เมื่อจู่ๆ คนที่เคยถูกตราหน้าว่า “แหลตัวพ่อ” อย่าง “นาธาน โอมาน” โผล่หน้าไปออกรายการ “บอก 9 เล่าสิบ” ทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวีแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย พูดคุยเปิดใจถึงเหตุผลที่ต้องทำตัวลวงโลกในอดีตด้วยประโยคเด็ดที่ว่า “ชีวิตคนเราทุกคนอยู่กับการโกหก แต่ผมคงไม่โกหกอีกแล้ว ถ้าทำอีกคงเป็นแบบอ้อมๆ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน”
บวกกับข่าวคาวๆ ครั้งล่าสุดจากนักร้องมากความผิดอย่าง “ฮาร์เวิร์ด หวัง” ทุบกระจก-บุกบ้านแฟนสาวเพื่อขอคืนดี แต่ดันก่อคดีแทน ชวนให้เกิดคำถามว่า ทุกวันนี้ สื่อมอบพื้นที่ให้คนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ออกมาแก้ตัวกันมากเกินไปหรือเปล่า และคนผิดจะต้องการโอกาสจากสังคมอีกสักกี่ครั้งกัน จึงจะพอ?
ควรค่าแล้วหรือที่จะอยู่ในสื่อ?
หลังจากรายการเปิดใจผู้ได้รับฉายาว่า “สตอเบอแหลตัวพ่อ” ออกอากาศไป กระแสตอบกลับก้อนใหญ่จากผู้ชมก็ถาโถมเข้ามา ตั้งคำถามกับสื่อมวลชนว่า “จะมอบพื้นที่สื่อให้คนแบบนี้ไปทำไมอีก?” ทุกคำถามที่พิธีกรยิงออกไปเพื่อขุดคุ้ยอดีต ถูกตอบกลับมาด้วยคำแก้ต่างจากนาธานได้ทั้งหมด และหนึ่งในเหตุผลของการทำผิดในวันวานคือ “ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีเกินไป”
ลองพิจารณาควบคู่ไปกับกรณี “ฮาร์เวิร์ด หวัง” ที่มีแต่ข่าวเสียๆ หายๆ มาโดยตลอด แต่ก็ยังเดินเชิดหน้าทำงานอยู่ในวงการนี้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะสังคมรับคำขอโทษและให้อภัย กระทั่งคดีล่าสุด บุกบ้านแฟนสาว "เอมี่ แม็กซิม" จนถูกขึ้นบัญชีดำเป็นบุคคลต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
ถามว่าคนที่ทำผิดซ้ำๆ เหล่านี้ยังควรค่าที่จะถูกนำเสนอคำแก้ต่างในสื่อ ให้ผู้คนเห็นอกเห็นใจอยู่ไหม? 2 กูรูอย่าง “ดร.เสรี วงษ์มณฑา” และ “นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล” จะช่วยพิพากษา
ถ้ามองในมุมนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนอย่าง ดร.เสรี แล้ว ขอยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นในกรณีของนาธานว่า “ถ้าเป็นอาจารย์ อาจารย์ไม่เชิญมาออกรายการหรอก ไม่รู้จะเชิญมาทำไม แต่ถ้าเชิญมาแล้วก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะให้พื้นที่เขาไปเพื่ออะไร ที่สำคัญ อย่านำเสนอในลักษณะที่จะทำให้เขาดูดีขึ้นจนเวอร์ อย่าไปเผลอเสนอคนเลวให้กลายเป็นฮีโร่ อันนี้ผิด
อย่าเน้นแค่เรียกเรตติ้งอย่างเดียว วันนั้นฟังฮาร์เวิร์ดชี้แจง วันนี้ฟังนาธานมาสัญญาเรื่องการโกหก คนสนใจ โฆษณาเข้ามาซื้อเยอะแยะ ถ้าคนทำสื่อสนใจแต่เรื่องเรตติ้ง ไม่สนเลยว่าเชิญเขามาแล้วจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร จะไปสร้างค่านิยมอะไร ส่งผลต่อพฤติกรรมของใคร ลืมหลักการแห่งจรรยาบรรณ คิดถึงแต่รายได้ รับรองได้ว่าคนผิดก็จะได้รับพื้นที่บนสื่อต่อไปอีกเรื่อยๆ”
ต้องอย่าลืมว่าสื่อมีอิทธิพลต่อความคิดคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ทั้งสื่อโซเชียลมีเดีย โทรทัศน์ก็มีกันทุกบ้าน นายแพทย์กัมปนาทยืนยันจากหลายๆ ผลการวิจัยว่า ทุกวันนี้คนเข้าถึงข้อมูลได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ต่างจากเมื่อก่อนที่ได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น “มันเป็นความรับผิดชอบของสื่อเลยล่ะว่าถ้าจะนำเสนอคนที่หมิ่นเหม่หรือมีความเสี่ยงต่อผลกระทบในสังคม คุณต้องคิดให้เยอะ ซึ่งรายการบอก 9 เล่าสิบนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาคิดแล้วหรือยัง”
ยังมี “โอกาส” กลับตัว?
ให้คุณหมอลองวิเคราะห์จากคำให้สัมภาษณ์ของนาธานที่บอกไว้ว่า ที่ผ่านมาจำเป็นต้องโกหกเพราะคนรอบข้างและเป็นเพราะตัวเองเป็นคนมองโลกในแง่ดีเกินไป เลยทำให้เกิดปัญหา จิตแพทย์ชื่อดังได้แต่ถอนหายใจแล้วตอบว่า “หมอไม่เข้าใจเหตุผลเท่าไหร่ เป็นคนมองโลกในแง่ดีเกินไปแล้วยังไง เลยทำให้ต้องโกหก โกงคนอื่นได้งั้นหรือ สิ่งที่เขาพูดมามันไม่มีเหตุผลรองรับ ถ้าจะบอกว่าสาเหตุที่เขาต้องทำเป็นเพราะคนอื่น เพราะสถานการณ์บีบบังคับ ก็คิดดูเถอะครับ โดนศาลตัดสินขนาดนี้ ยังจะกล่าวโทษคนอื่นอีก หลักฐานก็เห็นกันโต้งๆ หมอว่าแบบนี้คงยังไม่ได้รู้สึกสำนึกผิดจริงๆ เท่าไหร่
กรณีอื่นก็มีเหมือนกัน ติดคุกแล้วออกมาเขียนหนังสือ เล่าความชั่วของตัวเอง บอกว่าสำนึกแล้ว คนก็ยกย่องกันใหญ่ว่าสำนึกแล้ว พอหมอเอาหนังสือมาอ่านดู ไม่เห็นว่าจะมีประโยคไหนบอกว่าสำนึกเลยสักบรรทัดเดียว มีแต่โทษคนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะพวกนักการเมืองแหละตัวดี อ้างว่าต้องทำเพราะต้องกินกันตามน้ำ ก็ต้องพิจารณาดูครับว่าถ้าโตขนาดนี้แล้ว เรียนหนังสือจบมีงานทำแล้วคิดไม่ได้ ก็อย่าไปโทษใครเลย และถ้าคนยังเชื่อคำพูดเหล่านี้อีก ก็แสดงว่าคุณยอมให้เขามาหลอกคุณได้แล้วล่ะ”
ถามว่าวงการบันเทิงควรให้ “โอกาส” สำหรับคนทำผิดอย่างไร คุณหมอบอกว่าต้องดูเป็นกรณีๆ ไป “ย้อนกลับไปที่คุณแหม่ม-คัทลียา หมอก็ยังมองว่าเราอย่าไปใจร้ายกับเขาเลย ผู้หญิงท้องเลยต้องโกหก มันเป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่เรื่องของนาธาน ตามความเห็นหมอ หมอว่าเขาไม่น่าเห็นใจ คุณทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แถมยังวางแผนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นขั้นเป็นตอน คุณทำให้คนเดือดร้อนเยอะมาก ขนาดแม่บุญธรรมเขายังหลอกได้เลย แล้วที่เหลือล่ะ”
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “บอก 9 เล่าสิบ” จะชี้อนาคตในวงการของนาธานในครั้งนี้ได้ทั้งหมด เพราะรายการนี้อาจเป็นสื่อเดียวที่ยอมให้พื้นที่ ถ้าสื่ออื่นไม่เห็นด้วย ไม่เล่นประเด็นตาม ก็คงเป็นไปได้ยากที่นาธานจะกลับมายืนผงาดในวงการได้เหมือนเดิม เพราะน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ สุดท้ายก็อยู่ในวงการไม่ได้อยู่ดี
นักวิเคราะห์สื่อสารมวลชนฝีปากจัดช่วยยืนยันอีกแรงว่า ตัวตัดสินโอกาสของคนในวงการว่าจะอยู่รอดต่อไปได้ไหม ไม่ใช่แค่พื้นที่สื่อ แต่คือพื้นที่ในการทำงานต่างหาก “ถ้ารู้ว่าเขาทำผิดแล้วผู้กำกับยังเชิญมาให้เล่นละครอยู่ หรือค่ายเพลงยังเปิดโอกาสให้ออกแผ่น อันนี้ก็ต้องลองพิจารณาดู ซึ่งถ้าจะพูดถึงประเด็นนี้ ส่วนตัวแล้วยกย่องอาร์เอสนะที่เคยลงโทษฟิล์ม(รัฐภูมิ) ให้หยุดงานจนพิสูจน์ตัวเองได้
ส่วนนาธานกับฮาร์เวิร์ด อาจจะมีบทเรียนจากคุกจากคดี ให้ได้สำนึกตัว พอกลับมาแล้ว สังคมให้โอกาสรับฟังคำแก้ตัวของคุณแล้วและถ้ายังทำตัวเหมือนเดิม ติดคุกทางกฎหมายคงไม่พอ อาจจะต้องอยู่ในคุกสังคมไปอีกสักหน่อย รอให้ประชาชนพิพากษา”
ผิดกี่ครั้ง หมดเขตให้อภัย?
ดร.เสรี ตอบทันทีว่า “คนเรา ทำผิดเรื่องเดียวกัน 3 ครั้งก็เกินพอแล้ว ครั้งที่ 1 คือเตือนแล้วนะ อย่าทำอีก พอครั้งที่ 2 อ้าว! ทำไมยังทำอีกล่ะ ไหนบอกไม่ทำแล้วไง พอครั้งที่ 3 พอแล้ว ไปเหอะ! แล้วลองมานับดู นาธานนี่มันเกิน 3 มาตั้งหลายหนแล้วนะ (หัวเราะ) ไม่ควรได้รับโอกาสแล้วด้วยซ้ำ ส่วนฮาร์เวิร์ดก็เหมือนกัน เรื่องบังคับทำแท้ง เรื่องทุบตี เสพยา มันก็หลายหนเกินไปแล้ว”
นึกสงสัยว่าคนที่ทำผิดซ้ำๆ แบบไม่รู้จักเข็ดนี่ ถือเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่งหรือเปล่า ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการทางจิตจึงช่วยอธิบายให้ฟังว่าเรื่องพวกนี้เรียกว่าเป็นปัญหาบุคลิกภาพ “อันนี้เป็นศัพท์ทางการแพทย์นะ แต่สำหรับศัพท์ชาวบ้านที่รู้กันก็คือคำว่า “สันดาน” นั่นแหละ ไม่ได้อยากจะให้หยาบนะ แต่น่าจะเป็นคำที่เข้าใจได้ง่ายสุดและตรงสุดแล้ว อย่างที่เขาพูดกัน สันดอนขุดได้ แต่สันดานขุดยาก
ถ้าคนคนนั้นเป็นเด็ก ก่อนอายุสัก 18 แล้วมีพฤติกรรมแย่ๆ ชอบขโมย ขี้โกหก ก้าวร้าว ก็อาจจะยังแก้ได้โดยการพาเขามาปรับปรุงนิสัย แต่ถ้าคนที่โตแล้ว อายุ 18-20 ขึ้นไป ความหวังมันค่อนข้างเลือนราง
เพราะเรื่องแบบนี้มันเกี่ยวกับ Moral Development หรือพัฒนาการทางด้านจริยธรรมของคน เมื่อพัฒนาการเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็เหมือนต้นไม้ที่หยั่งรากลึกไปแล้ว เราไปจัดการอะไรไม่ได้แล้ว ถ้าจะปั้นอะไรสักอย่างเพิ่มเข้าไปตอนนี้ก็ยากแล้ว เพราะดินเก่ามันถูกปั้นมานานจนแห้งไปหมดแล้ว เราจะเอาน้ำไปพรมแล้วมาปั้นใหม่ มันเป็นไปไม่ได้”
แม้แต่การโดนสังคมแบนหรือเข้ารับโทษในคุก ก็อาจไม่สามารถทำให้คนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามีจิตสำนึกขึ้นมาได้ ถ้าทำได้ ก็คงเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น “คนที่ดีขึ้นได้ อาจจะเป็นคนที่ทำผิดครั้งแรก ไม่ใช่เป็นคนที่เลวโดยกมลสันดานจริงๆ พลาดไป มีความจำเป็นจริงๆ เช่น บ้านจนมาก ต้องไปขโมยของให้ลูก แบบนี้ส่วนใหญ่แก้ไขได้
แต่พวกที่ทำซ้ำๆ บ่อยๆ พฤติกรรมเดิม ถ้าบอกว่าคนพวกนี้ไม่ได้เลวหรอก แค่พลาดไป ใครเขาจะเชื่อล่ะ แล้วถามว่าจะกลับมาเป็นคนดีได้ไหม หมอว่าตัวตนข้างในอาจจะแก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าเขาอยู่ในสังคมที่มีแรงกดดัน ทุกคนคอยจับตามองเขา ทุกคนไม่ยุ่งเกี่ยวกับเขาเรื่องเงินทองอีก คุณมาทำงาน คุณรับผิดชอบ ทำงานได้เงินแล้วจบ ก็อาจจะเป็นไปได้
แต่ถ้าตอนนี้ใครจะกลับตัวกลับใจ หมอก็เห็นดีด้วยนะ แต่ถ้าคุณจะมาพูดอย่างเดียวมันคงไม่ได้ คุณต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วย เพราะบางคนทำดีได้ปีหนึ่งแล้วกลับมาแย่อีกก็มี ของแบบนี้มันต้องดูกันนานๆ พอสมควรเลย แต่ถามว่านานแค่ไหน ตอบไม่ได้
ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่คุณเคยทำมา ถ้าคุณเคยมีพฤติกรรมฉ้อฉลคนมาเป็นสิบๆ ปี แล้วให้รอดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงแค่ปีเดียว หมอยังไม่ให้เครดิตหรอก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ให้โอกาสนะ เราให้โอกาสคนเสมอ แต่สำหรับคนทั่วไป เราอาจจะเฉยๆ ไม่ค่อยเข้มงวด แต่กับคนที่มีคดี หมอคิดว่าทุกคนต้องเข้มงวดกับเขา” นายแพทย์กัมปนาทปิดท้าย
จิตสำนึกที่หลงเหลืออยู่
“อย่าเป็นคนความจำสั้น ลืมง่าย ควรจะจำไว้ว่าใครเคยทำผิดอะไร แต่ถ้าเขาสำนึกแล้วก็ให้โอกาสเขา อาการสำนึกคืออะไร คือการออกมาขอโทษ ออกมารับโทษ การไม่หนีโทษ” ดร.เสรี ฝากวิธีรับมือกับบุคคลที่ทำผิดซ้ำๆ และขอโอกาสจากสังคมเอาไว้
แต่ถ้าลองวิเคราะห์จากมุมมองจิตแพทย์แล้ว คำตอบเรื่อง “จิตสำนึก” ดูจะซับซ้อนอยู่มาก แม้แต่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาเป็นสิบปี บางทียังดูกันไม่ออกเลย ถ้าไม่ได้ศึกษากันอย่างถึงแก่นจริงๆ แต่มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนเลยว่า คนคนนั้นยังไม่สำนึก นั่นก็คือการโทษคนอื่น
“เห็นบ่อยเหมือนกันนะคนที่ออกมาร้องปาวๆ ด่ากันอยู่ทุกวัน โยนความผิดให้คนโน้นทีคนนี้ที คนพวกนี้ถือว่ามีสันดานโจร ทำผิดแล้วนิสัยเสียไม่ยอมรับ จะมีลักษณะกลไกทางจิตเป็นแบบ Projection ครับ แปลตรงตัวคือพฤติกรรมการพุ่งออกไปจากตัวเอง หรือกล่าวโทษคนอื่นก่อน ส่วนพฤติกรรมที่ตามมาคือหลอกตัวเองและหลอกคนอื่น จะพูดกรอกหูทุกวันๆ ว่าฉันไม่ได้ทำ พอป้อนข้อมูลใส่หัวตัวเองไปแบบนั้น สุดท้ายก็คิดว่าตัวเองไม่ผิดจริงๆ
ยกเหตุผลมาอ้างได้หมด โดยเฉพาะพวกฉลาดมากๆ เรียกว่า Intellectualization จะยิ่งคิดแผนได้ซับซ้อน สามารถโต้เถียงได้ค่อนข้างแนบเนียน เป็นเรื่องเป็นราว จับผิดแทบไม่ได้เลย แต่หมอชอบเรียกโรคนี้ว่าโรคเวรกรรม เพราะในที่สุดแล้ว การดิ้นไปดิ้นมาของเขานั่นแหละจะพันรัดตัวเขาเอง คนที่โกหกเนี่ย ยิ่งโกหกมากเข้า เรื่องก็จะยิ่งซับซ้อน แต่ถ้าคนที่พูดตามความจริงที่เกิดขึ้น มันไม่ซับซ้อนและไม่มีทางหลงอยู่แล้ว แต่คนที่โกหก ต้องหาตัวละครมารองรับ พอมากเข้ามาพันตัวเอง เป็นกฎแห่งกรรม ถูกจับได้ในที่สุด”
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ขอให้ทุกคนอย่าเพิ่งสร้างอคติกับใครในทันที ให้ลองดูก่อนว่าเขาพูดจายังไง มีข้อคิดอะไรให้บ้าง “หมอคิดว่าคนไทยเราก็ไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำ ต้องให้ตายไปจากวงการ ไม่ต้องทำมาหากินอีกแล้ว คงไม่แย่ขนาดนั้น เพียงแต่ดูแล้วก็ต้องกลับมาคิด ดูแล้วรู้สึกยังไง ถ้าคุณแอนตี้ก็เป็นสิทธิ์ของคุณนะ แต่ก็อย่าไปเคียดแค้นชิงชังกันอะไรมากมาย เขาอาจจะกลับเนื้อกลับตัวจริงๆ แล้วก็ได้ ซึ่งก็ถือเป็นบุญอันใหญ่หลวงในชีวิตของเขา แต่ถ้าไม่ เราคงไปทำอะไรเขาไม่ได้ ถึงจะได้ออกหรือไม่ได้ออกสื่อ ถ้าคนมันไม่ดีก็คงจะยังทำชั่วต่อไปและคงจะได้รับกรรมของเขาเอง
คือเราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเป็นคนดีเลิศ พูดจาแสนดี แต่สุดท้ายก็ขี้โกงเหมือนเดิม เอาเป็นว่ารอดูไปแล้วกันครับ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาอีก ก็ดูว่าเขามีเหตุผลรองรับการกระทำเพียงพอไหม หรือถ้าใครไม่อยากลำบากใจ ก็เลิกยุ่งกับเขาเถอะ ง่ายที่สุด”
กลับมาที่นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนอย่าง ดร.เสรี บ้าง ในฐานะที่ออกตัวว่าอดรนทนไม่ค่อยไหวกับการที่สื่อมอบพื้นที่ให้คนทำผิดซ้ำซากได้ออกมาแก้ต่างแก้ตัว ถามว่าถ้าวันนั้น ได้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรสัมภาษณ์นาธานแทน “มดดำ” จะทำอย่างไร? อาจารย์ตอบแบบแทบไม่ต้องเสียเวลาคิด บอกจะพูดปิดท้ายรายการว่า “ทุกคนก็พิจารณาดูนะคะ เขาพูดมาอย่างนี้แล้ว เราควรจะสนับสนุนเขาอยู่อีกหรือไม่อย่างไร เชื่อว่าท่านทั้งหลายคงมีวิจารณญาณ”
แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นเชิญฮาร์เวิร์ดมาออกรายการบ้างล่ะ? อาจารย์ก็ยังคงให้คำตอบได้อย่างรวดเร็วทันใจเช่นเดิม “ท่านผู้ชมก็ดูเอานะคะ เขาก็ทำผิดมาหลายครั้งหลายคราแล้ว เพราะฉะนั้น จะยกโทษให้เขาดีหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดเราเป็นนายจ้าง เป็นผู้กำกับ คิดว่ายังควรสนับสนุนให้เขาได้มีงานกับเราอีกไหม จบ”
---ล้อมกรอบ---
อดีตลวงๆ ของ “นาธาน”
พ.ศ.2551 (ก.ย.) บอกว่าได้แสดงหนังฮอลลีวูดเรื่อง Red Shoe ร่วมกับ บรูซ วิลลิส และ คริสตินา ริชชี ค่าตัวกว่า 100 ล้านบาท
พ.ศ.2552 (ก.ค.) ถูก “เจเจ จามจุรี จูลี่ แคสเชอร์” ดีเจคลื่น EASY FM 105.5 หุ้นส่วนร้าน JAMAREE YAK CAFÉ GALLERY เข้าแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาฉ้อโกงเงินร้าน เอาเงินซื้อเต๊นท์ไปจ่ายหนี้
พ.ศ.2553 (มี.ค.) ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ข้อหาฉ้อโกงเงิน “สิทธิพร โคตรอุดมพร” หรือ “น้ามด” ผู้เป็นแม่บ้าน เป็นจำนวน 7 แสนกว่า
บอกว่าถือสัญชาติไทย-เนปาล ทั้งที่ความจริง มีสัญชาติไทยแท้ๆ เดิมชื่อ ธัญญวัฒน์ หยุ่นตระกูล เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2519 แต่เปลี่ยนชื่อเป็น นธัญ โอมานันท์ (ข้อมูลจากรายการโต๊ะข่าวบันเทิง)
บอกว่าพูดได้ 5 ภาษา ฝรั่งเศษ เนปาล รัสเซีย อังกฤษ และ ไทย แต่สังคมก็ยังคลางแคลงใจอยู่
มีข่าวว่าโกงเงิน “น้องอ้อม เด็กดักแด้” แต่ไม่มีหลักฐานมัดตัว
รวมถึงคดีฉ้อโกงอื่นๆ ที่มีโจทย์ยื่นฟ้องยาวเป็นหางว่าว แต่ยังไม่มีบทพิสูจน์แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของลูกทัวร์, น.ส.อรทัย ยิ้มละม้าย สาววัย 27 อดีตพนักงานบัญชีโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ถูกลวงว่าจะฝากให้ทำงานที่ ททท. หรือกรณีของช่างทำผมชื่อ “ชาย” ที่ถูกหลอกว่าจะซื้อตั๋วไปทัวร์เมืองจีนให้ในราคาถูก
อดีตเละๆ ของ “ฮาร์เวิร์ด”
พ.ศ.2552 ถูกจับในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น
พ.ศ.2546 มีข่าวว่าเกี่ยวข้องกับการเสพกัญชา
พ.ศ.2554 (ส.ค.) ถูกจับกุมในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครอง
พ.ศ.2554 (ก.ย.) ถูกแจ้งจับในข้อหาทำร้ายร่างกาย "หมวย แม็กซิม" หรือ "พิลาวรรณ อารีรอบ" จนเยื่อแก้วหูขาด
พ.ศ.2555 ออกมายอมรับว่าเป็นคนพาหมวยไปทำแท้ง
พ.ศ.2555 (เม.ย.) ถูกจับกุมข้อหามั่วสุมเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ยาไอซ์) ร่วมกับกลุ่มเพื่อนสาวประเภทสอง
พ.ศ.2556 (เม.ย.) ทะเลาะกับ “เอมี่ แม็กซิม” แฟนสาว จนถูกทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ขึ้นบัญชีดำเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าในราชอาณาจักรไทย
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลับมาทำไม ฉันลืม "นาธาน" ไปหมดแล้ว โดย วัฒนะชัย ยะนินทร
“นาธาน” บอกเอง คงต้องโกหกต่อไป
สาวแม็กซิมแจ้งความ"ฮาร์เวิร์ด หวัง"บุกบ้าน
ตร.ค้านประกัน “ฮาเวิร์ด หวัง”-“เอมี่” ขึ้น สน.โผกอด นัดแจงบ่าย 2 วันนี้