อื้อฉาวไม่แพ้โปสเตอร์ต่อต้านเครื่องแบบของนักศึกษารั้วแม่โดม หรือเผลอๆ จะอนาจารกว่าด้วยซ้ำ สำหรับ "ผ้ายันต์ดอกทอง" ที่กำลังแพร่สะพัดเกลื่อนโลกออนไลน์ แถมยังมีขายผ่านเน็ตและลงโฆษณาอย่างโจ๋งครึ่ม ด้วยลีลาเซ็กซ์ชายหญิงลงอักขระความขลัง เชื่อกันว่า เป็นยันต์มหาเสน่ห์ เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างล้นหลามว่านี่คือเครื่องรางหรือความอนาจารกันแน่
ยันต์ดอกทอง เครื่องรางสุดฉาว
กลายเป็นประเด็นที่สื่อสังคมออนไลน์นำไปวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง หลังจากมีการนำเสนอข่าวได้รับแจ้งจากพุทธศาสนิกชนว่า พบเห็นการโฆษณาขายผ้ายันต์ที่ใช้ชื่อว่า ดอกทอง ของ หลวงปู่ทอง ถ้ำมหาโชติ ภูโน กาฬสินธุ์ บนเว็บไซต์ www.dd-pra.com อย่างโจ๋งครึ่ม (ล่าสุดทางเว็บได้ลบภาพดังกล่าวออกไปแล้ว) โดยมีการโปรโมต และบอกถึงสรรพคุณ รวมทั้งเป้าหมายในการใช้อย่างชัดเจน
ตามเนื้อข่าวยังระบุอีกว่า บนเว็บไซต์ดังกล่าว มีการเปิดเผยชัดเจน โดยมีการกล่าวอ้างว่า ผ้ายันต์นี้ทุกผืนเขียนอักขระลงยันต์ชื่อ ดอกทอง เป็นกามคุณด้านเมตตามหานิยม ใช้แบบชูสาวทั้งผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการบริกรรมต้องใช้ผ้าจากสถานบริการทางเพศต่างๆ ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว รวมทั้งยังอวดความสามารถของพระที่ชื่อ หลวงปู่ทอง ด้วยว่า เก่งกาจเพียงใด รวมทั้งการทำเดียรัจฉานวิชา อาทิ ย่างกุมารทอง ลนน้ำมันพราย ทำผงพรายกุมาร ผงมหาภูติ ทำคุณไสยมนต์ดำ ยาสั่งยาแฝด ครบสูตรไสยศาสตร์มนต์ดำมนต์ขาว
อย่างไรก็ตาม มีการรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการโฆษณาขายเครื่องรางของขลังจาก พระที่อ้างว่าชื่อ หลวงปู่ทอง ถ้ำมหาโชติ ภูโน กาฬสินธุ์ แต่ได้ดำเนินการลักษณะนี้มาหลายครั้งหลายหน กระทั่งสามารถเสิร์ทหาในกูเกิ้ลได้อย่างง่ายดาย
ชาวเน็ตวิพากษ์ ผ้ายันต์อุบาทว์!
ทั้งนี้ หลังจากที่ภาพบัดสีของผ้ายันต์ดังกล่าว หลุดออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ปฏิกิริยาของชาวเน็ตส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอื้อ โดยมองว่า เป็นภาพอุบาทว์เกินกว่าที่สังคมไทยจะรับได้ และยังเกิดการตั้งคำถามไปถึงตัวพระผู้สร้างยันต์ดอกทองด้วยว่า ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่ พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานพระพุทธศาสนา เข้าไปตรวจสอบโดยด่วน
ยกตัวอย่างความเห็นจากเพจ ฟักโกสต์ : สมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย ซึ่งเป็นเพจที่มีการนำภาพยันต์ดังกล่าวมาเสนอต่อ
"เสื่อม และอุบาทว์ตามากค่ะ"
"ภิกษุใดชักจูง หรือมีส่วนให้หญิงชายได้สมสู่กัน ต้องอาบัติ สังฆาทิเสส มีโทษหนักรองจากปาราชิกครับ"
"เถรสมาคมควรลงมาดูด้วย ตื่นจากจำวัดได้แล้ว"
"ถ้ามีคนเอาไปใช้ จะชายหรือหญิงก็อัปมงคลแล้ว ลำพังแค่ชื่อกับภาพก็ส่อถึงสกปรก แต่คนที่ต้องดำเนินการก่อนคนแรกคือคนผลิต ที่ยังเป็นพระอีก เร่งจับสึกด่วน"
"พระมายุ่งอะไรกับเรื่องแบบนี้อ่ะ"
"ผมว่านะในกรณีอันนี้นะ น่าจะโดนอาบัติปาราชิกแล้วนะ เพราะอวดคุณวิเศษที่ไม่มีทำให้ผู้คนงมงายและติดในกามราคะ"
นอกจากนั้น ยังมีบางความเห็นที่ออกมาบอกว่า "ยันต์ในลักษณะนี้ มันก็มีมานานแล้ว ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลก ที่แปลก และฮือฮาก็เพราะไม่เคยเห็น"
สำหรับผ้ายันต์ในปัจจุบัน นอกจากจะมียันต์มหาเสน่ห์ต่อเพศตรงข้ามแล้ว ยังพบยันต์มหาเสน่ห์ที่ทำขึ้นมาเพื่อกลุ่มเพศที่สามโดยเฉพาะ เห็นได้จากผ้ายันต์ชายได้ชาย หรือที่ใครหลายคนเรียกกันว่า ยอดยันต์ของนักขุดทอง โดยมีภาษาไทยเขียนไว้กลางผ้ายันต์ด้วยว่า "ปราถนาชายใด ขอให้ได้ ขอให้โดน"
เครื่องรางหรือความอนาจาร
อย่างไรก็ดี หากใครได้ติดตามข่าว ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 เคยมีกรณีชาวบ้านกับพระขัดแย้งกันหนักเกี่ยวกับเรื่องยันต์มหาเสน่ห์มาแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นเกิดจากปมสร้าง ยันต์ม้าเสพนาง หรือยันต์รูปม้ามีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวเปลือย โดยชาวบ้านมองว่าเป็นยันต์ที่ไม่เหมาะสม จึงรวมตัวกันขับไล่ พระอธิการพรหม กิจจกาโร เจ้าอาวาส วัดจำปาหล่อ ต.จำปาหล่อ อ.เมือง จ.อ่างทอง จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม รวมทั้งทำให้ชาวบ้านสูญเสียความเลื่อมใส
เรื่องนี้ ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ พุทธศิลปะและโบราณคดีและสุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง พ.ศ.2543 เคยออกมาอธิบายผ่านเซกชันพระเครื่อง นสพ.คมชัดลึกว่า รูปยันต์ม้าเสพนางตามตำราของโบราณมีคติธรรม มีปริศนาธรรมแฝงไว้ หาใช่เป็นเครื่องรางทางลามกอนาจารอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ทำขึ้น โดยแผลงไปจากของโบราณคือให้เป็นไปทางตัณหาราคะอย่างเดียว ซึ่งผิดกับที่โบราณาจารย์ท่านสร้างไว้
กล่าวถึงยันต์ม้าเสพนางหรือยันต์อิ่นม้าของล้านนานั้น มีคุณวิเศษอย่างมีประวัติม้าเสพนางเป็นที่รู้จักและนิยมในแวดวงเครื่องรางทางด้านเสน่ห์ของล้านนามานาน เชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางที่มาจากทางพม่า ไทยใหญ่ มีมาในล้านนาเมื่อไรไม่มีใครทราบ แต่โบราณล้านนานิยมใช้ยันต์นี้กันมาก เนื่องจากให้ผลทางด้านเสน่ห์รุนแรง ผู้ชายจะไปเที่ยวหาสาวหากได้ติดตัวไปด้วยต้องได้สาว ม้าเสพนางเป็นหนึ่งใน 4 สุดยอดเสน่ห์ โดยมี 1. ม้าเสพนาง 2.วัวเสพนาง 3. หนูกินน้ำนมแมว และ 4. วัวกินน้ำนมเสือ
สำหรับการทำผ้ายันต์ประเภทนี้ เป็นคติความเชื่อเรื่องการทำเสน่ห์ยาแฝดชนิดหนึ่ง โดยนำความเชื่อที่ว่าอวัยวะเพศม้ามีขนาดใหญ่โตจะทำให้เพศตรงข้ามเกิดความลุ่มหลง พบมากในทางภาคเหนือของไทย ลาวตอนเหนือ รวมทั้งพม่าที่ติดกับในทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นความเชื่อในลักษณะเดียวกับเอาส่วนต่างๆ ของสัตว์มาพกติดตัวในลักษณะเครื่องรางของขลัง เขี้ยวหมูป่า งาช้าง เขี้ยวเสือ เขาควาย
