ภายใต้หลังเลนส์ที่คอยบันทึกภาพเหตุการณ์อย่างมืออาชีพ “สงคราม โพธิ์วิไล” ผู้คร่ำหวอดในวงการถ่ายภาพมานานถึง 40 ปี หรือแทบทั้งชีวิตเขาเลยก็ว่าได้ ฝีไม้ลายมือการกดชัตเตอร์จึงมาจากประสบการณ์ที่ถูกสั่งสม จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อถวายการใช้กล้อง ถือเป็นนักถ่ายภาพมือฉมังที่หาตัวจับยากอีกคนหนึ่งในเมืองไทย
นอกจากฝีมือการถ่ายภาพจะเป็นที่ประทับใจใครหลายคน จนมีหลายผลงานถูกนำไปแสดงไว้ในสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง เขายังใช้เวลาที่เหลือจากการเป็นครูอบรมตามมหาวิทยาลัย และกองทัพต่างๆ ออกเดินทางพร้อมกล้องคู่ใจไปในหลายสถานที่ ไม่เฉพาะภูมิลำเนาเดิมที่เมืองกาญจน์เท่านั้น แต่ยังเดินทางไปทั่วประเทศไทยเพื่อเก็บภาพความทรงจำเหล่านั้นไว้
“กล้อง” เครื่องมือหยุดกาลเวลา...
“กล้อง คือ เครื่องมือหยุดกาลเวลา ภาพถ่าย คือ อัญมณีทรงคุณค่าในอนาคต”
จากความสนใจเรื่องกล้องและการถ่ายภาพ ทำให้เขามีโอกาสเรียนการถ่ายภาพโดยตรงจากโกดัก โดยมีนายฝรั่งที่ทำงานออกแบบอยู่ด้วยคอยสนับสนุน จึงทำให้เส้นทางนักถ่ายภาพ ได้เริ่มต้นขึ้นจากอาชีพ Architect นี่เอง
“หลังจากนายฝรั่งรู้ว่าผมชอบถ่ายภาพจริงๆ ก็เลยส่งไปเรียนที่โกดักซึ่งเป็นแห่งแรกในไทย จนจบครอสโกดัก นายบอกว่าต่อจากนี้ เราทำอะไร เราคิดอะไร ยูต้องเก็บภาพไว้ให้หมดนะ เพราะมันตรงกับใจผมว่า กล้องคือเครื่องมือหยุดกาลเวลา ตอนนั้นทำเกี่ยวกับ Architect การออกแบบอาคาร งานแรกของผม คือ สยามสแควร์ทั้งหมด โรงแรมหลายแห่ง และโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์เป็นแห่งสุดท้าย เราได้ถ่ายภาพเก็บไว้ ตอนหลังเมื่อมีสมาคมสถาปนิกเกิดขึ้น นายฝรั่งเขาก็หากินไม่ได้แล้ว เพราะต้องเซ็นใบประกอบวิชาชีพโดยคนไทย เขาเลยกลับเมืองนอกกันหมด”
“เราฝังใจมาตั้งแต่เด็กว่า ภาพถ่าย คือประวัติศาสตร์ของตัวเรา เพราะฉะนั้นผมมีภาพแรกในชีวิตเลย คือตอนอายุ 11 ขวบ ได้จ้างช่างมาถ่ายรูปผม ตอนนั้นบานละ 6 สลึง แม่ด่าแทบตาย เขาบอกไม่มีประโยชน์ แต่พอเราอายุ 30 เอาให้แม่ดู แม่ยังด่าอยู่เลยจึงบอกแม่ว่า “แม่ครับ ถ้าผมไม่มีภาพนี้ มีแสนบาท แม่ซื้อได้ไหม” แม่น้ำตาซึมเลย
ผมถือว่ากล้องคือเครื่องมือที่หยุดกาลเวลา หยุดตอนที่ผมอายุ 11 ขวบไว้ ภาพถ่ายมันคือ อัญมณีอันทรงค่า ผมประทับใจตอนที่ได้เป็นสมาชิกสมาคมถ่ายภาพที่อเมริกา เขามีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากบอกว่า “A picture speaks louder than thousand words” ภาพ 1 ภาพ มันพูดดังกว่าคำพูดเป็นพันคำ เหมือนสำนวนไทยที่บอกว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น”
จุดเริ่มต้นของการชื่นชอบการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น มาจากการส่งภาพเข้าประกวด ครั้งแรกเขาส่งไปที่สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แล้วมาลงหนังสือบางกอกโพสต์ ตามส่งประกวดถึงระดับประเทศ จนเริ่มมีคนรู้จักเขามากขึ้นจากงานเขียนบทความพร้อมถ่ายภาพลงสกุลไทย (พ.ศ.2517)
“ตอนเขียนบทความสกุลไทย เป็นสารคดีเกี่ยวกับดอกไม้ แล้วผมเป็นคนชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก ตั้งคำถามว่านี่ดอกอะไร แล้วเราจะให้คนอื่นเห็นเหมือนเรายังไง หาข้อมูลจากคนแถวนั้นแล้วเขียน พร้อมถ่ายภาพ จึงเริ่มมีชื่อสงครามมาตั้งแต่นั้น ตอนนั้นเขาให้ผมภาพละ 100 บาท สมัยนั้นทองคำบาทละ 400 อาทิตย์หนึ่งได้ 200 บาทเลยนะ เราก็ทำใหญ่เลย (หัวเราะ) ต่อมาหันไปเขียนสารคดี ผมเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อว่า “บ้านเมืองของเรา” เวลาไปเที่ยวที่ไหน อ่อ...นี่บ้านเมืองของเรานะ ไปถ่ายภาพ แล้วเอามาเขียนเรื่องยาวหน่อย เขาให้เรื่องละ 200 บาทแล้วคราวนี้
แต่คนในสมาคมรู้จักผมก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ท่านหนึ่งที่ผมลืมไม่ได้ คือท่านอาจารย์พูน เกษจำรัส ศิลปินนักถ่ายภาพคนแรกของไทย เป็นคนที่บอกว่าสงครามประกวดได้รางวัลเยอะแล้ว มาเป็นกรรมการตัดสิน มาเป็นผู้บรรยายเถอะ”
และตอนนี้เขาเป็นรองเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมการถ่ายภาพแห่งประเทศไทย และเป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ของวารสารสมาคมธุรกิจการถ่ายภาพอีกด้วย
ไม่มีค่าจ้าง ผมก็ไปสอน
เหมือนอย่างที่นายจ้างฝรั่งเรียกเขาว่า “แบล็ก ซูเปอร์แมน” เพราะทำอะไรได้สารพัดอย่าง จะเห็นว่าในแต่ละวันงานส่วนใหญ่จะเป็นการสอนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เฉพาะเรื่องการถ่ายภาพเท่านั้น ด้านกองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ ก็สอนเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ และงานสืบสวนสอบสวน ถึงแม้ว่าองค์กรไหนไม่มีเงินจ้างเขาก็ไปสอนด้วยความเต็มใจ สมกับฉายาซูเปอร์แมนที่ทำเพื่อสังคม
“เวลาผมไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยแล้วเขาไม่ค่อยมีเงินจ่ายค่าวิทยากร พระรูปหนึ่งพูดว่า “โยมมาช่วยที่นี่ไม่มีเงินนะ” ผมบอกว่า “ไม่เป็นไรครับหลวงพ่อ” “โยมทำบุญด้วยความรู้ โยมได้บุญเยอะนะ” ท่านบอกแค่นี้ ผมก็อิ่มแล้ว บางมหาวิทยาลัยไม่มีตังค์ให้เลยนะ ผมก็บอกไม่เป็นไร ผมสอน ม.รามฯ 4 วันได้ค่าน้ำมันรถพันหนึ่ง แต่บางทีไปสอนบางแห่ง เขาก็ให้เราเยอะมากกว่าที่คิด วันหนึ่งต้อง 2-3 หมื่น แต่เราก็ไม่ได้เลือก ให้ไปที่ไหนก็ไป ไปได้เท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีก็คือไม่มี มันก็สนุกไปอีกแบบ”
