xs
xsm
sm
md
lg

“เคนชิโร่ VS ละครไทย” ใครน่าแบนมากกว่ากัน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เจ้าตายแล้ว” คือวลีเด็ดของเคนชิโร่ตัวเอกจากการ์ตูนเรื่อง ฤทธิ์หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ ที่พูดทุกครั้งหลังจากที่เขาสามารถเผด็จศึกศัตรูตัวร้ายและผดุงความยุติธรรมได้สำเร็จ...หากทว่าบทบาทของการปกป้องคุณธรรมในโลกของการ์ตูนกลับถูกมองว่า ผิดศีลธรรม!

จากความเคลื่อนไหวของการออกมาให้ข่าวของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ออกโรงฟันการ์ตูนเรื่อง Souten no Ken หรือ ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ ภาค 2 โดยออกมาระบุว่า การ์ตูนมีฉากที่ตัวละครพูดข่มขู่ให้ตัวละครหญิงถอดเสื้อและมีฉากในลักษณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่เหมาะกับช่องรายการสำหรับเด็ก ขัดต่อ มาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ว่าด้วยการห้ามออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี และลามกอนาจาร

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของสังคมละครไทยกลับมีฉากตบจูบกันอย่างเป็นเรื่องปกติ...จึงเกิดเป็นคำถามในเชิงเสียดสีที่เปรียบเทียบความรุนแรงจาก “เคนชิโร่” กับ “ละครไทย” ว่าใครสมควรถูกแบนมากกว่ากัน!!?

ความรุนแรงของการ์ตูน

การ์ตูนเรื่อง ฤทธิ์หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ เป็นเรื่องของ เคนชิโร่ หรือเคน ชายหนุ่มนักสู้ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องผู้คนที่เดือดร้อนโดยมีฉากหลังเป็นโลกยุคล่มสลายที่สังคมกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ซึ่งใน ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ ภาค 2 นั้นเนื้อเรื่องถูกเปลี่ยนฉากมาอยู่ในเซี่ยงไฮ้ แต่ก็ยังมีโครงเรื่องที่ให้เคนชิโร่ต่อสู้กับคนชั่วในสังคมดังเดิม

ทั้งนี้ การ์ตูนเรื่องดังกล่าวถือเป็นต้นตำรับของการ์ตูน K ย่อมาจาก คินิคุ ที่แปลว่ากล้ามเนื้อ ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นจุดขายของการ์ตูนเด็กผู้ชายในยุคสมัยหนึ่ง โดยมีลายเส้นที่เน้นความแข็งแรงดุดันของกล้ามเนื้อ พร้อมทั้งเนื้อเรื่องที่เน้นฉากต่อสู้ที่รุนแรงเหนือจริง แม้ว่าตัวเรื่องจะเป็นการต่อสู้กับคนชั่วเพื่อปกป้องความยุติธรรมแต่ก็มีความรุนแรงอยู่มาก ทั้งตัวร้ายที่กระทำต่อเหยื่อ และตัวเอกที่ต่อยใส่ตัวร้ายจนหัวระเบิด เลือดกระเซ็น ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสีสันที่ทำให้ผู้ชมเกิดความเร้าใจเมื่อได้ดู

ในส่วนของความรุนแรงของการ์ตูนนั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รองรับว่า การ์ตูนที่เด็กดูจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งในผลงานการศึกษาและค้นคว้าด้านประสาทวิทยาพบว่า คนเรามีเซลล์ประสาทที่เรียกว่า Mirror Neurons ทำหน้าที่รับรู้ว่า บุคคลอื่นจะเคลื่อนไหว หรือมีอารมณ์อย่างไร แล้วทำให้เราเตรียมตัวที่จะทำตาม หรือลอกเลียนแบบการเคลื่อนไหว

ผลการค้นคว้าดังกล่าวนำมาซึ่งการวิจัยศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมก่อนและหลังการดูการ์ตูนของเด็กอนุบาล 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเด็กที่ดูการ์ตูนที่มีเนื้อหาก้าวร้าวและมีความรุนแรง กับอีกกลุ่มดูการ์ตูนที่มีเนื้อหาตรงกันข้าม พบว่า กลุ่มแรกมีพฤติกรรมชอบทะเลาะโต้เถียงและชกต่อยกับเพื่อน ไม่รักษากฎเกณฑ์ในชั้นเรียน มีสมาธิสั้น มีความอดทนรอคอยอะไรได้ไม่นาน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า เด็กที่ดูทีวีที่มีเนื้อหาก้าวร้าวและมีความรุนแรงตั้งแต่ในวัยเยาว์จะเป็นเด็กที่มีความก้าวร้าว ทั้งการใช้ภาษาและทำร้ายเพื่อนเมื่อโตเป็นวัยรุ่นอีกด้วย

