xs
xsm
sm
md
lg

‘สุนทรภู่’ ร้านหนังสือเล็กๆที่บ้านเกิด ของ สาวเมืองแกลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณีรนุช เอี่ยมอารยา และ รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์
จากกรณีที่ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการหนังสือเคยส่งจดหมายถึงสำนักพิมพ์และบริษัทจัดจำหน่าย เพื่อขอความสนับสนุน จ่ายค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center Fee : DC) 1 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าส่งสินค้าราคาปกของทุกใบส่งสินค้า โดยให้เหตุผลว่า มีต้นทุนการกระจายหนังสือ และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

นอกจากครั้งนั้นจะมีหลายเสียงของคนในแวดวงหนังสือออกมาคัดค้าน ยังเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญต่อการก่อเกิดหลายเครือข่าย เพื่อสนับสนุนให้การอ่านหนังสือของประเทศไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน ธุรกิจหนังสือขนาดเล็กและนักเขียนอยู่ได้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป อาทิ เครือข่ายนักอ่านไทย,เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก ฯลฯ

ร้านหนังสือเล็กๆที่บ้านเกิด เป็นหนึ่งโครงการที่ถูกผลักดันให้เกิดขึ้น โดย เครือข่ายนักอ่านไทย ซึ่งมี ปราย พันแสง นักเขียนชื่อดัง เป็นหัวหอก และมีเป้าหมายให้มีร้านหนังสือเล็กๆของเครือข่าย เกิดขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ร้าน ทั่วทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย

ร้านสุนทรภู่ แห่ง อ.แกลง จ.ระยอง คือร้านหนังเล็กๆที่บ้านเกิด ร้านแรกของเครือข่ายฯ ซึ่งมีสองสาวชาวแกลงแท้ๆ เป็นเจ้าของ เคยผ่านการไปทำงานและใช้ชีวิตที่บ้านอื่นเมืองอื่นมาก่อน แต่ท้ายที่สุดชีวิตก็ถูกขีดให้กลับมาทำอะไรเล็กๆที่บ้านเกิด

>>>2 สาวเมืองแกลง กลับบ้านเกิด

ฐอน - รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์ รายแรกนี้ เป็นศิษย์เก่า คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มงานแรกด้วยการเป็นนักข่าวในเครือ ASTVผู้จัดการ ศูนย์เชียงใหม่ ก่อนจะลาออกไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท แล้วหันไปทำงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่ คาลวิน ไคลน์ ต่อด้วยงานด้านตลาดที่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)

หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาทำบริษัทของตัวเอง รับงานด้านอีเว้นท์และออแกไนซ์นานกว่า 10 ปี พร้อมเป็นอาจารย์พิเศษ สอนระดับปริญญาโท ที่ มช.ปิดท้ายด้วยการทำงานด้านโทรทัศน์ในต่างแดน ก่อนจะกลับมาบ้านเกิด และเลยเถิดมาจนถึงปัจจุบัน

“ก่อนกลับมาบ้าน ไปทำงานทีวีที่อเมริกาก่อน พอจะกลับบ้านมาต่อวีซ่า แม่ไม่สบายก็เลยเป็นจุดหักเหในชีวิตว่า ไม่ไปแล้วกลับบ้านดีกว่า เพราะตอนที่มาต่อวีซ่า แม่นอนอยู่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เลยตัดสินใจไม่ไปแล้ว

ตอนกลับมาใหม่ๆก็เซ็งนะ เรายังไม่รักบ้านเกิด (หัวเราะ) แต่กลับมาเพราะแม่ จากนั้นก็เริ่มชิน และเริ่มทำโรงเรียนสอนศิลปะเด็กก่อน (โรงเรียนศิลปะบ้านสีขาว) เน้นให้เด็กวาดรูปได้ มีจินตนาการ และเรื่องของ EQ แต่ให้คนอื่นสอน เพราะตอนทำบริษัท ลูกน้องเยอะ พอกลับมาบ้าน ก็เลยชวนลูกน้องเก่ามาช่วย แล้วเปิดสอนอังกฤษ คณิตศาสตร์และดนตรี เพิ่มขึ้นมา”

หนึ่งในครูสอนดนตรีประจำโรงเรียนคือ อ๊อบ - ณีรนุช เอี่ยมอารยา ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ (ดนตรีสากล) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หรือ อดีตมือกีต้าร์ วง PINK ซึ่งเคยโด่งดังจากเพลง ‘ผู้หญิงลืมยาก’ นั่นเอง

“พอออกจากวง และเลิกทำอะไรทุกอย่างที่กรุงเทพฯ เพราะก่อนหน้านี้อ๊อบเป็นฟรีแลนซ์เขียนเรื่องท่องเที่ยวและถ่ายภาพ ด้วย จึงกลับมาบ้านและได้มารู้จักกับพี่ฐอน เพราะอ๊อบมาสมัครเป็นครูสอนดนตรี ร่วมงานกันมาเรื่อยๆ อยู่ที่นี่ก็เป็นทั้งครูสอนดนตรี และเป็นครีเอทีฟ เพราะพี่ฐอนยังรับตัดงานด้านอีเว้นท์และออกาไนซ์อยู่”
หล่านักเขียนไปให้กำลังใจวันเปิดร้าน

>>>'สุนทรภู่' หนังสือแกล้มชา

กระทั่งวันหนึ่ง ฐอนซึ่งในด้านหนึ่งเป็นนักอ่านอยู่แล้ว และมีเพื่อนเป็นนักเขียนอยู่ที่เชียงใหม่หลายคน รวมถึง ‘ฮวงซีเนี้ย’  ซึ่งเป็นเพื่อนกับ ปราย พันแสง อีกที ในที่สุดเธอจึงถูกชักชวนจาก เครือข่ายนักอ่านไทย ให้เปิดร้านหนังสือเล็กๆขึ้นที่บ้านเกิดของตัวเอง

“ข้างบนเราเป็นโรงเรียนกวดวิชา แต่ข้างล่างเราว่างอยู่ พอมองว่าค่าใช้จ่ายคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เลยตัดสินใจ เปิดก็เปิด”

พร้อมกับได้เรียกตัวอ๊อบ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวไร่ชา ณ เมืองดาร์จีลิงค์ ประเทศอินเดีย ให้กลับมาร่วมปลุกปั้นร้านหนังสือด้วยกัน และเปิดร้านอย่างเป็นทางการไปเมื่อ ‘วันสุนทรภู่’ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2556 ทันได้เป็น 1ใน 15 ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ ที่เข้าร่วม ‘สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ’ จัดโดย เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก

ในวันเปิดร้าน จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย คนล่าสุด และเรืองเดช จันทรคีรี เจ้าของสำนักพิมพ์รหัสคดี สองผู้ร่วมขับเคลื่อน เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก จึงชักชวนบรรดานักเขียนและกวีชื่อดังไปร่วมให้กำลังใจอย่างมากมาย อาทิ ชมัยพร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, 3 กวีซีไรต์ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ,ไพวรินทร์ ขาวงาม,เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์,ขจรฤทธิ์ รักษา ฯลฯ รวมไปถึงที่เดินทางไปร่วมด้วยช่วยกันอย่าง ฮวงซีเนี้ย,เตมัน(นักเขียนแนวสยองขวัญ) และทอม-จักรกฤต โยมพะยอม แฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่

Be Blossom Book & Tea คือนิยามที่สองสาวเมืองแกลงเจ้าของร้านมีให้กับ ร้านสุนทรภู่ เพราะนอกจากจะจำหน่ายหนังสือดีมีคุณภาพและหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางที่เน้นสร้างความเบิกบานให้กับผู้อ่าน ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตรงที่มี ‘ชา’ ดีระดับโลกจาก เมืองดาร์จีลิ่ง ประเทศอินเดีย มาวางจำหน่ายด้วย

