xs
xsm
sm
md
lg

อาหารจากกล่องโฟม น่ากลัวกว่าที่คิด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในชีวิตประจำวันเราต้องพบเจอกับกล่องโฟมที่มากับอาหารทั้งคาวและหวาน โดยเฉพาะร้านอาหารตามสั่งเจ้าประจำที่ซื้อขายกันอยู่เกือบทุกวัน แต่เคยตั้งข้อสงสัยกันหรือไม่ว่าร้านที่ใช้บริการอยู่นั้น ใช้โฟมประเภทไหนใส่อาหารมาให้เรา?
ลองสังเกตให้ดีจะเห็นกล่องโฟมบางประเภทมีคำเตือนระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ไม่ควรนำมาใส่อาหาร” หรือ “ไม่ควรนำมาใส่ของร้อน” เพราะอันตรายที่มากับการใช้กล่องโฟมอย่างผิดประเภท เป็นสาเหตุข้อใหญ่ๆ ที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นทุกปีนั่นเอง
 




 แพทย์เตือน! กล่องโฟมอันตราย ต้นเหตุมะเร็ง
ต้นเหตุการเกิดมะเร็งที่สำคัญนั้นเกิดจากอาหารต่างๆ ที่ถูกบรรจุใส่ไว้ในกล่องโฟม ซึ่งมี “สารสไตรีน (Styrene)” ซ่อนอยู่ ต่อให้การใช้กล่องโฟมสะดวกสบายแค่ไหน ก็ต้องแลกกับโรคมะเร็งที่พร้อมจะเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลา โดยจะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายที่ละเล็กทีละน้อย ค่ยอๆ สะสมจนเป็นโรคร้ายในที่สุด
 
นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความรู้ว่ากล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ประกอบด้วย สไตรีน ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง
 
“อาหารตามสั่งที่บรรจุกล่องโฟม จึงเป็นแหล่งสะสมสารสไตรีน ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้สมองมึนงง สมองเสื่อม หงุดหงิดง่าย มีผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และเป็นสารก่อมะเร็งอีก 3 ชนิด ถ้าเป็นผู้ชายรับประทานเข้าไปมากๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น และอาจส่งผลให้ทั้งชายและหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงขึ้นด้วย แม้จะไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็ตาม
 
สำหรับสไตรีน ถือเป็นสารอันตรายที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศขึ้นบัญชีสารก่อมะเร็ง หญิงมีครรภ์ที่รับประทานอาหารบรรจุในกล่องโฟม มีโอกาสทำให้ลูกสมองเสื่อม กลายเป็นเอ๋อ อวัยวะบางส่วนพิการ ส่วนคนทั่วไป ถ้ารับประทานอาหารกล่องโฟมทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า
 
นพ.วีรฉัตร กล่าวเตือนอีกว่า อาหารตามสั่งหรือข้าวราดแกงกับไข่ดาวหรือไข่เจียวร้อนๆ อาจจะไปละลายผนังกล่องโฟม เสมือนรับประทานอาหารคลุกสไตรีนไปโดยไม่รู้ตัว แม้แต่ไข่ดิบที่วางขายในแผงไข่พลาสติก สารสไตรีนก็ยังมีโอกาสวิ่งเข้าไปในเปลือกไข่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเลือกไข่ดิบก็ควรเลือกซื้อจากแผงไข่ที่เป็นกระดาษจะปลอดภัยที่สุด



เส้นทางมะเร็ง “สไตรีน” สู่ร่างกาย
ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสารสไตรีนในกล่องโฟมได้ง่ายถึง 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลงทำให้สไตรีนซึมเข้าสู่อาหารได้สูง 2.ถ้าปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสายชูแอลกอฮอล์ จะดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ 3.ถ้าชื้ออาหารใส่กล่องทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รับประทาน อาหารจะดูดสารสไตรีนได้มาก
4.ถ้านำอาหารที่บรรจุในกล่องโฟมเข้าไมโครเวฟ สไตรีนจะไหลออกมาในปริมาณมาก และ 5.ถ้าอาหารสัมผัสพื้นที่ผิวกล่องโฟมมากๆ รวมถึงร้านไหนที่ตัดถุงพลาสติกใสรองอาหาร จะได้รับสารก่อมะเร็ง ถึง2เด้ง ทั้งสไตรีนและไดออกซินจากถุงพลาสติก

