xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตโชกโชนของช่างทำไวโอลินมือหนึ่ง “อนุสิทธิ์ เรสลี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไวโอลินตัวที่ถูกที่สุดของผม มันไปชนะตัวแพงสุดๆระดับโลกมาแล้ว” สุ้มเสียงแรกที่เขาพูด ฟังดูอหังการ ยิ่งใหญ่เกินจริง
 
ทว่าหลังจากทีมงาน m - lite ได้ฟังเรื่องราวชีวิตของเขา - อนุสิทธิ์ เรสลี ช่างทำไวโอลิน ผู้ถูกชีวิตทดสอบอย่างหนักหน่วง ทั้งความรักที่มีต่อไวโอลิน คำหยามเหยียดจากคนในวงการ จนถึงวันที่ได้รับการยอมรับ กระทั่งจุดสูงสุดบนชีวิตเรียบง่ายหลังโต๊ะทำงานในบ้านเช่าหลังเล็ก เราก็ได้รู้ว่า ความอหังการนั้นไม่ได้เกินจริงแม้แต่น้อย

“เป็นไง? หวานนะ เพราะนะ” เขาเอ่ยขึ้น ระหว่างท้วงทำนองหวานของเพลงไทยที่ขับบรรเลงด้วยไวโอลินดังมาจากลำโพงเครื่องเสียงเล็กๆ ที่แอบตัวอยู่บนชั้นวางไม้เหนือหัวเขา ดวงตาที่หลับพริ้ม ดวงหน้าโยกส่าย ราวกับเขาจมเข้าไปในบทเพลงที่ตัวเองเพิ่งเปิด แวดล้อมบนโต๊ะทำงานเต็มไปด้วยเศษไม้ ยังมีท่อนไม้สี่เหลี่ยนขนาดเท่าไวโอลินวางกองอยู่ใกล้ๆ

น่าแปลกที่แม้ตอนนี้เขาจะขายไวโอลินได้ตัวละหลายแสน แต่ห้องทำงานของเขากลับเป็นเพียงห้องเล็กๆ เหมือนโรงรถหลังคาสูงมุงด้วยหลังตาสังกะสี บริเวณที่นั่งทำงานก็แคบเพียงแค่ให้นั่งทำงานอย่างเดียว ประตูบ้านที่อยู่ใกล้ๆ เปิดกว้างเหมือนรอให้ใครเข้ามาทักทายได้อยู่ตลอดเวลา ประตูบานนี้ยังทอดสู่สวนขนาดย่อมที่ตกแต่งด้วยไม้เลื้อยร่มรื่นเขียวชะอุ้ม มีน้ำพุเล็กๆ วางตามทางที่พุ่งไปสู่สะพานไม้ที่ทอดข้ามผ่านแอ่งดินเล็กๆ อีกด้วย

“สะพานนั้นผมทำเอง..ว่างๆ ทำไวโอลินเบื่อๆ ก็ทำไอ้พวกนี้บ้าง” เขาเอ่ยถึงสะพานไม้ในรั้วบ้าน สวนทั้งหมดเขาตกแต่งเอง ไม่ใช่ตกแต่งเองในความหมายที่ว่า ออกแบบในกระดาษ หากแต่ตกแต่งเองด้วยมือที่ลงไปถึงสวน และไม้ตัดเลื่อยจนออกมาเป็นสะพาน เป็นงานไม้แลดูเรียบง่ายหากแต่ประณีต


“คือผมค้นพบความสุขแล้วไง? ผมเลยไม่ไปไหน อยู่มันตรงนี้แหละ ผมมีความสุขตั้งแต่คิดจะทำไวโอลินแล้ว ตั้งแต่เลือกไม้ เฉือนไม้ มันมีความสุขหมดเลย”

ชีวิตบนเส้นสายไวโอลิน

ปี 2521 เสียงไวโอลินเพลง สร้อยสวนตัด ดังรอยมาเข้าหูอนุสิทธิ์ เรสลี...ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อของชีวิตวัยเรียน เขาเพิ่งจบจากโรงเรียนอัสสัมชันบางรักแล้วตั้งเป้าจะเข้าเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป์...แต่พลาดหวัง

แม้เห็นชื่อตัวเองอยู่ในใบประกาศ ยิ้มร่าถึงขั้นหาซื้อเสื้อนักเรียนปักชศ.(ช่างศิลป์)ที่หน้าอกมาใส่อย่างภาคภูมิ ทว่าในวันถัดมาชื่อของเขากลับหายไปจากป้ายประกาศ

“ตอนนั้นผมอายุ 18 พอเห็นว่าตัวเองไม่ได้ ก็เดินร้องไห้ เสียใจมาก เดินไปเรื่อยเลาะไปตามทาง ผ่านธรรมศาสตร์ จนมายืนอยู่หน้ากรมศิลปากร คิดกับตัวเองจะเอายังไงดี พ่อก็อยู่ต่างประเทศ แม่ก็เลี้ยงลูก 10 คน จากทั้งหมด 12 คน เราเป็นคนที่ 2 ไม่อยากจะพึ่งพาใครเลย ตอนนั้นแหละที่เพลงสร้อยสวนตัดมันดังมาจากกรมศิลปากร เราลืมเลย แล้วเราก็อยากเล่นไวโอลิน อยากเล่นมากๆ

ทว่าไวโอลินที่ราคาค่อนข้างสูง กับฐานะทางบ้านที่เขาไม่อยากพึ่งพาใคร ทำให้เขาหันไปหยิบยืมไวโอลินจากเพื่อนมาเล่น มาฝึกซ้อม เวลานั้นเพลงใต้ เพลงบลู เพลงเลบานอน จนถึงเพลงแถบซีเรียเป็นเพลงที่เขาฝึกซ้อมและใช้เล่นประกวดประชัน เมื่อราว 30 ปีก่อนเขาหมกมุ่นกับการเล่นไวโอลิมมากถึงขนาดหมดสิทธิ์สอบ ต้องเรียนใหม่ แต่กระนั้นเขาก็ออกตัวว่า ไม่ใช่นักไวโอลิน

ทว่าหลังจากสามารถเข้าวิทยาลัยเพาะช่างได้สำเร็จ ไวโอลินก็กลายเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น พอถึงปี 2525 เขาก็เข้าเป็นทหารอยู่ 1 ปีที่กรมทหารราบที่ 1 พอปลดประจำการในปีถัดมาเขาก็สมัครเข้ารับราชการเป็นช่างศิลป์ในฝ่ายโสตทัศนะของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมจบอินทีเรียจากเพาะช่างมา แต่ก็มานั่งเขียนอนาโตมี่ให้กับหมอเพื่อเอาไปใช้ประกอบการเรียนการสอน มันเป็นชีวิตแบบข้าราชการจริงๆ เช้าชามเย็นชาม กินกาแฟแก้วสุดท้ายตอน 11 โมง ระหว่างนั้นก็นั่งคุยกันไปเรื่อยเปื่อย ไปเดินเล่นมาบุญครอง ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าตัวองไม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่เท่าไหร่”

กระทั่งเวลาผ่านไป เขาที่รับราชการได้เงินเดือนเพียง 4,000 - 5,000 บาทได้ไปกินข้าวกับเพื่อนที่ทำงานอยู่บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 25,000 บาท ในมื้ออาหารนั้นเพื่อนได้หยิบเอาผลงานออกแบบมาให้เขาดู เป็นงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของเขาไม่ใช่เรื่องเงิน หากแต่เป็นเรื่องที่เขามองว่า สิ่งนี้ไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ผลงาน”ของเพื่อน

