xs
xsm
sm
md
lg

แหกกรอบการเมืองเชยๆ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้สุดฤทธิ์ แบบ “สุหฤท สยามวาลา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม้ามืดนอกกระแสในศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ที่ติดเป็นหนึ่งในห้าอันดับของผู้สมัคร ทั้งๆ ที่ถือได้ว่าบุคคลผู้นี้ คนไทยหลายคนไม่รู้จัก หลายคนไม่เคยเห็นหน้าค่าตา ไม่รู้ประวัติความเป็นมา แต่ถ้าถามเด็กแนวในยุคนี้ ต้องรู้จักผู้ชายที่หลุดโลก แหกกรอบ โคตรแนว อย่าง “สุหฤท สยามวาลา” แน่นอน และเหตุผลที่เขาได้เข้าวินมาเป็นหนึ่งในตัวเต็งนั้นคงไม่ใช่เพราะความแนวอย่างเดียว แต่ลูกบ้า, กึ๋น ผสมกับความสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ของเขาก็ทำให้มานั่งอยู่ในใจคนกรุงเทพฯ ที่เบื่อการเมืองแบบเดิมๆ ได้อย่างสบายๆ

ลูกบ้าแบบสุหฤท

“กรุงเทพฯ สุดฤทธิ์ ร่วมกับสุหฤท สร้างเซอร์ไพรส์” แค่ได้ยินสโลแกนก็ต้องหันขวับกันด้วยความแปลกใจกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่แนวที่สุดอย่าง “สุหฤท สยามวาลา” ที่มาในแนวอนุรักษ์ งดป้ายหาเสียง ชูนโยบายหนึ่งโหลเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ พร้อมขอเดินล้านก้าวเพื่อจะได้เข้าถึงในทุกพื้นที่ ถึงแม้จะแปลก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะการหาเสียงแบบแหวกแนวก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งในยุคพล.ต.จำลอง ศรีเมือง สไตล์สมถะ หรือ สมัคร สุนทรเวช ที่ไม่ยอมเข้าร่วมดีเบตกับผู้สมัครรายอื่นๆ

ด้านวิธีการหาเสียงของสุหฤทนั้นจะมุ่งไปที่กลุ่มคนที่เคยงดออกเสียง ไม่ไปเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา เริ่มจากการหาเสียงผ่านทวิตเตอร์ เปิดให้พูดคุยสอบถามได้ และตั้งใจจะหาเสียงโดยใช้เงินน้อยที่สุดในโลกผ่านทางสื่อดิจิตอลและการแบ่งปันในสังคมออนไลน์เป็นหลัก และอีกสิ่งที่สุหฤทยืนยันว่าจะไม่ทำซ้ำแบบเหมือนคนอื่น คือไม่มีใครจะได้เห็นป้ายแผ่นใหญ่กว่าหลังคาบ้านที่มีคำว่า “สุหฤท สยามวาลา” ปรากฏอยู่ตระหง่าน ขวางทางเท้าระเกะระกะรกสายตาไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ เฉกเช่นผู้สมัครรายอื่นๆ ที่ทุ่มทุนงบมหาศาลถึงหลักล้านมาหาเสียง ส่วนสุหฤทเองนั้นเพิ่งชี้แจงไปเมื่อ 18 กุมภาฯ ที่ผ่านมาว่า ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงตอนนี้ใช้ไปเกือบ 7 แสนบาท ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเงินเก็บส่วนตัวของเขาเอง

นอกจากนั้นยังหาเสียงด้วยโครงการ “ออกเดิน 1 ล้านก้าวเพื่อเข้าถึงปัญหาของกรุงเทพฯ และขอ 1 ล้านเสียงเพื่อก้าวออกมาเปลี่ยนกรุงเทพฯ” โดยจะนำเสนอ 12 นโยบายของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งนโยบายทั้ง 12 ข้อนั้นจะต้องตอบโจทย์คนเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงให้ได้มากที่สุด พร้อมให้ประชาชนออกมาร่วมกันเดิน มาพูดคุยเสนอปัญหาว่ามีความต้องการจะให้แก้ไขในเรื่องใดบ้าง

