xs
xsm
sm
md
lg

ทำเงินบนโลกไอที (85) : "ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิน" โอกาสที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆในโลกออฟไลน์ก็ได้รุกเข้ามาเพิ่มช่องทางในการทำเงินบนโลกออนไลน์
อย่ามัวแต่ยึดติดกับ"ทะเลสีแดง"หรือเรดโอเชี่ยนที่มีการแข่งขันสูงมากอย่างกูเกิล เพราะโลกนี้ยังมี"ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิน"แห่งอื่นที่จะเป็นประตูพาคุณไปพบกับลูกค้าทั่วประเทศและทั่วโลก แถมประตูนี้ยังทำให้คุณมีโอกาสเข้าถึง"กลุ่มที่พร้อมซื้อ"ได้ดีกว่า ทั้งหมดทำให้"ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิ้น"เป็นโอกาสที่น่าเสียดายมากหากเจ้าของร้านค้าออนไลน์มองข้ามไป

***เพิ่มยอดขายร้านค้าออนไลน์ ด้วยช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิน
บทความโดย ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา @waiwaiworld

ผ่านมาแล้วครึ่งทางของปี พ.ศ.2555 ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นปีที่ตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยคึกคักพอสมควรครับ ทั้งจากที่มีร้านค้าออนไลน์เปิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆในโลกออฟไลน์ก็ได้รุกเข้ามาเพิ่มช่องทางในการทำเงินบนโลกออนไลน์กันหลายต่อหลายเจ้าแล้วทั้ง Central, The Mall, BigC, HomePro, Makro ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้ตลาดโดยรวมของอีคอมเมิร์ซไทยโตมากยิ่งขึ้นไป

ผมเกริ่นให้เห็นภาพรวมแบบนี้เพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงโอกาสครับ ว่าตอนนี้ไม่ว่าใครจะขายอะไร ผมแนะนำขั้นแรกเลยให้สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ยิ่งดีก็คือให้เปิดร้านค้าออนไลน์อีคอมเมิร์ซที่ลูกค้าพอกดเข้ามาที่ร้านค้าแล้วก็สามารถเลือกดูสินค้าพร้อมกับกดสั่งซื้อได้เลย เดี๋ยวนี้มีวิธีการง่ายๆหลายแบบที่เป็นเว็บสำเร็จรูปให้เช่าเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ในราคาย่อมเยาว์

แต่อย่างไรก็ตาม การเช่าพื้นที่เพื่อเปิดเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์และการมีชื่อเว็บไซต์ของตัวเอง ล้วนยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ขายของออนไลน์ได้

ผมขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า การจ่ายค่าเช่าสร้างร้านค้าออนไลน์ก็เปรียบเสมือนการเช่าห้องว่างๆห้องนึง ทำเลอาจไม่ได้ดีเด่นซึ่งถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่า มีคนเปิดร้านขายของอยู่

เพราะฉะนั้น ขั้นตอนสำคัญหลังจากที่เรามีร้านค้าและใส่สินค้าเข้าไปและตกแต่งเว็บไซต์ร้านค้าเราให้เรียบร้อยก็คือต้องเรียกให้ผู้คนที่สนใจสินค้าเข้ามาเลือกซื้อกันให้เต็มร้าน วิธีการในปัจจุบันมีหลายช่องทางครับ เช่น ประกาศฟรี, ลงโฆษณาแบนเนอร์, ลงโฆษณาบนเสิร์ชเอนจิน หรือการทำให้ร้านค้าเราติดผลการค้นหาของเสิร์ชเอนจินเยอะๆ

คนทั่วโลกส่วนใหญ่ชอบใช้เสิร์ชเอนจินในการค้นหาข้อมูลทั่วไป อย่างคนไทยชอบมีคำพูดที่ว่า “อยากหาอะไรก็ให้ไปถามพี่กูเกิ้ล” แต่อย่างที่ว่าครับคือกูเกิ้ลจะเป็นเสิร์ชเอนจินกว้างๆที่รวบข้อมูลหลากหลายแบบ ซึ่งทำให้มีคนทำเสิร์ชเอนจินเฉพาะทางขึ้นมาเพื่อการเลือกช็อปปิ้งสินค้าโดยเฉพาะ เรียกว่า “ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิน” (Shopping Search Engine)

ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินเป็นเครื่องมือค้นหาสินค้าเพื่อการเลือกซื้อของโดยเฉพาะ ซึ่งร้านค้าออนไลน์สามารถใช้ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินนี้ในการดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเข้าร้านค้าให้แน่นร้านไปเลยได้ ดังนั้นอย่าละเลยช่องทางนี้นะครับ

ที่ผ่านมา ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินมีในหลายประเทศ บริษัทชั้นนำของโลกได้แก่ Kakaku.com ของประเทศญี่ปุ่น, Buscapé ของประเทศในแถบลาตินอเมริกา (เจ้าของ Buscapé เค้ามีหุ้นในเว็บไซต์ Sanook.com ของไทยด้วย), Shopping.com และ PriceGrabber.com มีในหลายๆประเทศทั้งอเมริกาและยุโรป, Priceza.com ของประเทศไทย เป็นต้น

ข้อดีของช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินสำหรับฝั่งคนเลือกซื้อสินค้านั้นมีมากมายครับ เพราะเป็นเสิร์ชเอนจินที่ทำมาเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเลือกซื้อสินค้าโดยตรง ประโยชน์ เช่น ช่วยให้เปรียบเทียบราคาสินค้าได้เลยว่าสินค้าตัวที่ดูอยู่มีร้านไหนขายบ้าง ราคาเท่าไหร่ พร้อมกับลิงค์ไปเลือกซื้อออนไลน์ได้เลย นอกจากนี้ก็ยังแสดงผลการค้นหาออกมาเป็นรูปสินค้าพร้อมข้อมูลที่สำคัญในการเลือกช็อปประกอบกันเข้าไปด้วย เช่น เรทติ้งของร้านค้า มีสินค้าพร้อมซื้อหรือไม่ ซึ่งผู้ใช้สามารถพิมพ์ค้นหารายละเอียดการขายสินค้าที่ต้องการอย่างรอบด้าน และตัดสินใจซื้อได้ทันที

ในอีกฝั่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือประโยชน์สำหรับร้านค้าออนไลน์ เพราะช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินสามารถดึงคนที่สนใจมาเลือกซื้อสินค้าไว้ได้จำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำคัญของร้านค้าออนไลน์ที่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องไปสร้างตัวตน โดยเอาสินค้าทั้งร้านที่เรามีในเว็บไซต์ให้ไปอยู่บนช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินนั้นๆให้ได้ ผมลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเป็นการสร้างตัวตนที่สองบนโลกออนไลน์ของร้านค้าบนช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิน ก็คือการที่ร้านค้า “ขยายสาขา” เข้าไปที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็คือช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินนั่นเองที่มีคนเข้ามาเลือกช็อปสินค้ามากมายทุกวัน ลองคิดดูครับ ถ้าคุณมีสินค้าอยู่บนร้านค้าออนไลน์อยู่เป็นพันรายการ การที่คุณขยายสาขาก็คือการที่คุณเอาสินค้าทั้งพันรายการไปโปรโมทขยายช่องทางต่ออีกทางนึง

ผมอยากยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจอันนึงครับ ร้านนี้ชื่อว่าอินเวทไอที invadeIT.co.th บริษัทนี้ตั้งอยู่ที่หัวหินครับ เว็บไซต์ invadeIT เป็นเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ขายสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีแทบทุกประเภทในไทย สินค้ามีอยู่ค่อนข้างเยอะทีเดียวหลายพันรายการ คุณ Thomas Skyum ผู้ร่วมก่อตั้ง แชร์ให้ผมฟังว่าหลังจากที่เค้าได้ลองทำการตลาดผ่านช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินโดยการนำสินค้าทั้งร้านไปโปรโมท เค้าสามารถเพิ่มยอดขายได้มากกว่า 100% ทีเดียว จากเดิมที่เค้าเปิดร้านค้าออนไลน์นี้มาแล้วมากกว่า 2 ปี กรณีนี้น่าสนใจที่ร้านค้าออนไลน์ที่อยู่ไกลถึงหัวหินแต่ก็สามารถขายสินค้าไปให้ลูกค้าทั่วไทยได้โดยใช้ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินเป็นช่องทางนึงในการโปรโมทและเข้าถึงลูกค้าได้ตรงกลุ่ม สร้างยอดขายได้จริง

สรุป 5 ขั้นตอนการทำเงินจากช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิน

1. ถ้าคุณยังไม่มีเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ ให้คุณหาเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์สำเร็จรูปเพื่อเช่าพื้นที่เปิดร้านก่อน เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพงครับ เดือนละไม่กี่ร้อย ปีนึงไม่กี่พันบาท และหลายที่มีให้เปิดฟรีๆด้วย ลองค้นหาดูนะครับ

2. ใส่สินค้าที่คุณอยากขายลงไปให้เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ แล้วเตรียมพร้อมรับลูกค้าที่จะคลิกเข้ามาเพื่อเลือกชมเลือกช็อปสินค้าของคุณ

3. ลองมองหาช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินในไทยที่เหมาะกับสินค้าของคุณดูครับ เพื่อให้ดึงสินค้าทั้งร้านของคุณไปโปรโมททั้งหมดเลย ซึ่งระบบบางที่จะสามารถอัพเดทข้อมูลให้คุณเองอัตโนมัติทุกวันด้วยครับ

4. นอกจากนี้ให้คุณลองเข้าไปเล่นช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิน เพื่อมองหาสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วงนั้นๆ วิธีนี้จะทำให้เห็นโอกาสเปิดตลาดขายสินค้าใหม่ๆได้ในเว็บไซต์ร้านค้าของคุณเอง และให้ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินเป็นช่องทางในการนำลูกค้าเข้าสู่ร้านค้าคุณได้เลย

5. ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิน ยังเป็นช่องทางให้คุณเข้าไปเช็คราคาคู่แข่งของคุณในตลาดได้ คุณจะได้สามารถรู้วิธีการตั้งราคาที่เหมาะสม แต่ปัจจัยด้านราคาก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการขายสินค้าออนไลน์ เพราะการขายสินค้าออนไลน์ให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น คุณต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าคุณด้วยครับ เพื่อให้ร้านค้าคุณมีเรทติ้งคะแนนความน่าเชื่อถือที่ดีในตลาด และสร้างการบอกต่อของลูกค้า

ตอนนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ โอกาสอยู่ที่คุณละครับ ลองหาสินค้ามาเปิดขายออนไลน์ดูสิครับ และลองใช้ช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจินเป็นอีกเครื่องมือในการทำการตลาดสร้างยอดขายให้กับคุณ เปิดร้านทีเดียวขายได้กับคนไทยทั้งประเทศ และเผลอๆจะขายไปขายให้กับคนทั่วโลกได้เลยนะครับ

Related Links:
• Priceza.com
• invadeIT.co.th
• Kakaku.com
• PriceGrabber.com
• Shopping.com
• Buscapé
ผู้ใช้งานช๊อปปิ้งเสิร์ชเอนจินส่วนใหญ่หาราคาที่ถูกใจเพื่อซื้อ
ช๊อปปิ้งเสิร์ชเอนจินในหลายประเทศ
ตัวอย่างหน้าเปรียบเทียบราคาสินค้าจากเว็บ Priceza.com
เว็บไซต์ PriceGrabber.com ที่แสดงข้อมูลเรทติ้งและรีวิวร้านค้าต่างๆนำมาเปรียบเทียบให้ผู้ซื้อเลือกตัดสินใจ
invadeIT.co.th ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีในหัวหินที่สามารถทำยอดขายเพิ่มจากช็อปปิ้งเสิร์ชเอนจิ้นถึง 100%
กำลังโหลดความคิดเห็น