ความรุนแรงของละครไทย

ในส่วนของละครไทยที่หลายฝ่ายในสังคมตั้งคำถามถึงความรุนแรงของเนื้อหาละครที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ละครแนวชิงรักหักสวาทที่เต็มไปด้วยฉากตบตี - ตบจูบถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน

โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)และไทยพีบีเอส อธิบายถึงสาเหตุของความรุนแรงที่ปรากฎในละครไทยว่า มาจากการที่ละครไทยมักจะสร้างจากบทประพันธ์ยุคเก่าซึ่งมีฐานคิดเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ โดยผู้ชายมักจะมีอำนาจในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และเพศสูงกว่าเสมอ

“ความรุนแรงในละครจึงถูกจำลองมาจากโลกเก่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือความรุนแรงเชิงโครงสร้างอำนาจโดยมีการตบตีเป็นสีสันที่ทำให้คนดูติดตามแต่ก็แฝงด้วยความรุนแรงเชิงกายภาพอีกด้วย”

ด้วยฐานคิดแบบนี้ เขาเผยว่า ทำให้เกิดละครแนวชิงรักหักสวาท โดยที่ละครเรื่องใหม่ที่ทำต่อๆ กันมาก็ยังคงถูกผลิตขึ้นภายใต้แนวคิดเดิมที่แฝงไว้ด้วยความรุนแรง ซึ่งปัญหาที่เขาพบคือ ตัวละครมักจะใช้ความรุนแรงเป็นทางออกอยู่เสมอซึ่งต่างจากละครฝรั่งที่ความรุนแรงเป็นเพียงทางแก้ปัญหาทางหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ฐานคิดของสังคมชายเป็นใหญ่นั้นมีอยู่ทั่วโลก หากแต่ในยุโรปและอเมริกาเริ่มเบาบางลงแล้ว ซึ่งในประเทศไทยเองก็เป็นเช่นกัน หากแต่ในละครไทยกลับยังฉายภาพความไม่เท่าเทียบกันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ผลต่อสังคมไทย เขาเผยถึง สิ่งที่ผู้สร้างละครมองว่าตัวเองเป็นก่อนนั่นคือ การมีบทบาทสะท้อนความเป็นจริงในสังคม ซึ่งเขาเห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ละครไทยทำเพียงสะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมในสังคมซ้ำไปซ้ำมาอยู่เสมอ

“ประเด็นคือเขาเชื่อว่าละครสะท้อนสิ่งที่เป็นจริงในสังคมและเขาสะท้อนภาพเดิมของความรุนแรงทางเพศมาตลอด 30 ปีแล้ว มันทำได้แค่สะท้อนภาพ ผลกระทบเมื่อทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีฉากผู้หญิงถูกข่มขืน ถูกฉุด ถูกตี อยู่ตลอดมันก็เป็นการสะท้อนภาพและผลิตมายาคติเดิมๆ ที่ผู้หญิงต้องเป็นรองผู้ชาย”

ผลสุดท้ายที่เกิดคือ ความชาชินที่ค่านิยมและความรุนแรงในละครจะกลายเป็นเรื่องปกติ คนจะเริ่มคิดว่าสิ่งเหล่านั้นทำได้ในชีวิตจริง แต่หากเป็นละครต่างประเทศ เขายกตัวอย่างซีรีย์เกาหลีซึ่งประเทศเกาหลีนั้นประสบปัญหาผู้ชายมีอำนาจทางเพศมากกว่าผู้หญิง

“ดังนั้นซีรีส์เกาหลีจึงใช้ความโรแมนติกดราม่ามาลดความรุนแรง จะสังเกตว่าละครเกาหลีไม่มีฉากตบตี ในสังคมมีความรุนแรงเยอะมาก ที่เขาทำคือฉายภาพโรลโมเดล(role modal) ผู้ชายควรเป็นสุภาพบุรุษกับผู้หญิง ต้องโรแมนติก พูดจาหวานไพเราะมากขึ้น ปัญหาจริงๆ ของเกาหลีคือ ผู้ชายชอบใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงในครอบครัว เขาใช้โรลโมเดลมากๆ ให้ผู้ชายควรปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างให้เกียรติและเท่าเทียม”