สำหรับสาเหตุที่สุหฤทมาลงเลือกตั้งครั้งนี้ เขาเคยชี้แจงว่า ตนเองนั้นมาสมัครในฐานะประชาชน ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด มุมมองที่เห็นก็จะเหมือนมองจากประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องแน่นอนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่ผู้สมัครไร้สังกัดจะโดนปรามาส เพราะอย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจสู้กับฐานเสียงใหญ่จากสองพรรคที่ครองเมืองในขณะนี้ อย่าง “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ได้

แต่เหตุการณ์ทำนองที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไร้สังกัดกลับพลิกเอาชนะคนมีฐานเสียงเหนียวแน่นมาแล้วหลายสมัย อย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนาม “กลุ่มรวมพลัง”, ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, ดร.พิจิตต รัตกุล ในนาม “กลุ่มมดงาน” ซึ่งไม่ว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้งสังกัดพรรคการเมือง หรือสังกัดกลุ่ม สังกัดอิสระ ต่างก็มีโอกาสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งพอๆ กัน ซึ่งสุหฤทมีความคิดที่ว่าผู้สมัครอิสระนั้นจะสามารถช่วยแบ่งเบาความขัดแย้งลงได้

ขวัญใจเด็กแนว

ถึงแม้ชื่อของ สุหฤท สยามวาลา อาจยังไม่ค่อยติดหูคนมีอายุสักเท่าไหร่นัก แต่ถ้าถามวัยรุ่น หรือวัยทำงานต้นๆ คงต้องมีส่วนหนึ่งที่รู้จักเขาเป็นอย่างดี ในฐานะดีเจเด็กแนว ประจำคลื่นแฟตเรดิโอ รวมถึงเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงแนวอิเล็กทรอนิคส์ ที่มีจำนวนศิลปินแนวนี้น้อยมากในเมืองไทย บวกกับสไตล์การแต่งตัวสุดล้ำ โต้-สุหฤท จึงได้รับตำแหน่ง “พ่อมดอิเล็กทรอนิกส์” ไปครอง

แต่นั่นเป็นเพียงแค่หนึ่งในงานอดิเรกของเขาเท่านั้น เพราะสุหฤทนั้นเป็นถึงผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของบริษัท ดีเอชเอ สยามวาลา เจ้าของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องเขียนที่มีชื่อเสียงอย่าง แฟ้มตราช้าง, ปากกา Cross, ปากกา Quantum, สี Master Art ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่มายาวนานกว่า 100 ปี

ในด้านการลงสมัครไม่ใช่ว่าสุหฤทจะลงแค่เอาเฮฮา เรียกเสียงหัวเราะ เป็นสีสันศึกผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้อย่างที่ใครหลายคนคิดไว้เพียงเท่านั้น แต่เขามีพลังใจอันเต็มเปี่ยมที่อยากจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ดังสโลแกนที่กล่าวว่า “เชื่อแบบเดิม เลือกแบบเดิม ได้กรุงเทพฯ แบบเดิม” ซึ่งตัวสุหฤทเองก็เตรียมตัว เตรียมพร้อมมาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยประกาศผ่านช่องทางออนไลน์อย่างทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้ง บรรดาเด็กแนวจึงตื่นเต้นและคาดว่าส่วนใหญ่จะเทคะแนนให้ เพราะเชื่อมั่นว่า ถ้าสุหฤทได้เป็นผู้ว่าฯ ขึ้นมาจริงๆ กรุงเทพฯ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปีที่แล้ว โต้-สุหฤท ได้โพสต์ประกาศลงในทวิตเตอร์ว่า

“ลับสุดยอด ผมตัดสินใจแล้วครับ ผมกำลังศึกษาระเบียบการลงสมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครครับ เสียวไม่รู้ออกหัวหรือก้อย ผมมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ครับ ในการที่จะขอลงสมัครเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เชิญชมครับ

