กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงจากมาตรการควบคุม “ไลน์” โปรแกรมคุยผ่านมือถือยอดนิยม ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ!
จากกระแสข่าวลือรัฐประหาร สู่คำขู่ใครกดไลค์ไปเข้าคุก มาถึงวันนี้ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ยังคงเดินหน้าทำงานอย่างเต็มกำลังด้วยมาตรฐานปราบปรามกึ่งขู่กึ่งคุกคามอย่างการคุมเข้มแอปพลิเคชัน “ไลน์(LINE)”
จากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ยังคงเป็นปัญหา สู่การใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อล้วงลึกข้อมูลส่วนบุคคล มาถึงตอนนี้แม้ล่าสุดพล.ต.ต.พิสิษฐ์ก็ออกมากลับคำ หลังจากทนกระแสสังคมไม่ไหวโต้กลับว่า จะตรวจสอบไลน์เฉพาะกับกลุ่มคนสีเทาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการควบคุมการสื่อสารจากภาครัฐก็ยังไม่หยุดนิ่งเพียงเท่านั้น เมื่อผู้บังคับการคนเดิมเผยเพิ่มเติมถึงขั้นว่า จะควบคุมโซเชียลมีเดียทั้งหมด!
คำถามคือที่ออกมาทำแบบนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร? สิทธิส่วนบุคคลในการสื่อสารของประเทศไทยในยุคนี้จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?
ขู่ฟ่อ! แค่ “แชร์ - ไลค์ - ไลน์”ก็ไปคุกได้
หลังจากเป็นข่าวครึกโครมเมื่อไม่นานมานี้กับการออกหมายจับกุมมือโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ พร้อมการแถลงข่าวถึงขั้นหากผู้ใดกดไลค์ก็มีสิทธิถูกดำเนินคดี ชื่อของ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ยอดมือปราบอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นที่หวาดหวั่นของชาวเน็ตทั้งประเทศ จนกลายเป็นที่มาของข้อความฮิตบนโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา “กลไลค์ไม่ใช่อาชญากร”
โดย พล.ต.ต.พิสิษฐ์ได้เคยให้สัมภาษณ์ต่อกรณีดังกล่าวไว้ว่า การกดไลค์เท่ากับยอมรับและสนับสนุนข้อความดังกล่าว ทั้งยังเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำให้ข้อความดูมีน้ำหนัก จึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ทั้งนี้ เขายังทิ้งท้ายต่อบทสัมภาษณ์ดังกล่าวไว้ด้วยว่า
“ผิดไม่ผิดผมไม่รู้ แต่ถ้าไม่เชื่อ...ผมดำเนินคดีคุณได้ก็แล้วกัน ความผิดเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่องกดไลค์กับแชร์ เข้ามาตรา 14 (5) ส่วนความผิดอาญาเข้าข่ายเล็งเห็นผล”
จนกระทั่งถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กับมาตรการสุดอินเทรนด์ที่จะออกมาควบคุมการใช้แอปฯไลน์ซึ่งเป็นแอปฯ ยอดนิยมที่มีผู้ใช้งานในประเทศไทยมากกว่า 15 ล้านคน เป็นแอปฯสำหรับสื่อสารระหว่างบุคคลหรือกลุ่มผ่านข้อความและรูปภาพ นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมที่ไม่เห็นด้วย ทั้งยังเป็นการเข้าไปล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนโดยไม่จำเป็น
สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และบล็อกเกอร์ชื่อดังที่ใช้โซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำได้โพสต์สเตตัสแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า
