xs
xsm
sm
md
lg

นานาประดิษฐกรรมสวมกบาล “เรื่องหนักหัว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมเราใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่า “ผม” แล้ว “ผม” ที่ขึ้นบนหัวกับ “ผม” ที่ใช้เป็นคำเรียกแทนตัวนั้นมาพ้องกันได้อย่างไร ก็เพราะคนไทยถือ “หัว” และ “ผม” เป็นของสำคัญ ขนาดที่นำมาใช้เป็นตัวแทนของทั้งร่างได้ เมื่อหัวและผมมีความหมายต่อคนไทยเช่นนี้แล้ว เราจะเอาสิ่งที่ใช้ครอบหัวและผม มาบอกเล่าเรื่องราวให้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

หมวกไม่ได้ หนักหัว อย่างที่คุณคิด

มิวเซียมสยามจัดนิทรรศการชั่วคราวขึ้น ในชุด "เรื่องหนักหัว" เพื่อเปิดมุมมองใหม่และค้นหาตัวตนของคนไทย นำเสนอเรื่องราวของ "หมวก" เครื่องศิราภรณ์" และ "เครื่องประกอบศีรษะ" เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและความเป็นมาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ผ่านหมวกมากมายหลากหลายชนิดที่ถูกนำไปสวมใส่อยู่บนหัว ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทและความสำคัญในแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยนิทรรศการ "เรื่องหนักหัว" เป็นนิทรรศการรูปแบบใหม่ ที่จะแทรกเข้าไปอยู่ในนิทรรศการถาวร "เรียงความประเทศไทย" ตามห้องต่างๆ ภายในมิวเซียมสยามอย่างกลมกลืน และสอดคล้องกับช่วงยุคสมัยนั้น



แฟชั่น -วัฒนธรรม- การเมือง

มนทกานติ รังสิพราหมณกุล บรรณาธิการบริหารนิตยสารมาดามฟิกาโร กล่าวถึงเรื่องเครื่องประดับบนศีรษะว่า แฟชั่นไอคอนคนแรกๆ เท่าที่จะนึกออกคงเป็น พระนางมารี อังตัวเนต ทรงมีเครื่องประดับอยู่บนพระเศียรที่สวยสดงดงามอย่างเรือสำเภา ซึ่งนี่เป็นเครื่องประดับศีรษะอีกแบบนอกจากหมวก ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีความสุรุ่ยสุร่าย หรูหรามาก ประกอบกับพระมเหสี พระนางมารี อังตัวเนต ที่ทรงโปรดในเรื่องของการแต่งกาย ด้านแฟชั่นถือเป็นความสนุก แต่นอกเหนือจากความสนุก เหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนั้นๆ

ในสมัยที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากสงครามโลกแล้ว ผู้หญิงจะมาแต่งตัว นุ่งกระโปรงรัดรั้งอย่างเดิมไม่ได้ เพราะในช่วงสงคราม ผู้หญิงจะต้องแต่งตัวแบบสบายๆ แต่พอหลังสงครามเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นใหม่ในปี ค.ศ. 1920 เรียกว่า The Gay Twenties

ในปี 1920 หมวกมีบทบาทสำคัญกับแฟชั่น หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 อยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของการแต่งกาย ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้ง และที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากคือจากการสวมใส่กระโปรงยาวลากพื้น เป็นครั้งแรกที่โลกนี้ได้เห็นเรียวขาผู้หญิง

ทำไมคนเหล่านี้จึงกล้าใส่หมวกที่แปลกประหลาด? มองไปที่เลดี้กาก้าจะเห็นภาพได้ชัดมากขึ้น สำหรับในแง่ของความคิด คนเหล่านี้อยู่ในที่ซึ่งผู้คนถูกบ่มเพาะมาให้เคารพในความคิดของคนอื่น การแต่งตัวของคนเราเป็นการบอกคนอื่น เราเห็นตัวเราเองเป็นคนแบบนี้ โปรดมองเราแบบที่เราตีความนี้เถอะ ในเมื่อคนเราเคารพในความคิดซึ่งกันและกัน ใครจะใส่อะไรไม่ได้เป็นปัญหาแล้ว มันจะกลายเป็นงานศิลปะเคลื่อนที่ ถึงจะมีการหัวเราะแต่ไม่ได้เป็นการมองว่าแปลก แต่มองว่าเธอแตกต่างกับฉัน

รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการสวมหมวกว่า เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ล้มเหลว ในขณะอีกหลายๆ อย่างที่มาจากตะวันตกกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การสวมหมวกเป็นเรื่องของรสนิยมของคนชั้นสูง หมวกเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ แต่เมื่อเข้าสมัยจอมพลป. มีการบังคับให้สวมหมวกเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม แต่เมื่อหมดอำนาจการใส่หมวกก็เลือนหายไป



ห้องเปิดตำนานสุวรรณภูมิ 

นำเสนอเรื่องของ “หน้ากาก ตัวแทนแห่งผีและพิธีศักดิ์สิทธิ์” ที่ใช้ในพิธีกรรมขอฝนของคนยุคก่อน เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้อ้อนวอนธรรมชาติ ให้ช่วยดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ เพราะพวกเขารู้จักการทำนาปลูกข้าวและเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำที่พบได้ในสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงหน้ากากที่ใช้ในพิธีกรรมที่ยังคงมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การละเล่นผีตาโขน จังหวัดเลย และพิธีกรรมเต้นรำใส่หน้ากากของชนเผ่าในเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย

หมวกทวาฯ นานาชาติ

สมัยทวารวดี นิทรรศการได้นำเสนอ “หัวปูนปั้นประดับฐานสถูป” โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “หมวกทวาฯ นานาชาติ” ที่พบในเมืองโบราณแห่งต่างๆ ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศอินเดียมีอิทธิพลอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา การค้าขาย และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ราชสำนักไทยสยามก็มี “ขันที” ขุนนางในสมัยอยุธยาสวม “หมวกเครื่องแบบ” ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “ลอมพอก” คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากขันทีชาวเปอร์เซียที่เคยเข้ามาปฏิบัติงานในราชสำนักฝ่ายใน ด้วยรูปทรงที่แปลกตาจึงเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ปัจจุบันเรายังคงได้เห็น “พระยาแรกนา” ใส่ลอมพอกในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญหรือแม้แต่นาคก็ใส่เข้าพิธีบรรพชา

ชฎากับอัตลักษณ์ของความเป็นไทย

ค้นหาคำตอบว่าชฎาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยจริงหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องราวของ “เลดี้กาก้า” กับชฎาที่ตกเป็นข่าว ที่ใส่โชว์บนคอนเสิร์ตในประเทศไทย ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ถึงความเหมาะสมถูก-ผิดกันต่อไป

ในตอนนี้จะมีสักกี่คนสำนึกรู้ว่า“ชฎา”คือสิ่งที่ถูกใช้เป็นตัวแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้ในการแสดงมหรสพทางประเพณีไทยมาช้านาน นั่นเท่ากับว่ามูลค่าแห่งความสำคัญของชฎา มิใช่เพียงเครื่องแสดงอัตลักษณ์ แต่มันคือวัฒนธรรมอันล้ำค่าของคนไทย

สุภาพบุรุษชาวสยามกับความศิวิไลซ์

การเข้ามาของ “ฝรั่ง” นักล่าอาณานิคมจากประเทศยุโรป ทำให้สยามต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เจ้านายในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ต่างทรงปรับตัวให้ทันกระแสของโลก แฟชั่นสวมหมวกซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเป็น “สุภาพบุรุษ” ของชาวตะวันตกในยุคนั้น จึงถูกราชสำนักสยามนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงความ “ศิวิไลซ์”

และเป็นที่รู้กันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด “โบวเลอร์แฮ็ต” มาก ถึงแม้ว่าหมวกดังกล่าวจะเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพชาวเมืองผู้ดีก็ตาม

เกี่ยวข้าวก็เย็นได้ ถ้าเข้าใจธรรมชาติ

“งอบ” ภูมิปัญญาเกษตรกรไทยไม่ว่าจะเกี่ยวข้าว พายเรือ หรือเมื่อต้องออกแดดทุกครั้งชาวนา แม่ค้า หรือคนไทยอย่างเราๆ ต่างก็ต้องพึ่งพาหมวกครอบจักรวาลใบนี้ ประดิษฐกรรมสวมหัวที่ชี้ให้เห็นว่าบรรพบุรุษของเราก็เป็นเลิศด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการสานงอบ ที่แสดงถึงความเข้าใจในหลักการระบายอากาศเป็นอย่างดี เป็นเทคนิคเดียวกับการปลูกเรือนให้อยู่สบายในสภาพอากาศร้อนและชื้น

ราวกับว่า “มาลา” จะ “นำไทย” สู่ความเป็นอารยะได้เช่นนั้นหรือ

การปฏิวัติขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นำเชื่อว่า การแต่งกายเยี่ยงตะวันตกนั้น จะเป็นหนทางหนึ่งในการนำชาติไทย รุดหน้าเช่นอารยธรรมประเทศ มีการออกกฎบังคับให้ประชาชนชาวไทย สวมหมวก ทุกคราวที่ออกจากบ้าน โดยมีการแต่งบทเพลงชักชวนให้คนไทยสวมหมวกอย่างเพลง ‘สวมหมวกไทย’ ขับร้องโดย 'มัณฑนา โมรากุล'

มงกุฎนางงาม สาวไทยในยุคสงครามเย็น

สถานะและบทบาทระหว่างสตรีกับการเมืองในสมัยทุนนิยมยุคสงครามเย็น ผ่านมงกุฎนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย อาภัสรา หงสกุล จนกลายเป็นกระแส “อาภัสราฟีเวอร์” ที่สาวไทยทั้งหลายอยากจะสวมมงกุฎเพื่อให้สวยอย่างอภัสรา ซึ่งเธอนั้นได้รับตำแหน่งมาพร้อมกับการยกพลขึ้นบกของกองทัพอเมริกาที่อู่ตะเภา ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียดนาม ในปีค.ศ.1965



แฟชั่น
เสมือนเป็นการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและภาวะสังคมในช่วงเวลานั้นๆ และเป็นสิ่งไม่อยู่นิ่งและปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามช่วงเวลา หมวกหรือเครื่องประดับศีรษะ ก็เป็นอีกหนึ่งแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่แสดงออกถึงรสนิยมของแต่ละสังคมได้อย่างดี ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแฟชั่นหรือเครื่องแสดงอัตลักษณ์ หาก “คิดและต่อยอด” กับสิ่งที่มีอยู่เรียนรู้จากบรรพบุรุษ เพื่อต่อยอดสร้างประวัติศาสตร์ได้ก็คงจะดีไม่น้อย



นิทรรศการหนักหัว
ภาพโฆษณาให้ประชาชนในภาคใต้ปรับปรุงการแต่งกายตาม
ฟิลลิป เทรซี นักออกแบบหมวกลือชื่อของโลก
พระนางมารี อังตัวเนต ทรงหลงใหลในแฟชั่นหมวกเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น