xs
xsm
sm
md
lg

หลายห้วงคำนึงถึง “เขาพระวิหาร” หรือคนไทยเลิกรักชาติแล้ว??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากความขัดแย้งกรณี “เขาพระวิหาร” ระหว่างไทย - กัมพูชา ที่มีมาอย่างช้านานนับตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ความขัดแย้งเข้าสู่ช่วงใกล้ปะทุ เมื่อศาลโลกกำลังพิจารณาคำร้องของกัมพูชาในส่วนของพื้นที่เขตแดน
 
ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งบนพื้นที่พรมแดนเหล่านั้น มีหลายท่วงทำนอง หลายห้วงความคิดบรรจุทั้งนัยทางการเมือง ความคิดของสังคม สะท้อนภาพเหตุการณ์ความสัมพันธ์บนเขตแดนปัญหาเหล่านั้นไว้มากมาย

จนถึงตอนนี้บทเพลงแห่งความคิดยังคงได้รับการเอ่ยถึง หากแต่สุ้มเสียงเหล่านั้นได้ขับเคลื่อนไปสู่สังคมหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความเป็นไปในสังคมปัจจุบันอย่างไรบ้าง?

หลากทำนองคิดสะท้อนความเป็นไปของสังคม

ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นความขัดแย้งกรณี เขาพระวิหารคงต้องย้อนกลับไปที่ช่วงการพิจารณาของศาลโลกครั้งแรก ที่ตัดสินให้ประเทศกัมพูชาได้รับอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารในช่วงปีพ.ศ. 2505 ในช่วงนั้นแน่นอนว่าเต็มไปด้วยความไม่เห็นด้วยของสังคมไทย สิ่งที่รายล้อมความคิดเหล่าที่ชิ้นงานยุคนั้น

โดยเริ่มตั้งแต่บทกลอนที่เขียนโดย ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมท ในช่วงปี พ.ศ. 2502 เป็นบทกลอนที่แสดงความคิดเห็นชัดเจนในเรื่องข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยวางผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2502

"สัปดาห์นี้มีเรื่องความเมืองใหญ่ ไทยถูกฟ้องขับไล่ขึ้นโรงศาล
เคยเป็นเรื่องโต้เถียงกันมานาน ที่ยอดเขาพระวิหารรู้ทั่วกัน
กะลาครอบมานานโบราณว่า พอแลเห็นท้องฟ้าก็หุนหัน
คิดว่าตนนั้นใหญ่ใครไม่ทัน ทำกำเริบเสิบสานทุกอย่างไป
อันคนไทยนั้นสุภาพไม่หยาบหยาม เห็นใครหย่อนอ่อนความก็ยกให้
ถึงล่วงเกินพลาดพลั้งยังอภัย ด้วยเห็นใจว่ายังเยาว์เบาความคิด
เขียนบทความด่าตะบึงถึงหัวหู ไทยก็ยังนิ่งอยู่ไม่ถือผิด
สั่งถอนทูตเอิกเกริกเลิกเป็นมิตร แล้วกลับติดตามต่อขอคืนดี
ไทยก็อมตามใจไม่ดึงดื้อ เพราะไทยถือเขมรผองเหมือนน้องพี่
คิดตกลงปลงกันได้ด้วยไมตรี ถึงคราวนี้ใจเขมรแลเห็นกัน
หากไทยจำล้ำเลิกบ้างอ้างขอบเขต เมืองเขมรทั้งประเทศของใครนั่น?
ใครเล่าตั้งวงศ์กษัตริย์ปัจจุบัน องค์ด้วงนั้นคือใครที่ไหนมา?
เป็นเพียงเจ้าไม่มีศาลซมซานวิ่ง ได้แอบอิงอำนาจไทยจึงใหญ่กล้า
ทัพไทยช่วยปราบศัตรูกู้พารา สถาปนาจัดระบอบให้ครอบครอง
ได้เดชไทยไปคุ้มกะลาหัว จึงตั้งตัวขึ้นมาอย่างจองหอง
เป็นข้าขัณฑสีมาฝ่าละออง ส่งดอกไม้เงินทองตลอดมา
ไม่เหลียวดูโภไคยไอศวรรย์ ทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นหนักหนา
ฝีมือไทยแน่นักประจักษ์ตา เพราะทรงพระกรุณาประทานไป
มีพระคุณจุนเจือเหลือประมาณ ถึงลูกหลานกลับเนรคุณได้
สมกับคำโบราณท่านว่าไว้ อย่าไว้ใจเขมรเห็นจริงเอย...”
 
นอกจากนี้ยังมีบทเพลง เขาพระวิหารต้องเป็นของไทย ในปี 2503 แต่งคำร้องและทำนองโดย ป. ชื่นประโยชน์ และก้าน แก้วสุพรรณ ขับร้องโดย ก้าน แก้วสุพรรณ แม้จะมีทำนองตามแบบเพลงลูกกรุงที่จังหวะช้าในโทนเย็นสบายและเป็นที่นิยมของสมัยนั้น แต่ก็พูดเนื้อหาที่ชัดเจนของความรักชาติ ความเศร้าเสียใจที่มีต่อการรุกรานของกัมพูชา รวมไปถึงการชักชวนให้มีการบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนในการต่อสู้เพื่อชาติ ดังที่ปรากฏในเนื้อร้องช่วงท้ายของบทเพลงว่า

“ทุกคนชาวไทย มอบตัวมอบใจยอมตาย รุกรานเมื่อไร ต้องได้เห็นดีกัน ผมร้องเพลงนี้ อุทิศพลีเงินรายได้ ร่วมทุนสมทบชาติไทย ได้ปกป้องไว้ดินแดนเขตขันธ์”

ความขัดแย้งที่เบาบางลง

ในช่วงเวลาหลังจากความขัดแย้งรุนแรงที่ลงท้ายด้วยผลการตัดสินที่ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์นั้น นอกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ยังมีแง่มุมประเทศไทยกับกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันด้วย สะท้อนผ่านละครไทยเรื่อง เขมรินทร์ อินทิรา ที่ฉายในปี 2540สร้างจากบทประพันธ์ของ ก.สุรางคนางค์ โดยเป็นเรื่องราวความรักระหว่างครูสาวชาวไทยที่รับบทโดย คัทรียา อิงลิช และเจ้าชายกัมพูชาที่รับบทโดยศรัณยู วงศ์กระจ่าง ทั้งสองได้พบรักกันบนเขาพระวิหารนั่นเอง

นัยของละครเรื่องดังกล่าวมีการพูดถึงความขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในความสัมพันธ์ของพระ - นางในละครเรื่องดังกล่าว โดยในช่วงเวลาดังกล่าวละครไทยถือว่าเป็นที่นิยมในประเทศกัมพูชา นางเอกที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ กบ - สุวนันท์ คงยิ่ง

รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยวิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้สื่อบันเทิงไทยสามารถเข้าสู่ประเทศกัมพูชามาจากปัจจัยทางด้านการปกครอง โดยประเทศที่ปกครองหรือเคยปกครองในระบบสังคมนิยม สื่อโทรทัศน์มักจะมีลักษณะเป็นสื่อของรัฐค่อนข้างสูง ประกอบกับขาดวิธีคิดและเงินสนับสนุนที่เพียงพอ เนื่องจากอิทธิพลของสื่อโฆษณาเข้ามาได้อย่างจำกัด ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถผลิตรายการเองได้

หนทางที่คนประเทศเหล่านั้นจะสามารถเสพสื่อบันเทิงได้ง่ายที่สุดก็คือดึงสื่อสำเร็จรูปที่อยู่ในประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกันมาออกอากาศซ้ำในประเทศตัวเอง โดยอาจจะใช้วิธีพากย์เสียงทับลงไป ซึ่งที่ตามมาหลังผู้ชมได้เสพสื่อเหล่านี้อย่างต่อเนื่องหลายๆ ปีก็จะเริ่มติดนิสัยชอบรับสื่อจากประเทศเหล่านั้น

“ปัจจัยที่สำคัญมากๆ อย่างหนึ่งที่น่าจะทำให้สื่อไทยได้รับความนิยม น่าจะเป็นเพราะเรามีรากฐานทางวัฒนธรรมที่ใกล้เคียง อย่างกัมพูชา ลาว ไทย เราเรียกรวมๆ ว่าเป็นอุษาคเนย์ ดังนั้นเราจึงมีความสนใจร่วมกัน อย่างชีวิตครอบครัว ความเชื่อ แม่น้ำโขง นาค เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากเขาจะสามารถรับสื่อตรงนี้ได้ง่าย"


ท่วงทำนองที่ถูกมองข้าม

มาถึงช่วงปัจจุบัน ประเด็นเขาพระวิหารกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในส่วนของความเป็นอธิปไตยในเขตแดน ท่ามกลางความขัดแย้งในสังคมไทยของฝ่ายที่พยายามจะปกป้องเขตแดน กับฝ่ายที่มองว่าการปกป้องเขตแดนเป็นความคิดล้าหลัง

บทเพลงหนึ่งที่พูดถึงประเด็นนี้ท่ามกลางความขัดแย้งคือเพลง เขาพระวิหาร ของวงอินโดจีนซึ่งมีเนื้อหาพรรณนาถึงความเป็นไป รวมถึงแฝงนัยของความต้องการสันติภาพอยู่ โดยที่เนื้อเพลงนั้นมีทั้งภาษาไทยและภาษาเขมรอยู่ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เพลงที่พูดถึงสำนึกรักชาติ และปลุกกระแสการรับรู้ของคนในสังคมถึงประเด็นการสูญเสียผลประโยชน์ของชาติที่มีต่อกรณีนี้ก็ยังคงมีอยู่ โดยมีบทเพลงอย่าง ทวงคืนเขาพระวิหาร แต่งเนื้อร้องและทำนองโดย แมน สปริงเกอร์ และขับร้องโดย เดือนงาม พราวเวียงฟ้า สะท้อนความคิดเห็นอย่างชัดเจนผ่านท่อนสุดท้ายของบทเพลงที่ว่า

“เส้นแบ่งเขตไว้ เป้ยตาดี ไง! สุดสยามแดนดิน เคยปลิวไสว คือธงไทย บนปราสาทหิน เพื่อองค์ภูมินทร์ เอาแผ่นดินไทยคืนมา...”

นอกจากนี้ยังมีบทเพลงตามกระแสนิยมโดยนำเพลงฮิตอย่าง กังนัมสไตล์ มาแปลงเนื้อล้อเลียนในชื่อเพลงว่า ชายแดนสิตาย แต่งเนื้อร้องภาษาอีสานโดย แก่นฟ้า แสนเมืองและเรียบเรียงดนตรีโดยโอ๋ ฆราวาส มีการทำเอ็มวีตลกเสียดสีให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดในพื้นที่ชายแดนมีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์อย่างยูทิวบ์ มีเนื้อหาพูดถึงคนไทยในชายแดนระหว่างประเทศที่กำลังถูกกัมพูชายึดพื้นที่ทำกินโดยที่รัฐบาลไม่สนใจป้องกันประเทศเท่าที่ควร

“เขมร มาแล้วเด้ พวกเรามือเปล่า เขมรมีปืน มันแห่เข้ามา แล้วเด้ ผู้หลักผู้ใหญ่มุดหัวอยู่ไหนเขมรมันมา แล้วเด้ ไล่คนไทยออก เขมรแห่เข้า เหมือนยกให้เขา แล้วเด้ เสียดินแดน แล้วเด้” คือท่อนหนึ่งของเนื้อร้องที่สะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นอยู่ได้ดี

ทั้งนี้ รศ.ดร.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า สื่อในช่วงปี 2505 ที่ประเด็นนี้เริ่มเป็นที่พูดถึงครั้งแรก ถือว่ายังมีน้อยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ประกอบกับรัฐบาลยุคนั้นเป็นรัฐบาลทหาร ทำให้ประเด็นเขาพระวิหารที่ถูกพูดผ่านสื่อต่างๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และเข้าถึงผู้คนได้มาก

“สมัยก่อนสื่อมันมีแค่วิทยุและอยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ ดังนั้นกระแสเรื่องเขาพระวิหารจึงเป็นสิ่งที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย ทำให้ประชาชนตื่นตัวและสนใจต่อประเด็นที่สำคัญต่อประเทศได้ โดยที่รัฐบาลก็ให้สำคัญต่อสิ่งนี้ด้วย ดังนั้นผมมองว่า การสื่อสารในอดีตที่พูดถึงประเด็นเขาพระวิหารนั้น ไม่ว่าจะรูปแบบใด มันเข้าถึงประชาชน และส่งผลต่อสังคมได้มาก”

ทว่าเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน เขาเห็นว่า แม้ตนเองสนใจประเด็นเขาพระวิหารแต่ก็ยังไม่เคยได้ยินบทเพลงเหล่านั้น เขาวิเคราะห์บทเพลงเหล่านั้นอยู่ในสื่อรองที่ยังเข้าไม่ถึงคนหมู่มาก เพราะสื่อในปัจจุบันนั้นมีข้อมูลมากมายหลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้คนในสังคมเลือกที่จะเสพรับข้อมูลได้ตามความสนใจของตนเอง

“ในปัจจุบันมันไม่ได้เป็นกระแสหลัก ทำให้คนเข้าถึงได้ยาก เมื่อคนไม่ได้สนใจประเด็น รวมถึงรัฐบาลและสื่อหลักก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้พอที่จะกระตุ้นให้สังคมหันมาสนใจ เพลงที่พูดถึงประเด็นเขาพระวิหารจึงไม่ได้รับความสนใจพอที่จะขับเคลื่อนให้เกิดอะไรกับสังคมได้มากนัก”

อีกสิ่งที่เขาตั้งข้อสังเกตคือ ศิลปินในกระแสก็ไม่กล้าพูดถึงประเด็นนี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาเห็นว่า สำคัญและควรพูดถึงก็ตาม

“ศิลปินในยุคปัจจุบันก็กลัวว่าหากพูดถึงประเด็นนี้ขึ้นมาก็ถูกแบ่งฝั่งทางการเมือง ถูกมองว่าเป็นพวกคลั่งชาติทั้งที่เป็นเรื่องปกติที่คนในชาติควรจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติ”

…..

การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อในรูปแบบของความบันเทิงนั้นมีอยู่ในทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าประเด็นเขาพระวิหารจะเป็นเรื่องไกลตัวที่ดูเหมือนหลายคนจะหลงลืมความสำคัญของมันไป แต่บทเพลงที่แสดงความคิดเห็นอยู่อย่างเงียบๆ ในสังคมไทย แม้จะเป็นสุ้มเสียงที่เล็กน้อย แต่มันก็เต็มไปด้วยความหมายที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงของความรักที่มีต่อประเทศชาติ
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE 












ก้าน แก้วสุพรรณ ผู้ขับร้องเพลง เขาพระวิหารต้องเป็นของไทย
ละครเรื่อง เขมรินทร์ อินทิรา
แมน สปริงเกอร์
ภาพจากเอ็มวี ชายแดนสิตาย

กำลังโหลดความคิดเห็น