อุตสาหกรรมดนตรีในเมืองไทย หมดยุคของการทำเพลงในห้องอัดเพื่อหวังรายได้จากการขายเพลงเสียแล้ว เพราะทุกวันนี้ เงินมากมายมหาศาลที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมเพลงอยู่คือการโฆษณา อีเวนต์ และการแสดงสดของศิลปิน บอกได้ว่านี่คือยุคแห่งการจัดคอนเสิร์ตอย่างแท้จริง
แต่ด้วยเงื่อนไข และปัจจัยหลายอย่าง ปัญหาจากการจัดคอนเสิร์ตจึงเกิดขึ้นมากมาย จากเด็กตีกันจนถึงดื่มเหล้า มั่วเซ็กซ์ ทำให้หลายครั้งคอนเสิร์ตถูกเปลี่ยนสถานะไป จากมหกรรมทางดนตรีสำหรับผู้มีใจรักในเสียงเพลง กลายเป็นเวทีแห่งการมั่วสุมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง บ้าคลั่ง และการมั่วเซ็กซ์ในพื้นที่ปราศจากกฎ
รุนแรง
“พี่น้องครับรู้ไหมทำแบบนั้นแล้วคนอื่นเดือดร้อน เห็นเก้าอี้ล้มไหม มีความสุขไหม ประเทศไม่เจริญก็เพราะพวกมึงนี่แหละ มึงจะเรียนช่าง เรียนช่างพ่อมึงเหรอ มึงเรียนช่างมาเพื่อกอบกู้ประเทศ ทักษะทุกอย่างที่โรงเรียนมึงสอนน่ะ ไอ้ที่ทำอยู่หมาก็ทำเป็นได้ ขอความเมตตา (เสียงระเบิดปิงปองดัง) ไอ้จุดประทัดระเบิดปิงปองเนี่ย ไอ้....กระจอก ที่อำเภอหัว...เขาก็จุด แต่พวกมึงเก่งกว่านั้นเรียนมาฉลาดกว่านั้น....พี่น้องครับ ตบมือขอความเมตตาให้พี่ๆ เขาออกไปได้ไหมครับ มีใครรอให้ตีอยู่เยอะแยะอยู่ตามถนนออกไปตีกับเขาสิถ้าเก่ง แถวนี้มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก น่าละอายเกิดเป็นหน้าตัวเมีย ทำเป็นตื่นเต้น เขวี้ยงระเบิดเอง ไล่ตีเขาเอง แล้วเสือกตื่นเต้นเองด้วย...บ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว ผู้ใหญ่โง่ เป็นเด็กอย่าโง่เหมือนผู้ใหญ่”
พงษ์สิทธิ์ คําภีร์ เอ่ยด้วยน้ำเสียงเหลืออด จากเหตุวัยรุ่นตีกันในคอนเสิร์ต “สิงห์ คอร์ปอเรชั่น เปิดหัวใจเพื่อชีวิต 25 ปี คำภีร์ มิวสิค เฟสติวัล” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา...
ความรุนแรงกับคอนเสิร์ต แทบจะเป็นของคู่กันไปแล้ว ยิ่งในปัจจุบัน เทศกาลดนตรีถูกจัดขึ้นแบบเดือนไม่เว้นเดือน การรวมตัวของวัยรุ่นจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยิ่งในต่างจังหวัด คอนเสิร์ตแทบจะกลายเป็นอีเวนต์นัดตีกันในหมู่วัยรุ่น ชนิดที่ว่า ต่อให้ศิลปินที่มาเล่นเพลงป็อปใสๆ อย่างโฟร์ - มดก็ยังตีกันได้
และเมื่อผู้สนับสนุนส่วนมากเป็นผู้จัดจำหน่ายน้ำเมารายใหญ่ ไม่แปลกที่ในคอนเสิร์ตจะมีการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเป็นเรื่องปกติ การตีกันในคอนเสิร์ตที่กลุ่มผู้เข้าร่วมงานเป็นวัยรุ่นจึงแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติตามไปด้วย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนแทบเป็นเรื่องปกตินั้น รต.อ.ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ดูแลหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า การจัดคอนเสิร์ตที่มีวัยรุ่นเป็นผู้ชมนั้นจำเป็นต้องมีการรักษาความปลอดภัยมากเป็นพิเศษซึ่งเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้จัดการ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีพระราชบัญญัติในด้านมาตรการความปลอดภัยของการจัดคอนเสิร์ตไว้
“ประเทศไทยไม่ได้มีกฎควบคุม ดังนั้นกำลังเจ้าหน้าที่ที่ปกติตำรวจจะแบ่งมาดูแลนั้น หากเป็นคอนเสิร์ตที่ใหญ่มากๆ ก็อาจจะไม่เพียงพอ ผู้จัดงานจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย โดยต้องมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดเหตุ ไม่ให้คนพกอาวุธเข้างาน หรือระงับเหตุ อาจให้มีฝ่ายรักษาความปลอดภัยเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ร่วมงาน หากมีท่าทีไม่ชอบมาพากลก็ให้พาตัวออกจากงานก่อน”
ทั้งนี้ เหตุวัยรุ่นตีกันในงานคอนเสิร์ตนั้นมีขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเขาเห็นว่า หลายครั้งจะเป็นวัยรุ่นกลุ่มเดิมที่ตั้งใจจะมาตีกันโดยเฉพาะ วิธีป้องกันคือ การทำประวัติผู้ที่เคยก่อความไม่สงบในงานหลายครั้ง ให้ขึ้นบัญชีดำเพื่อห้ามเข้างาน เป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมาแม้มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นก็ยังไม่มีการจัดการสร้างฐานข้อมูลขึ้น
“ตอนนี้ยังไม่มีมาตรการที่ดีพอในการจัดการ ทั้งฐานข้อมูล หรือแม้แต่กำลังคนในการรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ผู้จัดงานก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ ทำให้หากผู้จัดงานขาดจริยธรรมแล้วต้องการแต่ผลกำไล ก็ไม่แปลกที่จะทำให้การจัดงานมีการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ดีพอ”
บ้าคลั่ง
ความตันในด้านของการจัดคอนเสิร์ตในเมืองไทย ทำให้เวทีดนตรีถูกย้ายเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และสร้างความสดใหม่ สร้างสิ่งดึงดูดผู้คนให้สนใจเข้าร่วมคอนเสิร์ตมากขึ้น การจัดคอนเสิร์ตแบบนอกอาคาร หรือ เอาต์ดอร์จึงเกิดขึ้น
จากเทศกาลดนตรีหัวหิน สู่สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย กระทั่งถึงอุทยานแห่งชาติ แน่นอนว่าส่งผลกระทบโดยตรงถึงสภาพแวดล้อม และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่โดยรอบ
บอย โกสิยพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์ลงหนังสือฉบับหนึ่งไว้ว่า “เริ่มต้นเดิมทีแล้วการจัดคอนเสิร์ตในป่า ต้องการให้ออกมาแบบอันปลั๊ก เล่นเพลงเบาๆ เคล้าบรรยากาศเพื่อไม่ให้รบกวนธรรมชาติและสัตว์ป่า แต่สุดท้ายธุรกิจก็เข้ามาดึงจุดขายตรงนี้มาโปรโมตจนกลายเป็นคอนเสิร์ตใหญ่โตอย่างที่เห็น”
ดังนั้น จากคอนเสิร์ตดนตรีเบาๆ กับธรรมชาติของป่าเขา เมื่อถูกผลักและเร่งเร้าจากกลุ่มธุรกิจที่มองเห็นช่องว่างทางการตลาด ในประเทศที่เงินซื้อกฎได้ คอนเสิร์ตเต็มรูปแบบจึงถูกจัดขึ้นอย่างง่ายดาย
สวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า โดยถือกรรมสิทธิ์อย่างมีจิตสำนึก รวมถึงการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ส่วนรวมอย่างมีจิตสาธารณะ “การเผยแพร่ให้มีการจัดทำคอนเสิร์ตถือว่าเป็นสิทธิ์ของเขา จึงไปบังคับอะไรไม่ได้ นอกจากเทศบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อกำหนดในการใช้เสียง ถ้ามีการขออนุญาตก็ใช้ได้ แต่การใช้เสียงดังมากจนเกินไป สิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนใช้พื้นที่ว่าเมื่อเข้าไปจัดงานแล้วจะก่อให้เกิดอันตราย และเกิดเสียงดังรบกวนสัตว์หรือไม่ เมื่อเจ้าของพื้นที่ได้รับประโยชน์จากคนที่ขึ้นไปเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ต้องมีจิตสำนึกในการใช้บริการด้วย ทั้งสองฝ่ายก็ต้องให้ความร่วมมือกันในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันไหน โรงเรียน บริษัท ห้างร้าน องค์กร หน่วยงานต่างๆ ต้องเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้สภาพแวดล้อมเป็นมลพิษได้ เราทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม”
มั่วเซ็กซ์
การจัดเทศกาลดนตรีกลางป่านั้น ในอดีตผู้เข้าร่วมงานจะเป็นผู้ใหญ่ที่มาเที่ยวต่างจังหวัดสังสรรค์พร้อมฟังดนตรี แต่ในปัจจุบันที่เทศกาลดนตรีกลายเป็นคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบพร้อมศิลปินระดับแม่เหล็กดึดดูดวัยรุ่น ไม่แปลกที่วัยเรียนระดับมัธยมจะอยากมาร่วมงาน ถึงแม้ค่าตั๋วจะแพงหลักพันก็ตาม
โดยสิ่งที่เกิดขึ้นและยากจะหลีกเลี่ยงตามมาจากการที่เด็กวัยเรียนมาดูคอนเสิร์ตร่วมกลุ่มเพื่อนก็คือ การมั่วสุมกัน หลายคนอาจบอกว่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เยาวชนไปแอบทำในที่ลับอยู่แล้ว แต่ในคอนเสิร์ตที่ผู้ใหญ่เป็นผู้จัดขึ้น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่กลับเป็นเรื่องที่อนุญาตให้ทำได้
นี่จึงอาจเป็นจุดขายหนึ่งของผู้จัดงานที่อยากให้ลูกๆ หลานๆ มาอยู่ไกลหูไกลตาพ่อแม่เพื่อมามั่วสุม โดยในเทศกาลดนตรี Big mountain music festivel 4 หรือ “มันใหญ่มาก” ครั้งที่ผ่านมา มีหลายคนแบ่งปันถึงความรู้สึกอัดอั้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในงานผ่านเว็บบอร์ดยอดนิยมอย่างพันทิป ซึ่งมีตั้งแต่เด็กที่ไม่น่าจะพ้นวัยมัธยมมารวมตัวดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือถึงขั้นมั่วเซ็กซ์กัน จนหลายคนพากันขนาดนามคอนเสิร์ตครั้งนี้ว่า มันเละมาก!
