ใครจะคาดคิดว่าอันตรายจะเกิดขึ้นได้รอบตัวขนาดนี้ แม้แต่ใน “ที่สาธารณะ” ในโรงพยาบาล ต่อหน้าผู้คนมากมาย มิจฉาชีพยังกล้ามอมยา-ปลดทรัพย์เหยื่อได้อย่างแนบเนียน คว้าเงินสดไปถึง 14,000 บาท!!
ที่น่าตกใจที่สุดคือ ตัวยาที่นำมาใช้มอมเหยื่อเป็นยาอันตรายที่ใช้ล้มสัตว์ ทำให้สังคมกลับมาตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในที่สาธารณะของคนเมืองทุกวันนี้ว่า มีเหลือมากน้อยแค่ไหนกัน!?!
“โรงพยาบาล” แหล่งอันตรายหมายเลข 1 !?!
เหตุมอมยา-ปลดทรัพย์ที่เกิดขึ้น ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งถูกเสนอเป็นข่าวครึกโครมครั้งล่าสุด ส่งให้โรงพยาบาลกลายเป็นแหล่งมิจฉาชีพหมายเลข 1 ในใจประชาชนชาวไทยไปเรียบร้อยแล้วในขณะนี้ ถึงแม้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประกาศล้างบางมิจฉาชีพลักษณะนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ และมีการอนุมัติให้ออกหมายจับคนร้ายตามที่มีภาพในกล้องวงจรปิดระบุเอาไว้แล้ว แต่หลายคนก็ยังไม่ไว้วางใจอยู่ดี
มองในแง่ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะตื่นตระหนกและเฝ้าระวังเหล่ามิจฉาชีพในที่สาธารณะ อย่างน้อยตัวอย่างจากคดีครั้งล่าสุดก็ช่วยให้ได้เรียนรู้กลวิธีปล้นทรัพย์แนวใหม่ของผู้ร้ายในคราบคนดี ทำทีเป็นหวังดีหาน้ำเปล่ามาให้คุณป้าวัย 69 ดื่ม ขณะรับประทานอาหาร รอให้ตัวยาที่ผสมเอาไว้ในน้ำออกฤทธิ์แล้วรูดทรัพย์และโกยแน่บหนีไป
“คนร้ายจะแต่งกายดูภูมิฐาน ทำทีเป็นผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาล โดยจะมุ่งเป้าเหยื่อที่เป็นผู้สูงอายุ ดูไม่ค่อยแข็งแรง ดูจากหลักฐานในกล้องวงจรปิดแล้ว ผู้ต้องหาเป็นผู้ชาย อายุประมาณ 40-50 ปี รูปร่างสูง ใหญ่ ใส่ผ้าปิดจมูกอำพรางใบหน้า เข้าไปใกล้ชิดกับผู้เสียหาย กำลังตรวจสอบว่าคนร้ายรายนี้จะมีส่วนเชื่อมโยงกับคดีมอมยารูดทรัพย์พระภิกษุที่สถานีขนส่งหมอชิตด้วยหรือเปล่า” พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รอง ผบช.น. เผยความคืบหน้าล่าสุดเอาไว้
ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลที่ถูกคนร้ายเข้าไปก่อเหตุ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลสงฆ์ และ โรงพยาบาลราชวิถี แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเป็นคนร้ายรายเดียวกันหรือไม่ จากแนวทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คาดว่าคนร้ายน่าจะก่อเหตุมาแล้วทั้งหมด 5 คดี ทางฝ่ายสืบสวนกำลังตรวจสอบหาความเชื่อมโยงต่อไป ส่วนเรื่องสถานการณ์ความไม่น่าไว้วางใจในความรู้สึกของผู้เข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลนั้น ขอให้มองว่าเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่และให้ตั้งสติ ระแวดระวังตนเองเอาไว้ตลอดเวลาจะดีกว่า
“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นโรงพยาบาลของรัฐ เพราะฉะนั้น คนที่เข้ามาใช้บริการจะค่อนข้างมาก จำนวนคนมาก เจ้าหน้าที่ที่ดูแลย่อมไม่เพียงพอ โอกาสที่คนร้ายจะกระทำความผิดก็มีมาก เพราะเจ้าหน้าที่สอดส่องดูแลได้ไม่ทั่วถึง และอยากให้มองอย่างเข้าใจว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เกิดขึ้นตลอดอยู่แล้วทุกวัน แตกต่างกันออกไปที่เกิดในชุมชน ตำบลไหน เท่านั้นเอง และปรากฏเป็นข่าวมากน้อยเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เท่านั้นเอง
