นานทีปีหนจะเห็นคนในชาติสมัครสมานกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ “สู้เพื่อต่อต้านเขื่อนแม่วงก์” เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่จะจารึกถึงพลังของมวลชนในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ผืนป่าต้นน้ำในจังหวัดนครสวรรค์ แม้ว่ากองหน้าจากฝ่ายรัฐบาล ปลอดประสพ สุรัสวดี จะยืนยันว่ายังไงก็ต้องสร้าง แต่ด้วยพลังจากคนในชาติน่าจะฉุกให้นักการ (โกง) เมืองทั้งหลายพึงระลึกว่า ทุกวันนี้ พลังของประชาชนแข็งแกร่งกว่าที่คิดเอาไว้เยอะเหลือเกิน!!
ดารา-คนดังแห่ต้าน "ไม่เอาเขื่อน"
หลังการรวมพลังต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ นำโดย ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เหล่ามวลชนจำนวนมากอออกมาปกป้องสิทธิที่พึงมี ทั้งคนแก่ คนเฒ่า ลูกเล็กเด็กแดงที่หัวใจเกินร้อย รวมถึงเหล่าดารา-ศิลปิน ก็ถือโอกาสนี้ออกมาร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โน้ต-วัชรบูล ดาราช่อง 7, นักร้องสาว ลูกหว้า-พิจิกา จิตตะปุตตะ, เจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ อดีตนางสาวไทย, ดาราหนุ่ม ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร รวมถึงดารารุ่นใหญ่ อูม-วิยะดา อุมารินทร์
นอกไปจากการตบเท้าออกไปร่วมกิจกรรมแล้ว เหล่าดารา-คนดัง ยังช่วยส่งกำลังใจผ่านทางโลกโซเชียลอย่าง อินสตาแกรม ไม่ว่าจะเป็น นก-สินจัย หงษ์ไทย, บอย-ตรัย ภูมิรัตน์, พีช-พชร จิราธิวัฒน์, แทค-ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม, นัท-มีเรีย เบเนเดตตี้, ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์, เบนซ์-พรชิตา ณ สงขลา, นท พนายางกูร, หน่อย-บุษกร วงศ์พัวพันธ์, ลุลา-กันยารัตน์ ติยะพรไชย, หมอก้อง-สรวิชญ์ สุบุญ, จุ๋ย-วรัทยา นิลคูหา, ขวัญ-อุษามณี ไวทยานนท์, นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์
ล่าสุดดารารุ่นใหญ่ อย่าง นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช ก็ได้ออกมาโพสต์ภาพที่ระบุข้อความว่า “ถ้ามึงจะทำร้ายผืนป่าทำร้ายธรรมชาติทำร้ายบ้านเกิดเมืองนอนอยู่อย่างนี้ สัตว์นรกจะมารอรับมึงแน่ แต่มึงคงไม่ตกใจเพราะมึงเห็นในกระจกทุกวัน คิดทำสิ่งสร้างสรรค์บ้างได้มั้ย” ทำเอาสะดุ้งโหยง ตรง แรงและเจ็บเป็นที่สุด รวมไปถึงดาราตัวแม่อย่าง พลอย-เฌอมาลย์ ที่เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในอินสตาแกรมเป็นภาพที่มีข้อความระบุว่า No Dam แถมยังโพสต์ภาพต่อต้านเขื่อนแม่วงก์กว่า 3 ภาพด้วย
แม้กระทั่ง ซานิ-นิภาภรณ์ ฐิติธนการ สาวเอเอฟก็ร่วมโพสต์ภาพที่มีศศิน เฉลิมลาภ ร่วมถ่ายภาพด้วย โดยซานิเขียนข้อความบรรยายใต้ภาพไว้ว่า “ฉันเคยใช้เวลาในการปีนป่ายเขาแม่วงก์อยู่สองวันเต็มๆ พร้อมกับอาจารย์ศศิน และอาจารย์ณรงค์ ในที่สุดฉันยืนอยู่บนยอดเขา ความสวยอย่างน่าทึ่งบดบังความเหนื่อยทั้งหมด เรานั่งคุยกันหลายเรื่อง เรื่องเขื่อนเป็น 1 ในนั้น ฉันจึงได้รู้ว่า การสร้างเขื่อนทำลายพื้นที่ป่ามากมาย เสียสัตว์ป่า นี่มันอาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่ได้ฟัง ถ้าเพียงอาจารย์ไม่ได้ทิ้งท้ายประโยคว่า “เขื่อนให้น้ำ แต่ป่าให้น้ำชั่วชีวิต” คำพูดที่ทำให้ประกายในดวงตาฉันมันมุ่งมั่นและสามารถพูดคำง่ายๆ ที่หนักแน่น “ฉันไม่เอาเขื่อนแม่วงก์” แล้วคุณล่ะ ว่าไง?”
“ในขณะที่บางประเทศเล็งเห็นความสำคัญของธรรมชาติ สร้างโลกใต้น้ำ ค้นคว้าวิจัยชีวิตเส้นขนานกับธรรมชาติ มองเห็นหายนะของโลกที่เกิดจากการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากรุ่นสู่รุ่น การนำวิวัฒนาการมาแก้ปัญหาถูกนำมาแก้ไขโดยความเป็นจริง เราลืมคิดไปว่ามันคือ สิ่งเร้า ที่ทำให้เราเข้าใกล้หายนะมากขึ้นทุกที การมองเห็นปัญหาแล้วพยายามแก้ไขปัจจุบันอาจใช้ไม่ได้อีกแล้วในยุคนี้ เราควรหาวิถีทางแก้ไขในอนาคตรึเปล่า? อย่าลืมว่าที่สุดแล้วเราก็คือมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่มีแค่สมอง ที่จริงแล้วธรรมชาติใหญ่กว่าเราหลายเท่านัก การเอาไม้จิ้มฟันไปคั่นป่า ถึงเวลาไม้จิ้มฟันก็หักโค่นลงไป ทำไมไม่มองหาวิธีที่เป็นเส้นขนานกับธรรมชาติ การคิดค้นสร้างทฤษฎีความเป็นอยู่แบบเส้นขนานกับธรรมชาติควรจะเริ่มได้แล้ว จะใช้งบประมาณมหาศาลเท่าไหร่คงไม่มีใครว่า ที่สุดแล้วเมื่อวันหายนะของโลกที่กำลังเดินทางมาถึง อิฐ ดิน ปูน ที่แข็งแรงฉันใด สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นธุลี...ทุกชีวิตต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้น คนต้องกินพืช แล้วถึงวันนั้นไม่เหลือพืช... เราก็ไม่เหลืออะไร #ฝากไว้นะคะ #มุมมองเล็กๆ ของฉัน #ฝืนธรรมชาติ #ญาญ่าญิ๋ง” ข้อความจาก ญาญ่าญิ๋ง-รฐา โพธิ์งาม
“นับถือใจผู้ชายคนนี้ เดินเท้า 388 กม.เพื่อรักษาผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งนึงของประเทศ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อคนไทย เพื่อเมืองไทย เพื่อมวลมนุษยชาติ ล้วนๆ ขอคารวะ No Dam !! อย่าทำลายป่าอีกเลย กว่าจะอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สัตว์ป่ามากมายต้องไร้ที่อยู่ คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเถอะครับ น้ำท่วมเดี๋ยวมันก็ไป แต่ถ้าทำลายป่าผลกระทบมันจะมากมายกว่านั้น ขอเถอะครับท่านๆ” น็อต-วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์
ขยับมาดูคนดังกันบ้าง ความเคลื่อนไหวร้อนแรงจาก ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day ที่ทุ่มแรงกายแรงใจออกเดินทางไปร่วมเดินเท้ากับ อ. ศศินที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อทำบทสัมภาษณ์ลงนิตยสาร a day โดยทรงกลดได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Zcongklod Bangyikhan หลังฟังปลอดประสพพูดถึงเรื่องเขื่อนแม่วงก์ว่า
“ถ้าสวนกลับอย่างคนใจร้อน ผมก็คงเรียกชื่อ 'เขื่อนแม่วงก์' ใหม่ว่า 'เขื่อนแม่มึง' แต่โชคดีที่ผมเป็นคนใจเย็น เลยอยากส่งรายการพื้นที่ชีวิตตอนแม่วงก์ (ซึ่งผมเป็นพิธีกร) ให้เขาดูมากกว่า เผื่อจะเข้าใจอะไรๆ ดีขึ้นว่า นักการเมืองห่วยๆ หายไปน่ะคนไทยอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีป่าไม้ ไม่มีสัตว์ป่า คนไทยอยู่ไม่ได้”
ด้านขวัญใจเด็กแนว สุหฤท สยามวาลา ผู้บริหารบริษัท ดีเอชเอ สยามวลา ที่คนกรุงเทพฯ รู้จักดีในฐานะอดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ครั้งที่แล้วก็ระบุเช่นกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนและไม่ใช่เป็นคนตะบี้ตะบันค้านทุกเรื่อง
“ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลผมก็จะขอคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ครับ สเตตัสผมก่อนหน้านี้มีข้อมูลที่หน้าสนใจมากมายครับ ผมถือว่าเป็นสเตตัสที่ถกเถียงด้วยข้อมูล ไม่มีคำหยาบคาย และนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยควรมี ดึงเอาข้อมูลมาเผยแพร่มากกว่าการด่าด้วยคำหยาบไปมาครับ ไม่ต้องมีสีเสื้อกันทุกเรื่องหรอกครับ การที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นสิทธิส่วนบุคคลเต็มที่ครับ”
วาทะร้อน นักการเมืองโต้นักวิชาการ
ด้านนักวิชาการต่างก็พากันออกมาแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะนักอนุรักษ์ที่ต่างจูงมือกันมาประท้วงต่อความไม่ชอบมาพากลในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ครั้งนี้
“คุณอ้างว่าสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ในการศึกษาความเหมาะสมของเขื่อนบอกว่าเพื่อการเกษตร ข้ออ้างกับการศึกษายังเป็นคนละเรื่อง เขื่อนแม่วงก์มีความจุน้ำ ๒๕๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ตามข้อเท็จจริงอาจต่ำกว่านั้นอีก” หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ
“เราไม่ได้เป็นพวกต่อต้านความเจริญ แต่เราคัดค้าน EHIA นี้ที่นำเสนอไม่ครบถ้วนทุกประเด็น ในแง่ของกระบวนการจัดทำและขั้นตอนการพิจารณา การไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้สาธารณชนได้รับทราบ และเงื่อนงำในการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการพิจารณาตั้งแต่ต้นปี และหากมองรายงานฉบับนี้ในมุมมองที่ผมเป็นนักวิชาการ รายงานฉบับนี้ยังเป็นรายงานที่ต้องได้รับการแก้ไขอีกมาก” ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
“โดยสรุปแล้ว ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) -101.831 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนโครงการ (EIRR) ที่ 11.9% และมี B/C Ratio ที่ 0.99 ถ้าใครเรียนเศรษฐศาสตร์มาก็คงจะพอดูออกนะครับ ว่า โครงการนี้ไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุนทางเศรษฐกิจ” ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“นักการเมืองบอกเราว่า ป่าแม่วงก์บริเวณที่จะสร้างเขื่อนเป็นป่าเสื่อมโทรม เราบอกนักการเมืองว่า สิ่งที่เสื่อมโทรมที่สุด คือใจของคนที่คิดจะทำลายป่าผืนนี้” ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายและสิ่งแวดล้อม
“ตอนดิฉันเด็กๆ เรายังมีป่าสงวน และเดิมทีเราก็ตั้งใจว่าจะแบ่งป่าเป็นป่าใช้สอย ซึ่งใช้ไปแล้วจะมีการฟื้นฟูใหม่ให้ใช้ได้อีกเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน และส่วนที่เก็บไว้ก็เป็นส่วนที่ขับเคลื่อนประสิทธิภาพของวงจรธรรมชาติก็คือป่าอนุรักษ์ แต่พอถึงตอนที่ดิฉันเป็นนักศึกษา ป่าสงวนก็หมดแล้ว ตรงนี้ (ป่าตะวันตก) เป็นแปลงสุดท้าย เราแกะกินมันไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ฟื้นฟู