xs
xsm
sm
md
lg

ผลาญงบฯ เพื่อใคร!? ปชช.น้ำตาตกใน นักการเมือง-คนมีสียิ้มร่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชุดรับประทานอาหาร 'minerva dining set' (ชุดโต๊ะเก้าอี้หลุยส์) สนนราคา 1 ล้าน : ชุด
นาฬิกาติดผนังยี่ห้อ 'Bodet รุ่นCristalys Date สนนราคา 75,000 บาท : เรือน
ipad 4 รวมอุปกรณ์เสริม สนนราคา 30,000 บาท : เครื่อง ฯลฯ”

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยนิด หากไล่บี้วัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดประชาชนชาวไทยคงน้ำตกตกใน เพราะเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ของพวกเราถูกเหลือบไรในรัฐสภาเขมือบกันเสียพุงกาง

ภาษีของประชาชนถูกรัฐผลาญโดยเปล่าประโยชน์ แน่อนว่าไม่ใช่ข่าวโคมลอยเพราะมีหลักฐานมายืนยันให้เห็นกันไม่เว้นแต่ละวัน นอกจากสั่นคลอนความเชื่อมั่นยังทำให้มวลชนจำนวนมากเมินหน้าหนีโดยสิ้นเชิง ที่ผ่านมาแม้ข้อมูลในเรื่องงบประมาณแม้จะมีการแจกแจงรายละเอียดตัวเลขอย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาราคาค่างวดเทียบเคียงท้องตลาดคงต้องสะดุ้งเฮือก เพราะส่วนต่างของราคาที่รัฐนำงบประมาณแผ่นดินมาผลาญงบแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม

จริงมั้ย? สังคมรับรู้ 7 วันก็ลืม
โซเซียลมีเดียเป็นสื่อกลางที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ใช่ว่าพวกเขาจะเป็นทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับสาร แต่หลายท่านยังเสาะแสวงหาข้อมูลมาตีแผ่เรื่องฉาวโฉ่กรณีการผลาญงบไปกับของสิ้นเปลืองแถมยังอัพราคาขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

“เรื่องนี้เป็นแค่ 1 ใน 1,000,000 เรื่องที่ใช้งบแพงเกินจริง อย่าคิดไรมากครับ เคยทำเกี่ยวกับจัดซื้อทั้งเอกชนและราชการในประเทศแห่งหนึ่ง ขอสงวนประเทศ โต๊ะขายทั่วไปราคา 10,000 บาท เอกชนซื้อมาได้ในราคา 7,000 บาท เอาเยอะมีส่วนลดให้ ราชการซื้อลงบิลได้ในราคา 30,000 บาท เอาเยอะเช่นกัน (จริงๆ อีก 20,000 บาทมีคนงาบ ให้แต่งบิล) ปล.ประเทศแห่งหนึ่งนะครับ ผมไม่ขอเอ่ยนาม แต่ผมยืนยันได้ว่าผมพูดมาเป็นเรื่องจริง” ข้อความจาก เว็บบอร์ดพันทิป โพสต์โดย สมาชิกหมายเลข 857148

อย่างประเด็นร้อนเมื่ออาทิตย์ก่อนก็คงไม่พ้นงบประมาณจัดซื้อ นาฬิกาติดผนังยี่ห้อ Bodet รุ่น Cristalys Date จำนวน 200 เรือนโดยใช้งบประมาณกว่า 15 ล้านบาท ตกราคาเรือนละ 75,000 บาท ทำเอาหลายคนสงสัยนาฬิกาอะไรแพงหูฉี่เสียขนาดนี้ ในเวลาถัดมาชาวเน็ตทำการตรวจสอบราคานาฬิการุ่นดังกล่าวจากเว็บไซต์ต่างๆ ในต่างประเทศและในประเทศ พบว่าแท้จริงแล้วนาฬิรุ่นนี้ ขายเฉลี่ยแค่ 16,800 - 25,000 บาทเท่านั้น

เรื่องถัด สภาผู้แทนราษฎร ทำการจัดซื้อชุดรับประทานอาหาร minerva dining set รวมหลายชุด ตกราคาชุดละ 1 ล้านบาท ประกอบด้วย เก้าอี 10 ตัว ตัวละ 6.5 หมื่นบาท, โต๊ะ ราคา 3.5 แสนบาท และจัดซื้อชุดโต๊ะกาแฟ มูลค่า 3 แสนบาท ประกอบด้วยเก้าอี้ 2 ตัว ตัวละ 1.2 แสนบาท, โต๊ะมูลค่าตัวละ 6 หมื่นบาท ทั้งยังเรื่องลับที่ปกมิดไม่มิดกรณีนำงบประมาณไปผลาญ เช่น กรณีติดแอร์ในห้องเก็บขยะในรัฐสภา ฯลฯ

หลายเรื่องถูกตีแผ่ออกมาเป็นข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานยืนยันแทบทั้งสิ้นฝีปากนักการเมืองจอมแฉ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรครักประเทศไทย

“พฤติกรรมการผลาญงบมันมีทุกกระทรวง ทบวง กรม เหตุก็เพราะว่าเราไม่มีผู้ติดตามการใช้งบที่ดี จะเป็นกรมบัญชีกลางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จะเป็นหน่วยงานต่างๆ เช่น สํานักงบประมาณ กลายเป็นผู้สนับสนุน เพราะว่าขั้นตอนแรกของการผลาญงบ

“สมมุติผมตั้งงบขึ้นมากระทรวงนึง ผมต้องไปปรึกษาสำนักงบก่อน สำนักงบก็จะเป็นตัวโพรเทค ปกป้อง เมื่อสั่งงบเรียบร้อย เข้ามาที่สภาฯ จะพิจารณางบแล้วตั้งกรรมาการธิการก็พูดไปอย่างนั้นเอง ตอนหลังมาเตี๊ยมกัน ลับหลังห้องมาคุยกัน มันเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันระหว่างข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำ ต่างคนต่างได้ มันเหมือนชิงช้ามันเล่นคนเดียวไม่ได้หรอกครับ”

อย่าให้เค้าว่า ป.ป.ช. ไร้น้ำยา
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของชูวิทย์นั้นไม่ใช่เพียงออกมาสร้างกระแสหรือแฉดะเพียงอย่างเดียว ทีมข่าวฯ สอบถามถึงการดำเนินการหลังพบความไม่ชอบมาพากลกรณีผลาญงบประมาณของภาครัฐ

“ผมก็ส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แต่คงไม่รู้ว่าที่ ป.ป.ช. จะยิ่งช้าหรือเปล่า? ผู้ที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช.แต่ละท่านก็มาจากราชการที่เกษียณอายุบ้าง เป็นอดีตอัยการบ้าง ลองดูของคุณหญิงสุดารัตน์ (กรณีกล่าวหาคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับพวก รวม 16 คน ว่าทุจริตในโครงการประกวดราคาจัดซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์โรงพยาบาล 818 แห่งทั่วประเทศ เมื่อครั้งเป็นรมว.สาธารณสุขในปี 2547) เรื่องเกิด ปี 47 กว่าจะตัดสินปี 56 แล้วยังมีขั้นตอนของศาลอีก สรุปแล้วเรื่องๆ นึงใช้เวลาเกือบ 10 ปี ผมคิดว่าตรงนี้ ป.ป.ช. เป็นองค์กรกลางต้องดำเนินการให้รวดเร็ว”

แน่นอนว่า ชูวิทย์ ได้ยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อรอการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อย ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไป ส่วนตัวเองออกตัวว่าไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

"อย่างผมจะไปทำอะไรได้ งบที่ว่า.. นาฬิกาไม่ถูกต้อง เก้าอี้ราคาแพง คือระบบมันแย่ ประการแรกส่งเรื่องไปยัง กรรมการ ป.ป.ช. ก็เป็นส่วนมากเป็นนักการเมืองทั้งนั้น ประการที่สอง จะหวังอะไรกับองค์กรทางการเมือง ป.ป.ช. ก็ขั้นตอนราชการ ช้าแค่ชี้มูลอย่างเดียว ใช้เวลา 10 ปี”

กลายๆ ว่าความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมของรัฐเป็นช่องโหว่ให้เหลือบไรเข้ามาหาผลประโยชน์ในรัฐสภา

“เพราะฉะนั้นคนไม่กลัว อย่าง ผมซื้อนาฬิกา 75,000 ผมไปกลัวอะไร คุณก็พูดได้ 2-3 วัน อย่างเก่งอาทิตย์นึงคุณก็เงียบ จับดูผมจะไปพูดอะไรได้ คนจะพูดกันว่าชูวิทย์ก็ทำไปงั้นพอเสร็จแล้วผมจะทำอะไรได้ อย่างเรื่องบ่อน ผมจะทำอะไรได้ ผมก็ส่งไปแล้ว ส่งตำรวจ ส่ง ป.ป.ช. ไปแล้ว เค้าไม่ดำเนินการ ทุกอย่างมันอยู่ที่ผมที่ไหน” ชูวิทย์ ตัดพ้อการทำงานของกระบวนการยุติธรรม

'สภาฯ' สันหลังหวะ
การตรวจสอบกรณีดังกล่าวเขาแนะว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งในปัจจุบันถือว่าล้าช้าอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เทียบเคียงพฤติกรรมนักการเมืองในต่างประเทศ ชูวิทย์ บอกว่าถ้าเกิดข้อครหาเรื่องคอรัปชัน อย่างเช่นเรื่องงบประมาณจัดซื้อนาฬิกาBodet ที่ไม่โปร่งใส่ ส.ส. กล่าวขึ้น

“ลาออกครับ ไม่ทำก็ต้องลาออก นี่ไม่ออก! ยังอยู่อีกแล้วยังให้ข่าวอีกบอกมันเหมาะสมแล้ว อย่างนี้ต้องลาออกไม่ใช่ไล่ออกนะเค้าต้องออกเอง แต่เมืองไทยมันไม่มีธรรมเนียมนี้ ทุกคนอยู่หมดเกาะแน่นหมด แล้วก็พูดกะล่อนไปวันๆ ต่างชาติมีสำเหนียดมีสำนึกมีความละอายหน้าบางกว่า ทั้งข้าราชการ ทั้ง ส.ส. ด้วย ถ้ามีเรื่องอย่างนี้เค้าออกกันทั้งนั้นละครับ ไม่มาทนอยู่หรอก สังคมเค้าประณาม สื่อลงอย่างงี้เค้าออกแล้ว แต่ของไทยไม่มีธรรมเนียมนี้เลย ยังไงเค้าไม่ออก”

ด้านข้อมูลจากสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ชี้ชัดว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.6 ไม่เชื่อมั่นรัฐบาลว่าจะนำงบประมาณปี 2557 ไปใช้อย่างโปร่งใส” แม้เป็นการสำรวจความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็อธิบายภาพความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลชุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แน่นอนว่าข่าวคราวการผลาญงบของรัฐฯ นั้นมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

ดร. อมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย กล่าวว่าในเรื่องนี้ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างชัดเจนโดยกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ยกตัวอย่าง ชุดโต๊ะเก้าอี้หลุยส์ราคาในท้องตลาดก็หลักแสนหลักล้านลดหลั่นตามเกรด

"ประชาชนย่อมรู้สึกคลางแคลงใจ เมื่อได้รับข่าวเรื่องนู้นเรื่องนี้นี่ มันเป็นธรรมดาถ้าไม่มีการชี้แจ้งประชาชนมีสิทธิตั้งคำถามได้ ชี้แจ้งไปแล้วก็ต้องมาดูสเปกการจัดซื้อจัดจ้างตรงตามรายละเอียดหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการจัดซื้อจัดจ้างโกงกันมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่มีการสมรู้ร่วมคิดกันมันโกงยาก แต่ถ้าตรวจกันอย่างไม่มีการเข้าใครออกใครระบบการตรวจสอบมันมีหลายมาตรการหลายขั้นตอน ถ้ามีการคอร์รัปชั่นจริงก็ต้องมีการตรวจสอบ"

ดร. อมร ทิ้งท้ายว่า ในแง่ของการตรวจสอบงบประมาณนั้นมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ในเรื่องการดำเนินงานยังเป็นปัญหาเพราะได้รับข้อมูลมาตลอดว่าหน่วยงานตรวจสอบไม่มีความน่าย่ำเกรง อย่างไรก็ตาม มาตรการที่สำคัญคือผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต้องรู้ลึกในรายละเอียดการจัดซื้อ และสำคัญไปกว่านั้นต้องมีความซื้อสัตย์ อย่างเช่น กรมบัญชีกลาง หรือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ทุกหน่วยงานต้องทำงานสอดประสานกัน ไม่ใช่ว่าพอสิ้นปีงบประมาณก็สอดสายตาดูว่างบของใครแล้วไปขอคืน ตรงนี้เป็นแนวคิดล้าหลังที่ส่งผลให้เกิดการถลุงงบอย่างไร้ประโยชน์
…......................

เรื่องโดย ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น