xs
xsm
sm
md
lg

เณรคำสร้าง “พระแก้วจำลอง” ไม่ขออนุญาต ผิดกฎหมายจริงหรือ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉาวโฉ่รายวันกับหลวงปู่อรหันต์ลวงโลก เณรคำ ฉัตติโก ที่แสดงละครเก่งตั้งแต่ตัวพระยันลูกศิษย์ใกล้ชิด อ้างอิงหลักนู่นนี่ ไปจนถึงขั้นติว่าคนไม่เข้าใจคือคนไร้สติปัญญา แต่เจ้าตัวเองก็ยังหายจ้อย ไม่กลับมาสู้ข่าวที่ทิ้งไว้ หลังได้ดิบได้ดี ร่ำรวยแบบไม่ลืมหูลืมตา สร้างบ้านหลังโต ขับรถคันโก้ มีเครื่องบินเจ็ตหรูโฉบไปปฏิบัติกิจนิมนต์ ลือหึ่งกันถึงต้นตอที่มาของเงินไปต่างๆ นาๆ อย่างเรื่องของจัดสร้าง “พระแก้วมรกตจำลอง” องค์ใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 18 เมตร ตามคำอาราธนาของพระอินทร์ ก็เอามาโฆษณาประกาศปาวๆ ดูดทรัพย์จากชาวพุทธไปกี่สิบล้านแล้วก็ไม่รู้ พอเรื่องเริ่มแดง อะไรที่เคยทำไว้ก็เริ่มสะดุด สหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการสร้างพระแก้วมรกตจำลองของวัดแห่งนี้ดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตก่อนการสร้าง

ส่วนลูกศิษย์แถวหน้า สุขุม วงประสิทธิ์ ลูกศิษย์หลวงปู่เณรคำ ก็รีบแก้เกี้ยวออกมาตอบโต้กรมศิลปากร ยืนยันการสร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ที่วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ ที่หลวงปู่เณรคำสร้างเสร็จแล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากร เพราะไม่ใช่พระพุทธรูปที่ต้องขออนุญาต หรือต้องแจ้งให้ทราบว่ามีการก่อสร้าง อีกทั้งวัดในเมืองไทยมีกว่า 40,000 วัด หากจะสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเองก็สามารถทำได้ หากพระพุทธรูปนั้นไม่เข้าข่ายที่ต้องมีการตรวจสอบ หรือต้องส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลการก่อสร้าง กรมศิลปากรเลยเจื่อน ยอมรับว่าไม่มีอำนาจเอาผิด เพราะไม่ได้กำหนดบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ทำได้แค่ขอให้วัดเร่งดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ จะแจ้งให้สำนักศิลปากร 15 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบด้วยว่ามีวัดใดบ้างที่สร้างพระพุทธรูปจำลองโดยไม่มีการขออนุญาต

เรื่องการจัดสร้างพระเลยกลายเป็นโจทย์ของสังคมขณะนี้ ว่าตกลงแล้วจัดสร้างได้หรือไม่ แล้วต้องมีขั้นตอนอย่างไร เพราะคลางแคลงใจว่าพระหลายองค์ที่บูชา หรือเคยบริจาคเงินสร้าง อาจเป็นพระที่ผิดกฎหมายก็ได้ ดังนั้นจึงขอยกข้อความส่วนหนึ่งมาจาก http://www.sac.or.th ฐานข้อมูลโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล มาเพื่อประดับความรู้

ระเบียบที่ท่านอธิบดีกรมศิลปากรอ้างถึงคือ “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520” ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง

ระเบียบฉบับนี้เกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2520 โดยให้กรมศิลปากร เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาและควบคุมการก่อสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของชาติไทย ส่วนการจำลองพระพุทธรูปสำคัญและพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีนั้น ต้องได้รับพระบรมราชานุญาต โดยเสนอผ่านกรมศิลปากร และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่วนเหตุผลที่อ้างถึงในการออกระเบียบดังกล่าวคือ “เพื่อธำรงรักษาเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยไว้มิให้เสื่อมสูญ”

พระพุทธรูปสำคัญที่ระบุในระเบียบฉบับนี้ มีอยู่ 61 องค์ด้วยกัน

1.พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) 2.พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 3.พระพุทธเลิศหล้านภาลัย 4.พระสัมพุทธพรรณี (วัด
พระศรีรัตนศาสดาราม) 5.พระพุทธบุษยรัตน จักรพรรดิพิมลมณีมัย


6.พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกตน้อย) 7.พระพุทธบุษยรัตนน้อย 8.พระนิรันตราย 9.พระพุทธเพชรญาณ 10.พระพุทธ
นรสีห์ 11.พระชัยนวรัตน 12.พระพุทธสิหิงค์


