อมกับอัปรูปกรีดแขนประกอบ ทั้งยังมีอัปเดตสเตตัสเกี่ยวกับอาการของตัวเองเป็นระยะๆ “นอนตายไปแบบช้าๆ ลาก่อนทุกคน ขอบคุณที่เป็นห่วงจริงๆ คงทรมานอีกไม่นาน”
หลายคนที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวของเธอคนนี้ต่างตกใจ บางรายไม่เชื่อว่าจะฆ่าตัวตายจริง จึงด่าทอและท้าทาย มีบางรายเป็นห่วงหนักจนถึงกับต้องตั้งกระทู้ “น้องเขากำลังฆ่าตัวตาย ผ่าน FB ใครอยู่ใกล้ไปช่วยที อาจตายแล้วก็ได้ 6 ชม.ที่แล้ว” จนกลายเป็นประเด็นบนโลกออนไลน์ขึ้นมา ณ ขณะนั้น
หลายชั่วโมงผ่านไป สุดท้าย สเตตัสของเธอก็ประกาศเลิกฆ่าตัวตายออนไลน์ พร้อมทั้งขอบคุณทุกคนที่เข้ามาคอมเมนต์เตือนสติจนทำให้คิดได้ว่าชีวิตมีค่า ถึงตอนนี้ ผู้หญิงคิดสั้นคนเดิมกลับสู่สภาวะปกติแล้ว หน้าวอลที่เคยมีภาพกรีดข้อมือโชว์เพื่อนๆ ไม่มีอีกต่อไป เหลือแค่โพสต์ขายน้ำหอมนานาชนิดเต็มไปหมด ชวนให้คนที่รับรู้เรื่องราวแปลกประหลาดเหล่านี้เกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้บนโลกออนไลน์!?!
หลงใหล-หลงไลค์ “เกรียนออนไลน์”
แน่นอนว่าต้องไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่มีสภาพจิตใจปกติที่จะทำแบบนี้ได้ ส่วนจะมีอาการจิตผิดปกติขนาดไหน นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดัง ได้วิเคราะห์เอาไว้แล้ว
“หมอว่าพวกนี้เป็นพวกว่างงาน ไม่ค่อยมีอะไรทำ วันๆ ก็หมกมุ่นอยู่กับความหลง ทั้ง โลภะ-โทสะ-โมหะ ข้อแรกเลยคือ โลภะ (ความโลภ) โลภอยากจะให้คนมากดไลค์ตัวเองเยอะๆ ก็เลยต้องทำอะไรพิเรนทร์ๆ ต้องจับแมวมาดมกัญชา เพราะถ้าโพสต์รูปดอกไม้ วิวสวยๆ คนอาจจะมองผ่าน ข้อสองคือ โทสะ (ความโกรธ) อาจจะเคียดแค้นชิงชัง มีปัญหาสุขภาพจิตหรือมีปัญหากับใคร พอหาที่ระบายอารมณ์โกรธกับใครไม่ได้ ก็หันมาทำร้ายตัวเอง ขู่ฆ่าตัวตายประชดบนโลกออนไลน์ และข้อสามคือ โมหะ (ความหลง) หลงในการถูกชื่นชอบ”
โพสต์พิเรนทร์ๆ ที่เกิดขึ้นมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเฟซบุ๊กเป็นสื่อออนไลน์ที่ใครจะเข้ามาใช้ก็ได้ จึงไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าคนใช้คนไหนสภาพจิตปกติหรือไม่ “ซึ่งถ้าผิดปกติก็ต้องแบ่งต่อไปอีกว่าผิดปกติแบบไหน เช่น มีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ เช่น มีปัญหาเรื่องนิสัยใจคอ ชอบเรียกร้องความสนใจ หรืออาจจะเป็นประเภทหลงตัวเอง เห็นว่าตัวเองดีและด่าทอคนอื่นว่าแย่ไปหมด ซึ่งจะพบเจอกลุ่มคนแบบนี้ได้ค่อนข้างเยอะและเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของคนที่ใช้เฟซบุ๊กเลย
อีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีปัญหาด้านจิตเวช เช่น เป็นโรคจิต อารมณ์แปรปรวน หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง คุ้มคลั่ง คุมอารมณ์ไม่ได้ ฯลฯ คนพวกนี้ก็จะโพสต์ด่า ระแวงนู่นนี่เยอะแยะไปหมด พอคนปกติมาเห็นอาจจะไม่เข้าใจ เพราะอาจจะดูไม่ออก หมอว่าต้องแยกดีๆ ว่าคนที่มาทำเป็นกลุ่มไหน ต้องยอมรับว่าเฟซบุ๊กคือสื่อแบบหนึ่ง สื่อแบบนี้ก็เหมือนเรามีสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ของเราเอง ไม่ต้องกลั่นกรองอะไรมากมาย อยากถ่ายทอดอะไรยังไงก็ทำ”