จากคุณสมบัติของสารสไตรีนโดยปกติแล้ว จะมีสถานะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี กลิ่นหอม เหนียวข้นเหมือนน้ำเชื่อม ระเหยง่ายและติดไฟง่าย และสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือทางการหายใจ ทางผิวหนังและทางเดินอาหาร
พิษของสไตรีนจะทำลายไขกระดูก ทำลายตับ และไต ทำให้ผิวหนังแห้ง แตก ความจำเสื่อม สมาธิสั้น มีผลต่อประสาทส่วนกลางและส่วนปลายโดยมีผลทำให้การเคลื่อนไหวและการทรงตัวไม่ดี เนื่องจากลดการประสานงานของกล้ามเนื้อ มีผลต่อการเต้นของหัวใจ และเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยอาจก่อให้เกิดมะเร็งเส้นเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้



ไม่ใช้โฟม ใช้อะไรแทน?
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโฟมเป็นภาชนะที่สะดวกที่สุดในการใช้ใส่อาหาร ทั้งยังสะดวกในการพกพา ต่อให้จะย่อยสลายยากและใช้เวลานานแค่ไหน โฟมก็ยังเป็นที่นิยมที่คนส่วนใหญ่จะเลือกใช้อยู่ดี แม้ต้องแลกกับโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม

สุดา จอมทอง แม่ค้าขายอาหารตามสั่งเล่าว่าทางร้านได้ใช้กล่องโฟมมาก็นานแล้ว รู้ก็แค่ว่ามันย่อยสลายยาก แต่ไม่รู้ลึกถึงขนาดว่ากล่องโฟมจะมีสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และไม่รู้ด้วยว่ากล่องโฟมมีหลายประเภท เพราะเวลาไปซื้อของ ก็บอกกับทางร้านขายกล่องโฟมว่าเอากล่องโฟมใส่ข้าว ทางร้านก็จะจัดการหยิบให้เสร็จสรรพเอง

“ถ้าไม่ใช้กล่องโฟม ป้าก็ไม่รู้จะไปใช้อะไรแทน จะให้ใช้ใบตองห่อข้าวแบบสมัยก่อนก็ไม่ใช่เรื่อง แถมยังเสียเวลาลูกค้าอีกต่างหาก ป้าขายมาก็นานแล้ว และลูกค้าก็เต็มใจที่จะใส่กล่องโฟมกลับบ้านเพราะว่ามันสะดวก ไม่ต้องไปเสียเวลาล้างจาน กินเสร็จก็ทิ้งได้เลย แต่ร้านป้าก็มั่นใจเรื่องความสะอาดมากนะ กล่องโฟมที่จะใช้ ป้าจะเช็ดก่อนใส่อาหารตลอด เวลาปิดร้านก็จะห่อเก็บอย่างมิดชิด”

ในเมื่อยังแก้ที่ต้นทาง บังคับให้พ่อค้าแม่ค้าเลิกใช้โฟมไม่ได้ ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องใช้วิธีเลือกพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน โดยอาจเริ่มจากการตรวจสอบกล่องโฟมก่อนว่าเลือกใช้ได้ถูกประเภทและปลอดภัยจากสารก่อมะเร็งแค่ไหน และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงจึงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
เพราะสุดท้ายแล้ว สุขภาพก็สำคัญที่สุด เราควรดูแลตัวเองจากโรคร้าย อย่าถึงกับต้องรอให้มะเร็งเป็นผู้บอกเราเลย

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE





กำลังโหลดความคิดเห็น