“ผมขอ ตำหนิแบบหนักๆนะครับ... ผมไม่ประทับใจงานนี้มาก เด็กน่าจะอายุไม่ถึง 15 ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มั่วเซ็กซ์กัน เต็มๆ ตาที่เวทีหลัก ไม่อายสายตาคน ขนาดข้าราชการที่ใส่เครื่องแบบสีกากีที่นั่นเห็นเด็ก สูบบุหรี่ กินเหล้า ยังไม่ทำอะไร มองตาปริบๆ เห็นแล้วหมดจริงๆ ครับ ผมนึกว่างานที่นี่เป็นงานฟูลมูนปาร์ตี้ซะอีกเพราะอบายมุข เต็มงานไปหมด เสพกันชัดๆ เลย งานนี้เหมือนเป็น เทศกาล ที่ให้เด็กใจแตกกัน...ผมคนหนึ่งล่ะ ถ้ามีลูกมีหลาน คงไม่กล้าให้มา...เพราะผมกลัวว่า มาแล้วจะโดนข่มขืนครับ และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ขอเถอะครับ ทำอะไร...ควรที่จะคิดถึง ความดีงามบ้างเป็นเทศกาลเสียตัว เสียผู้เสียคนแห่งปีจริงๆ ครับ” เป็นเนื้อหาในกระทู้ที่โพสต์โดยคุณ pk_440
การควบคุมไม่ให้เยาวชนซื้อเครื่องดื่มมึนเมานั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีการให้เยาวชนคาดสายรัดข้อมือ แต่ก็มีการเอาออก ทำให้มีคนเห็นว่าเป็นใครก็ซื้อได้ และที่มีการบอกว่ามั่วเซ็กซ์กันนั้น คุณ atc40 ได้โพสต์ไว้ว่า
“น้องผู้หญิงหลายคน เห็นแล้วไม่อยากมีลูกสาว เหมือนผู้หญิงมาบำบัดให้ผู้ชาย อนาถมาก”
แม้บางเสียงจะบอกว่า เป็นเรื่องของช่วงวัยหนึ่ง ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือผู้จัดงานควรห้ามปราม แต่กลับกลายเป็นว่าส่งเสริมและจัดให้เกิดพื้นที่เสรีสุดโต่งแบบนี้เกิดมาแทน
…..
อย่างไรก็ตาม การที่การจัดคอนเสิร์ตปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดกฎหลายอย่าง ตั้งแต่มีการตีกัน การใช้เสียงมากเกินไปในเขตป่า หรือปล่อยให้เยาวชนดื่มเหล้า และถึงขั้นมั่วเซ็กซ์กันได้นั้น คุณ turnontable จากเว็บพันทิป ผู้อ้างว่าตัวเองเป็นผู้อยู่ในแวดวงการจัดงานออกมาแฉว่า การจัดงานพวกนี้ขึ้นตรงกับเทศบาล จึงมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ เหมือนเป็นการปิดเขตเฉพาะของตัวเองขึ้น
“เพราะงานพวกนี้ เวลาทำเรื่องขอจัดงาน จะทำเรื่องตรงกับเทศบาลเมืองจังหวัดนั้นๆ พูดง่ายๆ คือทุกงานยัดใต้โต๊ะทั้งนั้น ทีนี้ก็เหมือนปิดเขตซ่องสุมกันในระยะ 2 - 3 ปีหลัง รุ่นพี่ที่เป็นทีมเครื่องเสียงบอกว่า มีแทงกันตายทุกปี เพราะเหมือนพวกโจ๋ ชอบนัด อริ ข้ามถิ่นมาเจอกันตามงานพวกนี้”
ทั้งนี้ การจัดคอนเสิร์ตเหล่านี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นการจัดคอนเสิร์ตที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ทั้งการขายบัตรแบบไม่จำกัดที่นั่ง การรักษาความสะอาดที่มีถังขยะไม่เพียงพอ การห้ามเยาวชนไม่ให้ซื้อเครื่องดื่มมึนเมาก็ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งการกระทำที่ไร้ความรับชอบผิดกลับทำได้อย่างเป็นเรื่องปกติโดยที่ไม่มีใครสามารถฟ้องร้องเอ่าอความรับผิดชอบของผู้จัดงานเหล่านี้ได้เลย
ข่าวโดย ทีมข่าวLive