“เขาออกแบบแต่มันไปจบที่มือช่างที่จบป. 4 จากสุรินทร์ เพราะอะไร? คุณออกแบบเฟอร์นิเจอร์ คุณจบที่กระดาษแล้วมาคุยว่านี่เป็นผลงานของตัวเอง ผูกไทใส่สูท เลื่อยไม้ยังไม่เป็นเลย ตรงนี้มันทำให้เราอยากลงมือทำด้วยตัวเอง ผมเลยหัดเป็นช่างไม้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2530 ขณะที่ลูกชายคนแรกเพิ่งอายุได้ 1 ขวบ”

เขาอุ้มลูกพร้อมฝึกเรียนงานไม้ เขาเผยถึงการเรียนงานไม้ในฐานะความเป็นงานศิลปะว่า สันดานการเป็นศิลปินนั้นมีอยู่ในตัวทุกคน ทุกคนก็คงอยากทำงานศิลปะด้วยตัวเองทั้งหมดทุกกระบวนการ หากทว่าคนทำได้จริงนั้นมีเพียงหยิบมือ และหลายคนทำไม่ได้ก็ผันตัวเองไปเป็นพ่อค้า

“ไอ้สันดานการเป็นศิลปินทุกคนมีหมดคืออยากจะทำได้จริง แต่บางทีมันทำได้ไม่จริง มันจึงเปลี่ยนจากศิลปินไปเป็นพ่อค้า ก็เลยไปเป็นนายหน้าซะ เอาเด็กมา เฮ่ย! 5 คนมาฝึกเป็นลูกน้องฉัน จบเอาค่าแรงแต่ฉันได้ผลงานได้ชื่อเสียง เรามองว่ามันไม่ยุติธรรม”

ชีวิตเช้าชามเย็นชามจึงจบลง กลายเป็นชีวิตที่ทุ่มเทให้กับการฝึกปรืองานไม้ เขาสารภาพว่า หลังกาแฟ 11 โมงนั้นเขากลับบ้านไปทำตู้ ทำเตียง ทำโต๊ะในห้องแคบเพื่อขายเป็นรายได้เดือนละ10,000 - 30,000 บาท ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เขาศึกษางานไม้ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง และช่วงนั้นเองที่เขาได้เจอกับช่างแกะตราบุหรี่ซึ่งเป็นช่างเหล็กที่ทำงานอยู่ที่โรงงานยาสูบซึ่งเป็นคนที่จุดประกายให้เขาอยากทำไวโอลิน

เขาเป็นคนที่จุดประกายให้ผมอยากทำไวโอลิน เพราะเขาเป็นช่างเหล็ก แกะแบบทองเหลือง เขาแค่บังเอิญได้ยินคนเล่นไวโอลินเพลง จำเลยรัก หรือเพลงอะไรสักเพลงนี่แหละ เขาก็ยืนดู จากนั้นก็ขอไวโอลินของคนที่เล่นมาดู จากนั้นก็บอกว่า เขาทำได้แล้ว...จากนั้นก็สร้างไวโอลินขึ้นมาเลย เขาสุ่มทำไวโอลินอยู่ในบ้านตัวเองเป็นเวลา 3 - 4ปี ทำได้ 3 ตัว ขายไปเล่นๆ ราคาเพียง 3,000 - 7,000 บาท พอเบื่อก็เลิกทำ เขาแค่สนุกๆ เพราะเมืองไทยไม่มีใครทำได้”

เมื่อรู้ข่าว อนุสิทธิ์จึงไปหาช่างทองเหลืองนักทำไวโอลินสมัครเล่นคนนั้น แต่ก็ต้องพบกับความจริงที่ว่า ชายผู้นั้นเลิกทำไวโอลินไปแล้ว การพบหน้าครั้งนั้นจึงแทบไม่มีคำพูดใดๆ มีคำถามเพียงสั้นๆ อย่างตัดบทเพียง มาทำไม? จะทำไวโอลินเพื่ออะไร?

ทว่าหลังจากเขาได้คุยตัวเองเป็นช่างไม้ และได้สีไวโอลินเพลงแขกให้อดุลย์ฟัง การไปมาหาสู่กันก็เกิดขึ้น ท้ายที่สุดคำพูดสุดท้ายที่อดุลย์บอกกับอนุสิทธิ์คือ คุณน่ะ...ทำได้ ราวปี 2532 เขาก็กลับบ้านแล้วเริ่มลงมือทำไวโอลินเดี๋ยวนั้นเลย

ไวโอลินตัวแรกของชีวิต

ชีวิตข้าราชการในช่วงเช้าของเขาเต็มไปด้วยการหัดแกะเกาชิ้นไม้ ไม้ชิ้นรูปหัวไวโอลินกลายเป็นที่ทับกระดาษอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่องานไม่มีเขานั่งแกะหัวไวโอลินอย่างเดียว ทำไปทิ้งไปจนเพื่อนหลายคนเอ่ยปรามเขา อย่าทำเลย...เหนื่อยเปล่า

กระทั่งวันที่ 1 มกราคม 2538 เขาก็ลาออกจากชีวิตข้าราชการ เปิดโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ มีการลงทุนลงหุ้นในกิจการของเขา เขาสนุกกับงานที่ทำ พร้อมทั้งดอกผลที่ผลิบานกับงานไม้ก็สร้างรายได้ให้ถึงเดือนละ 2 - 4 แสนบาท
ทว่าชีวิตแสนสุขกลับช่างแสนสั้น เพียง 2 ปีหลังเปิดกิจการ ราวปี 2540 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ...ฟองสบู่แตก มันคือยุคที่เรียกกันว่า หุ้นตกโดดตึก โรงงานต้องปิดตัว ต้องออกจากบ้านไปอยู่ตึกเรสลีแมนชั่นของน้าชาย จากบ้านหลังใหญ่กลับต้องมาอาศัยในห้องเล็กๆ ครอบครัวที่ประกอบไปด้วยตัวเขา ภริยาและลูกอีก 3 คน เขาบอกเลยว่า แทบไม่มีที่นอน

“ก็ยังเหลือเงินติดกระเป๋าอยู่ 130,000 บาทแต่ต้องออกจากบ้าน บอกลูกอย่าหันกลับไปมองนะ เด็กมันเคยกระโดดน้ำเล่น พาเพื่อนมาเล่นฟุตบอล ชีวิตมันลำบากถึงจุดที่กินข้าวกันจะพลิกปลาทูต้องคุยกันเลยนะ” เขาเล่าถึงชีวิตช่วงที่ตกต่ำที่สุด “เฟอร์นิเจอร์ตอนนี้คือเราไม่ไหวแล้ว มันต้องแข่งขันกันมาก ไม้สุดท้ายที่เหลือคือไวโอลิน”

ช่วงคาบเกี่ยวของเหตุการณ์นั้น ไวโอลินตัวแรกที่เขาสร้างสำเร็จเป็นไวโอลินไม้ตัวสีขาว ยังไม่ผ่านการทาวานิช เขาได้ผอบหิ้วไวโอลินตัวนั้นไปที่สวนลุมไนท์บาซาร์ซึ่งตอนนั้นมีข่าวว่า นักสะสมไวโอลินชื่อดังของประเทศคนหนึ่งจะมาออกร้าน พอเขาไปถึงและยื่นไวโอลินส่งให้ นักสะสมไวโอลินคนนั้นถึงขั้นทำท่ารังเกียจ พร้อมถามกลับ ทำไวโอลินเป็นอาชีพ...คุณบ้าหรือเปล่า?

“ผมบอกในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญช่วยดูให้หน่อยครับ” เขาเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น ซึ่งส่งแรงผลักดันให้เขาต่อสู้กับคำดูถูกเหยียดหยามมาจนถึงทุกวันนี้ “จังหวะนั้นมีมือระดับประเทศประมาณ 4 - 5 คนยืนอยู่รอบๆ พอส่งให้ เขาบอก ผมไม่จับเอาไปห่างๆ แล้วคนรอบๆ ก็นั่งหัวเราะกัน เราพยายามมา 10 - 20 ปี แค่จับเขายังขยะแขยงเลย”

ทว่าเมื่อกลับถึงบ้านที่โรงงานทำเฟอร์นิเจอร์กลับมีชายคนหนึ่งสะกดรอยตามเขามา พอเช้าวันรุ่งขึ้นชายคนนั้นปรากฏตัวที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเต็มไปด้วยซากไวโอลินที่ทำไปทิ้งไป ชายคนนั้นรีบปลีกตัวออกมาโทรศัพท์โดยที่ปลายสายก็คือบุญญฤทธิ์นั่นเอง และสิ่งที่อนุสิทธิ์ได้รับรู้ต่อมาคือ นัดทานข้าวเย็นกับนักสะสมไวโอลินระดับประเทศที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง

“เขาเป็นคนระวังตัวมากๆ ที่เขาตั้งท่ารังเกียจส่วนหนึ่งก็อาจเพราะอยู่ๆ เราก็เดินไปหาเขา เอาไวโอลินไปให้ดู จากวันนั้นเขาก็เชิญผมทานข้าวด้วย ผมไปถึงก็นั่งตัวแข็งเลย ไม่กินอะไร เพราะผมเป็นมุสลิม เขาสั่งไอ้โน่นไอ้นี่ ผมกินแต่น้ำเปล่า”

นับจากวันนั้น อนุสิทธิ์ก็ได้เลื่อนชั้นจากคนแปลกหน้ามาเป็นเพื่อน ท้ายที่สุดนักสะสมไวโอลินก็เอยกับเขาว่า ผมเลือกคุณ

“ผมก็งงว่า เลือกทำไมครับ เขาก็บอก ไอ้คนที่กลัวบาป กินไอ้โน่นก็บาป กินไอ้นี่ก็บาป มันโกงคนไม่เป็นหรอก เราก็งง แล้วเราไปลงทุนอะไรกับเขา เราถึงโกงเขา คือ เขาเป็นคนค่อนข้างระวังตัว แล้วเทคนิคในการปรับแต่งไวโอลินพวกนี้มันเป็นศาสตร์เฉพาะตัวที่บางทีอธิบายแล้ว คนที่ไม่มีความรู้หรือเพิ่งจะเริ่มทำ มันไม่สามารถเดินหน้าได้ตอนนี้เขาก็เริ่มจับไวโอลินของเราแล้ว”

จากนั้นนักสะสมไวโอลินก็ช่วยทาวานิชให้กับไวโอลินตัวแรกของอนุสิทธิ์ แต่มีข้อแม้ว่าต้องวางไวโอลินในร้านเขา และเขาก็ขายให้ ได้เงินเท่าไหร่ก็ให้อนุสิทธิ์ทั้งหมด ในความคิดของเขาตอนนั้น ขายได้สักตัวละ 15,000 บาทก็พออยู่พอกินไปได้แล้ว แต่ตัวแรกเขาได้ราคาถึง 35,000 บาท ตัวที่ 2 ก็ได้ราคา 35,000 บาท แต่พอขึ้นตัวที่ 3 นักสะสมไวโอลินก็ยื่นเงื่อนไข ขอส่วนแบ่ง 20 เปอร์เซ็นต์ และห้ามตั้งราคาเกิน 40,000 บาทเพราะจะไปทับไวโอลินตัวอื่นในร้าน

“สรุปเบ็ดเสร็จ ผมได้ตัวละ 2 หมื่นกว่าบาท ก็ยังดี ผมอยู่ตรงนั้น 2 ปี 6 เดือน เพื่อต้องการให้เขาให้สูตรวานิช แต่เขาก็ไม่ให้ เวลา 2 ปีกับ 6 เดือน ขายไวโอลินไปได้แค่ 6 ตัว ซึ่งมันก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในบ้าน ลูกก็ต้องเรียนหนังสือ ต้องกู้หนี้ยืมสิน ทำไงดี เดือนมิถุนายนปี 48 ก็ขอลาอาจารย์ครับ ผมขอแยกทาง”

ตอนนั้นไวโอลินหมายเลข 13 เป็นตัวสุดท้ายที่ทำเสร็จ เขาตัดสินใจขนกลับมาบ้านทั้งหมด ทว่าทันทีที่แยกตัวก็มีคนมาจองออเดอร์กันหมด เขาเริ่มขายที่ 30,000 บาท จากนั้นก็เริ่มพัฒนาฝีมือบางตัวใช้เวลา 1 ปี บางตัวใช้เวลา 6 เดือน จนถึงตอนนี้ตัวที่เร็วที่สุดใช้เวลาเพียง 3 วัน

“จากนั้นก็มีกลุ่มที่โจมตีผม เพราะผมทำเองขายเองมันก็ไปขัดกับผลประโยชน์ของพวกดีลเลอร์ขายไวโอลินเจ้าอื่น แต่พอผมพิสูจน์ได้แล้ว ถึงตอนนี้ไวโอลินมันเข้าไปอยู่ในวงการ 113 ตัว เสียงที่ว่าผมก็เงียบลงแล้ว ตอนนี้สถานการณ์มันคลี่คลายแล้ว”

ไวโอลินคืองานศิลปะ

“ไวโอลินมันเป็นเครื่องดนตรีที่มหัศจรรย์นะ แค่แขวนอยู่เฉยๆ คนเห็นมันก็มีความสุขที่ได้เห็นถึงความสวยงามของมัน รูปทรงของมัน ไวโอลินมันต้องสวยงามทุกมุม” เขาเอ่ยพลางหยิบไวโอลินให้เราดู “ตัวนี้เสียงหวานเหมาะกับการเล่นเพลงไทย ไวโอลินของเรา 100 ตัวที่ทำออกมา ไม่เหมือนกันสักตัว เพราะทำด้วยมือ มันเกิดจากภาวะอารมณ์ในตอนนั้นๆ ถึงได้บอกว่า ไวโอลินมันคืองานศิลปะ”

คุณสมบัติของนักทำไวโอลินนั้น เขาเผยว่า มี 3 ข้อด้วยกัน 1. รักไวโอลินและควรเล่นไวโอลินได้ แม้จะไม่ต้องเก่ง แต่ก็ต้องเล่นได้บ้าง 2. มีความรู้ด้านศิลปะ รูปทรง เส้นสาย และจินตนาการ 3. มีความสามารถในงานช่างไม้ชั้นดี ไม่ใช่เพียงทำเฟอร์นิเจอร์แบบติดแล้วต่อกันยังไม่สนิทก็เอาดินสอพองมาแปะ ต้องตัดไม้ได้ส่วนพอดี ทับต่อกันได้ลงล็อกไม่ขาดไม่เกิน

“ไวโอลินทั่วโลกนั้นสร้างตามแบบแผน ไวโอลินชื่อดังจะถูกนำมาศึกษาลอกแบบ แล้วไวโอลินก็จะถูกสร้างให้เหมือนกับต้นแบบมากที่สุด แต่ไวโอลินของเรามันสร้างจากจินตนาการ” เขาว่าพลางเลื่อนมือไปเปิดเพลงเบาๆ “ความแตกต่างของไวโอลินมันเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนนักเล่นไวโอลิน แต่ละคนก็มีวิธีการเล่นที่แตกต่างกัน บางคนเพาเวอร์เยอะ ต้องการไวโอลินที่รองรับเพาเวอร์ของเขาได้ ถ้าไวโอลินไม่ดี รองรับอารมณ์ของผู้เล่นไม่ได้ ผู้เล่นก็อึดอัดไม่สามารถบรรเลงได้อย่างที่ต้องการ”

