นาฏศิลป์ไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยและเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ประจำชาติ นาฏศิลป์ไทยหลายชุด กำเนิดขึ้นจากอัจฉริยภาพของ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เป็นบรมครูนาฏศิลป์ไทย ท่านอุทิศกายใจฝึกฝน ถ่ายทอดศิลปะการแสดงมาตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งนับได้ว่าท่านคือผู้ดำรงรักษา และสร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏศิลป์ไทยยาวนานถึง ๕ แผ่นดิน
กุลสตรีเบญจกัลยาณี
ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี มีนามเดิมว่า “แผ้ว สุทธิ์บูรณ์” เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๖ ในครอบครัวคนสามัญจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ในสมัยนั้นโอกาสที่ผู้หญิงจะรู้หนังสือหรือได้เล่าเรียนนั้นน้อยมาก ด้วยการศึกษาจำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะผู้ชาย ส่วนสถานที่ที่สตรีเพศพอจะได้รับแหล่งวิชาความรู้คือ “ในวัง”
ท่านผู้หญิงแผ้วเป็นหนึ่งในจำนวนผู้หญิงไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ และสามารถเรียนจนแตกฉานถึงขนาดแต่งกลอนได้
ขณะอายุได้ ๘ ปี บิดามารดาท่านผู้หญิงแผ้วตระเตรียมจัดของใส่หีบ เพื่อนำบุตรสาวไปฝากเรียนกับแหม่มโคล มีคนจากวังสวนกุหลาบมาบอกว่าพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ได้ตั้งโรงเรียนละครเด็กตัวเล็กๆ ในวัง โดยให้เรียนหนังสือ และเรียนรำละครด้วย ท่านผู้หญิงแผ้วจึงถวายตัวในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา โดยมีท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) เป็นผู้ปกครองดูแล
ครั้นเมื่อเจริญวัยขึ้นท่านผู้หญิงแผ้วได้รับความรู้ด้านต่างๆ มากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งเรื่องบทละครที่จดจำได้ขึ้นใจ เช่นเดียวกับความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องเพลงประกอบการร่ายรำ นอกจากนั้นยังรู้ภาษาฝรั่งเศสที่ได้ร่ำเรียนกับแม่ชีที่โรงเรียนพระราชหฤทัย ภาษาอังกฤษที่เรียนกับคุณหญิงราชา รวมถึงความรู้เรื่องมารยาทสังคมและการปรับตัวทำให้ท่านผู้หญิงแผ้วงดงามด้วยมารยาทอันถูกต้องเหมาะสมมาแต่น้อย
ด้านการรำละครนั้นท่านผู้หญิงมากด้วยความรู้ความสามารถ ออกแสดงเป็นตัวเอกในโอกาสถวายทอดพระเนตรหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้งหลายครา ประกอบกับความงดงามทั้งกายใจ จึงถือเป็นกุลสตรีครบถ้วน สมเป็นเบญจกัลยาณีโดยแท้
นาฏยาจารย์ ๕ แผ่นดิน ผู้สืบสร้างรำไทย
เป็นเสียงเดียวกันว่า “ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี” หรือ “หม่อมอาจารย์” เป็นบรมครูนาฏศิลป์ที่ทุ่มเทถ่ายทอดความรู้แก่ลูกศิษย์อย่างเต็มที่ไม่มีหวงแม้แต่น้อย ท่านดุและเคี่ยวเข็ญเพื่อให้ลูกศิษย์แสดงได้อย่างถูกต้องงดงาม ทั้งยังมีเมตตาให้ความรักและความรู้ในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ เรียกได้ว่าท่านผู้หญิงเป็นมากกว่าครู และเปรียบเสมือน “แม่” อีกคนหนึ่ง