“ตอนแรกดิฉันไม่อาจเอื้อม บารมีเราถึงเหรอที่จะใช้ชื่อ ‘สุนทรภู่’ เรื่องชื่อร้านต้องให้เครดิตกับ พี่แจ๋ว (ปราย พันแสง) กับ ฮวงซีเนี้ย ที่ตั้งชื่อนี้ให้ ซึ่งในที่สุดดิฉันก็โอเค เห็นด้วย

เพราะดิฉันเกิดที่นี่ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านสุนทรภู่ ตั้งแต่เด็กจนโตเราเรียนเรื่องสุนทรภู่มาเยอะ ผ่านอนุสาวรีย์ก็บ่อย มันเป็นความผูกพัน เราดีใจที่เคยมีกวีผู้นี้อยู่ที่บ้านเรา ท่านเปรียบเหมือนเชคเปียร์ของเมืองไทย แต่ดิฉันชอบท่านสุนทรภู่ในแง่ที่ท่านเป็นนักเดินทาง เพราะถ้าไม่เดินทาง ท่านคงไม่มีนิราศต่างๆออกมามากมาย และโดยส่วนตัวดิฉันก็เป็นคนที่ชอบเดินทาง

Be Blossom เพราะเราให้อารมณ์ของคนที่เข้ามาในร้านรู้สึกว่าเบิกบานมีความสุข ไม่ใช่ทำให้ชีวิตเหนื่อย แต่อยากให้เข้ามานั่งสบายๆดื่มชาบ้าง ทำอะไรอย่างอื่นบ้าง

และอันดับแรก การเลือกหนังสือเข้ามาในร้าน เราต้องคัดวรรณกรรมที่ดีก่อน ที่ได้รางวัล ร้านเราต้องมี สอง ดิฉันกับอ๊อบชอบท่องเที่ยว ก็ต้องหาหนังสือท่องเที่ยวมาวาง และสาม หนังสือที่เกี่ยวกับการดีไซน์ ซึ่งเราก็ชอบด้วยเช่นกัน หรือพวกหนังสือที่ไม่ใช่แค่อ่านแล้วผ่านเลย แต่อ่านแล้วให้กำลังใจ ให้ข้อคิดบ้าง มีธรรมะปนเข้ามาบ้าง” ฐอน- รัสรินทร์ กล่าว

ขณะที่ อ๊อบ- ณีรนุช เสริมว่า “บางคนเขาจะงงค่ะว่า ร้านสุนทรภู่ แต่นิยามตนว่า Be Blossom Book & Tea มันเกี่ยวกันยังไง แต่จริงๆแล้วมันมีเหตุและผลของมันอยู่ อ๊อบนั่งคุยกับพี่ฐอนว่า ความจริงแล้วท่านสุนทรภู่ก็เป็นนักเดินทางเหมือนกัน และส่วนหนึ่งมันเป็นพื้นที่ของเรา เราต้องดึงเอาความรู้สึกของเราออกมา เพื่อที่จะตอบโจทย์ทุกสิ่งทุกอย่าง เราอยากมีพื้นที่นั่งของเรา เวลาเราทำงาน คิดงาน และเวลาคนผ่านไปผ่านมา ร้านจะได้ดึงดูดคนที่ชอบแนวเดียวกันเข้ามา นั่นคือชอบอ่านหนังสือ ชอบท่องเที่ยว ชอบกินชา ชอบดนตรี”


>>>ไม่สู้ แต่เสริม

ในช่วงเริ่มต้นนี้ สุนทรภู่ รับหนังสือจาก 2 สายส่ง คือ เคล็ดไทยและฟรีฟอร์ม ของ เครือข่ายนักอ่านไทย รวมถึงเปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เล็กๆ นำหนังสือมาฝากวาง และในบางครั้งเจ้าของร้านจะเป็นผู้ไปสรรหาหนังสือที่ตัวเองชอบมาด้วย

“ไหนๆเรามีพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่น ดังนั้นเจ้าอื่นที่เป็นร้านหนังสือเล็กๆสำนักพิมพ์เล็กๆเราก็อยากจะเชื่อมต่อด้วย เช่น นิตยสารมนต์รักแม่กลอง ฯลฯ เราก็ให้เขาส่งมา ขายไม่ได้ก็ค่อยคืนกลับไป”

แม้ในช่วงถูกจุดประกาย เสมือนว่าต้องการเป็นหนึ่งแรงเพื่อร่วมต่อสู้กับระบบใหญ่ แต่เจ้าของร้านทั้งสองกล่าวยืนยันว่า ไม่ต้องการต่อสู้กับระบบแต่ต้องการเป็นส่วนเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านการอ่าน และทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ของความตั้งใจ อยากสร้างให้ร้านหนังสือเล็กๆที่บ้านเกิดแห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความสุข

“เราทำเพื่อความสุขของตัวเอง ดิฉันไม่มีความต้องการที่จะไปต่อสู้กับใคร แค่อยากให้คนได้อ่านหนังสือ อาจจะเป็นหนังสือที่เราเลือกมาบ้าง หรือคนอื่นคิดว่าดี ได้มีพื้นที่นั่งคุยกัน มีกิจกรรมเกิดขึ้นในท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมอย่างนี้มันไม่เคยมีหรอกที่ อ.แกลง ที่จะมานั่งคุยเสวนาเรื่องนั้นเรื่องนี้ อีกอย่างเราอยู่ตรงนี้เราไม่มีเพื่อนไง เราก็อยากจะมีเพื่อนบ้าง

แต่ไอ้เรื่องต่อต้านใครเราไม่คิด เรามองว่า ถ้าเราเริ่มต้นทำร้านหนังสือ แล้วทำให้คนหันมาอ่านหนังสือบ้าง แทนที่จะไปสนใจอย่างอื่น เราพอใจแล้วที่อย่างน้อยที่สุดมีคนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น

และการเกิดขึ้นของร้านนี้ ดิฉันมองว่าทั้ง ซีเอ็ด และนายอินทร์ เขาจะได้รับประโยชน์เพิ่มนะ ทุกวันนี้หนังสือเล่มไหนที่เราไม่มี ดิฉันยังเดินไปซื้อที่ซีเอ็ดและนายอินทร์อยู่ ไปซื้อมาอ่าน ไปซื้อมาขาย และอย่างร้านนายอินทร์ที่นี่ กับเจ้าของเรารักกันมาก เราไม่ได้เป็นศัตรูกัน เราเล็ก เขาก็จะช่วยสนับสนุน ให้เอาหนังสือจากเขามาขายบ้าง แล้วเราก็จะเปิดเวทีเสวนาร่วมกัน”

เมื่อรู้ดีว่ากำลังสร้างพื้นที่แห่งความสุขและขณะเดียวกันก็เข้าใจดีว่าเป็นเรื่องยากที่ตักตวงกำไรจากพื้นที่แห่งนี้เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะเวลาสั้นๆ เจ้าของร้านทั้งสองจึงยังต้องมีอาชีพอื่นที่ทำอยู่ก่อนแล้วไว้รองรับ ทั้งโรงเรียนกวดวิชา รวมถึงไปรับงานอีเว้นท์และออกาไนซ์ ตัวอย่างเช่น 'เดินเลาะเรือนไม้ รับไอทะเล @ ปากน้ำประแส'   งานถนนคนเดินที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆนี้ ระหว่างวันที่ 8-12 สิงหาคม พ.ศ.2556 ณ ชุมชนบ้านปากน้ำประแส

“เรากลัวจน เพราะเรารู้ว่า ทำร้านหนังสือไม่ได้กำไร เราก็เลยมองว่า ถ้าเราทำแล้วไม่ได้กำไร เราต้องได้ความสุข แล้วความสุขของเราคืออะไร ในแง่ของดิฉันถ้าเกิดเราทำแล้วมีคนอ่านที่มันตรงกับเราบ้าง เราก็มีความสุขแล้วล่ะ หรือว่าเยาวชนและเด็กๆที่มาเรียนหนังสือ เพราะข้างบนเป็นโรงเรียนกวดวิชา ถ้า ใน 100 คน มี 1 คน มานั่งอ่านหนังสือ ดิฉันก็แฮปปี้แล้วค่ะ เพราะดิฉันเชื่อว่าหนังสือมันทำให้คนคิดได้”

>>>ร้านหนังสือเล็กๆ อบอุ่นเหมือนได้ไปบ้านเพื่อน

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2535 กล่าวว่า การได้ไปเยือนร้านหนังสือเล็กๆไม่ว่าจะเป็นที่ไหน รวมทั้งร้านน้องใหม่แห่งนี้ อบอุ่นเหมือนได้ไปบ้านเพื่อน และไม่รู้สึกว่าหนังสือเป็นสินค้า

“ตอนเด็กๆ เคยเดิน 3 กิโลเมตรจากบ้าน เพื่อที่จะไปบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีหนังสืออยู่ และตอนนั้นรู้สึกว่าบ้านหลังนั้นเหมือนร้านหนังสือ ดังนั้นจึงรู้สึกทุกครั้งว่า ร้านหนังสือเล็กๆไม่ว่าในชุมชนไหน จังหวัดไหน ถ้าเราได้ไป เหมือนว่าเราได้ไปบ้านหนังสือหลังนั้นในวันเยาว์ อบอุ่น ไม่เหมือนร้านค้า และหนังสือไม่เหมือนสินค้า

เหมือนได้ไปบ้านเพื่อน เพื่ออ่านหนังสือที่เรารัก และเป็นหนังสือที่เจ้าของบ้านรักด้วยนะ ดังนั้นร้านหนังสือเล็กๆมีเสน่ห์ก็ตรงที่ว่า เขาได้เลือกหนังสือที่เขารักมาวางไว้ พอเรามาก็เลยเหมือนได้มาอ่านหนังสือที่บ้านเพื่อน และเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆไม่เหมือนคนค้าขาย แต่เหมือนเพื่อนที่เอาหนังสือที่ตัวเองรักมาแบ่งปันกันอ่าน

อยากเสนอแนะให้เจ้าของร้านหนังสือเล็กทำกิจกรรมควบคู่กันไปด้วยเพื่อที่เราจะได้มีความผูกพันกับผู้ที่เข้ามาหาเรา เราก็จะได้ทั้งกำไรทางธุรกิจและกำไรจากการได้เพื่อน”

ด้าน ทอม-จักรกฤต โยมพะยอม แฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ กล่าวว่า การมีร้านหนังสือเล็กๆที่บ้านเกิดถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะถ้าคนในบ้านเกิดเปิดร้านหนังสือเอง ย่อมจะรู้ธรรมชาติของผู้อ่านในท้องถิ่นของตนว่าชอบหนังสือแบบไหน และย่อมอยากจะให้คนที่บ้านเกิดตนได้อ่านแต่หนังสือดีมีคุณภาพ

“แสดงว่าหนังสือในร้านนี้ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่าเหมาะกับคนในท้องถิ่นนั้นจริงๆ อยากจะให้กำลังใจ และขออวยพรให้ร้านสุนทรภู่เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีคนแวะเวียนมามากมาย เป็นที่นิยมชมชอบเช่นเดียวกับ ท่านสุนทรภู่”

ร้านสุนทรภู่ เลขที่ 38/1 ถ.โพธิ์ทอง เทศบาลเมืองแกลง อ.แกลง จ.ระยอง 21110 โทร.086-405-6502

Text : ฮักก้า Photo : วารี น้อยใหญ่







กำลังโหลดความคิดเห็น