xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากเฟอร์บี้ “ตุ๊กตาน่ารัก และน่าโดนหลอกที่สุด!”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา กระแสฮิตติดลมบนจนเป็นที่พูดถึงกันไปทั่วคงจะหนีไม่พ้นตุ๊กตาสัตว์เลี้ยง - เฟอร์บี้ จากกระแสในอินสตาแกรมดาราที่พากันอัปรูปกอดก่ายเจ้าตุ๊กตาขนปุยเหล่านี้ สู่กระแสความต้องการที่ถาโถมของผู้คนในโลกอินเทอร์เน็ตจนมีบริการรับสั่งซื้อผุดขึ้นมามากมาย

กระทั่งเกิดกรณีโกงเฟอร์บี้ขึ้นจากการขายเฟอร์บี้ต่อกันเป็นทอดๆ โดยมีผู้เสียหายกว่า 52 รายและมูลค่าความเสียหายสูงถึง 6-7 ล้านบาท การมาถึงของเฟอร์บี้ฟีเวอร์ครั้งนี้คงไม่ใช่เพียงของเล่นเด็กอีกต่อไปแล้ว กระแสการบริโภคที่รุนแรง การปั่นราคา และความปลอดภัยของผู้บริโภคโลกอินเทอร์เน็ต เฟอร์บี้ฝากบทเรียนอะไรไว้กับเราบ้าง?
 

เฟอร์บี้ฟีเวอร์

ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2555 ยอดขายเฉพาะร้านตัวแทนจำหน่าย(ไม่รวมขายทางอินเทอร์เน็ต) อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท หรือขายได้มากกว่า 6,000 ตัว โดยราคาปกติซึ่งปัจจุบันตัวแทนจัดจำหน่ายในเมืองไทยตั้งราคาอยู่ที่ตัวละ 3,995 บาท มีขายตามเว็บไซต์มีราคาหลากหลายตั้งแต่ 3,000 - 5,500 บาท ตามสีที่นิยมโดยสีขาวจะราคาแพงที่สุด

ทั้งนี้ ในอเมริกาเฟอร์บี้มีราคาอยู่ที่ 59.99 เหรียญ ตีเป็นเงินไทยอยู่ที่ประมาณ 1,800 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30 บาทต่อ1 เหรียญสหรัฐ)

อย่างไรก็ตาม จากกระแสความนิยมที่ทำให้เฟอร์บี้อยู่ในสภาพขาดตลาด ขณะที่ความต้องการยิ่งกลับถี่ตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เกิดการเกร็งกำไร ลูกค้านักเล่นเฟอร์บี้หลายคนต้องการเป็นเจ้าของเฟอร์บี้ในปัจจุบันทันด่วน ทำให้ราคาในเว็บไซต์ตั้งสูงไปถึง 5,500 ได้ทั้งที่ราคาขายในห้างอยู่ที่ 3,995 บาท

อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ชี้ถึงปัจจัยที่จุดกระแสเฟอร์บี้อย่างเด็ดขาดว่า “มาจากดารากับพวกเซเลบ” ที่ถ่ายรูปตัวเองคู่กับเฟอร์บี้ลงอินสตาแกรม เมื่อจุดกระแสให้คนมาหันหาเฟอร์บี้ได้ เจ้าตุ๊กตาช่างพูดเหล่านี้ก็ไม่ใช้โอกาสไปโดยเปล่าประโยชน์ การเป็นสัตว์เลี้ยงคลายเหงา การเป็นเพื่อนที่สามารถเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันในมือถือสมาร์ทโฟน เป็นคุณสมบัติที่ตอบโจทย์คนในยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง

“คนไทยอยากมีอยากเป็นเหมือนดารา กระแสแบบนี้ในทางการตลาดมันเคยมีมาแล้ว อย่างตุ๊กตาบลายธ์หรือไอศครีมแม็กนั่ม แล้วตัวเฟอร์บี้เองมันก็ตอบโจทย์ในพฤติกรรมของคนยุคใหม่ที่เหงาง่าย อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ติดสมาร์ทโฟน อยากมีสัตว์เลี้ยงเล่นด้วยแต่อยู่คอนโดและไม่อยากวุ่นวายกับการเลี้ยงสัตว์ เฟอร์บี้มันตอบโจทย์คนยุคใหม่ได้อย่างดี”