ทั้งนี้ ละครไทยที่มักจะได้เรตน.13 และน.18 ก็จะมีกลุ่มผู้ชมเป็นเด็กอยู่ด้วย ซึ่งละครในกลุ่มเรตติงดังกล่าวก็มักจะมีเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศ เป็นเรื่องรักของผู้ใหญ่ในเชิงสัมพันธ์ชู้สาวค่อนข้างมาก เขาเห็นว่า สิ่งนี้คือปัญหาที่ละครไทยไม่มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็กมากนัก

แบนหรือไม่แบน

ปัจจุบันนี้การแบนสื่อถือเป็นสิ่งที่สังคมไทยพูดถึงกันมากว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการแสดงออกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร หรือการ์ตูน การแบนหรือเซ็นเซอร์อาจเป็นความคิดที่เก่าเกินไปแล้วกับสังคมที่ก้าวไปด้วยระบบประชาธิปไตย

ธาม เชื้อสถาปนศิริ มองว่า สื่ออย่างการ์ตูนนั้นมีเนื้อหาที่หลากหลาย การแบนหรือเซ็นเซอร์บางช่วงบางตอนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เป็นผลมาจากความเข้าใจของ กสทช. ที่มองว่ากลุ่มคนดูการ์ตูนนั้นต้องเป็นเด็ก การเซ็นเซอร์ หรือแบนจึงเกิดขึ้น แม้ฉากโป๊เล็กๆ น้อยๆ ที่เขามองว่าไม่เป็นการอนาจารอย่างที่เกิดขึ้นในการ์ตูนอย่างเซเลอร์มูน หรือโดราเอมอน แม้แต่ในฉากความรุนแรงของเหตุฆาตกรรมในการ์ตูนเรื่องโคนันก็ตาม

“ประเด็นคือ ที่ญี่ปุ่นเขามีการแบ่งเรตระดับความรุนแรงของการ์ตูนที่ออกฉายหรือตีพิมพ์ในหนังสือ มีเนื้อหารุนแรง มีประเด็นเรื่องเพศ มีฉากยาเสพติด มีจินตนาการทางเพศที่รุนแรง ฉะนั้นเด็กไม่สามารถซื้ออ่านได้”

หรือการฉายการ์ตูนทางโทรทัศน์ก็มีกำหนดช่วงเวลา ดังนั้นการ์ตูนในความหมายของประเทศญี่ปุ่นจึงไม่ใช่สำหรับเด็กเท่านั้น หากแต่การ์ตูนมีเนื้อหาที่หลากหลาย อาจมีฉากความรุนแรง อาจมีฉากร่วมเพศ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่รองรับผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย

“ปัญหาคือในประเทศไทยเราไม่ได้มีระบบเรตติ้งในปกหนังสือการ์ตูน เราไม่มีระบบเรตติ้งในช่องการ์ตูน ในมุมของกสทช.เมื่อไม่มีระบบเรตติ้ง สิ่งที่ง่ายที่สุดคือใช้วิธีโบราณมากคือ สั่งแบน”

ทางแก้ที่เขามองเห็นคือ กสทช.ต้องไม่ใช่ระบบเซ็นเซอร์หรือสั่งแบนแต่ต้องหันมาใช้ระบบเรตติ้ง ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องส่งเสริมให้ผู้ชม พ่อแม่ และเด็กรู้เท่าทันสื่อด้วย



อย่างไรก็ตาม ในส่วนของช่องเคเบิ้ล Gang cartoon ที่ตกเป็นข่าวนั้นก็มีการจัดเรตติ้งสำหรับการ์ตูนอยู่แล้ว ขณะที่หนังสือการ์ตูนเล่มนั้นก็มีบางส่วนที่เริ่มมีป้ายโลโกบอกเรตติ้งผู้อ่าน หากแต่ในประเทศไทยนั้นการบังคับใช้ระบบเรตติงยังคงมีปัญหา

ในบางมุมของสังคมไทยหนังเรต 18 + ยังคงมีเด็กไม่พกบัตรประชาชนเข้าไปนั่งอยู่ในโรง หนังสือการ์ตูนติดเรตยังมีเด็กซื้อหามาได้โดยง่าย และยังวางอยู่มุมที่เด็กมองหยิบถึง

หากมองในมุมของโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่ว่า ต่อให้มีระบบเรตติ้งหรือเซ็นเซอร์เด็กก็ยังไปหามาดูได้อยู่ดี สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดก็คือความรับผิดชอบส่วนตัวของสังคมที่อยู่รายล้อมผู้เสพสื่อเหล่านั้นเอง

โดยข่าว ASTV ผู้จัดการ LIVE


ตัวร้ายหัวระเบิดในการ์ตูน ฤทธิ์เทพเจ้าหมัดดาวเหนือ
ความรุนแรงในละครไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น