ต่อมาได้มีการพัฒนาแกะเป็นรูปต่างๆ แล้วแต่สำนักใด เช่น ปลัดขิก เสือ สิงห์ อิ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการของความเชื่อในสังคมไทยที่หลากหลาย พกพาเพื่อเป็นกำลังใจ การถูกกล่าวหาว่าเป็นเดรัจฉานวิชาเป็นเรื่องธรรมดาของผู้นิยมเครื่องรางของขลัง
อย่างไรก็ตามภาพลักษณะ เชิงสังวาส หรือภาพการเสพเมถุนระหว่างคนกับสัตว์ สัตว์กับสัตว์ รวมทั้งคนกับคน มีซ่อนอยู่ในงานวาดจิตรกรรมฝาหนัง โบสถ์วิหารมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ช่างวาดภาพซ่อนไว้อย่างแนบเนียนชนิดที่เรียกว่าไม่เห็นแน่
แต่สำหรับกรณี ยันต์ดอกทอง หากให้ นเรนทร์ ปัญญาภู นักจดหมายเหตุอิสระ ช่วยวิเคราะห์ดูแล้ว เขามีมุมมองที่น่าขบคิด และน่าพิจารณา
"ที่จริงก็ไม่ได้เป็นยันต์โดยตรงนะครับ ผมเห็นในตัวพับสาใบลานล้านนา มีการพูดถึงเรื่องการผูกดวง หรือทำเสน่ห์ ต่อมาถึงเริ่มมีการนำมาทำเป็นยันต์ โดยเขียนออกมาเป็นรูปลักษณะต่างๆ ทั้งเชิงสังวาส และเสพเมถุนระหว่างคนกับสัตว์ หรือคนกับคน ซึ่งเมื่อก่อน มันเป็นลักษณะที่ไม่เปิดเผย ซึ่งคงต้องแยกยุคสมัยกันก่อน จริงที่มีการทำยันต์แบบนี้ออกมา แต่สมัยก่อนจะให้กันลับๆ ส่วนคนรับก็จะพับและเก็บไว้ในที่ส่วนตัว
ผิดกับทุกวันนี้ที่คนผลิตพยายามทำออกมาในเชิงพาณิชย์ เน้นสรรพคุณอวดอ้างต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าพระเครื่องหรือผ้ายันต์ หรืออะไรก็ตามที่ถูกนำรูปมาลงและขายในตลาดพระเครื่อง มันก็ไม่ต่างจากพวกปลัดขิก หรือเครื่องรางอื่นๆ เมื่อมีภาพเหล่านั้นออกมามากขึ้น จากของลับๆ ก็กลายเป็นของที่รับรู้ในวงกว้าง คนก็เลยมองว่าอนาจาร"
เมื่อ "ยันต์" ถูกนำมาใช้ในทางเสื่อม
ทั้งนี้ หากมองในมิติวิชาการ รศ.สุกัญญา สุจฉายา ผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในงานสัมมนาเรื่องเครื่องรางของขลัง วัฒนธรรมชาวพุทธในสุวรรณภูมิ เกี่ยวกับระบบเลขยันต์ของไทย โดยนักวิชาการท่านนี้เปิดเผยว่า ระบบเลขยันต์ เป็นศาสตร์ชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับการฝึกจิตตามแนวทางของพระพุทธศาสนา แต่ในปัจจุบันนำมาใช้นอกลู่นอกทางมากขึ้น โดยมีบรรดาเกจิอาจารย์ คนทรงเจ้า ครูเทพ ฤาษี ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีกรรม เน้นหนักในเชิงพาณิชย์ เกิดยันต์รูปแบบใหม่ที่เน้นความสวยงามและความโก้เก๋เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นบางคนยังนำไปใช้ในทางเสื่อม กลายเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระและมอมเมาประชาชน
ผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยา ให้ข้อมูลต่อไปว่า คัมภีร์การเขียนยันต์เป็นตัวอักษรขอม อักขระเหล่านี้ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก คนภาคกลางของไทยสมัยโบราณไม่นิยมเขียนหรือสักยันต์บนผิวหนัง แต่จะเขียนบนแผ่นผ้าติดตัวไว้ใช้ในการทำศึกสงคราม เป็นที่นิยมของทหารและนักรบเพื่อเตือนสติและไม่ประมาท ผู้เขียนยันต์เป็นพระสงฆ์ มีเป้าหมายสูงสุดคือ สุญตาหรือความว่างและหลุดพ้น แต่น่าเสียดายว่าภูมิปัญญาไทยด้านนี้ขาดผู้สืบทอดได้ตรงตามแก่นแท้ ทำให้มีกลุ่มผู้ที่อ้างอำนาจของเทพเจ้าหรือลัทธิไสยศาสตร์เข้ามาสืบทอด โดยนำระบบยันต์มาใช้เป็นธุรกิจการค้า การสักผิวหนังและปลุกเสกวัตถุมงคลเทวรูป ตะกรุด ผ้ายันต์ ซึ่งเป็นสินค้าด้านความเชื่อที่ได้รับความนิยมสูงมากจากผู้บริโภค