“ผมสอนได้ทุกอย่าง ตัวผมมีหลายเวอร์ชัน ตั้งแต่งานประชาสัมพันธ์ จนถึงเทคนิคการถ่ายภาพ ช่างภาพต้องมีความรู้หลายด้าน อย่างการตัดสินภาพถ่าย เราต้องดูหมดเลยตั้งแต่เรื่องของเวลา ผมดูแล้วจะสามารถบอกได้เลยว่านี่หน้าฝน หน้าหนาว หรือหน้าร้อน เห็นได้จากเงา เพราะฉะนั้นผมจะบอกกับทุกคนว่า ถ้าคุณอยากเป็นนักถ่ายภาพที่ดี ต้องรู้ 4 ศาสตร์ คือ
1.ประวัติศาสตร์ จะถ่ายภาพอะไรต้องรู้เรื่องราวที่มาของภาพนั้น 2.วิทยาศาสตร์ รู้เรื่องกล้อง เลนส์ 3.ศิลปศาสตร์ คือความงาม ไม่ได้เกิดจากแค่ตาดู แต่ต้องเห็น ไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่ต้องฟัง สุดท้าย คือ 4.สังคมศาสตร์ เวลาถ่ายภาพต้องคิดว่าภาพนี้จะออกไปสู่สังคมแบบไหน จะให้ความสุขแก่สังคมด้วยภาพถ่ายยังไง ใน 1 ภาพรวม 4 ศาสตร์ ฉะนั้นนักถ่ายภาพต้องอ่านภาพนั้นให้ทะลุเหมือนกัน”
นอกจากนี้นักถ่ายภาพจะมีกฏ 6 ข้อ คือ สวยด้วยแสง แรงด้วยสี ดีด้วยเรื่อง เฟื่องด้วยปัญญา แสวงหา และรอคอย นี่เป็นศิลปศาสตร์ที่นักถ่ายภาพอย่างเขาท่องได้อย่างขึ้นใจ
“ผมเคยนั่งตั้งแต่ตี 5 ถึงทุ่มนึงในที่เดียว สมมติไปชายทะเล นั่งตั้งแต่ตี 5 แล้วก็จะดูเวลา เราจะรู้ว่าโลกเคลื่อนที่ 1 องศา มันใช้เวลา 4 นาทีนะ เมื่อเราถ่ายในจุดเดิม ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลง ผมไปอยู่บนภูเขาก็นั่งบนหน้าผาเลย ดูดวงอาทิตย์ขึ้น เอ๊ะ! ทำไมหน้าหนาวอาทิตย์ไปทางนี้ แล้วหน้าร้อนทำไมมันเป็นอย่างนี้”
“เวลาผมไปสอนชาวต่างชาติ จะมีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า no mountain too high ไม่มีเขาใดสูงเกินฝ่าเท้านักถ่ายภาพ no forrest to deep ไม่มีป่าใดลึกเกินกว่าที่ช่างภาพจะเข้าไปได้ no art to limit ไม่มีศิลปะใดมาขีดกรอบให้ช่างภาพได้ no life to belongs ชีวิตช่างภาพไม่ได้ยืนยาว แต่ภาพที่ถ่ายไว้จะอยู่นิรันดร เหมือนกับภาพที่รัชกาลที่ 5 ถ่ายไว้ตอนนั้นมันมีคุณค่ามาก ผมเคยนั่งค้นประวัติท่านอยู่ 3 ปี เพื่อจะนำมาเป็นบิดาแห่งนักถ่ายภาพไทย และตอนนี้ถือวันที่ 21 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันนักถ่ายภาพไทยด้วย”
“ผมปวารณาตัวเองว่า จะขอถ่ายภาพตราบวันตาย” เขาเดินทางไปทุกที่ที่อยากไป ไปสอนทุกแห่งที่มีคนเชิญ ตารางงานที่ลงบันทึกไว้เองแทบไม่เหลือวันว่างให้เห็น แต่บนความเหนื่อยก็มีความสุขใจที่ได้ทำในสิ่งที่เขารัก
“ผมไปมาหมดแทบทุกจังหวัด ไม่มีจังหวัดไหนที่ยังไม่ได้ไป และเทือกเขา ยอดเขาก็ยังอยากไปอีกหลายที่ ทุกวันนี้ว่างๆ ก็เขียนหนังสือ เพราะว่าคนให้เขียนบทความค่อนข้างเยอะ ให้องค์กรต่างๆ บางทีผมก็ไม่มีเวลาเขียน อย่างแคนนอนให้เขียน 3 วันเรื่องนึง แต่ผมบอกไม่ไหว เอา 10 วันเรื่องนึงแล้วกัน เพราะเรามีไปบรรยายต่างจังหวัดด้วย บางทีไม่ได้พักเลย แต่เราเต็มใจที่จะทำ มีความสุข ไปไหนก็มีกล้องติดไปด้วย ทุกที่ที่ไป”
ได้ถวายการใช้กล้อง คือสิ่งสูงสุดในชีวิต
จากการชักชวนของอาจารย์พูน เกษจำรัส และอาจารย์จิตต์ จงมั่นคง จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในหลวงเพื่อถวายการใช้กล้อง รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้ได้รับใช้อย่างใกล้ชิด และได้ความรู้จากสิ่งที่พระองค์ทรงรับสั่ง จึงเป็นความสุขใจที่มีคุณค่ามากที่สุดในชีวิตของเขา
“ถือเป็นโชคดีสูงสุดในชีวิต คือการถวายการใช้กล้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายให้สมเด็จพระเทพฯ ถวายให้ท่านหญิงสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และพระองค์โสมฯ วังสวนกุหลาบ เป็นความปีติสุข เราเข้าไปได้เพราะท่านอาจารย์พูน ท่านถวายคำอธิบายเรื่องกล้องให้ในหลวงบ่อย ท่านก็ชวน และอีกคนหนึ่ง คืออาจารย์จิตต์ จงมั่นคง ท่านล้างฟิล์มให้ในหลวงมาประมาณ 30 ปี ฟิล์มทุกม้วนของในหลวงอาจารย์จิตต์ล้างหมดเลย และผมกับอาจารย์มีความสนิทกัน”
“ในหลวงท่านเคยรับสั่งว่า เคยรู้ไหมว่าเสียงชัตเตอร์ของตัวเองดังยังไง ทุกคนก็ตอบดังโชะ ดังแชะ แต่ในหลวงบอกว่าของฉันดัง 7 บาท ท่านเลียนเสียงว่าเชดเบิด ก็คือ 7 บาทนั่นเอง ท่านบอกว่า รู้ไหมเวลากดชัตเตอร์แต่ละครั้งกล้องมันสึกหรอ รู้ไหมเวลาออกไปถ่ายภาพมันก็มีค่ากิน ค่ารถ และเอาฟิล์มไปล้างก็เสียค่าล้าง กว่าจะได้ภาพหนึ่งภาพนี่เราเสียเงินไป 7 บาท”
และสิ่งที่ผมพูดทีไรก็รู้สึกขนลุก และตื้นตันทุกครั้งเลย ตอนนั้น พ.ศ. 2525 ผมเป็นบรรณาธิการฝ่ายเทคนิคศิลปะหนังสือถ่ายภาพ “โฟโต้ แอนด์ กราฟเฟอร์” พอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายกล้องในหลวง ท่านถามผมว่า คุณสงครามทำอะไร “ข้าพระพุทธเจ้าเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พุทธเจ้าค่ะ” ท่านบอกว่า “ถ้ายังงั้นดีแล้วนะ แล้วไปบอกพวกเราด้วยนะว่าถ่ายภาพกันดีๆ” ผมสะกิดใจคำว่าพวกเรา คือผมติดนิสัยมาจากฝรั่ง คือสงสัยอะไรต้องถาม ไม่เก็บ บางคนก็หาว่าผมจู้จี้ เราคิดในใจแวบหนึ่งว่าคนธรรมดาอย่างเรา ทำไมท่านใช้คำว่าพวกเรา ผมจึงถามท่าน ท่านยิ้มมีความสุขมากเลย แล้วบอกว่า “อ้าว! เราคนถ่ายภาพด้วยกันนะ เราเป็นพวกเดียวกัน” ผมรู้สึกว่าทำไมท่านทรงมีพระเมตตาอะไรเราอย่างนี้ ตั้งแต่นั้นมาไม่ว่าจะไปบรรยายที่ไหน ผมจะใช้คำว่าพวกเราตลอดเลย
ส่วนพระเทพฯ เคยถามเหมือนกันว่า ภาพถ่ายฉันจะรู้ได้ยังไงว่าเช้าหรือเย็น บางคนบอกนกบิน เห็นก้อนเมฆ เราก็งงๆ เลยถามท่านว่าแล้วใต้ฝ่าพระบาทรู้ได้ยังไง พระเทพบอกว่า “จะเป็นเช้าหรือเย็น ฉันรู้ได้แน่ๆ ถ้าพระบิณฑบาต แสดงว่าเช้า” พระเทพฯ ท่านมีพระอารมณ์ขันมากกว่าพระองค์อื่นเยอะ
ท่านหญิงสิริวัณณวรีฯ ผมสอนท่านตั้งแต่อยู่วังสวนจิตรลดา เป็นพระองค์แรกที่ได้สอน ส่วนใหญ่เข้าไปถวายการใช้กล้อง ท่านชอบเรื่องของศิลปะ ส่วนพระองค์โสมฯ ท่านอยากถ่ายภาพใต้น้ำ เพราะคิดว่าได้เห็นอะไรไม่เหมือนคนอื่น”
ราคาภาพ ขึ้นอยู่กับความพอใจ
พอมีชื่อเสียงแล้ว ผลงานก็ต้องมีราคา! นั่นเป็นสิ่งที่หลายคนคิด แต่สำหรับเขาไม่เคยกำหนดราคาภาพของตัวเอง แม้ว่าตอนนี้จะมีชื่อเสียงมากขนาดไหน และเป็นที่รู้จักของคนในวงการถ่ายภาพมากเท่าไหร่ เพราะเขาตั้งปณิธานไว้แล้วว่าสิ่งสำคัญมันขึ้นอยู่ที่ความพึงพอใจของคนซื้อมากกว่า
“ผมไม่เคยตั้งราคาภาพของตัวเอง มีคนเอาภาพของผมไปแสดงที่เซ็นทรัลเวิลด์ ก็มีคนหนึ่งเดินมาดูภาพ เขาถามว่าขายไหม ขายเท่าไหร่ เราถามกลับเลยว่าท่านตีมูลค่าภาพผมเท่าไหร่ครับ ถ้าท่านชอบ ให้ผมเท่าไหร่ก็ได้ ในใจผมคิดว่า 2,500 บาท ทุนเราประมาณ 1,200 บาท ถ้าเขาให้ 1,500 ผมก็ขาย ขายเพื่อให้ภาพเรามีคุณค่า ไม่ได้เก็บเอาไว้ เขาเดินไปดูภาพอื่น หายไปสักครึ่งชั่วโมง พอกลับมาเขาตกลงซื้อภาพ ให้ราคา 15,000 บาท เป็นภาพที่ได้ราคาแพงที่สุด ซึ่งเป็นภาพเด็กขี่ควาย ผมถ่ายมาประมาณ 20 ปีได้แล้ว ที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก”
อย่างสุวรรณภูมิ ซื้อภาพผมไปทั้งหมด 8 ภาพ ตอนนี้ที่ผมเห็นมีแค่ 3 ภาพเอง ขยายใหญ่ 2 เมตร 3 เมตร เลยนะ มีภาพน้ำตกแม่ห้วยขมิ้น กาญจนบุรี ภาพหาดวนกร ประจวบฯ อีกภาพหนึ่งเป็นผลไม้ไทย ตอนนั้นเขาให้ผมภาพละ 8,000 บาท”
“ผมไม่เคยประกาศขายภาพนะ ส่วนใหญ่ลูกศิษย์แนะนำมา เมื่อ 30 ปีก่อน มีคนมาขอซื้อภาพไปทีละหลายสิบภาพ ให้ภาพละ 40-60 บาท เพื่อไปทำโปสเตอร์การเรียนการสอน เช่น ดอกไม้ในวรรณคดี สถานที่สำคัญ และเมื่อคราวที่แล้วมีเอเยนซีมาขอซื้อภาพผม เขาถามขายเท่าไหร่ ผมบอกว่าผมไม่เคยตั้งครับ คุณอยากให้เท่าไหร่ก็ให้มาเถอะครับ ผมไม่เคยคิดว่าจะถูกหรือแพง มันอยู่ที่ความพึงพอใจ ถ้าคุณพึงพอใจ คุณก็ยอมจะจ่าย แต่ถ้าคุณไม่พึงพอใจ ให้เปล่าก็ไม่เอา แต่มีครั้งหนึ่งเคยคิดว่าภาพนี้ประมาณ 3,000 บาท แต่เขาให้ 1,000 เดียว แต่เราก็โอเค ตามปณิธานที่เราตั้งใจไว้ เขาพึงพอใจที่จะซื้อของเราเท่านี้ก็โอเค ถ้าเราไม่ขายคิดว่าให้น้อยไป ก็เท่ากับเราไปดูถูกความคิดเขา”
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์
และขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก “สงคราม โพธิ์วิไล”