หลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่ากรุงเทพมหานครได้รับการแต่งตั้งจากยูเนสโกให้เป็นเมืองหนังสือโลกแล้ว !!
หลังจากเมื่อ 2 ปีก่อนกรุงเทพมหานครผุดไอเดียที่ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลกขึ้น แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่า คนไทยนั้นมีสถิติการอ่านหนังสือที่น้อยเสียจนน่าตกใจ
อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินนโยบายผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายเหล่านั้นเต็มไปด้วยความฉาบฉวย ดูถูกคนไทย แต่น่าแปลกที่ท้ายที่สุด กรุงเทพมหานครก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2556 หรือ world book capital โดยในวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก เป็นวันที่ยูเนสโกจะทำกิจกรรมเพื่อให้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งเมืองหนังสือโลกซึ่งก็คือกรุงเทพมหานครอีกด้วย
หากทว่าในความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ แล้ว เราได้อยู่ในเมืองหนังสือโลกจริงๆ แล้วหรือยัง?
อ่านกันสนั่นเมือง !
หลังจากที่กรุงเทพฯได้รับตำแหน่ง เมืองหนังสือโลก 2556 โดยประกาศก่อนแต่งตั้งถึง 2 ปี
นโยบายมากมายได้ถูกดำเนิน ทั้งการประชุมภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่านเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย
คนกรุงเทพฯ ได้เห็นหนังสือวางอยู่ในชั้นหนังสือบนรถประจำทาง ได้เห็นทูตแห่งการอ่านซึ่งไม่เคยมีมาก่อน มีการมอบรางวัลให้กับพื้นที่อ่านหนังสือในกรุงเทพฯ ซึ่งโดยมากเป็นร้านกาแฟ นอกจากนี้ยังได้เห็นโฆษณาส่งเสริมการอ่านที่หลายคนวิจารณ์ว่า แค่หยิบมา(ทำท่า) อ่านก็ฉลาดแล้ว
แล้วอยู่ๆ ก็มีผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่า คนไทยอ่านหนังสือติดอันดับโลก! โดยระบุว่า การอ่านจากอินเทอร์เน็ตและหนังสือทุกประเภท คนไทยมีสถิติการอ่านหนังสือร้อยละ 96 กรุงเทพฯ มีอัตราคนอ่านหนังสือมากที่สุดในประเทศคือร้อยละ 89.3 นอกจากนี้ประเทศไทยยังติดอันดับ 2 ของประเทศที่อ่านหนังสือมากที่สุดในโลก เป็นรองเพียงประเทศอินเดียเท่านั้น
จนกระทั่งใกล้ถึงช่วงรับตำแหน่ง กรุงเทพมหานครก็ทำการจัดมหกรรมการอ่านครั้งสำคัญในชื่อ กรุงเทพมหานคร เมืองหนังสือโลก 2556 โดยมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านมากมาย ตั้งแต่กิจกรรมอ่านลอยฟ้า(อ่านหนังสือบนพื้นที่สกายวอร์ก) พี่ชวนน้องอ่านกันสนั่นเมือง! จนถึงเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึกกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก และตักบาตรหนังสือกลางสนามหลวง
ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทำงานด้านการอ่าน ทั้งยังร่วมเป็น 1 ในภาคีส่งเสริมการอ่านเผยว่า สถานการณ์การอ่านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นมีผู้เข้าห้องสมุดเพิ่มขึ้น จากการที่มีกิจกรรมทั้งกับนักอ่านกับบรรณารักษ์มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาคือผู้คนยังเข้าหาห้องสมุดไม่มากเท่าที่ควร
“ที่ผ่านมาหลังจากได้เป็นเมืองหนังสือโลกแล้วเนี่ย ต้องบอกก่อนว่า กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่มีจุดให้คนอ่านหนังสือมากอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะตามห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดในความดูแลของกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ตามโรงเรียนหรือสถานศึกษา เราพอจะบอกได้ว่า เรายินดีให้บริการกับประชาชนเพื่อส่งเสริมการอ่านจริงๆ”
นอกจากนี้ในส่วนของหนังสือนั้น เธอก็ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีการจัดพิมพ์หนังสือมากขึ้นทุกปี ทำให้มีเนื้อหาหลากหลายลองรับความต้องการของผู้อ่าน
ทั้งนี้ กับปรากฏการณ์การอ่านของคนไทยที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนรู้สึกแปลกใจก็เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศไทยมีสถิติการอ่านหนังสือที่น้อยมาก อย่างที่พูดกันมาเสมอคือ อ่านกันเพียงปีละ 8 บรรทัด แต่แน่นอนว่าหลายคนไม่เห็นด้วยกับสถิติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังคงมีข้อมูลออกมาอย่างต่อเนื่องที่บอกว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อย
ไม่ว่าจะเป็น ผลการประเมินขององค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการ PISA (programme for international student assessmrnt) ที่เทียบระหว่างปี 2000 กับ 2006 พบว่า คนไทยอ่านหนังสือลดน้อยถอยลง สอดคล้องกับผลการวิจัยของยูเนสโกที่เผยว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยลงจากเฉลี่ยปีละ 8 บรรทัด เหลือเพียง 4 บรรทัดเท่านั้น โดยมีสาเหตุมาจากเทคโนโลยี อย่างการอ่านข้อความสั้นๆ ในทวีตเตอร์ หรือเฟสบุ๊ค อ่านเพียงพาดหัวข่าวแต่ไม่อ่านเนื้อ
ยังไงก็ไม่อ่าน
ข้อสังเกตหนึ่งที่ถูกตั้งขึ้นเบื้องหลังงานเฉลิมฉลองของตำแหน่งเมืองหนังสือโลกก็คือ มันเป็นเพียงแค่รางวัลปลอบใจ หรือวิธีขอคืนดีรูปแบบหนึ่งที่องค์การใหญ่เลือกใช้ ซึ่งรศ.ดร.วิวัฒน์ มุ่งการดีอดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ เพราะเหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในองค์กรระดับโลกอื่นๆ ที่หวังจะเอาใจหรือชดเชยความรู้สึกให้แก่คนในประเทศนั้น
ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการรางวัลโนเบลก็เคยมีความคิดจะมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพให้แก่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกาทั้งที่ยังไม่เคยทำอะไร
“กรณีนี้มันมองได้ว่าอาจจะเกี่ยวกับการเมืองเพราะเขาอาจจะต้องเอาใจเลี้ยงดูเราหน่อย หมายความว่าต้องทำอะไรชดเชย เพราะยูเนสโกเคยทำให้เราผิดหวังที่เขาไม่ได้ฟังฝ่ายไทยในเรื่องอื่น มันมีเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศอยู่บ้างเป็นธรรมดา”
ทั้งนี้ การจะไปสรุปว่านี่เป็นเกมการเมืองขององค์การยูเนสโกที่มีต่อไทย ก็คงจะไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้ก็สามารถตั้งสมมติฐานได้อีกหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นองค์การยูเนสโกอาจจะเตรียมตำแหน่งให้แก่ไทยอยู่แล้ว แต่ประจวบเข้ากับเรื่องมรดกโลกพอดี เพราะฉะนั้นคงต้องดูบริบทแวดล้อมให้แน่นอนด้วย
“ผมว่า ยูเนสโกเองก็คงจะต้องมองว่าบ้านเรามีอะไรดี มีอะไรที่พอที่จะให้เราได้บ้าง ถ้ามันพร้อมเขาก็คงจะเลือกให้ในสิ่งนั้น เพราะเอาเข้าจริงหนังสือในบ้านเรานั้นมันมีอยู่มาก ถ้าจะเป็นเมืองหนังสือก็คงจะพอได้ แต่คนอ่านนั้นผมไม่แน่ใจว่าเขาจะอ่านกันมากพอไหม”
ในส่วนต้นต่อของปัญหานั้น วันชัย ตันติวิทยาพิทัก ผู้ก่อตั้งนิตยสารสารคดี เคยเขียนในข้อเขียนถึงต้นต่อปัญหาการอ่านในสังคมไทยว่า วัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยนั้นเริ่มขึ้นร้อยกว่าปี โดยตอนแรกยังจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง คนไทยทั่วไปได้อ่านหนังสือน้อยมาก ความรู้ ความคิด ความอ่านจึงมาจากฟังพระเทศน์เป็นสำคัญ
ขณะที่ความบันเทิงมาจากการดูมหรสพ ลิเก มากกว่าการอ่านนิยาย จากการฟังในอดีต คนไทยเริ่มสนใจการอ่านมากขึ้น วัฒนธรรมการอ่านของคนไทยถือว่ายังเริ่มตั้งไข่ไม่แข็งแรงมาก แต่แล้วก็เกิดอุปสรรคสำคัญมาแย่งการอ่านไปจากคนไทย นั่นคือ การเข้ามาของโทรทัศน์ ทำให้คนไทยก้าวจากการฟัง ไปสู่การอ่านได้ไม่นานก็กระโดดไปดูทีวีมากที่สุด น่าสนใจว่าในเมืองนอกที่มีวัฒนธรรมการอ่านแข็งแรงและยืนนาน การเข้ามาของโทรทัศน์ได้แย่งชิงคนอ่านให้กลายเป็นคนดูพอสมควร แต่ไม่รุนแรงเท่ากับบ้านเราที่วัฒนธรรมการอ่านยังไม่แข็งแรง
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา นิ้วกลม มองว่าโลกที่เปลี่ยนไปอาจทำให้คนอ่านกันสั้นลงมากขึ้น
“ผมว่าอีกหน่อยโลกน่าจะหมุนไปสู่จุดที่เราอ่านกันสั้นลง ผมไม่รู้ว่าน้อยลงหรือเปล่า อาจจะอ่านเยอะขึ้นก็ได้ แต่ว่าสั้นลง ต่อไปอาจจะไม่มีหนังสือหนา 1,200 หน้าแล้วก็ได้ ในอนาคตหนังสือจะเปลี่ยนไปเป็นสื่อมัลติมีเดียมากขึ้นไม่แน่ใจว่าคนจะมีสมาธิกับความเงียบน้อยลง สมาธิสั้นลงหรือเปล่า”
ขณะที่ทางด้านของ อนุสรณ์ ติปยานนท์นักเขียนเจ้าของสมญา มูราคามิเมืองไทย มองว่ามันเป็นเพราะสังคมปัจจุบันไม่ต้องการพึ่งความคิดจากนักคิดนักเขียนมากเท่าเดิมอีกต่อไปแล้ว
“ผมว่าเป็นเพราะตัวคนอ่านไม่ได้มานั่งเรียกร้องให้ผู้เขียนต้องทำหน้าที่ย่อยความคิดยากๆ ให้แก่เขาเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว พอไม่เกิดการเรียกร้อง คนเลยไม่ได้มีความคิดอยากจะอ่านจริงๆและอีกหนึ่งปัญหาที่เห็นอยู่ตอนนี้คือภาวะทุนนิยมที่เคลื่อนที่เข้ามาจำนวนมาก ทำให้หลายๆ อย่างเปลี่ยนไป รวมถึงพฤติกรรมการอ่านของคนในสังคมด้วย”
อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยมองถึงสาเหตุปัญหาการอ่านว่า ตอนนี้คนอาจจะยังไม่ชินกับวัฒนธรรมการอ่าน
“ในส่วนการทำงาน การทำให้มีจุดอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น เราก็พยายามทำกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นปัญหาอาจอยู่ที่คนอ่านซึ่งยังไม่ได้ลองเข้าไปตามห้องสมุด และลองได้อ่านหนังสือเหล่านั้นดู สิ่งนี้เราจำเป็นต้องทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมดังนั้นเราต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่างานนี้หมดไปแล้วจะเลิกกันไป”
…
หลายสาเหตุเหล่านี้ทำให้เห็นถึงแง่มุมของปัญหาการเป็นเมืองหนังสือโลกที่แท้จริงของกรุงเทพฯ แม้ว่าวันนี้เราจะได้ชื่อตำแหน่งเมืองหนังสือโลก 2556 มาอย่างสมภาคภูมิแล้ว แต่หากลองถามตัวเองดู มาถึงตอนนี้เหล่าคนกรุงเทพฯ ได้อยู่ในเมืองหนังสือโลกแล้วหรือยัง?
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live