xs
xsm
sm
md
lg

ครูดีๆ ไม่ได้มีแค่ในนิยาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพียงวันเดียวเท่านั้นที่พวงมาลัยจากมือศิษย์จะส่งถึงมือครู ในพวงมาลัยหรือสิ่งแทนความเคารพเหล่านั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งย่อมมีเศษเสี้ยวอันเกิดจากความรักของครูที่มีต่อลูกศิษย์ ความรักที่เกิดจากการเอาใจใส่ การฝึกสอน การดุตี แม้แต่ตรวจการบ้านหรือไล่ให้ไปตัดผม

คำว่า “ครู” สำหรับทุกคนจึงมีความหมายต่อชีวิตที่ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าชีวิตจะพบพานครูดี ไม่ดี ครูที่เป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ หรือครูจอมโหดที่เราอยากจะวิ่งหนี

ต่อไปนี้คือความทรงจำและภาพชีวิตของคนเป็นครู 3 คนที่ ASTVผู้จัดการ Live จะนำเสนอ คนแรกครูประไพ อ่อนสลุงเป็นครูดีเด่นที่ได้รับรางวัลมากมาย ตั้งแต่โล่เกียจติคุณ และรางวัลครูภาษาไทยดีเด่น ทั้งยังเป็นครูชนบท ครูโพธิ์ทิพย์ วัชระสวัสดิ์ ครูสอนคณิตศาสตร์จากสถาบันอาชีวะที่ได้รับรางวัลครูดีเด่นประจำปี 2555 นี้ และครูคนสุดท้ายครูประพันธ์ อุทัยรัตน์ เป็นครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่หลายคนในสังคมเอาใจช่วย

บทเรียนชีวิตของครูชนบท

โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ 5 ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ รายล้อมด้วยไร่อ้อย และมันสำปะหลัง จึงไม่แปลกที่ครูหลายคนจะมาเพียงเพื่อพบพานแล้วจากไป แต่สำหรับครูอย่าง ประไพ อ่อนสลุง หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และหัวหน้างานแนะแนว ความเป็นครูชนบทที่ให้การศึกษากับลูกศิษย์ที่ห่างไกลความเจริญและโอกาสทางการศึกษานั้นมีค่ามากกว่า

“สอนที่นี่มาจะ 30 ปีแล้ว ก็สอนมาตั้งแต่บรรจุครั้งแรกเลย รู้สึกประทับใจกับชีวิตการเป็นครูที่นี่ก็เลยไม่คิดที่จะย้ายไปไหน”

ความประทับใจของเธอนั้น ย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคมมีนักเรียนไม่ถึง 100 คน เป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญชนิดไม่มีรถเข้าถึง ความลำบากในการเดินทาง อีกทั้งไร้สิ้นซึ่งแสงสีทำให้มีครูมากมายผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ามาทำการสอน

“ส่วนมากก็อยู่ได้ไม่นานค่ะ เพราะชีวิตที่นี่มันลำบาก เดินทางไม่สะดวก”

ระหว่างช่วงชีวิตการเป็นครูหนุ่มสาวของเธอ มีหลายโรงเรียนในตัวเมืองติดต่อทาบทามให้เธอไปสอน มีโอกาสถึงขั้นได้รับทุนเพื่อให้สอนต่อในโรงเรียนตามระดับจังหวัด แต่เธอก็ปฏิเสธ เพราะคิดว่าศักยภาพของเธอนั้นเหมาะที่จะอยู่ที่นี่ และมอบโอกาสให้กับเด็กๆ ที่นี่

“ครูไม่มีความคิดที่จะย้ายไปที่ไหนเลยนะ เพราะครูรักเด็กที่นี่ ผู้บริหารที่นี่ก็ดี และเพื่อนร่วมงานด้วย ชีวิตการเป็นครูมันต้องประกอบด้วยหลายปัจจัยที่ดีถึงจะมีความสุขได้”

หน้าที่การทำงานของครูประไพนั้นคือสอนภาษาไทย และรับผิดชอบงานด้านแนะแนว เธอเผยว่า การเป็นครูชนบทจำเป็นต้องมีภาระรับผิดชอบมากกว่าปกติเพราะบุคลากรมีจำนวนน้อย ในด้านวิชาการนั้น เด็กในชนบทยากที่จะเทียบชั้นกับเด็กในเมือง จากวิถีชีวิตที่มีเงื่อนไขมากมาย ไหนจะห่างไกลสถาบันติวระดับเหรียญโอลิมปิกวิชาการ วันว่างเสาร์ - อาทิตย์ยังต้องช่วยงานในไร่เกษตร ช่วงเย็นย่ำเพียง 2 ทุ่มก็ดับไฟเข้านอน เวลาจะอ่านหนังสือทบทวนตำรา ทำการบ้านยังแทบจะไม่มี

“แต่เราถือว่า ครูต้องให้นักเรียนเต็มที่ เต็มเวลา คือถ้าไปราชการที่ไหนก็ต้องกลับมาสอน และภายในเวลาที่มี เราก็ต้องสอนให้เต็มที่ที่สุด”

ในส่วนของงานแนะแนวนั้น โอกาสทางการศึกษาของเด็กชนบทนั้น เพียงเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นเรื่องเกินจะเอื้อมถึง ชีวิตการเป็นครูแนะแนวจึงไม่ใช่เพียงพูดคุย ให้นักเรียนกรอกแบบสอบถามเพื่อค้นหาอาชีพในฝัน หากแต่หลายครั้งนักเรียนต้องมาค้างที่บ้านครูจับกลุ่มติวหนังสือ จับรถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสอบเข้า

“นี่เป็นสิ่งที่ครูภาคภูมิใจมาก และเป็นสิ่งที่ครูต้องทำ โทรศัพท์ของครูประไพเปิดไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เวลาในราชการ นอกเวลาก็ยังเป็นครู โทร.มาได้ ให้คำปรึกษาได้” เธอเอ่ยด้วยน้ำเสียงจริงจังราวกับเป็นคำมั่นสัญญาของความเป็นครู

ปัญหาของเด็กชนบทนั้น เธอเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วมาจากครอบครัวที่ไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้า พ่อแม่ต้องมาทำงานในเมือง ชีวิตตัวคนเดียวของวัยรุ่นหลายครั้งก็หลงเดินไปในทางที่ผิด เมื่อมีปัญหากับครอบครัว การหนีออกจากบ้านจึงเกิดขึ้นได้ และเป็นครูอย่างเธอที่โทร.ตามตื้อจนเด็กคนนั้นกลับมา

“เราต้องไม่ท้อเด็ดขาด สิ่งเดียวที่ยึดมั่นสำหรับการเป็นครูคือต้องจำไว้ว่า เรารักลูกศิษย์ ความรักที่เรามีให้ลูกศิษย์มันสามารถเอาชนะความเหนื่อยล้า ความท้อถอย หรือแม้แต่อุปสรรคใดๆก็สามารถเอาชนะได้หมด

“หากเรารักเขา เราจะมองเขาอย่างเข้าใจ ไม่ใช่เป็นอริ และเด็กทุกคน ต่อให้แข็งๆ เกเรๆ เด็กที่นี่ก็มีเด็กแบบนั้น แต่เราเอาชนะใจเขาให้ได้ เด็กเตลิดไป ออกจากระบบไปมันเป็นปัญหามากกว่า”

ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนเกษียณเพียง 8 ปี ครูประไพมองงานในช่วงนี้คือการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ตัวเองในวัยเกษียรไม่รู้สึกเสียดายว่า ยังไม่ได้ทำอะไรไปบ้าง สิ่งที่เธออยากฝากไว้กับการเป็นครูนั้นคือต้องเป็นด้วยใจ

“เรื่องเงิน ถ้าอยู่อย่างพอเพียงมันไม่มีปัญหาเลย ยิ่งตอนนี้มีค่าวิทยฐานะ คือตอนนี้ถ้ามาเป็นครูเพื่อหวังเงิน หวังวิทยฐานะ ครูว่าอย่ามาเป็นเลย คิดแต่เรื่องเงินกับการเป็นครูมันไม่มีความสุข แต่ถ้ามาเป็นครูเพื่อสร้างคนที่จะเป็นกำลังให้ประเทศชาติก็มาเป็นด้วยกัน”

ถึงวันนี้ แม้จะล่วงเลยเวลาของชีวิตการเป็นครูมายาวนาน เธอก็ยังมีความสุข ในทุกวันตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในโรงเรียน การที่นักเรียนเข้ามาทักทาย ไหว้เคารพ การที่เธอได้เป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนบางคนที่แอบจับจ้องมองเธอ ทำให้เธอนึกย้อนไปถึงวัยเด็ก วัยเด็กที่ตัวเธอเองก็เคยแอบมองครูคนหนึ่งที่อ่านทำนองเสนาะได้อย่างไพเราะหู จนเธอนำมาเป็นแบบอย่าง และกลายเป็นครูประไพอย่างทุกวันนี้

มองผ่านชีวิตครูอาชีวะ...เด็กช่างคือลูกผู้ชายเลือดร้อน

ที่ผ่านมาสถาบันอาชีวะเป็นกำลังผลิตแรงงานสำคัญของประเทศ ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ภาพจำของสังคมที่มีต่อสถาบันอาชีวะก็หนีไม่พ้นภาพของนักเลง - นักเรียนที่ตีกันเพื่อศักดิ์ศรีของสถาบัน

มีดพก ระเบิดปิงปอง ปืนปากกาและการต่อยตีกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปมักนึกถึงเมื่อพูดถึงเด็กอาชีวะ หากแต่สำหรับครูโพธิ์ทิพย์ วัชระสวัสดิ์ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง 1 ในครูดีเด่นประจำปี 2555 มองว่า พฤติกรรมตีกันของวัยรุ่นนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามช่วงวัยคึกคะนอง

“ครูคิดว่าเป็นเรื่องปกตินะ ที่จะมีบ้างเรื่องเขม่นกัน ซึ่งเด็กอาชีวะต้องยอมรับว่าโดยมากแล้วเขามีบุคลิกออกจะใจร้อนอยู่เหมือนกัน แต่ครูคิดว่าที่ตีกันแล้วเป็นข่าวมันเป็นส่วนน้อย”

ชีวิตการเป็นครูของครูโพธิ์ทิพย์นั้นเริ่มจากแรงบันดาลใจในวันหนึ่งที่เธอสามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ได้ในแบบที่ต่างจากครู

“หลังจากนั้นเราก็บังเอิญไปได้ยินครูคนนั้นชมเราในห้องพักครู ตอนนั้นแหละที่ทำให้เราอยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์”

หลังจากนั้นเธอก็มุ่งเรียนมาทางด้านครู การที่เธอเรียนภาษาอังกฤษได้ดีก็ทำให้หลายคนอยากให้เธอไปทำงานด้านภาษา แต่ความเป็นครูในตัวเธอก็เห็นว่า งานด้านภาษานั้นคนจบด้านภาษาก็สามารถทำได้ แต่งานการเป็นครูสอนคณิตศาสตร์นั้น การต้องสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนเป็นงานที่มีค่ามากกว่างานด้านภาษา

โดยแรกเริ่มของการเป็นครูอาชีวะนั้นมาจากที่ในยุคนั้นมีการพูดกันว่า การสอบเข้าสอนที่โรงเรียนอาชีวะยากกว่าสายสามัญ ครั้งแรกที่เธอสอบ เธอจึงเลือกสอบเข้าสอนที่สถาบันอาชีวะ ที่วิทยาลัยเกษตรซึ่งตอนนั้นถือว่ามีแต่เด็กที่เรียนอ่อน อย่างไรก็ตามเธอเชื่อว่า เด็กที่เรียนมาถึงอาชีวะแล้วต้องเรียนได้

“จากนั้นก็สอนอาชีวะมาตลอด ช่างตีกันเนี่ยมันก็มีตลอด เราก็ไม่ได้กลัวนะ ตีกันมาตั้งแต่สมัยครูยังเรียนอยู่แล้ว”

ในมุมมองของเธอแล้วเด็กอาชีวะก็เหมือนกับเด็กมัธยมทั่วไป หากแต่มีความเป็นลูกผู้ชายที่อาจจะเลือดร้อนไปบ้าง

“น้อยมากนะที่จะหลุดมาเป็นแบบอื่น ส่วนมากจะเป็นแมนมากๆ เลย แล้วก็ตลกๆ หน่อย เขาจะจริงใจในแบบของเขา”

อย่างไรก็ตาม นักเรียนสายอาชีวะมักจะมาจากนักเรียนที่ผลการเรียนไม่ดี แต่เธอก็คิดว่า ยังสามารถปั้นให้รู้วิชา และส่งสู่การทำงานได้

“คือเด็กที่เรียนอาชีวะเนี่ย เขาต้องผ่านการกรองมาแล้วถึง 2 ชั้น คือชั้นประถมกับมัธยม ถ้ามาเรียนอาชีวะได้ ครูคิดว่าเขาเรียนได้ เพียงแต่เราจะสอนอย่างไร”

เด็กในสายอาชีวะส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กที่เรียนในระดับปานกลางถึงล่าง เป็นเด็กที่เน้นปฏิบัติ แต่คณิตศาสตร์ก็ยังคงเป็นพื้นฐานทางทฤษฎีที่จำเป็น วิธีของเธอคือการประสานเอาปฏิบัติมารวมกับทฤษฎี หาพื้นที่ก็หาพื้นที่จริงๆ ลงภาคสนาม อะไรคือกว้าง อะไรคือยาว ให้เห็นภาพที่เรียนแล้วไปใช้ได้จริง

“เด็กจะชอบหลับคะ เขาไม่ชอบเรียนพวกนี้ เพราะคนที่มาเรียนอาชีวะจะไม่ชอบวิชาแนวนี้เลย เขาอยากปฏิบัติ สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือสร้างแรงจูงใจให้เขาเรียน”

ครูโพธิ์ทิพย์มีวิธีการคือให้ทำข้อสอบแข่งกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจ แต่ก็มีการตั้งข้อสอบอีกชุดเพื่อเป็นเกณฑ์ให้นักเรียนที่หัวไม่ดีของชั้นไม่รู้สึกเครียด ว่าง่ายๆ คือ สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนแข่งกันเรียน แต่ก็ไม่กดดันจนคนหัวไม่ดีต้องตกขอบ

สิ่งที่น่าแปลกอีกอย่างของนักเรียนช่างกลสำหรับเธอคือ ไม่ว่าเด็กเหล่านี้จะมีอารมณ์ร้อนกับใคร เขาจะเคารพครูเป็นพิเศษเสมอ

“ครูคิดว่าเด็กพวกนี้ไม่ใช่คนเลวร้าย เขาเคารพครูมาก กลัวครู เขาจะทำอะไรอยู่ ถ้าครูมองไปเขาจะทำตัวดี”

ในมุมมองของครูอย่างเธอ เด็กช่างจึงไม่ได้จับมีด จับปืน ไล่ตีกัน หากแต่จับเครื่องมือเพื่อลงมือปฏิบัติงานจริงในการเรียนของหลักสูตร

“เด็กสามัญจะจับปากกาแล้วเขียน แต่อาชีวะต้องจับเครื่องมือ ต้องมุดเข้าไปใต้ท้องรถ ดังนั้นพวกเขาต้องมีความกล้าประมาณหนึ่งในการใช้เครื่องมือพวกนี้ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุ มันถึงขั้นพิการได้เลย”

รางวัลของการครูสำหรับเธอคือการที่สิ่งที่ได้สอนเด็กไปนั้นสามารถต่อยอดและเกิดประโยชน์กับตัวเด็ก

“บางคนยังเรียนอยู่ ได้งานมาทำ แล้วได้เงิน เขาก็มาบอก เราก็ภูมิใจที่สิ่งที่เราสอนไปมันกลายเป็นสิ่งที่เขาใช้หากินได้”

ชีวิตครูใต้...ความปลอดภัยที่ต้อลืมไปก่อน

ความปลอดภัยของชีวิตเป็นสิ่งหากยากใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เหตุก่อการร้ายที่เสมือนภัยเงียบ ทหารที่ต้องผลัดเปลี่ยนเวรกันรักษาความปลอดภัย ชาวบ้านต่างศาสนาที่อยู่ร่วมกัน ในบางวันที่เสียงปืนจะดังเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เป็นภาพที่เกิดขึ้นในชีวิตทั่วไปของคนเป็นครูใต้อย่าง ประพันธ์ อุทัยรัตน์ ผู้บริหารโรงเรียนบ้านทำนบ อ.บันนังสตา จ.ยะลา

“กลางคืนก็พยายามไม่ออกไปไหนเด็ดขาดครับ” เขาให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงเร่งรีบ “ไปไหนก็จะไปเป็นกลุ่มครับ”

ตลอดระยะเวลา 32 ปี ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่มีน้อย ไม่ได้สั่นคลอดความครูในจิตวิญญาณของเขาที่เชื่อว่า คนเป็นครูอยู่ที่ไหนก็ต้องสอนได้

“เราเป็นฝ่ายบริการ จะเป็นใคร ศาสนาอะไร เราเป็นครูก็ต้องสอน”

จุดเริ่มของการเป็นครูในเขตพื้นที่อันตรายนี้มาจากที่เขาเป็นคนพื้นเพภาคใต้ พอจบจากการเรียนครู ความเป็นครูที่จะต้องถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน ทำให้เขาเลือกลงมาประจำอยู่ที่ภาคใต้ โดยได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยเพียง 2500 บาท เท่านั้น

อีกวิธีการอยู่ในพื้นที่คือการสร้างความสามัคคี ดังนั้นนอกจากการเป็นครู ยังต้องมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่ การสอนของครูประพันธ์จึงเน้นที่การเอาใจใส่ต่อเด็กๆ ที่มาเรียน ไม่ว่าจะศาสนาอะไรก็ตาม เขายึดมั่นว่า ที่เขามาเป็นครูอยู่ได้ก็เพราะคนไทยยังรักกันอยู่

“ผมใช้วิธีเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือสังคม เราเป็นทีมเดียวกัน เราถือตัวเองเป็นพ่อแม่คนที่สองก็ต้องช่วยดูแล ทั้งด้านการเรียน และความปลอดภัยด้วย”

ครูประพันธ์นับถือศาสนาพุทธ แต่เขาก็เผยว่า สิ่งนี้ไม่เป็นปัญหาเพราะเขามองว่า ทำให้การพูดจา การถ่ายทอด ทำได้ดีกว่า ชัดคำ ออกเสียง

“การเป็นครูใต้ก็ต้องเสียสละส่วนหนึ่ง เพราะถ้าไม่มาเราก็ไม่รู้ว่าใครจะมา คนเขากลัวกันหมด”


ครูประไพ อ่อนสลุง
 ครูโพธิ์ทิพย์ วัชระสวัสดิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น