13.พระพุทธเทวปฏิมากร 14.พระพุทธศาสดาฯ 15.พระพุทธมารวิชัย 16.พระพุทธโลกนาถ 17.พระพุทธชินราช (วัดพระเชตุพนฯ)
18.พระพุทธชินสีห์ (วัดพระเชตุพนฯ) 19.พระพุทธปาลิไลยก์


20.พระศรีสากยมุนี 21.พระพุทธตรีโลกเชษฐ 22.พระพุทธธรรมมิสรราช 23.พระพุทธนฤมิตร 24.พระพุทธชินสีห์ (วัดบวรนิเวศ
วิหาร) 25.พระศาสดา (วัดบวรนิเวศวิหาร) 26.พระโต


27.พระไสยา 28.พระพุทธวชิรญาณ 29.พระพุทธปัญญาอัคคะ 30.พระสมุทรนินนาท 31.พระพุทธอนันตคุณ อดุลยบพิตร
32.พระพุทธสิงหิงคปฏิมากร 33.พระพุทธอังคีรส


34.พระพุทธชินราช (วัดเบญจมบพิตร) 35.พระสักยสิงห์ 36.พระหริภุญชัยโพธิสัตว์ 37.พระพุทธนรสีห์น้อย 38.พระอัฏฐารส ศรี
สุคตทศพลญาณบพิตร 39.พระพุทธไตรรัตนนายก (วัดกัลยาณมิตร)


40.พระศาสดา (วัดสุวรรณาราม) 41.พระสัมพุทธพรรณี (วัดราชาธิวาส) 42.พระทศพลญาณ ปางมารวิชัย 43.พระสิทธารถ 44.พระ
เศรษฐตมมุนี 45.พระสุรภีพุทธพิมพ์


46.พระสิหิงค์ (วัดพระปฐมเจดีย์) 47.พระพุทธชินราช (วัดพระมหาธาตุฯ จังหวัดพิษณุโลก) 48.พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์
ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร 49.พระสัมพุทธมุนี


50.พระพุทธนฤมลธรรโมภาส 51.พระพุทธมหาโลกาภินันท์ 52.พระพุทธไตรรัตนนายก (วัดพนัญเชิง) 53.พระเสริม 54.พระแซกคำ
55.พระฉันสมอ 56.พระใส 57.พระแสนเมืองมหาชัย


58.พระแสนเมืองเชียงแตง 59.พระอินทรแปลง 60.พระอรุณ 61.พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

ผู้ที่ต้องการจำลองพระพุทธรูปสำคัญตามที่ระบุอยู่ในระเบียบ ต้องแจ้งความประสงค์ขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรถึงอธิบดีกรม
ศิลปากร (ก่อนการจัดสร้างหรือจำลอง) พร้อมแนบเอกสารแจ้งข้อมูลเหล่านี้เพื่อประกอบการพิจารณา

(1) ชื่อและประวัติความสำคัญของพระพุทธรูปที่ขอจำลอง
(2) เหตุผลและวัตถุประสงค์ในการขอจำลองพระพุทธรูปสำคัญ
(3) รูป ลักษณะ ขนาด หรือแบบรายการของพระพุทธรูปที่จำลองแล้ว
(4) จำนวนที่ขอจำลอง และชนิดของวัสดุที่ใช้จำลอง
(5) รายละเอียดอื่นๆ รวมทั้งชื่อหน่วยงาน บุคคล หรือนิติบุคคลที่รับผิดชอบดำเนินการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ

ทั้งนี้ หากอธิบดีกรมศิลปากรพิจารณาเห็นชอบในคำขออนุญาตจำลองพระพุทธรูปสำคัญแล้ว จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันคงต้องนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม) เพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต โดยผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในกรณีที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจำลองพระพุทธรูปสำคัญแล้ว กรมศิลปากรยังมีหน้าที่ควบคุมการจัดสร้างหรือการจำลองพระพุทธรูปสำคัญอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

สรุปความได้ว่า การสร้างองค์จำลองพระพุทธรูปสำคัญ (61 องค์) จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อน หากยังไม่ได้รับอนุญาต
จากทางการ นับเป็นกรรมที่ผิดกฎหมายไทย


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีระเบียบการจำลองพระพุทธรูปสำคัญชัดเจน แต่จากกรณีตัวอย่าง ณ สำนักสงฆ์ขันติธรรม ที่ได้จัดสร้างองค์พระแก้วมรกตจำลองไปแล้ว โดยยังไม่ได้ดำเนินการขออนุญาต ทำให้ทราบเป็นความรู้อีกอย่างหนึ่งว่า กรมศิลปากรไม่มีอำนาจในการสั่งชะลอหรือระงับการจำลอง เพราะไม่ได้กำหนดบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน คงทำกรรม (การกระทำ) ได้เพียง “ขอให้ผู้จัดทำจำลองเร่งดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย”


กำลังโหลดความคิดเห็น