อาการ “หลงไลค์” ก็ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์เหล่านี้ขึ้นมา ทำให้ผู้ใช้บางรายยอมทำทุกอย่างที่แปลกๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ-แลกไลค์ จนทำให้โซเชียลมีเดียทุกวันนี้ถูกใช้ไปในทางที่ผิดและหลงทางออกไปมากขึ้นทุกทีๆ
“หลายคนก็หลงจำนวนไลค์นะ เช่น บางคนมีแฟนเพจเป็นแสนๆ คน ก็คิดว่าตัวเองเป็นคนมีอำนาจ สามารถชี้ถูกชี้ผิดอะไรได้ อันนี้หมอว่าเข้าใจผิดแล้ว ความเป็นจริงทำไม่ได้หรอก คนเขาแค่ผ่านมาสนใจ พอถูกใจก็กดไลค์ให้ แต่ถามว่าเขาจะเชื่อคุณ จะเทิดทูนคุณจริงหรือเปล่า วัดไม่ได้หรอก เพราะคนที่จะให้คนเทิดทูนได้จริงๆ คุณต้องสร้างบารมีในโลกปัจจุบันให้ได้ ของทุกอย่างต้องพิสูจน์กันในโลกความเป็นจริงนะ หมอไม่เคยให้เครดิตกับโลกไซเบอร์เลย
คนเราจะเข้มแข็งได้ จะภาคภูมิใจในตัวเองได้ มันต้องสร้างขึ้นมา ต้องทำดี ต้องขยันเรียน ต้องตั้งใจทำงาน แต่เดี๋ยวนี้ เราอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว ไม่ได้คิดจะสร้างแบบนั้นแล้ว แต่อยากให้คนอื่นมาชื่นชมเราผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้มากกว่า ยิ่งใครมาคนกดไลค์เยอะๆ ยิ่งจะคิดว่าน่าภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด เราเข้าใจผิดกันมาตลอดอยู่แล้ว ยิ่งมีเทคโยโลยีเหล่านี้เข้ามามันทำให้คนหลงทางไปเยอะมาก”
อาชญากรรมพิเรนทร์ แจ้งได้!
พฤติกรรมพิเรนทร์ๆ ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ก็มี “คลิปสอนเด็กดมเค” มีชายหญิงคู่หนึ่งพยายามสอนให้เด็กชายวัยประมาณ 5 ขวบ สูดดมผงบางอย่างคล้ายยาเสพติด โดยสอนให้เด็กสูดดมผงสีขาวที่อยู่ในกระดาษฟอยล์ ใช้หลอดพลาสติกสีขาวเป็นอุปกรณ์ในการสูดดมเข้าจมูก เมื่อเด็กสูดเข้าไปตามที่สอนได้ ตัวผู้สอนก็แสดงความถูกอกถูกใจ หลังคลิปนี้ถูกแชร์ให้ว่อนเน็ต กระแสวิพากษ์วิจารณ์จึงเกิดขึ้นอย่างหนัก จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้ามาคลี่คลายและตามล่าตัวเจ้าของคลิปดำเนินคดีในที่สุด
นี่คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวแปลกประหลาดบนโลกออนไลน์ โพสต์ภาพและคลิปที่ไม่เหมาะสมอย่างไม่มีวิจารณญาณ เพียงเพราะต้องการสนองความสนุกส่วนตัว หากเจอพฤติกรรมเกรียนๆ เช่นนี้อีกเมื่อไหร่ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผู้กำกับการ กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) บอกเอาไว้เลยว่า สามารถแจ้งเบาะแสกันได้ที่ www.tcsd.in.th/petition ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน
“ก่อนหน้านี้มีกลุ่มเด็กที่โพสต์รูปอาวุธในเฟซบุ๊ก จนมีคนมาวิจารณ์กันกลายเป็นประเด็น อันนั้นเราไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะมันยังไม่เกิดเหตุอะไร แต่ทางเรามีหน้าที่ติดตามดูต่อไปว่าเขาจะทำยังไงกับอาวุธเหล่านั้น ถ้าเกิดเอาภาพอาวุธที่โพสต์มาขายกัน อันนี้ถือว่าผิดกฎหมาย เอาผิดได้ ส่วนเรื่องให้แมวดมกัญชา จะคล้ายๆ กับกรณีหัดให้เด็กเสพยาเค แต่ทำกับสัตว์ อาจจะทำผิดเรื่องการทารุณสัตว์ ส่วนเรื่องเด็กก็มีกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว คือกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เอง อาจจะยังไม่มีข้อไหนเอาผิดประเด็นแบบนี้ได้ครับ
ส่วนเรื่องการโพสต์ขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย เราอาจจะยังไม่ดำเนินการทางกฎหมาย แต่ถ้ารู้ตัวว่าเป็นใคร อาจจะเข้าไปพูดคุย หาทางไกล่เกลี่ย จะมีกระบวนการทางจิตวิทยาอยู่ครับ เพราะเรื่องแบบนี้ต้องระวัง เคยมีคนโพสต์ว่าจะฆ่าตัวตาย แล้วอีกไม่นานก็ฆ่าตัวตายจริงๆ แต่ประเภทเรียกร้องความสนใจก็มีเหมือนกัน”
ทุกวันนี้งานของ ปอท. ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการตรวจสอบการรีโพสต์ข้อความที่เป็นเท็จและข่าวลือที่กระทบความมั่นคงของประเทศตามที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควบคุมเอาไว้ ส่วนการโพสต์เรื่องอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมและศีลธรรมอันดีงาม คงต้องให้ประชาชนทุกคนช่วยกันตรวจสอบเพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมาย
“ถ้าเป็นเมืองนอก ในตอนนี้จะมีการชักชวนกันมาฆ่าตัวตายหมู่ หรือชวนมาเข้าลัทธิเถื่อน ตอนนี้เรายังไม่มี ก็ถือว่าโชคดี แต่เราก็เฝ้าระวังตลอดในประเทศเราครับ ส่วนเรื่องเกรียนออนไลน์ ก็อยากจะบอกว่าให้พยายามใช้สติในการจะโพสต์อะไรให้มากขึ้น บางครั้งเราทำไปโดยขาดสติหรือคิดว่ามีสิทธิที่จะทำ ต้องเข้าใจว่าสิทธิของคุณต้องไม่ละเมิดคนอื่นด้วย ต้องคิดถึงสิทธิผู้อื่นด้วยที่จะต้องเห็นอะไรที่คุณโพสต์
เราควรจะเอาสิ่งที่ดีๆ ขึ้นมาโชว์กันมากกว่า ภาพดีๆ ภาพของคนทำดี อันนี้คือตัวอย่างการโพสต์อย่างสร้างสรรค์ครับ ตัวอย่างเช่น ตอนนี้มีคนแชร์คลิปของผู้ชายที่ลงไปช่วยเด็กจมน้ำ ผายปอดจนเด็กฟื้นมาได้ แบบนี้น่าจะโพสต์มากกว่า มากกว่าโพสต์อะไรแล้วชวนให้เกิดความเสื่อมในสังคม เพราะสังคมทุกวันนี้มันก็แย่มากพออยู่แล้ว”
ไม่แน่จริง อย่าเล่น!
“เรื่องราวที่ใครสักคนโพสต์ มันสะท้อนความฉลาดของคนคนนั้นนะหมอว่า คนที่ชอบหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเอง พูดเรื่องไร้สาระ มันก็แสดงออกถึงความไม่ฉลาดของคนคนนั้น คนที่เขาฉลาดๆ เขาก็จะสนใจเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า แต่คนที่ไม่ฉลาด จะเรียกร้องความสนใจให้ตัวเอง ไม่ใช่ว่าเขาไอคิวไม่ดีนะ ไม่ใช่คนโง่ แต่เป็นคนไม่รู้จักสร้างสติปัญญาให้กับตัวเอง เขาเอาอะไรมาให้ก็ลุ่มหลงไปกับสิ่งเหล่านั้นไปวันๆ
จริงๆ แล้วโซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้มีสิ่งแปลกๆ เพิ่มมากขึ้นหรอกนะหมอว่า คนกลุ่มที่อยากเรียกร้องความสนใจอาจจะมีเยอะอยู่แล้ว เพียงแต่พอมีสื่อมาช่วยเสริมมันเลยทำให้เขาได้รับโอกาสในการแสดงออกมากขึ้น แต่ก่อนอาจจะไม่รู้จะไปพูดหรือระบายกับใคร ตอนนี้มีช่องทางแล้ว ก็ทำให้คนเราได้ปลดปล่อยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นดาบสองคม เพราะถ้าคุณไม่สบายใจแล้วมีคนมาให้กำลังใจ คุณคิดได้-สบายใจขึ้น มันก็จบ แต่ถ้ามาระบายแล้วไม่มีคนเห็นใจแล้วเข้ามาซ้ำเติม อันนี้อาจจะยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก บางคนมาเรียกร้องความสนใจแล้วถูกด่ากลับไป อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้ตัดสินใจผิดหรือคิดสั้นได้ง่ายขึ้น
ถ้าเป็นไปได้ บางทีก็อาจจะต้องหยุดใช้บ้าง เหมือนในบางประเทศที่เขาบล็อกไมให้ใช้เลย หยุดใช้แล้วสมองจะได้โล่งขึ้นได้บ้าง เพราะบางคนก็หมกมุ่นอยู่กับตรงนี้ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ยิ่งคนที่ไม่มีงานทำ สุขภาพจิตมีปัญหาหรือคนที่ความภาคภูมิใจในตัวเองตกต่ำ (Low Self) ก็จะมาหมกมุ่นกับจุดนี้ หา Self ของตัวเองจากตรงนี้ เช่น ทำให้รู้สึกดีขึ้น ภูมิใจมากขึ้น เมื่อมีคนมากดไลค์หรือเข้ามาสนใจตัวเอง” นพ.กัมปนาท วิเคราะห์จากประสบการณ์
ถ้าจะเล่นโซเชียลมีเดียให้เป็น ต้องเล่นแบบไม่ทำร้ายทั้งตัวเองและไม่เกรียนใส่คนอื่น คือ “เราต้องรู้ตัวเองว่าเราเป็นคนประเภทไหน ถ้าเป็นประเภทหูเบา เชื่อคนง่าย อันนี้คิดว่าคงไม่มีประโยชน์ที่จะไปเตือน แต่ถ้าเราเป็นคนหนักแน่น มีเหตุผล มีความรู้มากพอ เราฟังเรื่องราวต่างๆ เราจะไม่คล้อยตามเขาหรอก มันขึ้นอยู่กับตัวเรามากกว่า แล้วก็ต้องพยายามลดจำนวนเวลาในสิ่งเหล่านี้ลงบ้าง แนะนำว่าไม่ควรจะอยู่กับคอมพ์หรือเกมนานกว่า 2 ชั่วโมง ควรจะพักบ้าง ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น” อธิบายเป็นคำสั้นๆ ง่ายๆ ได้ว่า “ไม่แน่จริง อย่าเล่น”
“ถามตัวเองว่า คุณแน่จริงหรือเปล่าที่มาเล่นเฟซบุ๊ก? ถ้าคุณไม่แน่จริง คุณอย่ามาเล่น เพราะหมอมีคนไข้เยอะมากที่เล่นเฟซบุ๊กแล้วเพี้ยน ทะเลาะกับคนอื่น หวาดระแวงหาว่าเขาด่า หมกมุ่นทั้งวันทั้งคืนจนประสาท-เครียด-หงุดหงิด แล้วมาลงกับครอบครัว วุ่นวายไปหมด นั่นคือคนที่ไม่แน่จริง
มันเหมือนเจ้าตัวมีความเปราะบางอยู่แล้ว พอมาเล่นเฟซบุ๊กก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย เช่น เป็นคนขี้เหงา ต้องการคนเอาอกเอาใจเยอะๆ พออยู่บ้านกับสามี สามีก็ทำงาน ไม่ค่อยสนใจ วันหนึ่งเล่นเฟซบุ๊ก เจอชายหนุ่มหน้าตาดี พูดจาดี เอาใจใส่ ก็หลงไป สุดท้ายครอบครัวก็แตกแยก มีปัญหา ทั้งๆ ที่ความจริงสามีก็ไม่ได้ชั่วร้ายอะไรเลย เขาก็ทำมาหากิน นี่แหละครับคือตัวอย่างของคนที่ไม่แน่จริง
ถ้าคุณแน่จริง คุณต้องเล่นแล้วมีความสุขโดยที่ไม่เสียครอบครัวสิ มันมีคนเล่นแล้วไม่แน่จริงอยู่เยอะมากนะ หมอว่าไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการเล่น เล่นแล้วคุมตัวเองไม่ได้ เครียด เกิดความเสียหายต่อชีวิตตัวเอง บางคนก็ไปด่าคนอื่นเสียๆ หายๆ ถ้าคุณแน่จริง คุณจะสามารถอ่าน สามารถรับรู้เรื่องราวของคนอื่นแล้วทำให้ใจสงบได้ อ่านแล้วให้เหมือนอ่านหนังสือนวนิยายสิ คุณทำได้มั้ย? ถ้าเกิดคุณทำไม่ได้ หมอว่าคุณไม่แน่จริง ก็อย่าเล่นเลยดีกว่า”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE