xs
xsm
sm
md
lg

ร้อนตับแตก! คนไทยใช้ไฟทุบสถิติปี 55 เลิกเถอะ..รณรงค์แบบไฟไหม้ฟาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางอากาศที่ร้อนตับแตก ไม่เพียงแต่พิษแดดจะทำคนตาย และป่วยไข้มากขึ้นแล้ว อากาศที่ร้อนเกือบทะลุปรอท ยังทำให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเมษาเดือดที่คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ประกอบกับในวันที่ 5-14 เม.ย.2556 เป็นช่วงที่พม่าปิดซ่อมท่อ และหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ อาจทำให้ไทยได้รับผลกระทบปัญหาไฟฟ้าดับหรือตกได้ในบางพื้นที่

แม้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาให้ความเชื่อมั่นว่า ไทยจะผ่านพ้นวิกฤติไฟฟ้าไปได้ บวกกับความตื่นตัวของรัฐบาลที่เร่งออกมารณรงค์ให้คนประหยัดพลังงานและกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องประหยัดพลังงานให้ได้ตามเป้า แต่คำถามคือ พอมีวิกฤตพลังงานทีนึงก็ออกมารณรงค์กันทีนึง และพอวิกฤตผ่านไป ทุกอย่างก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมอย่างนั้นหรือ?

ร้อนเป็นเหตุ คนไทยใช้ไฟฟ้าทุบสถิติปี 55

อากาศที่นับวันยิ่งร้อนขึ้นทุกที ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Lite ได้ทำการสำรวจการใช้ไฟฟ้าของคนไทย พบว่า ทุบสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2555 แล้ว โดยมีข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเปิดเผย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 เวลา 14.30 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค (Peak) อยู่ที่ 26,430 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติสูงสุดปี 2555 (26,121 เมกะวัตต์) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 ณ อุณหภูมิ 38.5 องศาเซลเซียส สาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 39.1 องศาเซลเซียส และคาดว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะพุ่งสูงถึง 27,000 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจริงจะอยู่ที่ 29,000 เมกะวัตต์

ไม่แปลกที่คนจะหนีร้อน และแห่ไปพึ่งแอร์เย็น ๆ ด้วยการพาครอบครัวไปเดินเที่ยวเล่นในศูนย์การค้าช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะอากาศข้างนอกร้อนอบอ้าวจนบางคนเกิดอาการวูบเพราะลมแดดก็มีให้เห็นอยู่หลายคน โดยเฉพาะบ้านที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศยิ่งร้อนหนักกว่าใครเพื่อน

ล่าสุดหลังจากเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีค ทำให้ กฟผ. ปรับการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ก๊าซธรรมชาติพม่าจะหยุดส่งให้ไทย ตั้งแต่วันที่ 5-14 เม.ย.56 ขึ้นมาใหม่ โดยในวันที่ 5 เมษายน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 300 เมกะวัตต์ เป็น 26,600 เมกะวัตต์ อุณหภูมิที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะไม่ส่งผลกระทบทำให้ไฟฟ้าดับ เนื่องจากขณะนี้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ขานรับจะผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 200 เมกะวัตต์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะลดการใช้ไฟฟ้าอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ และคาดหวังว่าภาคประชาชนจะลดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม ทำให้สำรองไฟฟ้าฉุกเฉินพร้อมใช้เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1,600 เมกะวัตต์

เลิกรณรงค์แบบไฟไหม้ฟางสักที!

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นแบบนี้ และคาดว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลายฝ่ายกังวลถึงสถานการณ์พลังงานของไทยที่กำลังเผชิญวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในอัตราที่สูงเกินไป หรือการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากเพื่อนบ้านมากเกินไป ทั้งจากพม่า และลาว โดยมีข้อมูลพบว่าไทยยังต้องเสียเงินนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี โดยปี 2555 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท แต่ดูเหมือนว่าภาครัฐยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หรือมี ก็แค่การตื่นตัวระยะสั้น ๆ พอมาถึงวิกฤตครั้งนี้ก็ออกมารณรงค์เหมือนไฟไหม้ฟางคล้ายกับครั้งที่ผ่าน ๆ มา

ไม่ว่าจะเป็นการสั่งลดการใช้ไฟฟ้าในหน่วยราชการลงร้อยละ 10 หรือการแต่งตัวให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุด โดยครั้งนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์นำทีมถอดสูท เปิดแอร์ 25 องศา รณรงค์ประหยัดไฟเพื่อแสดงความแข็งขันในการเป็นตัวอย่างของมาตรการประหยัดพลังงาน เพราะเกรงว่าจะเกิดวิกฤตพลังงานขาดแคลนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติมายังไทย

เรื่องนี้ มนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน สะท้อนผ่านทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ว่า การเติบโตทางด้านเทคโนโลยี และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ตลอดจนอากาศในปีนี้ที่ร้อนขึ้นมากกว่าปีผ่านมา ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา การรณรงค์ให้คนประหยัดไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ที่รณรงค์อยู่ก็เป็นเรื่องที่ดี และควรสนับสนุน

"พูดว่ารัฐบาลรณรงค์แบบไฟไหม้ฟางก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่เป็นอีเวนต์ที่รัฐบาลพยายามเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลคือ ความจริงจัง และต่อเนื่อง เช่น มีการบังคับเพื่อให้คนหันมาประหยัดพลังงาน อาทิ อาคารประหยัดพลังงาน ใช้หลอดไฟแบบหลอดประหยัด เป็นต้น" นักวิชาการด้านพลังงานเผย

อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านพลังงานท่านนี้ ฝากย้ำให้ภาครัฐกลับไปทบทวนเรื่องแผนการรณรงค์เรื่องประหยัดไฟฟ้าระยะยาว ไม่ใช่ในช่วงระยะสั้น หรือแค่ช่วงวิกฤตเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่าและประหยัดจนเป็นนิสัยต่อไป ไม่ใช่พอมีวิกฤตพลังงานทีนึงก็ออกมารณรงค์เรียกร้องกันทีนึง

โซลาร์เซลล์ในไทย ฝันที่ยังไปไม่ถึง

สถานการณ์ และความต้องการทางด้านพลังงานของประเทศ ปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กว่าร้อยละ 50 ของความต้องการนี้เราจำเป็นต้องมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งราคาทางด้านพลังงานที่นำเข้านี้ก็มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการจัดหาและการใช้พลังงานของประเทศ ดังนั้น การมีพลังงานทดแทนคือทางเลือกเพื่อทางรอด โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ และไฮโดรเจน เป็นพลังงานที่หลายประเทศเล็งเห็นความสำคัญ และใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

แต่เมื่อหันหลังกลับมาดูประเทศไทย นักวิชาการด้านพลังงานคนเดียวกัน มองว่า พลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ยังขาดการจัดการที่เหมาะสม และลงมือทำอย่างจริงจัง ทำให้ไทยยังไปไม่ถึงฝันในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับ ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการด้านพลังงานอีกหนึ่งท่าน พูดในประเด็นโซลาร์เซลล์ผ่านสื่อฉบับหนึ่งว่า ปัจจุบันราคาถูกลงมาก แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ศึกษาข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะที่ในแผนพลังงาน 10 ปีกำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2,000 เมกะวัตต์ และเอกชนก็ยื่นเข้าโครงการเต็มหมดแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกมากที่ประเทศไทยมีการกำหนดโควตาการผลิตโซลาร์เซลล์ไว้ด้วย

"ในประเทศอื่นๆ มีการสนับสนุนให้ผลิตยิ่งมากยิ่งดี แถมมีการจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคาบ้านมากกว่าการสนับสนุนให้เอกชนทำเป็นทุ่งโซลาร์ฟาร์ม รวมทั้งยังมีประเด็นว่าเหตุใดจึงไม่อุดหนุนชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าชีวภาพหรือชีวมวล เช่นเดียวกับที่เอกชนผลิตเพื่อให้ขายให้ภาครัฐดังนั้น หากจะส่งเสริมพลังงานทดแทนจริงจังก็ควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย"

ส่วนกระแสที่บอกว่า "แสงแดดในเมืองไทยมีความเข้มไม่พอที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้" ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ภาพแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าที่อยู่ริมทางรถไฟในสหภาพยุโรปบนเฟซบุ๊ก

เรื่องนี้มีผู้รู้ออกมาให้ความกระจ่างผ่านการเขียนบทความ "เขาว่าแสงแดดเมืองไทยไม่เข้มพอที่จะทำไฟฟ้าได้!" ที่ลงใน ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (วันที่ 17 มีนาคม 2556) ว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามประเทศไทยมีแสงแดดดีเป็นอันดับสองและสามของโลกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น คงต้องกลับมาดูที่นโยบายของรัฐบาลไทยว่าจะสนับสนุนอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน

แต่อย่างน้อย ๆ โครงการในพระราชดำริด้านพลังงานของในหลวงหลาย ๆ โครงการ ไม่เพียงการพระราชทานเป็นแนวพระราชดำริเท่านั้น พระองค์ทรงพระราชทานโครงการตัวอย่าง ผลการศึกษามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาพลังงานในปัจจุบัน

ถึงวันนี้ เรื่องอนาคตไฟฟ้าไทย ควรทำให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริงสักที ไม่ใช่รอให้เป็น "วาระ" ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรจะเป็นทั้งสังคม และลึกลงไปถึงประชาชน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live





กำลังโหลดความคิดเห็น