1. ชายไทยเชื้อสายอินเดีย อายุ 45 ปี
2. เชื่อว่าการแต่งตัวแปลกของผมไม่เกี่ยวกับความสามารถทางมันสมอง
3. ไม่มีนโยบายหาเสียง มีแต่สิ่งที่อยากทำให้คนกรุงเทพฯ ถ้าชอบก็ขอเสียงให้ผม เพราะผมก็อยู่กรุงเทพฯ
4. มาตัวคนเดียวครับ ไม่มีเส้นสายใด ๆ ไม่มีพรรค
5. มีความเชื่อส่วนตัวว่า คนตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ถึงเวลาทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้แล้ว
6. ผมมีอาชีพเป็น MD บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด ขายเครื่องเขียนครับ
7. ผมจะไม่ลบรูปทั้งหมดของผมใน Facebook เพื่อให้ท่านได้เห็นตัวตนก่อนตัดสินใจ
8. ถ้าผิดระเบียบแม้แต่ข้อเดียวในการสมัคร ผมจะเลือกไม่ลงสมัครแทน
9. ผมมีอดีตที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ผมก็เป็นคนคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำถูกตลอดเวลา
10. ผมมีความตั้งใจจริง ถ้าทำไม่ได้ที่จะซื่อสัตย์สุจริตก็ไม่ทำ
11. เชื่อว่าในวงการราชการยังมีคนดีจำนวนมาก ถ้าผมขอความช่วยเหลือเขาอย่างจริงใจ
12. นโยบายกำลังร่างอยู่ อย่าตกใจนะครับ เพราะมันจะไม่เหมือนเดิม โปรดติดตามนะครับ ผมอยากทำจริง ๆ ครับ”

อีกสาเหตุที่บางคนยังไม่เชื่อมั่นในตัวผู้สมัครคนนี้คือ หลายคนบอกว่าตัวเขาดูไม่จริงจังในการหาเสียง แต่จากโครงการเดินหนึ่งล้านก้าวเพื่อเข้าถึงปัญหาของคนกทม. พร้อมขอหนึ่งล้านเสียงเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯคงพิสูจน์ได้แล้วว่าเขามีความคิดที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ จริงๆ หรือเปล่า

นโยบาย “เซอร์ไพรส์สร้างได้ด้วยมือเรา”

จากการที่สุหฤทเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ สุดแนว แต่งตัวประหลาด มีความแปลก สด ใหม่ ในตัวอย่างล้นปรี่ รวมถึงวิธีการหาเสียงที่แหวกแนวจนหลายคนอาจขยาดไม่กล้าเลือกเพราะกลัวว่าผู้ว่าฯ หน้าใหม่ที่เลือกอาจจะมีความเจ๋งแค่เพียงเปลือก แต่เมื่อสุหฤทปล่อยนโยบายออกมาก็เรียกคะแนนเสียงคนกรุงฯ ได้ไม่น้อย เพราะทั้ง 12 นโยบายที่เสนอมานั้นเขาย้ำว่า “ทำได้ ไม่ขายฝัน” อย่างแน่นอน

นโยบายหาเสียงหนึ่งโหลโดยสุหฤทนั้น อยู่ภายใต้แนวคิด “SURPRISE BKK FUN BKK SUHARIT RUN BKK!” โดยหลักการทำงานจะอยู่ภายใต้ 3 แนวคิด ได้แก่ “surprise” หมายถึงสิ่งที่จะทำจะต้องสร้างความตื่นเต้นแปลกใหม่ สร้างความประหลาดใจในแง่บวก “fun” คือ เน้นความสุขอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และ “run” คือ เน้นความฉับไวในการทำงาน ไม่ปล่อยให้สูญเสียโอกาส

หนึ่งในนโยบายที่ใครหลายคนสนใจคงเป็นนโยบาย “ทุกชีวิตต้องปลอดภัยบนทางเท้า” นโยบายที่ถูกลำดับไว้เป็นที่ 1 ในเรื่องความปลอดภัยในการใช้ทางเท้า ซึ่งระบุจะมีการขอคืนทางเท้าให้คนกรุงเทพฯ หากมีหลุมบ่อต้องซ่อมแซม ป้ายเกะกะขวางทางเดินต้องจัดระเบียบ หาบเร่แผงลอยต้องบังคับใช้กฎหมาย จุดผ่อนผันขายได้แต่ต้องมีทางให้คนเดิน 1 เมตร นอกจุดผ่อนผันห้ามขายเด็ดขาด โดยจะต้องเริ่มค่อยๆ บังคับใช้กฎหมายในหลายๆ พื้นที่อย่างสมเหตุสมผล และก็ไม่สร้างความกระทบกระเทือนต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องมากเกินไป

อีกนโยบายที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และไม่เคยเห็นแนวคิดเช่นนี้มาก่อนกับนโยบาย “ขยะแลกสวนสาธารณะ” เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯ มีขยะเกือบหมื่นตันต่อวัน ซึ่งถ้าหากมีการบริหารจัดการที่ดี ขยะเหล่านี้ก็คือทรัพย์สินที่เรานำมาเปลี่ยนเป็นเงินเข้า กทม.ได้ แล้วเอาเงินนั้นมาใช้สร้างสวนสาธารณะนั่นเอง อีกเรื่องคือการคัดแยกขยะด้วยถุง 3 สี ได้แก่ ถุงสีเขียวคือขยะย่อยสลายได้, ถุงสีแดงคือขยะย่อยสลายไม่ได้ และถุงสีส้มคือขยะที่ไม่แน่ใจว่าย่อยได้หรือไม่ได้ ซึ่งจะช่วยให้จัดการขยะได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างนโยบายข้อสุดท้ายคือนโยบาย “Lifestyle City สร้างสมดุลของชีวิตคนกรุงเทพฯ” โดยถือว่ากรุงเทพฯ มีหน้าที่สนับสนุนชีวิตของคนในเมืองให้ดีขึ้น นอกไปจากการทำงาน การเรียนแล้ว ยังต้องส่งเสริมในเรื่องความชอบส่วนตัว ด้วยการจัดพื้นที่ให้ อย่างพวกเด็กแว้น จะหาทางออกให้พวกเขาเลิกประลองความเร็วบนถนนหลวง ด้วยการจัดที่ให้แข่งกันอย่างถูกต้อง แล้วถ้ายังไปแข่งกันข้างนอกอีกโดนหนักแน่นอน หรือกิจกรรมอื่นที่ได้รับความนิยมก็จัดสถานที่ให้เขา ทั้งฟุตบอล, โรล์เลอร์เบลด หรือแม้กระทั่งพื้นที่สำหรับวัยรุ่นที่ชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ชีวิตของเขามี 2 ด้าน และก็จะมีความสุขขึ้น

“โซเชียล มีเดีย” ชุมชนหาเสียงยุคใหม่

ในยุคเดิมๆการหาเสียง มีแต่เพียง รถ ป้าย และการเดินเคาะประตูบ้านเท่านั้น แต่ในยุคปัจจุบัน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสังคมเมือง มีพฤติกรรมการบริโภคจากสื่ออย่างโซเชียล มีเดีย มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่าแทบจะไม่มีผู้สมัครรายไหนเลยที่ไม่มีสื่อโซเชียลต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม

ถือเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งแรกของการเลือกตั้งในเมืองไทย ที่จับเอาโซเชียล มีเดีย มาใช้ในการหาเสียงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหลายประเทศได้ลองผิดลองถูกมาก่อนหน้าบ้านเราแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำสหรัฐฯ บารัค โอบามา หรือเพื่อนบ้านใกล้ๆ อย่าง สิงคโปร์ ที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งการใช้สื่อโซเชียล มีเดีย เข้ามาช่วยในการหาเสียงนั้น สามารถช่วยเรียกคะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี จนบางครั้งผลการเลือกตั้งกลับเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ไม่ใครคาดคิด

อีกสิ่งคือ โซเชียล มีเดีย เป็นโลกเสมือนที่ข้อมูล ข่าวสาร แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น มันจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผู้คนสามารถตรวจสอบการกระทำผิดของเหล่าบรรดาผู้สมัครได้อีกทางหนึ่ง

....................

ถ้า “เพื่อไทย” เขาว่า...เผาบ้าน เผาเมือง ถ้า “ประชาธิปัตย์” เขาว่า...ดีแต่พูด ถ้าผู้สมัครบางคนคือนอมินีทักษิณนักโทษแดนไกล ลองเปิดใจพิจารณาสุหฤท สยามวาลา ที่เขาพูดเองเลยว่า “เชื่อแบบเดิม เลือกแบบเดิม ได้กรุงเทพฯ แบบเดิม”

ข่าวโดย ATSV ผู้จัดการ Live





นโยบายหนึ่งโหล

บรรยากาศการหาเสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น