จนเมื่อมีข่าวกรณีโกงเฟอร์บี้ก็ยิ่งทำให้มันเป็นที่รู้จักมากขึ้น หากมองในเชิงการตลาดอ.ธันยวัชร์ชี้ว่า สินค้ากระแสแบบนี้จะมีธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

“เดี๋ยวนี้สื่อที่สามารถสร้างกระแสให้มันขึ้นไวตกไวมันมีเยอะ แล้วพอมีอินสตาแกรมคนไทยไม่ชอบอ่าน ชอบดูภาพเลย พวกนักข่าวก็อยู่ในโซเชียลมีเดียมากขึ้น ก็นำเอาสิ่งที่อยู่ในสื่อรองมาอยู่ในสื่อหลัก แก่ - สปอต - ใจดี - กทม. คือเคยเป็นกระแส มันเป็นกระแสแบบไฟไหม้ฟางที่หายไปอย่างรวดเร็ว มันเป็นกระแสแต่จะอยู่ได้ขนาดไหนอยู่ที่บริษัทว่าจะมีการจุดกระแสต่อได้อย่างไร? มีการจัดประกวดให้คนถ่ายภาพต่อหรือเปล่า? เล่นกับคนได้มั้ย? อัพเดทแอปพลิเคชันเรื่อยๆมันก็อยู่ได้นาน กระแสแบบนี้มันต้องจุดต้องจุดตลอด

อ.ธันยวัชร์มองถึงการตลาดของการทำกระแสในสังคมยุคปัจจุบันว่า จากลักษณะของคนสมัยนี้เป็นไปตามกระแสได้ง่าย รักง่ายหน่ายเร็ว ลักษณะกระแสกับลักษณะคนจึงเหมือนกัน ความต่อเนื่องของการทำการตลาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น

สิ่งที่เป็นที่นิยมสำหรับคนไทยนั้นมักจะตามมาด้วยธุรกิจ เขายกตัวอย่างจตุคามรามเทพที่พอกระแสหายบางองค์บางรุ่นจากมูลค่าหลักหมื่นอาจตกลงเหลือไม่กี่บาท หรือไม่มีใครเอา

นอกจากนี้ด้านที่น่ากลัวมากๆ ของกระแสก็คือการที่ทุกคนพยายามตามกระแสให้ทันแม้ว่าจะสิ่งนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นกับชีวิตก็ตาม

“ใครไม่มีเฟอร์บี้ตอนนี้มันจะไม่ทันสมัยไง? ถ้าเราชอบตอนนี้แพงไม่แพงมันไม่ใช่สาระ ปรากฏการณ์ของกระแสที่น่ากลัวคือ พอทุกคนซื้อแล้วมันบีบให้คนที่ไม่มีต้องซื้อต้องอยากได้ เราจึงได้ยินข่าวนักศึกษาโกหกพ่อที่เป็นวินมอเตอร์ไซค์เพื่อให้พ่อกู้เงินซื้อไอโฟนให้”

สิ่งที่อ.ธันยวัชร์บอกถึงบทเรียนที่หลายคนควรเรียนรู้จากเฟอร์บี้ฟีเวอร์ครั้งนี้ว่า คนไทยนั้นควรอ่านกระแสให้ออกและอยู่เหนือกระแส

“สังคมไทยเป็นสังคมวัตถุนิยม คนรุ่นใหม่บางทีอยู่กับวัตถุของเล่นแก็ดเจ็ต (Gadget) มากกว่าคน คุยกับคนออนไลน์มากกว่าคนจริงๆ เปิดแอปฯเปิดอะไรเล่น มันก็มีของใหม่ๆ มาให้ตื่นตาตื่นใจตลอด วอดแอป(what'app)กับไลน์(line) ไลน์แทบไม่ได้ทำอะไรแค่มีสติ๊กเกอร์ก็ล่อคนเข้ามาได้”

นอกจากมีกระแสใหม่ๆ เข้ามาไม่เว้นวันแล้ว อุปนิสัยอย่างหนึ่งคือคนไทยคือการเป็นคนขี้อวดจึงไม่แปลกที่จะยิ่งเป็นไปตามกระแสของการบริโภคมากขึ้น

“บทเรียนคือเราอย่าไปเต้นตามกระแสให้มาก เมื่อตกอยู่ในวงวนของกระแสเราจะอยากได้อยากมีทุกอย่าง เออีซีไม่ใช่กระแสมันเป็นเทรนด์ที่จะมา เราจะทำตัวเองอย่างไรให้แข่งกับต่างชาติได้ ถ้าเราไม่หลงกระแส เราดูอันไหนเทรนด์ อันไหนกระแส จับเทรนด์ให้ได้มากกว่ากระแส ถ้าเป็นนักการตลาดเราต้องทันกระแสอยู่เหนือกระแสหรือสร้างกระแส



บทเรียนจากตุ๊กตาช่างพูด

สินค้ากระแสแรงที่ความต้องการทางการตลาดพุ่งสูงจนติดเพดาน กลายเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยความยั่วยวนของผลกำไรที่หากจับติดมือย่อมได้มาง่ายได้มาเร็ว กรณีโกงเฟอร์บี้จึงเกิดขึ้นโดยมีมูลค่าความเสียหายที่สูงจนน่าตกใจถึง 6-7 ล้านบาท พร้อมทั้งการโกงที่เกิดขึ้นในการซื้อ - ขายกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต

บัตรประชาชน ภาพสินค้าพร้อมส่ง เลขที่บัญชี หลักฐานที่ยืนยันความบริสุทธิ์ในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ สำหรับผู้คนยุคใหม่ที่เริ่มหันมาจับจ่ายตลาดบนโลกออนไลน์มากขึ้น หลักฐานเหล่านี้อาจถือว่าเพียงพอแล้ว ยิ่งสำหรับนักการค้าที่พร้อมจะซื้อเพื่อมาขายต่อทำธุรกิจ ความเสี่ยงก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการลงทุน

วันชนะ เจริญผล ผู้ขายเฟอร์บี้ในเพจFurby เฟอร์บี้ ตุ๊กตาพูดได้ ให้ความเห็นว่า จากข่าวที่ออกมาก็ทำให้ขายได้ยากขึ้นบ้าง ทว่าในส่วนของราคาก็ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นตามความต้องการ แต่จะเพิ่มขึ้นตามราคาที่ตัวเองหาของมาได้มากกว่า

“ผมมีอาชีพประจำอยู่แล้วตรงนี้เลยทำเล็กๆน้อยๆไม่ให้เหนื่อยเพราะมีญาติอยู่ที่ญี่ปุ่นก็เลยให้ญาติที่นั่นซื้อส่งมาขาย ต้นทุนก็จะเป็นราคาค่าของบวกกับค่าเหนื่อย ค่าเดินทาง และค่าขนส่ง”

ทั้งนี้ การค้าขายในโลกออนไลน์ตัวเขาเองก็เคยซื้อของจากคนอื่นโดยการโทรศัพน์สั่งของและโอนเงิน เป็นวิธีเดียวกันกับที่เขาทำอยู่ ต่างกันตรงที่พ่อค้าเฟอร์บี้อย่างเขาจะส่งหลักฐานบัตรประชาชนพร้อมใบขับขี่ยืนยันตัวตนให้กับลูกค้าที่จะสั่งของเสมอ

“จริงๆ แล้วหลายคนก็มารับของด้วยตัวเองเพราะไม่ได้วางใจ อย่างผมอยู่ต่างจังหวัดถ้าคนจะมารับของเองก็ยินดีนัดเจอตัวส่งของให้ บางคนมาถ่ายทะเบียนรถไปด้วยก็มี”

ความไว้วางใจในการใช้บริการร้านค้าบนอินเทอร์เน็ตจึงวางอยู่บนการตัดสินใจที่มีหลักฐานเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น โดยกลไกที่จะใช้ในการช่วยเหลือผู้บริโภคหากตกเป็นเหยื่อของมิชฉาชีพจึงไม่มี อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์ผู้พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภค เผยว่า แม้การบริโภคจับจ่ายซื้อของในอินเทอร์เน็ตของคนไทยนั้นสูงขึ้นด้วยความสะดวกของช่องทาง และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทว่าการปกป้องผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐกับการค้าในโลกออนไลน์กลับยังไปไม่ถึงไหน

“ตลาดในโลกออนไลน์มันก็เหมือนตลาดๆ หนึ่งที่มีทั้งพ่อค้าที่จะขายของจริงๆ และพ่อค้าที่เป็นมิจฉาชีพ แต่ตำรวจในโลกออนไลน์มันไม่มี”

กลไกในการตรวจสอบเพื่อป้องกันผู้บริโภคนั้น อิฐบูรณ์เผยว่ายังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนใดๆ ยิ่งเมื่อเทียบกับมาตรการในการปกป้องลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์ของฝ่ายผู้ค้า ทั้งการจับเว็บที่ละเมิดลิขสิทธิ์หนัง เพลงที่สามารถทำได้แล้วทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดจึงไม่มีมาตรฐานในการปกป้องผู้บริโภคเหมือนอย่างที่ปกป้องผู้ผลิต?

“ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดถึงการจัดการเรื่องการขายของออนไลน์ แต่ก็พูดถึงในประเด็นการเก็บภาษีเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค” อิฐบูรณ์เล่าถึงท่าทีของรัฐบาลกับธุรกิจออนไลน์ที่กำลังขยายตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐาน การจัดทะเบียน การแสดงตัวตน หรือเสียภาษีใดๆ กับรัฐบาล

ดังนั้นการซื้อ - ขายในโลกออนไลน์จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูง โดยที่ผ่านมานั้นก็มีปัญหาหลายๆ แบบเกิดขึ้นแบ่งเป็นปัญหาสินค้าคุณภาพไม่ตรงกับที่โฆษณา และปัญหาไม่ได้รับสินค้า หัวหน้าศูนย์ผู้พิทักษ์ผู้บริโภคเผยถึงวิธีที่มิจฉาชีพโลกออนไลน์มักใช้ในการหลอกลวงดังนี้

“มิจฉาชีพพวกนี้จะใช้วิธีตั้งราคาของให้ถูกกว่าปกติมากเป็นพิเศษ ถ้าเจอแบบนี้ต้องระวังไว้ก่อนเลย เริ่มแรกพวกนี้จะยอมขาดทุนกับของล็อตแรก เหมือนเป็นการวางเหยื่อล่อไว้ให้ลูกค้าไปบอกต่อ ยิ่งราคาถูกคนก็ยิ่งสั่งเยอะ อาศัยความโลภของคนจากนั้นเมื่อมีออเดอร์เข้ามา มีเงินโอนเข้ามากพอก็จะปิดตัวหนีหายไปในทันที

ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานของรัฐบาล หากจะเก็บภาษีหรือจัดระเบียบตลาดในโลกออนไลน์ควรเข้ามาดูแลเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย

…...

ลูกเล่นของความน่ารัก การเป็นสิ่งแทนสัตว์เลี้ยงคลายเหงา หรือการเป็นของเล่นคนดัง ไม่ว่าทุกคนจะซื้อเฟอร์บี้ด้วยเหตุผลใด การขับเคลื่อนของตลาดที่ทำให้มูลค่าของสินค้าสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง มีเพียงความรอบคอบของการคิดที่จะมองให้เห็นถึงข้อแลกเปลี่ยนเท่านั้นที่จะสามารถหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับการบริโภค

และเมื่อใครสักคนขุดหลุมพลางวางดักผู้คนที่หลงลืมความปลอดภัยของการบริโภคและการลงทุน กลไกในการเรียกร้องในปัจจุบันก็ยังคงมีปัญหา

โดยข่าว ASTV ผู้จัดการ LIVE





กำลังโหลดความคิดเห็น