ทางด้าน นเรนทร์ ในฐานะนักจดหมายเหตุอิสระ เขามองว่า การเขียนผ้ายันต์ โดยเฉพาะผ้ายันต์มหาเสน่ห์ ไม่ใช่กิจของสงฆ์แต่อย่างใด
"มันไม่ใช่กิจของสงฆ์ครับ พระสงฆ์ไม่ควรเข้ามายุ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้อยู่ในวัด คนที่จะทำของพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นบุคคลทั่วไปมากกว่า อย่างบางคนเคยบวชเรียนมา แล้วมาทำของพวกนี้ ถามว่าเรื่องนี้ใครจะมารับผิดชอบ มันตอบลำบากครับ แต่ส่วนตัวคิดว่า ควรให้คนที่ควบคุมในเรื่องของสื่อเข้ามาช่วยกัน หากสังเกตดูดีๆ ทุกวันนี้หนังสือพระเครื่องก็เยอะขึ้น มีการโฆษณาขายกันทางเว็บไซต์มากขึ้น นั่นหมายความว่า มันต้องเห็นภาพออกไปอย่างชัดเจน ผมว่าต้องควบคุมในเรื่องของมีเดียมากกว่าครับ"
สำหรับคนที่หากินกับเรื่องแบบนี้ นี่คือสิ่งที่นักจดหมายเหตุอิสระได้เตือนสติ โดยยกคำกล่าวของครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนามาอ้างอิง
"ผมขอใช้คำของครูบาศรีวิชัยนะครับ ที่พูดถึงในเรื่องพระเครื่อง หรือเครื่องรางของขลังอย่างยันต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยท่านได้เคยพูดไว้ว่า คนที่ขายเนื้อผ้าธรรม หนังพระเจ้า ไม่มีวันเจริญหรอก นั่นก็หมายถึง การทำมาหากินกับเรื่องพวกนี้ ไม่มีวันเจริญครับ ถึงแม้ว่าใครจะอ้างว่าเป็นการแก้กรรม หรือทำเพื่อช่วยเหลือคนให้มีความเสน่หา ทำไปก็ไม่เจริญ ที่พูดนี่หมายถึงคนทำนะครับ"
"ส่วนการเขียนยันต์ประเภทยันต์มหาเสน่ห์ สุดท้ายแล้ว ถ้าพูดกันจริงๆ มันไม่ใช่สิ่งดี เพราะเป็นเรื่องกรรมของแต่ละคน หรือว่าการประพฤติปฏิบัติของคนมากกว่าที่จะรักชอบพอซึ่งกันและกัน มันไม่มีอะไรที่จะเข้าไปช่วยตรงนั้นได้ แม้ว่าใครจะอ้างว่ามันคือการทำพิธี แต่มันไม่ใช่กฎธรรมชาติที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น สิ่งที่มันเหนือกฎธรรมชาติ มันไม่ควรทำอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเกิดเป็นพระสงฆ์เป็นผู้ทำให้ด้วยแล้ว ยิ่งไม่เหมาะสม ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะมันไม่ใช่กิจของสงฆ์ครับ" นักจดหมายเหตุอิสระสรุป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผ้ายันต์ คือวัตถุมงคลประเภทหนึ่งในกลุ่มของเครื่องรางของขลังของไทย แม้ปัจจุบันจะพบผ้ายันต์หลากหลายประเภททั้งยันต์เมตตามหานิยม ยันต์มหาอำนาจ ยันต์ค้าขาย ยันต์มหาเสน่ห์ ยันต์โชคชะตา ยันต์อยู่ยงคงกระพัน ยันต์ป้องกันภัย หรือยันต์สารพัดนึก แต่ความเชื่อความศรัทธาในผ้าผืนเล็กๆ เหล่านี้ คือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ควรงมงายมากเกินไป เพราะไม่ว่าจะลงคาถาอาคมมากเพียงใด ถ้ากาย และใจคิดไม่ดี ผ้ายันต์ต่างๆ ก็คงช่วยอะไรไม่ได้..
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE