เมื่อนายกฯ ปู ออกตัวชูโรงโครงการเรียลิตี “Smart Lady Thailand” อย่างเป็นทางการ ส่งเสริม “ผู้นำสตรีรุ่นใหม่” อย่างเต็มภาคภูมิให้แข่งขันกันภายใต้แนวคิด “ผู้หญิงสวย...ด้วยความคิด”
กระแสวิพากษ์วิจารณ์จึงโหมกลับมาที่ผู้นำหญิงอีกครั้งว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ จงใจลบนิยามคำว่า “อีโง่” ที่คุ้นชินกันทั้งประเทศ หรือจะยิ่งตอกย้ำให้ตัวโครงการไม่น่าเชื่อถือ เพราะมีต้นแบบที่มีคุณสมบัติไม่คล้อยตามคำว่า “Smart Lady” กันแน่!?!
“Smart Lady” อยู่ตรงนี้นะ!
“เราอยากเห็นเพชรมากขึ้นค่ะ อยากเห็นเพชรที่ไม่ได้ตีราคากันที่มูลค่าเพชร อยากให้มองลึกไปถึงข้างในว่า เพชรนี้กว่าจะได้มามีความยากยังไงและเพชรนี้จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนยังไง สุดท้าย เราก็ต้องรักษาเพชรที่มีค่านี้ไว้ให้เป็นสมบัติชั่วลูกชั่วหลานของเรา และเป็นรากฐานของประเทศต่อไป”
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศเจตนารมณ์ในการตั้งโครงการคัดเลือกผู้นำสตรีรุ่นใหม่ "Smart Lady Thailand ผู้หญิงสวย...ด้วยความคิด" เอาไว้อย่างชัดเจน ก่อนให้นิยามคำว่า “Smart Lady” ผ่านสายตาผู้นำของประเทศเพิ่มเติมว่า
ไม่ได้หมายความถึงผู้หญิงที่หน้าตาสวย ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนที่เรียนเก่ง พูดเก่ง แต่อยากให้โอกาสสตรีไทยทุกคนที่มีความคิดที่ดี มีน้ำใจไมตรี และมีความพยายามมานะบากบั่น เพื่อเข้ามาทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ มากกว่าการมองจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะเชื่อว่าข้างในของทุกคนมีความดี ความใสสะอาด ความน่ารักอยู่ และอยากให้ทุกคนได้มองเห็น จึงจัดเป็นรายการเรียลิตี สอดแทรกความรู้-ประสบการณ์ ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ให้ประชาชนคนทางบ้านได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
โดยรูปแบบของโครงการจะเริ่มจากการคัดเลือกผู้หญิงทั่วประเทศจาก 5 ภูมิภาค คัดไปจนกว่าจะเหลือ 12 คนสุดท้าย ระบบคัดออกคล้ายกับนักล่าฝันเวทีประกวดร้องเพลง ต่างกันที่ไม่ต้องคัดจนเหลือผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว คือผู้ถูกคัดเลือกได้รับสิทธิให้ลากกระเป๋าเข้าบ้านแล้วให้อยู่ร่วมกันเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อเรียนรู้ อบรม ฝึกทักษะอย่างเข้มข้น ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากกูรูชั้นนำ ก่อนจะมอบโอกาสให้ Smart Lady Thailand ทั้ง 12 คนนี้ ออกไปทำโครงการเพื่อสังคม หรือศึกษาดูงานในประเทศหรือต่างประเทศต่อไป
ทางกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี วางจุดประสงค์โครงการเอาไว้ว่า ต้องการให้ส่งเสริมโอกาสและความก้าวหน้าของผู้หญิงไทย ด้วยการเปิดเวทีให้หญิงไทยรุ่นใหม่ได้แสดงออกทางด้านความคิด-ความสามารถ และเสริมสร้างความพร้อมในการเป็นผู้นำ จึงลองให้นักวิชาการอย่าง ดร.เสรี วงษ์มณฑา ช่วยวิเคราะห์ถึงสภาพสังคมในปัจจุบันเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้หญิงไทยขึ้นเป็นผู้นำว่าพัฒนาไปถึงไหนแล้ว จึงได้คำตอบในอีกมิติที่น่าคิด
“ทุกวันนี้ การแบ่งแยกทางเพศเกี่ยวกับเรื่องขึ้นรับตำแหน่งสำคัญในกระทรวง ทบวง กรม ไม่มีแล้วนะ ตอนนี้เรามีผู้หญิงเป็นนายพล, ปลัดกระทรวง, อธิการบดี, CEO ฯลฯ ครบหมดแล้ว เลยไม่ใช่เรื่องน่าห่วง ที่น่าคิดมากกว่าคือ ถ้าเกิดเป็นผู้หญิงแล้วหวังว่าจะทำงานโดยไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผู้หญิงก็อย่าขึ้นมาเป็นใหญ่เลย มันไม่ถูกต้อง ก็ในเมื่อเราเรียกร้องความทัดเทียมในเรื่องสิทธิ ก็ต้องทัดเทียมเรื่องหน้าที่ด้วย ไม่ใช่ว่าพอเป็นผู้ชายด่าได้โครมๆๆ แต่พอเป็นผู้หญิงห้ามด่า แล้วเวลาเขาด่าผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง อย่าอ้างว่ากำลังด่าเพศแม่ด้วย ซึ่งมันไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม เมื่อถึงเวลาทำงานแล้ว มันต้องถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้”
ลบภาพ “อีโง่”?
ถ้าให้มองจากสายตา ดร.สายสุรี จุติกุล อดีตกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิสตรี แล้ว เธอยอมรับว่าไม่ค่อยคุ้นกับลักษณะโครงการและการหยิบคำว่า “Smart Lady” ขึ้นมาเน้นย้ำสักเท่าไหร่ เพราะตั้งแต่ทำงานให้สหประชาชาติมา 23 ปี ไม่เคยเห็นแคมเปญรณรงค์ตัวไหนที่สนับสนุนเรื่องสิทธิสตรีให้ความสำคัญกับคำคำนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
“ไม่เคยเห็นเขาใช้คำว่า “Smart Lady” กันนะคะ โครงการรณรงค์เกี่ยวกับ “ผู้หญิงเก่ง” ก็ไม่เคยได้ยิน ก็เลยไม่ค่อยคุ้นกับคำนี้เท่าไหร่ เพราะในระดับสากล เขาจะไม่มาสนใจคำว่า “ฉลาด” หรือ “โง่” เท่าไหร่ เพราะคนเราอาจจะฉลาดเรื่องนึง แต่โง่อีกเรื่องนึงก็ได้ แต่ถ้าจะส่งเสริมเรื่องของผู้หญิงในสังคม เขาจะใช้คำว่า “สิทธิ” และ “โอกาส” มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแต่งงาน, สิทธิในการเลือกคู่, โอกาสทางการศึกษา ฯลฯ”
บางฝ่ายตีความเหตุผลเบื้องหลังการเน้นย้ำส่งเสริมภาพลักษณ์ “ผู้หญิงเก่ง” ผ่านโครงการนี้ไปว่า เป็นเพราะต้องการลบคำครหาที่สังคมคุ้นชิน คำว่า “อีโง่” แต่สำหรับ ดร.เสรี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและประชาสัมพันธ์ชื่อดัง กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ลบออกไปไม่ได้อยู่ดี
“สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะเห็นผู้ประกวดหรือ Smart Lady คนไหนออกมาทำอะไรดีๆ มันก็คือคนคนนั้นได้ไป นายกฯ จะได้อะไรล่ะ ไม่ได้หรอก เพียงแต่สิ่งที่เขาได้คือการหันมาสนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์สตรีว่ามีสตรีฉลาดอยู่ในโลกนี้ แต่เมื่อเราเจอผู้หญิงฉลาดในเรียลิตีทั้ง 12 คน ถามว่าใครจะไปโยนเอาคุณสมบัตินั้นไปให้นายกฯ ไม่มีหรอกจ้ะ ดีไม่ดีคนจะมองเป็นเชิงลบด้วยว่า เออ...ทำไมนายกฯ ไม่เป็นอย่างคนนี้นะ เอ้อ...ทำไมนายกฯ ไม่เป็นอย่างคนนั้นนะ เออ...แล้วเมื่อไหร่นายกฯ เราจะทำอย่างนี้เป็นบ้างเนี่ย มันจะเป็นแง่ลบมากกว่าแง่บวกซะอีกนะ เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่านายกฯ จะได้อะไรจากตรงนี้เลย ไม่ได้หรอก”
ถามต่อว่า “Smart Lady” ควรจะเป็นอย่างไร นักพูด-นักวิชาการฝีปากจัดอย่าง ดร.เสรี ก็ให้คำตอบทันทีว่า “คือคนที่มีความรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ แล้วก็มีความรู้ในสิ่งที่จะใช้ในการทำงาน และรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ของตัวเองในทางที่ถูกต้อง ที่เขาเรียกว่า “ฉลาดคู่คุณธรรม” คนเราเก่งในแง่ของความรู้แต่ไม่มีทักษะก็ไม่ได้ มีความเก่งแต่ไม่สามารถประยุกต์ใช้ก็ไม่ได้ หรือมีความเก่งแล้วประยุกต์ใช้ได้ แต่เป็นคนไม่มีคุณธรรม เอาสิ่งที่ตัวเองรู้และเก่งไปใช้ในสิ่งที่ไม่มีคุณธรรม อันนี้ก็ใช้ไม่ได้
สิ่งที่ควรมีอยู่ข้างในคือ ความรู้ ความสามารถ และจิตใจที่ดี แต่สิ่งที่ควรมีภายนอกคือ บุคลิกดี ดูแล้วสง่างาม น่าชื่นชม น่ายกย่อง เพราะคนเรามันจะต้อง Smart นอก-Smart ใน คำว่า “Smart นอก” คือแค่มองไปเห็นเราก็ชื่นชม ส่วน “Smart ใน” คือเขาเอาความรู้ความสามารถและจิตใจที่ดีของเขามาทำงานได้”
เรียลิตี จะดีหรือ?
ข้อข้องใจอีกหนึ่งอย่างก็คือเหตุใดต้องทำเป็นเรียลิตี? สรุปแล้วการส่งเสริมภาพลักษณ์ผู้หญิงเก่งในรูปแบบนี้จะได้ผลดีหรือเสียกันแน่ ดร.สายสุรี อดีตกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิสตรี ยังไม่อยากฟันธงอะไร มองว่าขึ้นอยู่กับการสื่อสารและตีความ ถ้าทำได้ดีก็ดีไป แต่ถ้าผิดพลาดก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เช่นกัน
“ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสื่อสารออกมาแบบไหน ผู้หญิงเก่งที่มาประกวดจะแสดงออกให้สังคมรับรู้ได้ยังไงค่ะ ของแบบนี้อยู่ที่การตีความ และการตีความมีทั้งตีความผิดและถูก ถ้าทำไม่ดีก็อาจจะเสี่ยงต่อการตีความผิด ทำให้คนเข้าใจผิด เหมือนรายการ Thailand's got talent ที่ผ่านมาไงคะ เป็นรายการเรียลิตีที่เอาคนมีความสามารถมาเข้าประกวด แต่กลายเป็นว่าทีมงานก็ตีความคำว่า “Talent” ต่างจากคนในสังคมไป ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ถกเถียงเป็นเรื่องเป็นราวกันขึ้นมา”
แต่ในสายตาของ ดร.เสรี นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แล้ว มองว่ารูปแบบ “เรียลิตี” ทำอย่างไรก็ถือว่ามีประโยชน์ทั้งนั้น “ถ้าเราลองมองอย่างใกล้ชิด มันอยู่ที่คนมองจะรับบทเรียนจากสิ่งที่มองเห็นได้หรือเปล่า คือถ้าเกิดเราเห็นคนทำอะไรแล้ว มีคนสามารถเอาสิ่งที่เห็นมาแปลงเป็นหลักการและอธิบายให้เขาฟัง ว่าที่เขาทำ ก ไก่, ข ไข่ เพราะเขาใช้หลักการ A, B, C, D ที่เขาทำ ง งู, จ จาน เพราะเขาใช้หลักการ X, Y , Z ถ้าใครสามารถมองเห็นได้แบบนี้และเอาไปทำตามได้ ก็จะเป็นคนที่ Smart ไปด้วย มันมีการกระทำที่เป็น Specific และมีหลักการที่เป็น General คนเราจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็น Specific เมื่อเรานึก General ออก เพราะมันเป็นการมองนามธรรมให้เป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเราเรียนรู้นามธรรมจากการกระทำมาจากการดูเรียลิตีโชว์ ประโยชน์มันมีแน่นอน”
หรือถ้าจะมีผลลบใดๆ เกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นผลทางอ้อมต่อผู้นำหญิงของประเทศมากกว่า “เชื่อว่ารัฐบาลคงจะประโคมให้โครงการนี้มีคนสนใจ ยกเว้นเสียแต่ว่าเมื่อเขาได้ประโคมไปแล้ว แล้วสิ่งนั้นกลายเป็นผลลบกับตัวนายกฯ เขาก็จะหยุดประโคมไปเอง เขาอาจจะบอกว่า ยิ่งประกวดไป คนก็ยิ่งเปรียบเทียบผู้หญิงคนนั้นกับนายกฯ แล้วนายกฯ ก็จะดูด้อยไปเรื่อยๆ พอเห็นผู้หญิงคนนั้นแสดงความ Smart มันก็จะซวยนายกฯ ไป
จริงๆ แล้วนายกฯ เป็นคนมีเวรกรรมนะ เพราะคนข้างๆ ไม่ค่อยจะรอบคอบเวลาจะทำอะไร เหมือนตอนที่มี ส.ส. หญิงท่านหนึ่งลุกขึ้นมาพูดว่า ที่พูดถึง “อีโง่” อย่างนี้ มันไม่ได้หมายถึงใครหรอกค่ะ ก็ต้องหมายถึงนายกฯ แน่นอน อ้าว! นี่ตกลง คนด่าเป็นคนว่านายกฯ หรือคนที่ออกมาช่วยยืนยันเป็นคนว่ากันแน่”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
“ปู” เยี่ยมรับสมัครสมาร์ทเลดี้ เมินคนด่าอีโง่ ลั่นอดทนเพื่อรักษาบรรยากาศ
ลิงก์รายละเอียดโครงการ “Smart Lady Thailand”