ตามหลักอาชญาวิทยา บอกไว้ว่าคนจะตกเป็นเหยื่อไม่ว่าจะด้านทรัพย์สินหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุครับ” พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ให้ฟัง
อย่าชะล่าใจ “มิจฉาชีพสาธารณะ”
หลังจากเหตุการณ์การรูดทรัพย์ที่เกิดขึ้น ต้องขอชื่นชมทางโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ออกแถลงการณ์ “ชี้แจงข้อมูลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี” ออกมาเตือนประชาชนอย่างเป็นทางการทันที ทั้งยังปิดประกาศ “4 ข้อพึงระวัง” สำหรับคนไข้และบุคคลภายในให้ปฏิบัติตาม ดังนี้
1.ให้ผู้ป่วยหมั่นตรวจสอบสิ่งของมีค่า 2.หลีกเลี่ยงการรับอาหารและเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า 3.ห้ามวางอาหารและเครื่องดื่มทิ้งเอาไว้โดยไม่มีคนเฝ้า และ 4.เมื่อมีผู้แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ให้ขอดูบัตรพนักงานของทางโรงพยาบาลก่อน ทั้งยังรณรงค์ให้บุคลากรของโรงพยาบาลติดบัตรประจำตัวทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีในระดับหนึ่ง
แต่ถึงอย่างไร ข้อแนะนำดังกล่าวก็เป็นเพียงวิธีการรับมือกับมิจฉาชีพในโรงพยาบาลเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยังมีมิจฉาชีพอีกมายมายหลากหลายรูปแบบอยู่ตามท้องถนน ตามที่สาธารณะ เมื่อมีประเด็นเรื่องนี้มาจุดประกายให้หลายคนหันมาเฝ้าระวังมากขึ้น จึงไม่ควรเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้วิธีป้องกันตนจากโจรตามที่สาธารณะในรูปแบบอื่นๆ ด้วย
คำว่า “สถานที่สาธารณะ” แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น สวนสาธารณะ, ห้างสรรพสินค้า, ลานจอดรถของห้างฯ, ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึง ร้านฟาสต์ฟู้ด ทุกที่ที่กล่าวมาถือว่าเป็นสถานที่ที่คนร้ายเลือกกระทำความผิดได้ตลอดเวลาถ้ามีโอกาส เพราะฉะนั้น อย่าไปชะล่าใจว่าอยู่ท่ามกลางผู้คน อยู่ในที่สาธารณะแล้วจะปลอดภัย เพราะถึงแม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะ มีคนอื่นอยู่ด้วย แต่ว่าแต่ละสถานที่ก็อาจจะมีจุดเสี่ยง จุดบอดที่เปลี่ยวๆ ที่ต้องระวังอยู่
“อย่างที่เคยเป็นข่าว กรณีที่มีน้องผู้หญิงไปจอดรถในที่จอดรถของห้างฯ แล้วถูกคนร้ายจี้ขึ้นรถ เอาทั้งคนทั้งรถ คือถ้าสบโอกาสเมื่อไหร่ คนร้ายก็จะลงมือทันที หรือแค่จอดรถริมถนน เดินไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อก็เคยมีคดีมาแล้วเหมือนกันครับ เขาเห็นแล้วว่าเหยื่อเป็นผู้หญิง คนร้ายก็จอดมอเตอร์ไซค์คอยดูพฤติกรรม เห็นเหยื่อเดินคุยโทรศัพท์ตลอดตั้งแต่ตอนเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ตอนเดินออกมาก็ยังโทรศัพท์อยู่ เขาเห็นว่าว่าโทรศัพท์รุ่นนี้คือ I-Phone 5 ยิ่งถ้าเป็น 5S ด้วย ได้มาตอนนี้ ตลาดกำลังต้องการยิ่งได้ราคาดี”
การฉกชิงทรัพย์สินรูปแบบนี้ เรียกว่า Street Crime หรือการชิงทรัพย์ตามท้องถนนทั่วๆ ไป ที่พบเจอบ่อยๆ ก็จะเป็นการวิ่งราวมือถือหรือกระเป๋าของเหยื่อผู้หญิงที่กำลังรอรถเมล์หรือเดินอยู่บนฟุตปาธ บางรายอาจใช้วิธีร้ายแรงกว่าการกระชากกระเป๋า ขี่มอเตอร์ไซค์มาแล้วใช้ไม้หน้าสามฟาดเหยื่อแล้วชิงของไปก็มี ซึ่งก่อนลงมือ คนร้ายก็จะวิเคราะห์ก่อนว่า เหยื่อเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้าลงมือแล้วจะมีความเสี่ยงต่อการสวนกลับมั้ย คนข้างเคียงจะเข้ามาช่วยหรือไม่
ส่วนมิจฉาชีพในที่สาธารณะอีกประเภทคือ ประเภทที่เพิ่งปรากฏในข่าว ใช้วิธีเข้ามาตีสนิท-ใช้หลักจิตวิทยา ผสมยานอนหลับ-ยาสลบในน้ำดื่ม จากนั้นก็รูดทรัพย์ไป “แบบนี้ ถ้าโดนยาเข้าไปแล้วเริ่มรู้สึกมึนๆ ทางที่ดีให้เดินไปหานางพยาบาลหรือคุณหมอเลยครับ ถ้าอยู่ข้างนอกก็ให้พาตัวเองเข้าไปในสถานที่ราชการ ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วย หรือพยายามเดินไปหาคนที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด บอกเขาเอาไว้ว่าเรามาคนเดียวนะ แล้วก็พยายามส่งเสียงขอความช่วยเหลือ เพื่อให้เป็นจุดสนใจ จะได้ไม่มีใครเข้ามาสวมรอยมาอุ้มเราทีหลังตอนเราหมดสติ แล้วมาอ้างว่าเป็นญาติกัน”
ซึ่งไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน ประชาชนต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารอะไรแบบนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพราะวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับตัวท่านหรือญาติพี่น้อง-คนใกล้ตัว
“คนส่วนใหญ่เวลาเรื่องไม่ได้เกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว จะตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่พักหนึ่งแล้วก็ลืมๆ ไป คิดว่าไม่เป็นไร มันคงไม่เกิดขึ้นกับเราหรอก เป็นเรื่องไกลตัว เราคงไม่โดนหลอกหรอก ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องอาชญากรรมนี่แหละครับที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ตั้งแต่ตื่นนอน ก้าวเท้าออกจากบ้านมา ความเสี่ยงที่ทุกคนจะถูกลักทรัพย์ก็สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว ส่วนทางภาครัฐก็ต้องลงมือสอบสวนและให้บทลงโทษที่รวดเร็วและแน่นอน จะทำให้ผู้กระทำความผิดมีแนวโน้มจะกระทำผิดในรูปแบบเดียวกันน้อยลง”
อันตราย! ใช้ยาล้มสัตว์ มาล้มคน
รายละเอียดเหตุการณ์การมอมยาในโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นนี้มีจุดที่น่าตกใจจุดใหญ่จุดหนึ่ง นั่นก็คือตัวยาที่คนร้ายใช้คือ “ไซลาซีน (Xylazine)” ซึ่งปกติแล้วเป็นยาสำหรับสัตว์ ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อให้สัตว์ เช่น ม้า โค สุนัข และแมว มีอาการสงบก่อนเคลื่อนย้ายหรือก่อนน.พ.การผ่าตัด จัดเป็นยาอันตราย มีฤทธิ์คลายความเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อในสัตว์ แต่ไม่เคยอนุญาตให้ใช้ในคน จึงไม่มีรายการว่า ใช้ในคนแล้วจะเป็นอย่างไร แต่มีข้อมูลทางวิชาการว่า จะทำให้หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะมาก ทำให้ความดันต่ำลง น้ำตาลในเลือดสูง ปากแห้ง และทำให้อาการในระบบทางเดินหายใจและระบบเลือด
“ยานี้ขึ้นทะเบียนเป็นยาฉีดกับ อย. 9 ตำรับ เป็นยาที่ผลิตในประเทศ 6 ตำรับ นำเข้า 3 ตำรับ ยาตัวนี้เมื่อกินเข้าไปออกฤทธิ์ได้เช่นกัน แสดงว่าคนร้ายเอาไปใช้ละลายน้ำเอาไปให้เหยื่อดื่ม ซึ่งออกฤทธิ์ได้ไม่มากเท่าฉีด จุดที่ซื้อขายยาตัวนี้ได้น่าจะเป็นร้านขายยาสัตว์ เพราะร้อ.ย.านขายยาธรรมดาจะไม่ได้ขายยาเกี่ยวกับสัตว์เท่าไหร่ ตรงนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจน เดี๋ยวทาง อย. ต้องเช็ก.กับทางผู้ขายอีกที” นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) อธิบายสรรพคุณของยาเอาไว้
หลายฝ่ายเริ่มหันมาจับจ้องเกี่ยวกับระบบความเข้มงวดในเรื่องการจ่ายยาของวงการแพทย์กันมากขึ้น มองว่าเป็นกลไกที่ผิดพลาดส่วนหนึ่งที่ทำให้มิจฉาชีพมีสิทธิ์หยิบยาอันตรายเหล่านี้มาใช้ได้ เกี่ยวกับประเด็นนี้ เลขาธิการ อย. ขอให้อย่าเพิ่งโทษระบบควบคุมยาในบ้านเมืองเราเลย
“ถ้าจะบอกว่าระบบควบคุมยาไม่ดี ก็ต้องถามว่าไม่ดียังไง เพราะบางอย่างก็ควบคุมลำบากจริงๆ มีการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เรื่องจะตามได้ง่ายๆ ซึ่งมันก็เป็นปัญหาไปทั่วโลกนะครับ คนก็คิดยาตัวใหม่ออกมาใช้อยู่เรื่อยๆ หรืออย่างกลุ่มยาออกฤทธิ์กดประสาทก็จะมีตัวใหม่ออกมาตลอด หรือมีสารเคมีที่เอาไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น แต่เผอิญมีฤทธิ์บางอย่างทำให้สะลึมสะลือ กลุ่มมิจฉาชีพก็จ้องจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์กับอุบายของตัวเอง เราก็ต้องทันกับสถานการณ์แล้วก็หาทางควบคุม”
ภายในต้นสัปดาห์นี้ ทางองค์การอาหารและยาจะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยหาทางแก้ปัญหากัน ทั้งสัตวแพทย์, สมาคมผู้ขายยา, เภสัชกร ฯลฯ
“เราจะควบคุมเรื่องนี้ยังไงดี มองไว้คร่าวๆ ว่า อาจจะกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษก็ได้ ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพหาซื้อได้ยากขึ้น ต้องให้แพทย์สั่งเท่านั้น แต่ถ้ายกระดับยาแล้ว อาจจะส่งผลต่อกลุ่มสัตวแพทย์หรือเปล่า เราก็เลยต้องมานั่งพูดคุยกันก่อน ไม่อยากให้กลุ่มคนที่เคยใช้ประโยชน์ด้านดีของยาตัวนี้เดือดร้อนไปด้วย หรืออาจจะออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับกลุ่มผู้นำเข้ายาตัวนี้ ให้ทาง อย. สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ หรือจะใช้วิธีติดสลาก ให้ใช้เฉพาะสัตวแพทย์เท่านั้น
และก่อนหน้าที่มาตรการเกี่ยวกับยาจะเปลี่ยนแปลง เราคงต้องระวังกันเบื้องต้น ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งให้ประกาศเตือนเรื่องนี้ แต่เท่าที่ผมเช็กดู มันเกิดในกรุงเทพฯ เป็นหลักนะ ยิ่งพอเป็นข่าวแล้ว ทั้งทางคนไข้ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะยิ่งช่วยกันเป็นหูเป็นตายิ่งขึ้น”
ส่วนมิจฉาชีพรายไหนที่กะจะใช้วิธีเดียวกันนี้มอมยาเหยื่อรายถัดๆ ไป เจ้าหน้าที่ตำรวจขอประกาศเอาไว้เลยว่า ถ้ากล้าใช้ก็ต้องกล้ารับไปอย่างน้อยๆ 3 ข้อหา คือ ข้อหาชิงทรัพย์, ปลอมปนสารในอาหารให้ผู้อื่นเป็นอันตราย และข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
มิจฉาชีพมอมยารูดทรัพย์เหยื่อใน รพ.รามา
เดินห้างฯ อย่าวางใจ! โจร ณ ที่จอดรถ
หลีกให้พ้น! “ปล้นในที่จอด”