เรียน รด. แล้ว ยังจะให้เกณฑ์ทหารอีกทำไม? เกิดอะไรขึ้น!! เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เปรยออกสื่อว่า กำลังวางแผนปรับหลักสูตรการฝึกนักศึกษาวิชาทหารใหม่ กำหนดให้นักเรียน รด. ต้องเกณฑ์ทหารซ้ำ จะใช้การเรียน รด. หนีการเกณฑ์ทหาร อย่างที่เคยทำกันมาอีกต่อไปไม่ได้แล้ว!!
เกี่ยวกับแนวคิดนี้ บางคนเห็นด้วย เพราะมองว่าการเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคนที่ไม่ควรปฏิเสธ ส่วนบางคนก็เห็นต่าง เพราะเกรงว่าการออกกฎบังคับอย่างนี้ อาจยิ่งสนับสนุนให้เกิดการติดสินบนตอนจับใบดำใบแดงมากขึ้นหรือเปล่า?...
แม้ตอนนี้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดระบุออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การโยนหินถามทางจากทางกองทัพในครั้งนี้ ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมไม่น้อยเลยทีเดียว
เบื้องหลังแนวคิด รด.ต้องเกณฑ์ทหาร
“ถ้าคนอยากเรียนนักศึกษาวิชาทหารจริงๆ ก็เรียนได้ แต่เมื่อถึงเวลาตรวจเลือกทหารจะต้องมาตรวจเลือกด้วย อยากจะดูว่า คนจะมาเรียน รด.มากเหมือนเดิมหรือไม่? ถ้าหากมีนักศึกษาวิชาทหารเรียนมากขึ้น ก็ต้องเพิ่มครูและสถานที่ ซึ่งต้องชมเชย รด.หญิงที่สมัครเข้ามาเรียนทั้งที่ไม่ได้รับสิทธิอะไรทั้งสิ้น ผู้หญิงไทยเก่งและเข้มแข็งดี”
ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะต้องการให้ผู้ชายไทยทุกคนเข้มแข็งเฉกเช่นเดียวกัน จึงเกิดความคิดปรับปรุงหลักสูตรการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (นักเรียน รด.) ให้ทันต่อสถานการณ์ขึ้นมา หลังจากเห็นว่าสัดส่วนชายไทยที่เข้ามาเกณฑ์ทหาร มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด
จากเดิมอยู่ในอัตราส่วน 10 คน ต่อ 1 คน หมายถึงทางกองทัพ สามารถเลือกคนให้เข้ามารับใช้ชาติได้ 1 คน จากทั้งหมด 10 คน แต่ทุกวันนี้ กลายเป็นอัตราส่วน 2.3 คน ต่อ 1 คน หมายถึงทางกองทัพ มีตัวเลือกน้อยลง เลือกทหารเกณฑ์ 1 คนได้จากจำนวนทั้งหมด 2.3 คนเท่านั้น
และถ้ายิ่งเพิ่มโควต้านักเรียน รด. มากขึ้นไปอีก ก็คาดว่าน่าจะยิ่งส่งผลให้มีคนเข้าเกณฑ์ทหารน้อยลงตามไปด้วย ขณะนี้จึงขอจำกัดอยู่แค่ปีละไม่เกิน 100,000 คน จากเดิม มีนักเรียน รด.ที่ศึกษาอยู่ระหว่างชั้นมัธยมปีที่ 1-5 จำนวน 300,000 คนทั่วประเทศ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังคงต้องประชุมปรึกษากันต่อไป
อีกหนึ่งเหตุผลข้อใหญ่ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการแนวคิดการเปลี่ยนแปลงระบบในครั้งนี้ เป็นเพราะทางกองทัพเพิ่งเซ็น “อนุสัญญาเจนีวา” ไป ซึ่งเป็นสัญญาที่ระบุชัดว่าห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ฝึกอาวุธ จึงทำให้นักศึกษาวิชาทหารไม่สามารถฝึกอาวุธอย่างเข้มข้นให้เทียบเท่ากับการฝึกทหารเกณฑ์ได้อีกต่อไป การเรียน รด. จึงไม่สามารถทดแทนหลักสูตรฝึกทหารได้อีกต่อไปแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
ความต่ำต้อยของ “พลทหาร”
ถามว่า ทำไมชายไทยถึงไม่อยากเกณฑ์ทหาร? แต่เลือกที่จะเรียน รด. มากกว่า... ความคิดเห็นของชาวไซเบอร์ส่วนหนึ่ง ซึ่งระบายความรู้สึกเอาไว้ในเว็บบอร์ดของ prachatalk.com น่าจะตอบคำถามนี้ได้ชัดแจ้งมากเลยทีเดียว
“เกาหลีเขาเอาคนไปฝึกเป็นทหารไว้รบกับเกาหลีเหนือครับ แต่ของไทยเขาฝึกไว้เป็นขี้ข้ารับใช้นายทหาร เมียนายทหาร ไปฝึกขับรถ ล้างรถ ตัดต้นไม้ ถางหญ้า ทำกับข้าว ล้างจาน ฯลฯ จะได้ฝึกไม่ต้องหนัก บางทีได้เงินเดือนดับเบิลด้วยครับ” Redhead
“ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่บังคับ ใครใคร่เป็นทหาร ก็ให้เป็น แต่ต้องไม่เอาทหารเกณฑ์ไปทำงานบ้าน รับใช้คุณนาย ส่งลูกไปโรงเรียนนะ เพราะมันเป็นการดูถูกทหารที่ได้ชื่อว่าเป็นรั้วของชาติ งานที่เอาเขาไปรับใช้ก็ไม่สมศักดิ์ศรีชายชาติทหารเอาเสียเลย มันเสียเกียรติ” Payai97
แม้แต่ ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คอลัมนิสต์เกี่ยวกับการเมืองและการทหาร ยังแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้เอาไว้ตรงกันเลย
“เวลาพูดถึง พลทหาร มันเหมือนทุกคนจะมองภาพว่ามันต่ำต้อยกันจนเคยชินไปแล้ว เป็นมาตั้งแต่สมัยก่อน ซึ่งมันก็มีทหารเกณฑ์ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกส่งไปรบนะ อาจจะเพราะอัตรามันเต็มแล้ว เลยถูกส่งไปเป็นทหารรับใช้แทน นายทหารสามารถเอาเขาไปรับใช้ได้ ซึ่งบางคนเขาก็ชอบนะ เพราะไม่ต้องไปออกรบ อยู่ในบ้านนายทหารทำนู่นทำนี่ มันก็มี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
อีกสาเหตุหนึ่งที่คนเลยเลือกจะเลี่ยงไปเรียน รด.กันมากกว่า เพราะคิดว่าเรียน รด.มันดูดีกว่า มีศักดิ์ศรีมากกว่า คนจบ รด. 3 ปี ก็ได้ยศ ว่าที่สิบโท แล้ว แต่ถ้าไปเป็นทหารเกณฑ์ออกมาก็ยังเป็นพลทหารอยู่ ไม่มียศอะไรเลย คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์กัน โดยเฉพาะชนชั้นกลาง”
ดังนั้น เมื่อผู้บัญชาการทหารบกออกมาเปรยถึงแนวคิดที่ว่า ต่อไป รด.ต้องเกณฑ์ทหารด้วย จึงมีกระแสตอบรับแรงๆ จากชายไทยที่ไม่เห็นด้วยอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะการโจมตีเรื่องการติดสินบนเจ้าพนักงาน เพราะคาดการณ์ล่วงหน้ากันว่าน่าจะมีผู้ไม่ต้องการเป็นทหารเกณฑ์จำนวนมาก แต่จำเป็นต้องเดินทางไปจับใบดำใบแดง จึงอาจกระตุ้นให้เกิดการจ่ายเงินใต้โต๊ะกันมากขึ้น
“นี่แหละ จะเป็นอีกช่องทางหากินของทหาร... ทุกวันนี้ ยังป้องกันไม่ให้มีการวิ่งเต้นหนีเกณฑ์ทหารไม่ได้ แล้วจะมาบอกให้ทุกคนต้องเกณฑ์ทหารอีก” ท้องฟ้าสีทอง
“จะจับชายไทยมาเกณฑ์ทหารอีก คงเป็นเพราะขาดรายได้-ผลประโยชน์ที่เคยได้ อยากให้มีการยัดเงินยัดทองกันเหมือนแต่ก่อน ต่อไปรายได้ของนายทหารก็คงจะเฟื่องฟูเหมือนเดิมอีกแล้ว” อินทรีย์
ส่วนมุมมองผู้ดูแลระบบการเกณฑ์เอง พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก มองว่า “เรื่องติดสินบน ไม่ค่อยได้พบเห็นกันเท่าไหร่แล้วนะครับ ผมเรียนตรงๆ และทุกๆ ครั้งที่จะมีการตรวจเลือก ผู้บังคับบัญชาจะเน้นย้ำลงมาเลยว่าอย่าได้มีการกระทำแบบนี้ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนๆ ก็ตาม เพราะถือว่าเป็นความผิดที่รุนแรงมาก
และเท่าที่ผ่านมาทุกปี ยอดคนที่สมัครใจเกณฑ์ทหารก็อยู่ที่ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ดังนั้น จำนวนคนที่ไปเกณฑ์กันมากขึ้น ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดการติดสินบนมากขึ้นอย่างที่ใครคิดกัน และผมว่าแนวคิดนี้ก็ไม่น่าจะกระทบกระเทือนอะไรในสังคมมากมาย ที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ตอนนี้ เป็นเพียงการรายงานการเปลี่ยนแปลงกันเท่านั้นเอง แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมครับ”
ทางที่ดี อย่าบังคับ!
จะเรียน รด.หรือไม่ ยังไงก็ต้องเกณฑ์ทหารกันอยู่ดี ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ต้องเรียนแล้วสิ... หลายคนอาจจะคิดอย่างนี้ แต่รองโฆษกกองทัพบกขอให้อย่าเพิ่งตัดสินหรือเข้าใจผิดกันไปแบบนั้น เพราะยังมีรายละเอียดปีกย่อยที่ยังไม่ถูกกล่าวถึงอีกเยอะ
“เห็นทาง ผบ.นรด. (ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน) บอกว่าอาจจะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้เป็น 5 ปี คือให้เรียนวิชาการทหารนานขึ้น ออกมาจะได้เป็นทหารกองหนุนที่มีประสิทธิภาพ และจะให้นักศึกษาวิชาทหารเปลี่ยนไปเรียนในช่วงระดับมหาวิทยาลัยแทน (จะได้ไม่ผิดอนุสัญญาเจนีวา ห้ามไม่ให้เด็กต่ำกว่า 18 ปีฝึกใช้อาวุธ) และคุยกันว่ายังมีข้อยกเว้นอยู่นะครับ
สำหรับคนที่เรียน รด. ครบ 5 ปีแล้ว น่าจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร แต่คงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเลยครับ แต่ที่ต้องทำความเข้าใจกันคือ เราไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องถูกบังคับให้เป็นทหารเกณฑ์ เรายังอยู่ในระบบจับใบดำใบแดงอยู่ครับ เพราะอัตราทหารที่เราต้องการ ไม่ได้เยอะขนาดที่ต้องการชายไทยทั้งประเทศ”
ถึงแม้จะยังไม่ได้บทสรุปที่แน่ชัด แต่คำตอบในย่อหน้าที่แล้ว คงช่วยให้ชายไทยทั้งประเทศโล่งใจไปได้เปาะหนึ่งว่ายังพอมีทางเลือกให้ชีวิตอยู่บ้าง ไม่ได้อยู่ในภาวะจำยอมเสียทีเดียว เพราะคงไม่มีใครอยากถูกบังคับอย่างที่ ดร.พิชาย คอลัมนิสต์เกี่ยวกับการเมืองและการทหารได้แนะนำเอาไว้
“ผมว่าการปรับระบบเกณฑ์ทหารในครั้งนี้คงไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางไหนเท่าไหร่ ถามว่ามีคนเข้ามาเกณฑ์ทหารมากขึ้น เข้ามาให้กองทัพเลือกมากขึ้นแล้วมันยังไง ในเมื่อสุดท้าย จำนวนคนที่ถูกเกณฑ์ไปก็เท่าเดิม ผมว่าถ้าอยากพัฒนาระบบของเราจริงๆ เราน่าจะเปลี่ยนให้เป็นระบบ ทหารอาสาสมัคร ไปเลยดีกว่า
ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาเขาก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องมานั่งขืนใจจับใบดำใบแดงกันแบบเรา แต่เขาใช้วิธีจูงใจให้คนอยากเป็นทหารอาสาด้วยการมอบสวัสดิการ ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เหมือนกับทำเป็นอาชีพไปเลย สังคมประชาธิปไตยเขาทำกันแบบนั้นแหละครับ แต่สำหรับประเทศที่ยังไม่พัฒนา ประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ก็จะใช้ระบบทหารเกณฑ์กันแบบนี้นี่แหละ”
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการโยนหินถามทางครั้งนี้ของทางกองทัพบกจะออกผลสะเทือนผิวน้ำต่อเนื่องไปได้นานขนาดไหน และเมื่อไหร่จะได้เห็นการพัฒนาระบบไปสู่ประชาธิปไตยอย่างที่อาจารย์บอกเอาไว้เสียที...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE