xs
xsm
sm
md
lg

ไล่ที่ “มาเฟียตลาดนัดรถไฟ” ระบบนักเลงฝังราก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นประเด็นร้อนแรงจนเกือบถึงขั้นเลือดตกยางออกกับกรณีไล่ที่ตลาดนัดรถไฟ ล่าสุดหลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดพื้นที่ใหม่ผ่อนผันให้ค้าขายฟรี! แต่ทว่า เหตุการณ์ที่น่าคลี่คลายไปในทางที่ดีกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อปรากฏกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกกันว่า “มาเฟีย”

ท่ามกลางข้อสงสัยอันคลุมเครือ ใครเป็นมาเฟียกันแน่? ร.ฟ.ท. หรือเจ้าของตลาดนัดรถไฟ หรือบุคคลที่สาม ท้ายที่สุด กลุ่มตลาดนัดรถไฟได้ประกาศย้ายพื้นที่ค้าขาย โดยทิ้งคำประกาศไว้ว่า “ถ้าบังเอิญไปพบว่ายังมีตลาดนัดรถไฟ ย่านจตุจักรอีก...ขอย้ำว่า ไม่ใช่ของตลาดนัดรถไฟแน่นอน!!”

สิ่งหนึ่งที่ยังคงถูกทิ้งไว้คือ การปรากฏตัวของเหล่ามาเฟีย และระบบนอกระบบที่แฝงฝังอยู่ในสังคมไทย เกิดขึ้นได้อย่างไร? เหตุใดจึงไม่มีการจัดการให้ระบบมาเฟียหรือมา(หากิน)ฟรีแบบนี้หมดไปเสียที

เงินไม่ถึงรัฐ

จากเหตุความขัดแย้งบนพื้นที่ตลาดนัดรถไฟอันมีชนวนมาจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะมีขึ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้พื้นที่ตลาดเดิมเพื่อการก่อสร้างโครงการ เมื่อประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยออกมาประกาศผ่อนผันให้ใช้พื้นที่ใกล้ๆ กันเป็นตลาดไปก่อนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กลับปรากฏกลับมาเฟียเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าว

เหตุการณ์ทั้งหมดจุดชนวนสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจนล่าสุดทางตลาดนัดรถไฟประกาศย้ายให้ผู้ค้าทั้งหมดจากตลาดนัดรถไฟจตุจักรไปอยู่รวมกับผู้ค้าที่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ เกิดเป็นเสียงเรียกร้องถึงความยุติธรรมของระบบตลาดนัดที่เกิดขึ้นจากผู้ค้า ผู้ถือครอง และเจ้าของตลาด

โครงการเบื้องหลังตลาดนัดแห่งนี้มีความคล้ายกับตลาดนัดหลายแห่งในประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตลาอดนัดจตุจักรที่อยู่ใกล้ๆ กัน ศรันย์ เลิศทิศ ผู้ค้าที่ขายของอยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักร และตลาดนัดรถไฟเผยว่า เงินที่ผู้ค้าจ่ายเป็นค่าที่นั้นจะต้องจ่ายให้กับผู้มีสิทธิถือ ท้ายที่สุดแล้วเงินค่าเช่าจริงๆ จะถูกกว่านี้ก็ตาม

“ในความเป็นจริงจตุจักรจะมีผู้ถือครองเป็นเหมือนเสือนอนกินซึ่งพวกนี้เขาจะถือครองหรือไม่ก็เซ้งต่อกันมาหลายต่อหลายทอดแล้ว มีคนแรกที่เช่าโดยตรงกับรัฐบาล เงินเข้ารัฐจริงๆ เดือดละ 4,000 บาท แต่ค่าเช่าบางร้านขึ้นไปถึง 30,000 บาทแล้ว”

ในส่วนของตลาดนัดรถไฟก็มีเริ่มมีเค้าโครงของการเช่าที่แบบนี้เกิดขึ้นแล้ว เขาสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตลาดนัดแห่งนี้ไว้อย่างเป็นภาพให้เห็นถึงพัฒนาการความเป็นไปของการเกิดระบบมาเฟียเล็กมาเฟียน้อยที่ฉกชิงผลประโยชน์จากผู้ค้าตัวจริงไว้อย่างชัดเจนดังนี้

“เรื่องนี้เป็นในมุมมองของผมนะ แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่นี้เป็นตลาดที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยมีคนมาเดิน จนกระทั่งเจ้าของตลาดนัดรถไฟมาเปิดทำเล บุกเบิกพื้นที่จนมันบูมขึ้นมา จากนั้นก็มีเริ่มพวกที่เข้ามาจองสิทธิแล้วให้ผู้ค้าเช่าต่อในราคาที่สูงขึ้น จนพอทำเลนี้เริ่มมีผลประโยชน์มากขึ้น และถึงเวลาที่ร.ฟ.ท.จะเข้ามาพอดี มันเลยมีกลุ่มที่เห็นว่า เออ ตรงนี้เป็นโอกาส แล้วเข้ามาจับจองซึ่งผมไม่แน่ใจว่ารู้เห็นกับใครหรือเปล่า แต่สุดท้ายแล้วก็คือจะมาแทนกลุ่มที่จัดการตลาดนัดรถไฟนั่นแหละ

เขามองว่า ท้ายที่สุดแล้วมันก็คือการจับจองสิทธิบนพื้นที่ทำเลทองในราคาถูกโดยใช้เส้นสาย แล้วมาปล่อยให้ผู้ค้าเช่าในราคาที่แพงขึ้น สำหรับเขาแล้วในฐานะที่ทำอาชีพค้าขายก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องจ่าย เป็นสิ่งที่ยอมรับได้

หากย่อให้เห็นภาพชัดคือ เมื่อตลาดเปิดให้เช่าล็อกประจำก็จะมีผู้คนจำนวนมากหรือที่เรียกกันว่า เสือนอนกิน มาจับจองสิทธิเช่าเพื่อให้ได้สิทธิในการจับจองพื้นที่ก่อนปล่อยให้ผู้ค้าตัวจริงมาเช่าต่อให้ราคาที่แพงกว่าความเป็นจริง

นี่เองจึงมีข้อสงสัยหนึ่งที่เกิดขึ้นว่า ใครคือมาเฟียกันแน่ และใครคือผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด หรือท้ายที่สุดแล้วมันคือการสมประโยชน์กันทุกฝ่าย หากแต่เหตุการณ์เดือดร้อนที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแย่งชิงผลประโยชน์ที่อยู่นอกเหนือจากระบบที่ถูกต้องเท่านั้น

ต้นต่อระบบมาเฟีย

ระบบมาเฟียถือเป็นองค์กรอาชญากรรมอย่างหนึ่ง โดยธรรมชาติแล้วจะมีการไหลเวียนของผลประโยชน์ที่หล่อเลี้ยงให้องค์กรเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มอำนาจและกระทำการนอกกฎหมายได้

ในส่วนของกรณีที่เกิดขึ้นที่ตลาดนัดหลายๆ แห่งนั้น พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่าหากมีการจัดการที่ดีพอจะสามารถขจัดสิ่งที่เป็นปัญหาเหล่านี้ออกไปได้ ทว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือความเสียหายเกิดกับภาครัฐซึ่งเท่ากับไม่มีผู้เสียหายโดยตรง

“ถ้าพื้นที่เป็นของเอกชน เรื่องนี้มันก็ไม่เป็นปัญหา ขึ้นอยู่กับสัญญาที่กำหนดระหว่างเอกชนกับผู้เช่าเลย หากเสียหายก็ร้องเรียนกันเอง แต่พอมาเป็นพื้นที่ของรัฐบาล การที่รัฐบาลเสียประโยชน์ ความหมายจริงๆ คือ ประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหาย แต่มันจับต้องได้ยาก”

เมื่อความเสียหายตกอยู่กับภาครัฐทั้งจากการที่ผู้ค้าจ่ายค่าเช่าที่ให้กับบุคคลอื่นมากกว่าที่ควรจะจ่ายให้ภาครัฐ ผู้เสียหายที่ไม่มีตัวตนอย่างรัฐบาลจึงขาดการเรียกร้องหรือทวงถามถึงความถูกต้องของสิ่งที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ การที่ระบบจอง เซ้ง เช่าช่วงต่อของตลาดในเมืองไทยนั้น ปัญญาส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐที่ไม่มีมาตการและความจริงจังใส่ใจในการดูแลสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย

“ถ้าจะจัดการเรื่องนี้ ว่าไปตามกฎได้เลยครับ มันเกิดปัญหาที่จุดไหน อะไรที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ อย่างผู้เช่าที่จากรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ค้าเอง แต่ไปให้เช่าช่วงต่อ ก็ต้องมาดูว่าผิดสัญญาหรือเปล่า ถ้ารัฐบาลให้สัญญาเช่าพื้นที่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ค้าทำการค้าขาย แบบนี้ก็ผิดวัตถุประสงค์แล้ว แต่มันก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะจริงจังแค่ไหนด้วย”

นอกจากนี้ ในฐานะนักอาชญาวิทยา เขามองว่า หากมีการลงไม้ลงมือต่อผู้ค้าโดยมาเฟีย ก็สามารถจัดการได้ตามกฎหมาย แต่ทว่าระบบมาเฟียที่เกิดขึ้นนั้น โดยธรรมชาติแล้วมักจะมีการเชื่อมโยงกับอำนาจฝ่ายรัฐอย่างนักการเมืองอยู่ด้วย

“นี่คือธรรมชาติหนึ่งของระบบมาเฟียที่มักจะมีการเชื่อมโยงจากอำนาจนอกกฎหมาย นักการเมือง อำนาจรัฐ ถ้าจะทำให้กลับมาถูกต้อง ก็ต้องมีการตรวจสอบ ขอย้ำว่าระบบมาเฟียจะอิงประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ นักการเมืองเพียงบางคนเท่านั้นที่อาจจะนอกลู่นอกทาง ฉะนั้นตอนนี้ถ้าจะบอกว่าให้ทำตามกฎหมายเป๊ะ มันจึงทำได้ยาก”

เขาย้ำว่า ประเด็นที่ผู้เสียหายที่แท้จริงซึ่งเป็นภาครัฐว่า ตรงนี้มีส่วนต่อการเมืองและเศรษฐกิจ

“จริงๆคือ ประชาชนทั้งประเทศได้รับความเสียหายตรงนี้ แต่ก็เป็นประชาชนทั้งประเทศนี่แหละที่มองไม่เห็น ไม่รับรู้เพราะมันจับต้องได้ยาก”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตของระบบที่เกิดขึ้นคือ มันอยู่มาอย่างยาวนาน และเอาเข้าจริงๆ แล้วมันก็เป็นระบบที่สังคมยอมรับ กระทั่งผู้ค้าที่ถูกเอาเปรียบก็มองว่า เป็นสิ่งที่ต้องจ่าย แลกกับการได้ขายของ แม้จะไม่มีสัญญาเช่าพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม

เขามองว่า ปรากฏการณ์นี้ตามหลักการแล้วน่าจะมาจากการสมยอม ผู้ค้าอาจได้ผลประโยชน์บางประการจากการจ่ายเงินให้กับบุคคลนอกกฎหมายเหล่านี้ บุคคลที่ได้ชื่อว่า มาเฟีย

“ส่วนหนึ่งคือผู้ค้าก็สมยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะพวกเขาได้ประโยชน์ อาจจะเป็นค่าเช่าที่ที่เหมาะสมกับความสะดวกรวดเร็วในการเช่าที่พื้นที่ค้าขาย แม้จะไม่มีสัญญาเช่า อย่างรายเล็กๆ จ่าย 300 บาทต่อวัน เขากำไรได้มากกว่าอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม เขามองอีกมุมในเชิงรายละเอียดว่า ตลาดบางแห่งรัฐบาลอาจใช้วิธีทำสัญญาให้เอกชนมาถือครองระยะยาวเพราะเห็นว่า ตัวเองไม่ถนัดงานด้านการบริหารจัดการ

“พอดี ถ้ารายละเอียดของสัญญาที่รัฐบาลทำมันเป็นแบบนั้นนะ มันก็ไม่ผิด คือรัฐบาลให้เอกชนมาเช่า แล้วให้เอกชนบริหหารจัดการทำตลาดเอง เงินก็เข้ารัฐ เอกชนก็ต้องจัดการบริหารเอง ตรงนั้นมันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่รัฐวางไว้”

….....

จากกรณี ตลาดนัดรถไฟ สู่ระบบมาเฟียคุมพื้นที่ตลาดนัดในภาพใหญ่ของสังคม ขณะที่ผู้ค้าทำได้เพียงเอาตัวรอดจากผลกำไรแบบวันต่อวัน หลายพื้นที่ถูกบุกเบิกและกลายเป็นย่านทำเลทอง แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปคือ ยังคงมีกลุ่มบุคคลที่ทำนาบนหลังคนอยู่

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE





กำลังโหลดความคิดเห็น