ความแตกต่างของไวโอลินทำให้ราคามีความแตกต่างกันด้วย เขาสามารถทำตามสั่งให้ได้ แต่หลายครั้งก็ตามใจที่เอาแน่เอานอนของเขาไม่ได้ จนบางคนให้เงิน 50,000 ได้ของราคา 500,000 แต่บางคนให้เท่าไหร่เขาก็ไม่ขาย
“อย่างน้อยๆ ที่ให้กันก็ 50,000 นะ เข้ามาจอง แล้วบอกผมง่ายๆ เลยว่า อยากได้ไวโอลินดีๆ สักตัว”

กับลูกค้าบางคนที่จู้จี้ อยากได้ลายไม้ ตกแต่งแปลกๆ เขายิ้มๆ พร้อมเผยว่า มักจะได้ของไม่ดีไป ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของเขาทำให้ชายคนหนึ่งเก็บเงินซื้อไวโอลินจากเขามานาน 2 ปี ไปมาหาสู่กันบ่อยๆ ซื้อของเล็กๆน้อยๆ มาฝากหลายครั้ง วันหนึ่งอยู่ๆ เขาก็หยิบเอาไวโอลินตัวละ 200,000 บาทส่งให้หน้าตาเฉย

“ผมมองว่ามันเป็นงานศิลปะ การตั้งราคามันขึ้นอยู่กับตัวผมเลย อยากขายก็ขาย ไม่อยากขายก็ไม่ขาย อยากให้ก็ให้ดื้อๆ เลยก็มี”

ไวโอลินของเขาทุกตัวรับประกันตลอดชีวิต เขาบอกเลยว่า จนกว่าจะตายจากกันไป ด้วยสายสัมพันธ์ที่เขารู้สึกว่า คนที่มาซื้อกับเขาเองนั้น ไม่ได้กำลังคุยอยู่กับพ่อค้า แต่เป็นนักทำไวโอลิน ลูกค้าเหล่านั้นหลายครั้งเขาจึงมองเป็นลูกศิษย์

และเขาจะพอใจมากกว่าหากซื้อไวโอลินของเขาแล้วนำไปเล่น ยิ่งเล่นจนฝีมือพัฒนาขึ้นเขายิ่งชอบใจ เด็กๆหลายคนที่ซื้อไวโอลินตัวละ 50,000 บาท พอผ่านไป 1 ปีกลับมาตรวจสภาพ กลับมาเล่นให้เขาดู ฝีมือดีขึ้น เมื่อเขาดูที่ไวโอลินก็สามารถรู้ได้ทันว่า มันถูกจับมาเล่นบ่อยครั้ง และได้รับการดูแลอย่างทะนุถนอมแค่ไหน บ่อยครั้งเขาตรงไปที่ตู้ ขอตัวละ 50,000 บาทคืนแล้วส่งให้ตัวละ 300,000 บาทให้

“บางคนเราเช็กดูแล้ว เรารู้ว่าเขาไม่ได้หยิบมันมาเล่นเลยเนี่ย เราก็ต้องดุเขาหน่อยนะ” เขาเอ่ยถึงลูกค้าราวกับเป็นครูคนหนึ่ง ไม่แปลกที่ลักษณะแบบนี้จะทำให้ลูกค้าหลายคนนับถือและเรียกเขาว่า อาจารย์ “คือถ้าไปซื้อกับร้านขายเครื่องดนตรีปกติ วันรุ่งขึ้นคุณไปซื้อข้าวมันไก่มานั่งกินกับเขา คุยกับเขา เขาไม่คุยนะ เขาจะขายของ ถ้าเป็นพ่อค้าผมก็เจ๊ง...มีที่ไหนขายของราคา170,000 ในราคา 50,000 ให้ผ่อนเดือนละ 5,000 อีก”

เรสลีหมาย 81 เขาตั้งราคาไว้ที่ 170,000 แต่ขายให้เด็กคนหนึ่งไปในราคา 50,000 ผ่อนเดือนละ 5,000 วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เด็กคนนั้นขึ้นคอนเสิร์ตอำลาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์เพื่อไปเรียนดนตรีต่อที่เทกซัส สหรัฐอเมริกา เด็กคนนั้นเลือกไวโอลินของเขาติดตัวไปเรียนต่อ ทิ้งไวโอลินของเยอรมัน และอิตาลีไว้ที่บ้าน ตอนนี้เด็กหนุ่มกำลังจะขึ้นปีที่ 3 อายุ 21 ปีแล้ว และเล่นอยู่ในวงเซาท์เทกซัสเชมเบอร์ออร์เคสต้า (south texas chamber orchestra)

“แล้ววันหนึ่งน้องเขา(เด็กหนุ่มคนนั้น)ก็ถือหมายเลข 81 เข้าไปร้านขายไวโอลินในเทกซัสกับอาจารย์คนหนึ่ง ตอนแรกเขาก็ขอลองตัวที่อยู่ตู้โชว์ซึ่งเป็นตู้ใหญ่แต่มีไวโอลินตัวเดียว ว่าง่ายๆ มันคือตัวที่แพงที่สุด ดีที่สุดในร้าน แต่เจ้าของร้านปฏิเสธเพราะเห็นว่าเป็นเอเชีย น้องบีมเลยหยิบหมายเลข 81 ขึ้นมาสี พอเห็นแบบนั้น เจ้าของร้านเลยให้ลองตัวที่ดีที่สุด แต่พอเล่นไป 2 - 3 ตัวโน้ตเท่านั้นก็วางเลยทันที อันนี้เขาโทร.เล่าให้ฟังนะ เขาบอกว่ามันห่วยมาก ตัวนั้นราคา 4,000,000 บาทของคีโมน่า แต่สู้เราไม่ได้”

แล้ววันที่เราสัมภาษณ์ นักดนตรีชื่อดังคนหนึ่ง จะขึ้นคอนเสิร์ตไวโอลินโซโลโดยโดยใช้หมายเลข 109

“ผมให้เขายืมแล้วจะสร้างให้เขาฟรีอีกตัว คือเราต้องการจะพลิกโฉมหน้าดนตรีคลาสสิก พลิกโฉมในที่นี้ไม่ได้มุ่งไปที่ตัวดนตรีนะ มุ่งไปในเรื่องของค่านิยมในการใช้เครื่องดนตรี ทำไมต้องอิตาลีอย่างเดียว? มันเก่งสุด หรูสุด ก็เราจะปราบอิตาลีให้ดู แล้วเราปราบมาแล้วไม่รู้กี่ลาย”

จากนั้นเขาชี้ไปที่กรงนกว่างเปล่าที่แขวนอยู่ในห้องทำงานแคบหลังคาสูงของเขาพร้อมเล่าว่า จะมีคนนำนกแข่งจากใต้มาให้ ว่างเว้นจากงานไวโอลินเขาจึงทำกรงนกขึ้นมา นำเศษไม้ที่เหลือจากไวโอลินมาทำ รูปทรงสี่เหลี่ยมดูเหมือนกรงนกทั่วไป หากแต่เต็มไปด้วยความเรียบง่ายและประณีตดูไปแล้วก็ไม่ต่างจากชีวิตของเขาเลย

ภาพโดย วชิร สายจำปา







โต๊ะทำงานที่เพียงพอให้ทำงานเท่านั้น
ลูกชายคนโตผู้เดินตามรอยนักทำไวโอลิน

กำลังโหลดความคิดเห็น