“ตำรวจไทยบ้าอำนาจและปัญญาอ่อนขึ้นเรื่อยๆ ไลน์เป็นโปรแเกรมแชตส่วนตัว ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะเหมือนคุยกันผ่านอีเมลมากกว่าการโพสต์บนเฟซบุ๊ก ดังนั้น ถ้าตำรวจได้ข้อมูลไปก็ต้องนับเป็นการ "ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล" ยิ่งกว่ามาลอกโพสต์บนเฟซบุ๊กหลายเท่า”
ขณะที่ทางด้านของโตมร ศุขปรีชานักคิดนักเขียน และบรรณาธิการบริหารนิตยสารGM ก็ได้โพสต์ความเห็นต่อกรณีนี้ในหน้าเพจของตัวเองเช่นกันว่า
“ขำ...รัฐรู้จักแค่ไลน์ก็เลยจะควบคุมไลน์เพราะมันป็อปปูลาร์ ก็เลยนึกว่าคนทั้งโลกรวมทั้งอาชญากรที่คุกคามความมั่นคงของรัฐ (ที่ไม่รู้มีจริงหรือมีตัวตนอยู่แค่ในจินตนาการของรัฐ) ใช้ไลน์ไปด้วย ความคับแคบของรัฐทำให้รัฐไม่สำเหนียกหรอกว่า ยังมีโซเชียลมีเดียแบบเดียวกับไลน์อีกเป็นสิบเป็นร้อย แอปฯและโซเชียลมีเดียเล็กๆ เหล่านี้แหละที่ผู้คนเขาสามารถใช้คุย 'เรื่องเฉพาะ' กันได้โดยที่รัฐไม่มีทางรู้ แหลมเข้ามาควบคุมเมื่อไหร่ก็ย้ายไปแอปฯใหม่ได้ทุกเมื่อ”
ด้านนักวิชาการด้านสื่ออย่าง ธาม เชื้อสถาปนาศิริ จากสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ไทยพีบีเอส ก็แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยเขาได้ตั้งข้อสังเกตจากการประชุมเรื่องการใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์เพื่อการพัฒนาประเทศที่ประเทศพม่าไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
“พม่ากำลังเปิดรับสิทธิ เสรีภาพสื่อ แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่ก็เห็นสัญญาณอันดีจากประเทศที่เคยต่อต้านประชาธิปไตย แต่กลับไปที่ประเทศไทย ตำรวจจะจับตาเฝ้ามองสิทธิการสื่อสารของประชาชน...เลยรู้สึกแปลกๆ ระหว่างสองประเทศที่จะพูดได้อย่างไรว่า เรามีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารแสดงออก ไลน์คือโปรแกรมสนทนาระหว่างบุคคล/กลุ่มย่อยๆ ไม่ใช่สื่อสาธารณะ สงสัยต้องไปซื้อหนังสือคู่มือการใช้สื่อใหม่อย่างไรในประเทศพม่ากลับไปฝากคนไทยแล้วล่ะสิ!”
นักกฎหมายคอมพ์ชี้ รัฐสะดุดขาตัวเอง
หลังจากกระแสสังคมมุ่งโจมตี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ จนต้องออกมาขยายความโต้กลับ ปอท.จะตรวจสอบเฉพาะผู้ที่ใช้งานโซเชียลมีเดียในทางที่ผิดกฎหมาย กระทบต่อความมั่นคง และศีลธรรมอันดี โดยจะเน้นไปที่อาชญากรรม 4 ประเภท 1.กลุ่มค้าอาวุธเถื่อน 2.กลุ่มค้ายาเสพติด 3.กลุ่มค้าประเวณี 4.กลุ่มค้าของปลอมและละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งขณะนี้ก็ได้รับการตอบรับจากบริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่นผู้ใช้บริการโปรแกรมไลน์ที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วว่า ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ
ทว่า ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ว่า การดำเนินการของ ปอท.จะต้องขอคำสั่งศาลอาญาเท่านั้น ในการดักจับข้อความที่ส่งผ่านไลน์ หากไม่มีการขอคำสั่งทางศาล แล้วใช้อำนาจอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถดำเนินการได้
เพราะจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 8 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ที่อยู่ระหว่างส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พูดให้ชัดคือ สิ่งที่ปอท.กำลังจะทำนั้นแท้จริงแล้วขัดต่อกฎหมายเสียเอง
กระทบความมั่นคง(ของใคร)?
