xs
xsm
sm
md
lg

No Dam!!! บทเพลงแด่แม่วงก์ แนวร่วมภาษาตีนต้านเขื่อนแม่วงก์/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)

ปรากฏการณ์เดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์การทำงานของสื่อไทยในยุคเงินเป็นใหญ่ อยู่เหนือความจริง เหนือความถูกต้อง เพราะนี่เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า “สื่อกระแสหลัก สื่อฟรีทีวีไทย(ส่วนใหญ่)ตายแล้ว”

อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์นี้ แม้จะเริ่มก่อตัวจาก “ดร.ศศิน เฉลิมลาภ” และคณะอีกไม่กี่คน แต่ด้วยความมุ่งมั่น ผสมกับการค่อยๆบ่มเพาะก่อตัวจากปรากฏการณ์เล็กๆในโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค และสื่อกระแสรอง ทำให้เกิดการขยายแนวร่วม สังคมเริ่มรับรู้ในวงกว้างขวาง มีผู้คนจำนวนมากขานรับ

นับได้ว่า“ภาษาตีน”*** ของกลุ่มผู้ต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ก่อให้เกิดกระแสเสียงที่ดังขึ้น ส่วนกระแสเสียงนี้จะดังไปกระตุกต่อมสำนึกของพญามะเร็ง นักการเมืองเปื้อนสารปรอทผู้ดึงดันจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้เปลี่ยนใจได้หรือไม่ เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไป

สำหรับหนึ่งในแนวร่วมต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็คือภาคดนตรีกับบทเพลงต้านเขื่อนแม่วงก์ที่ศิลปินสร้างสรรค์ออกมาให้ฟังกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมขอคัดสรรมานำเสนอดังนี้

เพลงแรก “แม่เรวา” ของน้าหงา คาราวาน(สุรชัย จันทิมาธร) อยู่ในอัลบั้มคู่ “หนังสือในชื่อเธอ” ที่มีเนื้อร้องท่อนขึ้นต้นว่า “ใบเอ๋ยใบไม้ ร่วงพื้นดินกรัง ภูผาหน้าหนาว แดดเช้าอุ่นจัง แม่เอ๋ยแม่เรวา แม่จ๋าเป็นที่หวัง...”

ป่าแม่เรวาคือส่วนหนึ่งของผืนป่าแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่จะถูกสร้างเป็นแนวสันเขื่อนที่แก่งลานนกยูง ที่เป็นหนึ่งในถิ่นอาศัยของนกยูงแหล่งใหญ่ในเมืองไทย

เพลงนี้น้าหงาพูดถึงเสน่ห์ความงามของผืนป่าแม่เรวา ก่อนจะปิดท้ายในท่อนจบด้วยบทพูดถึงอนาคตของแม่เรวาที่กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง ซึ่งแม้น้าหงาจะไม่ได้บอกว่าความเปลี่ยนแปลงคืออะไร แต่ถ้ามีการสร้างเขื่อนที่นี่เปลี่ยนไปแน่นอน โดยเฉพาะกับผืนป่าบริเวณที่นี้ที่จะถูกทำลายกลายเป็นเขื่อนและทะเลสาบ

ต่อกันด้วยอีกหนึ่งบทเพลงจากสมาชิกคาราวานที่พูดถึงแม่เรวาเหมือนกัน กับเพลง “อาลัยแม่เรวา” ของน้าหว่อง คาราวาน(มงคล อุทก) ในชุด“อัศจรรย์”

“แม่เอ๋ยแม่เรวา อำลาป่าแม่วงก์ ก๊อกก๊อกกระโต้งโฮง ไม่ร่อนลงแล้วยูงรำแพน
ลาแก่งลานนกยูง เขื่อนสูงจะมาแทน โมโกจู เขาหวงแหน ดินแดนแห่งเพชรพระอุมา...”

เพลงนี้น้าหว่องแต่งขึ้นเพื่อไว้อาลัยต่อป่าแม่เรวา ถ้าหากว่ามีการสร้างเขื่อนแม่เรวาขึ้นจริง เขาเขียนขึ้นที่แม่เรวาบริเวณป่าต้นน้ำเลยขึ้นไปจากแก่งลานนกยูง ซึ่งจากข้อมูลที่น้าแกประมวลมาจากจุลสารป่าแม่วงก์ คำบอกเล่าของชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่นั่น น้าหว่องบอกว่าเพลงนี้เป็นเรื่องราวของป่าพูด แต่คนเป็นผู้นำมาร้องถ่ายทอดเป็นบทเพลง

ทั้ง 2 บทเพลง เป็นเพลงเก่า แต่งมาก่อนหน้าเหตุการณ์เดินเท้า เพราะมีความพยายามมานานแล้วจากภาครัฐที่จะผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งวงคาราวาน น้าหงา น้าหว่อง ถือเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญทางดนตรีของกลุ่มศิลปินรักผืนป่าตะวันตก

มาถึงบทเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นล่าสุด สดๆใหม่ๆ ร่วมปรากฏการณ์เดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์กันบ้าง ผมขอเริ่มด้วย เพลง “เดิน...เพื่อป่าแม่วงก์” ของนิด ลายสือ

นิด ลายสือ เขาเป็นอดีตสมาชิกวงแม่น้ำ เคยมีเพลงเอกคลาสสิกคือ “ขุนเขายะเยือก” เพลงนี้นิด และพรรคพวก แต่งเพื่อเป็นกำลังใจให้ อ.ศศิน มาในแนวคันทรี จังหวะคึกคักกระฉับกระเฉง เหมาะกับการเป็นเพลงมาร์ชเดินปลุกใจ กับเนื้อหาโดนๆ

“...ฉันจะเดิน เดินไป บอกว่าป่าไทย ยังสมบูรณ์
ก่อนจะสิ้นสูญ ก่อนป่าถูกทำลาย
ลานนกยูง สัตว์สาพนาไพร
ป่าแม่วงก์ยิ่งใหญ่ ล้ำค่ากว่าการสร้างเขื่อน..”

ยังมีอีกหนึ่งบทเพลงที่แต่งกับ อ.ศศิน ในงานนี้ นั่นก็คือ เพลง “ศศิน” แต่งโดยกวีซีไรต์ “พี่จี๊ด-จิระนันท์ พิตรปรีชา” ขับร้องโดย“อ.ไข่ มาลีฮวนน่า”(คฑาวุธ ทองไทย)

เพลงนี้พี่จี๊ดโพสต์ในเฟซบุ๊คมีใจความว่า เกิดขึ้นใน 3 วัน หลังจากแต่งเพลงที่ผมจะพูดถึงต่อไปแล้ว เพลงศศินก็เกิดขึ้นมา เพื่อหวังจะให้เป็นเพลงให้กำลังใจ

เพลงศศินเป็นแนวอะคูสติกโฟล์คเบาๆ แต่มีท่อนฮุคโดนใจและปลุกประโลมคือ ท่อน “...สู้ สู้ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์...” ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของบทเพลงนี้

“...ร่วมทางศศิน เพื่อแผ่นดินไทย รักษาพงไพร ก่อนจะสายเกินไป
สู้ด้วยความรัก พิทักษ์ป่าแม่วงก์ ร่วมชูธง ให้โลกได้รับรู้
จากหนึ่งศศินเป็นล้านสสาร จากจิตวิญญาณ อุดมการณ์ร่วมเป็นพลัง
สู้ สู้ ไม่เอาเขื่อนแม่วง...”

มาถึงเพลงสุดท้ายนั่นก็คือ “กอดแม่วงก์” เพลงนี้ขับร้องโดย “โฮป แฟมิลี่” แต่งเนื้อโดยพี่จี๊ด จิระนันท์ อีกเช่นเคย และก็ใช้เวลาสั้นๆแค่ 3 วันเหมือนเดิม

เพลงกอดแม่วงก์ แต่งเพื่อเป็นกำลังใจให้กับ อ.ศศิน ผู้จุดประกายการเดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ เพื่อให้คนตระหนักถึงการพิทักษ์รักษาป่า ว่ามีคุณค่ากว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ไม่คุ้มค่าการลงทุนเป็นไหนๆ

เพลงนี้เนื้อหาดี ดนตรีไพเราะ ท่วงทำนองฟังง่ายติดหู จึงได้รับความนิยมไม่น้อย มีคนเปิดฟังในยูทูปกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมยกให้เป็นเพลงไฮไลท์ของงานนี้ และก็ขอคัดเนื้อร้องแบบเต็มๆมานำเสนอ ดังนี้

         “ดุจตะเกียง ส่องทางกลางสายฝน
จุดใจคนให้ตระหนักพิทักษ์ป่า
ก้าวเล็กเล็ก จากแม่วงก์พงพนา
คือก้าวกล้าที่ยิ่งใหญ่..ไกล ไม่ กลัว

ดุจไม้อ่อน บอบบางกลางลมฝน
ร้อยพันต้นเติบกล้าเป็นป่าใหญ่
จากน้ำค้าง ค่อยกลั่นก่อหล่อเลี้ยงไพร
เป็นสายธารแผ่กว้างไกล..สะแกกรัง

** จากแม่วงก์ ลงเจ้าพระยา จากภูผา สู่มหานคร
สายน้ำไหล เส้นทางไกล รวมหัวใจก้าวเดิน
เรื่องราวที่ถูกเมิน ก้าวเล็กเล็กฝ่าข้ามเผชิญ..เดินต้าน เขื่อนแม่วงก์

ดุจตะเกียง ส่องทางกลางสายฝน
จุดใจคนให้ตระหนักพิทักษ์ป่า
ทุกก้าวย่าง สันติธรรมนำปัญญา
สืบศรัทธา เส้นทางทอด กอดแม่วงก์”

และนั่นก็คือ 5 บทเพลงแด่แม่วงก์ แนวร่วมภาษาตีนต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่วันนี้ได้ถูกจุดให้วิญญูชนร่วมรับรู้และตื่นตัวกันไม่น้อย

อย่างไรก็ดี แม้วันนี้จะมีคนออกมาคัดค้านการต้านเขื่อนแม่วงก์กันจำนวนมาก เนื่องจากโครงการนี้ แม้จะมีการสำรวจออกมาแล้วว่าเป็นโครงการที่ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่คุ้มค่าการลงทุน เป็นการทำลายระบบนิเวศ ทำลายผืนป่าที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองไทย(ป่าแม่วงก์ติดกับป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง) มีทั้งป่าสักผืนสมบูรณ์ แหล่งหากินสำคัญของสัตว์ใกล้สูญพันธ์ คือเสือโคร่งและนกยูง ขณะที่การสร้างเขื่อนสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เพียง 1% แถมยังมีการใช้เงินลงทุนมหาศาลถึง 13,280 ล้านบาท(จากเดิม 6 พันกว่าล้านบาท) ที่สำคัญคือโครงการนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)...(คลิกดาวน์โหลดรายละเอียดข้อมูล ทำไมต้องค้านเขื่อนไม่วงก์ได้ที่นี่)

แต่เมื่อนักการเมืองอยากได้ พวกเขาจึงมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป พร้อมกับชูดราม่า อ้างว่าแก้ปัญหาน้ำท่วม ช่วยประชาชนผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม ซึ่งหากเรื่องนี้กระแสแผ่วลง ผู้คนคลายความสนใจ โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์เสร็จโจรแน่ๆ อีกทั้งนักการเมืองบางคนยังจะได้สวาปามผืนป่าและเงินจำนวนมหาศาลกันอีกสะดือปลิ้น
*****************************************

คลิกฟังเพลง "แม่เรวา"
คลิกฟังเพลง "อาลัยแม่เรวา"
คลิกฟังเพลง "เดิน...เพื่อป่าแม่วงก์"
คลิกฟังเพลง "ศศิน"
คลิกฟังเพลง "กอดแม่วงก์"

หมายเหตุ : ภาษาตีน เป็นคำที่ถูกเรียกขานกันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดียหลังปรากฏการณ์เดินเท้าจากแม่วงก์สู่กรุงเทพฯ โดยการเดินเท้าของกลุ่มต้านเขื่อนแม่วงก์เป็นดังการสื่อและส่งภาษาให้สังคมได้รับรู้กันในวงกว้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น