นางเพชรพริ้ง สารสิน ทายาท (หลานยาย) ของท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เผยว่า ท่านผู้หญิงมีความรักในด้านการรำละครแต่เยาว์วัย ได้รับการฝึกหัดจากครูนาฏศิลป์ในราชสำนักหลายท่าน จนมีความรู้ความสามารถออกแสดงเป็นตัวละครเอก ถวายทอดพระเนตรต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง เช่น การแสดงเป็นอิเหนา และนางดรสา ในละครเรื่อง “อิเหนา” แสดงเป็นพระพิราพ และทศกัณฐ์ ในการแสดงโขนเรื่อง “รามเกียรติ์” เป็นต้น
ภายหลังเมื่อท่านสมรสกับพลตรีสนิทวงศ์เสนี (ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์) และมีโอกาสติดตามสามีซึ่งรับราชการเป็นฑูตทหาร ไปประจำการในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และโปรตุเกส ท่านก็สนใจศึกษานาฏศิลป์ไทยเป็นอย่างยิ่ง
ตอนที่ท่านกลับประเทศไทยและมาทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยของกรมศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๑- ๒๕๓๕ ท่านได้นำวิชาความรู้ด้านนาฏศิลป์จากประเทศต่างๆ มาพัฒนาให้นาฏกรรมไทย ซึ่งเคยเนิบช้าให้มีความกระชับ แต่ยังคงไว้ซึ่งความงดงามตามแบบแผน ตัวอย่างเช่น ระบำม้า หรือ ระบำอัศวลีลา ท่านผู้หญิงเคยเล่าให้ดิฉันฟังว่า ลีลาท่าเต้นโขยกเขยกไปมาของผู้แสดงระบำม้านั้น ท่านจำมาจากประเทศโปรตุเกส แล้วนำมาปรับปรุงให้เป็นท่ารำแบบไทยๆ
สืบสานนาฏศิลป์ไทยให้คงอยู่
ในการแสดงนาฏศิลป์ครั้งนี้ คณะผู้จัดงานได้คัดเลือกผลงานที่โดดเด่นของท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี มาจัดแสดงได้แก่ ระบำสุโขทัย รำฉุยฉายเฮนา นางพญาคำปินขอฝน ออกฟ้อนจันทราพาฝัน รำมโนราห์บูชายัญ ออกรำซัดชาตรี รำลาวดวงเดือน ละครนอกเรื่อง “คาวี” ตอนชุบตัวท้าวสันนุราชถึงคันธมาลีขึ้นหึง และโขนเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนปราบกากนาสูร ร่วมแสดงโดยศิลปินแห่งชาติ นาฏศิลปินอาวุโส นาฏศิลปินรับเชิญ และนาฏศิลปินชั้นนำที่มีชื่อเสียงของสำนักการสังคีต กรมศิลปากรอย่างครบครัน รายได้สมทบกองทุนท่านผู้หญิงแผ้ว เพื่อสืบสานงานนาฏศิลป์ไทยและช่วยเหลือนาฏศิลปินอาวุโสต่อไป
นายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่าสำนักการสังคีต รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมแสดงมุทิตาจิตจัดงานรำลึก “๑๐๙ ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี” ท่านเป็นคลังความรู้ด้านนาฏศิลป์อย่างแท้จริง มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟู ปรับปรุง และวางรากฐานการแสดงหลายอย่างของกรมศิลปากร เพราะท่านเชี่ยวชาญท่ารำของตัวละครสรรพสัตว์ต่างๆ ที่ท่านประดิษฐ์ไว้อย่างวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ ท่านยังมีความสามารถในการประพันธ์บทสำหรับการแสดงทั้งโขนและละครอีกด้วย
ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี เป็นผู้ที่ได้รับเกียรติสูงสุดทางด้านนาฏศิลป์ของโลกละคร และเป็นครูผู้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่นาฏศิลปินไทยทุกคน ท่านมีความตั้งใจ ทุ่มเทเพื่อให้งานศิลปะแขนงนี้ได้รับการเชิดชู และดำรงสืบต่อชั่วลูกชั่วหลาน กล่าวได้ว่าท่านผู้หญิงแผ้วเป็นเสมือนศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมไทย เป็นผู้รอบรู้ในศิลปะวิทยาการด้านนาฏศิลป์อย่างลึกซึ้ง ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live