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสการเคลื่อนไหวในเชิงปรามก่อนปราบตั้งแต่กรณีเชือดผู้โพสต์ข่าวลือปฏิวัติ ขู่เอาผิดผู้กดไลค์ จนถึงประกาศควบคุมแอปฯ ไลน์ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับสื่อสารส่วนบุคคล เหตุใดจึงมีการตื่นตัวในประเด็นนี้กันมากขึ้นในช่วงเวลาแบบนี้
ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าเป็นผลกระทบมาจากความไม่มั่นคงที่มีอยู่เดิมของรัฐ แต่หลักใหญ่ใจความที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นคือ การที่เจ้าหน้าที่มองบทบาทของตัวเองผิดไป เน้นทำงานเอาหน้ารับใช้หรือเอาใจรัฐบาลจนไม่สนใจความถูกต้องของสิ่งที่ควรจะเป็น
“มันเป็นเรื่องของการที่เจ้าหน้าที่ประเมินบทบาทของตัวเองผิดไป คิดว่าตัวเองนั้นมีอำนาจมากเกินจนสามารถจะทำอะไรก็ได้ เพราะช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ใกล้กับโผการโยกย้ายของปี 2557 เหตุผลที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น 1.คือเขาเดาใจว่ารัฐบาลต้องการอะไร? 2.คืออยากจะทำผลงานเพื่อให้ตัวเองมีชื่อมีผลงานที่โดดเด่นขึ้นมา”
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลมาจากฝ่ายการเมืองด้วย ดังนั้น เขาจึงมองว่า ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่ทำนั้นเป็นไปด้วยเจตนาที่จะปกป้องรัฐ...ปกป้องจากพลังของการสื่อสาร
“การสื่อสารมันมีพลัง” เขาเอ่ยถึงการออกมาเคลื่อนไหวควบคุมสื่อโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบันของรัฐบาล “อย่างสุภาษิตที่ว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท ตั้งแต่โบราณมาแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่าการสื่อสารนั้นเป็นสิ่งที่มีพลัง มีอำนาจมากมายขนาดไหน ในอดีตรัฐบาลก็มีความพยายามจะควบคุมสื่อหลักอย่าง ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์มาโดยตลอด”
เขากล่าวต่อไปว่า เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน...โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นสื่อที่มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า ไวรัลเอฟเฟกต์ อันเป็นผลมาจากการเชื่อมโยงแพร่กระจายแบบไวรัสที่รวดเร็ว แบบพหุคูณ
“มันไม่ใช่แค่ทวีคูณนะ เพราะมันเป็น 100 เท่าเป็น 1,000 เท่า รัฐจึงกลัวว่า หากมีข้อมูลที่ยุแยง สุ้มเสี่ยงจะทำให้รัฐเสียหาย มันจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของตัวเอง ตอนนี้รัฐใช้อำนาจของตัวเองในการปราม ขู่ คุกคามก็เพื่อเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว แล้วบอกว่าไม่มั่นคงก็เพื่อความปลอดภัยของรัฐบาลเอง”
…..
การบังคับใช้พรบ.คอมพิวเตอร์ที่ยังคงเต็มไปด้วยปัญหา ออกข่าวหน้าสื่อไม่เว้นวัน กระทั่งจับเอาแอปฯไลน์ยอดนิยมมาคุมขังดักฟัง...สิ่งเหล่านี้น่าสงสัยว่า จะเป็นการกระทำอันแสนล้ำยุคที่เป็นไปด้วยวิสัยทัศน์แบบ “คิดใหม่ทำใหม่” ตามแบบฉบับของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือเป็นเพียงความนอกลู่นอกทาง หลงพลังหลงอำนาจของเจ้าหน้าที่บางคนที่ออกมาทำงานเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลกันแน่?
โดยข่าว ASTV ผู้จัดการ LIVE