ในยุคตลาดเสรีเฟื่องฟู ช่องทางขายสินค้าและบริการผ่านร้านค้าออนไลน์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคยุคใหม่จำนวนมาก เนื่องจากสะดวก และรวดเร็ว แต่ข้อดีก็มีข้อเสีย เพราะมิจฉาชีพที่แฝงตัวลงประกาศขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากลองค้นดูจากกูเกิลแล้ว จะพบว่ามีการโกงกันมากมาย
ด้วยความห่วงใยจากทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live จึงมีคำแนะนำดี ๆ จากหนังสือ "ภัย" ฉบับเงิน เงิน เงิน ของสำนักพิมพ์บ้านของเรา มาฝากนักชอปทั้งมือใหม่และมือโปรไว้สำหรับเป็นภูมิคุ้มกันจากมิจฉาชีพออนไลน์ เพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งเจ็บใจกับการเสียรู้ ตลอดจนเสียเงินในภายหลัง
1. สังเกตว่าผู้ขายลงข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดติดต่อชัดเจนหรือไม่ คุณสามารถตรวจสอบประวัติเบื้องต้นโดยใช้ ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ อีเมลผู้ขาย แม้แต่เลขที่บัญชีไปค้นหาในอิทเทอร์เน็ต ก็อาจพบว่าข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลนั้นติดอยู่ในแบล็คลิสต์ของเว็บไซต์ต่างๆ ก็ได้
2. กรณีผู้ขายเป็นร้านค้า ควรตรวจสอบชื่อที่อยู่ร้านค้า หรือหมายเลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ควบคุมโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) และนำหมายเลขที่ได้ไปตรวจสอบทะเบียนการค้าออนไลน์ที่ http://www.dbd.go.th/ ร้านค้าที่จดทะเบียนแล้วจะเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง แต่หากไม่มีร้านหรือยังไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ซื้ออาจขอสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายไว้เป็นหลักฐานก่อนโอนเงินเพื่อความปลอดภัย
3. ขอหมายเลขโทรศัพท์บ้านที่ติดต่อได้ เพื่อยืนยันว่ามีสถานที่ติดต่อที่แน่นอน
4. ตรวจสอบราคาสินค้าว่าไม่ถูกกว่าท้องตลาดเกินไป อาจลองค้นหาตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ว่า สินค้าที่เราต้องการ ทั่วไปแล้วขายกันราคาเท่าไร
5. เมื่อมั่นใจว่าจะติดต่อซื้อขายกับผู้ขายรายใด ควรบันทึกรายละเอียดประกาศรวมทั้งข้อมูลผู้ประกาศ โดยเซฟหน้าประกาศไว้ เพราะหลังซื้อขายผู้ที่เป็นมิจฉาชีพมักแก้ไขหรือลบข้อมูลในประกาศของตนเองเสมอ
6. หากต้องโอนเงินค่าสินค้าก่อน ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ขายมีตัวตนและติดตามตัวได้ ก่อนโอนเงินทุกครั้ง
7. ควรใช้วิธีนัดพบเพื่อชำระเงินและส่งมอบสินค้า ซึ่งควรนัดในที่ชุมชน และตรวจสอบสินค้าให้เรียบร้อยก่อนชำระเงิน โปรดระวังกรณีที่ผู้ขายให้ชำระเงินก่อน โดยอ้างว่าต้องเดินทางไปหยิบสินค้าที่อยู่อีกที่หนึ่ง หรืออ้างว่าจะมีอีกคนนำสินค้ามาให้ เพราะเท่ากับได้เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพได้เงินไปฟรีๆ
8. หากจำเป็นต้องโอนเงินค่าสินค้าก่อน ควรโอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร เพราะสามารถติดตามหรืออายัดเงินได้ ส่วนการโอนเงินผ่านตู้ ATM จะติดตามยาก และควรเก็บหลักฐานการโอนไว้ทุกครั้ง
9. ใช้วิจารณญาณทุกครั้งก่อนซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต สังเกตพฤติกรรมของผู้ขาย ผู้ขายที่ดีจะยินดีตอบทุกคำถามและพร้อมที่จะให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ซื้อหรือไม่
ทำอย่างไรเมื่อถูกโกง
สำหรับบรรทัดนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะเจอเหตุการณ์นี้ แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว มีวิธีดำเนินการดังต่อไปนี้
1. บันทึกรายละเอียดของประกาศนั้นไว้เป็นหลักฐาน โดยเซฟหน้าประกาศและปรินท์ออกมาเป็นเอกสาร
2. เตรียมหลักฐานการโอนเงิน เลขที่บัญชีธนาคาร หลักฐานการติดต่อระหว่างคุณกับมิจฉาชีพ เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขพัสดุ
3. แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.ท้องที่ที่คุณไปโอนเงิน ว่า "ถูกฉ้อโกง" เพื่อลงบันทึกประจำวัน และออกใบแจ้งความเพื่อดำเนินคดี
4. นำใบแจ้งความส่งให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ เพื่อขอหมายเลข IP ของมิจฉาชีพ (หมายเลข IP จะบอกที่อยู่ของคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ๆ ใช้แกะร่องรอยและขยายผลในการจับกุมได้)
5. นำเอกสารจากข้อ 1-4 ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ท้องที่ที่แจ้งความ เพื่อออกหมายจับและพาไปจับกุมตัว หรือจัดเตรียมออกสารหลักฐานทั้งหมด ร้องทุกข์ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อขอความช่วยเหลือในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด
สามารถส่งข้อมูล โดยแนบสำเนาหลักฐานการร้องทุกข์ได้ที่ กลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
เรียบเรียงข้อมูลส่วนหนึ่งจาก www.Dealfish.co.th
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live