จนถึงวันนี้เราแทะป่าสงวนไปหมดแล้ว ป่าอนุรักษ์ก็พยายามจะเข้าไปแทะอีก เพราะฉะนั้นการพัฒนาอะไรต่างๆ มันไม่ควรจะเป็นการ ‘เลือก’ ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์อีกต่อไปแล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธีพัฒนาให้ ‘เป็นเรื่องเดียว’ กับการอนุรักษ์ นี่จึงจะเป็นหนทางในอนาคต” ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว
แต่ถึงแม้นักวิชาการทั้งหลายจะงัดเอาข้อมูลมาต่อสู้แล้วก็ตาม ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า “จะเอาอะไร” ประโยคจาก บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ออกมาแนะว่า ควรจะยอมกันบ้าง
“ไม่เข้าใจว่าจะเอาอะไร เพราะหากดูผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54 เห็นชัดว่าน้ำท่วมมิดไปหมด ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้น ต้องทำเขื่อนแม่วงก์ แต่ถ้าความเสียหายจะเกิดขึ้น ต้องมาดูว่าเกิดตรงไหน เช่น พื้นที่ป่าต้องไปสำรวจความเสียหาย แต่ส่วนตัวผมว่าต้องมาดูกันว่าจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งผมได้ลงพื้นที่ไปดูมาแล้ว ควรจะทำ แต่ถ้าไม่ทำประชาชนจะเดือดร้อนมาก ดังนั้นควรจะยอมกันในบางเรื่อง”
ส่งสารผ่านเพลง
นอกไปจากนั้นแล้ว อีกหนึ่งธรรมเนียมคือเรื่องของบทกวีและบทเพลง ท่วงทำนองให้กำลังใจ อย่างเพลง “ศศิน” แต่งโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา ขับร้องโดย อ.ไข่ มาลีฮวนน่า หรือ คฑาวุธ ทองไทย
“ร่วมทางศศิน เพื่อแผ่นดินไทย รักษาพงไพร ก่อนจะสายเกินไป
สู้ด้วยความรัก พิทักษ์ป่าแม่วงก์ ร่วมชูธง ให้โลกได้รับรู้
จากหนึ่งศศินเป็นล้านสสาร จากจิตวิญญาณ อุดมการณ์ร่วมเป็นพลัง
สู้ สู้ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์”
เพลง “กอดแม่วงก์” ที่แต่งโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา อีกเพลงหนึ่ง ขับร้องโดย “โฮป แฟมิลี่” ขอยกเนื้อเพลงมาสั้นๆ ดังนี้
“จากแม่วงก์ ลงเจ้าพระยา จากภูผา สู่มหานคร
สายน้ำไหล เส้นทางไกล รวมหัวใจก้าวเดิน
เรื่องราวที่ถูกเมิน ก้าวเล็กเล็กฝ่าข้ามเผชิญ..เดินต้าน เขื่อนแม่วงก์”
เพลงที่ยกตัวอย่างมาสุดท้าย เป็นเพลงปลุกใจ คึกคัก เนื้อหาสั้นๆ แต่ชัดเจนในความหมาย “เดิน...เพื่อแม่วงก์” ของนิด ลายสือ
“ฉันจะเดิน เดินไป บอกว่าป่าไทย ยังสมบูรณ์
ก่อนจะสิ้นสูญ ก่อนป่าถูกทำลาย
ลานนกยูง สัตว์สาพนาไพร
ป่าแม่วงก์ยิ่งใหญ่ ล้ำค่ากว่าการสร้างเขื่อน”
หลายทรรศนะจากดารา-คนดัง รวมถึงนักวิชาการและนักอนุรักษ์ทั้งหลาย ผ่านข้อความ รูปภาพ บนโซเชียล มีเดีย และบทเพลงสร้างสรรค์ กลายเป็นกระบอกเสียงให้สังคมไทยได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ ต่างคนต่างที่มา แต่บรรลุในวัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคืออนุรักษ์ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์ให้คงอยู่สืบไป...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
[Info] เราสูญเสียอะไร? ถ้ามี “เขื่อนแม่วงก์”