xs
xsm
sm
md
lg

สภาจริง...สภาโจ๊ก การเมืองเรื่องขำๆ ในสภาผู้ทรงเกลียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากเปิดประชุมสภายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านเปิดฉากซัดรัฐบาลหลายข้อหา โดยมีวิวาทะดุเดือดของนักการเมืองหลายต่อหลายคู่เป็นประเด็นทางสังคม

ตั้งแต่กรณีการโยกย้ายตำแหน่งโดยมิชอบ การบริหารงานทุจริตจนถึงพฤติกรรมลุแก่อำนาจ อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การยื่นมติไม่ไว้วางใจเป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น ดูจะไม่มีผลต่อการเมืองในทางปฏิบัติสักเท่าไหร่ จนหลายคนมองว่าเป็นเพียงการเล่นละครของนักการเมืองเท่านั้น

ยิ่งมาถึงตอนนี้...มีกรณีนักการเมืองถึงขั้นอุ้มพระเข้าสภาท้าสาบาน จุดเป็นประเด็นแทบจะบดบังพื้นที่ทุจริตอื่นๆ จนบางทีก็ชวนให้คิดว่า หรือการเมืองกลายเป็นเรื่องบันเทิงเบาสมองไปเสียแล้ว

ปาหี่การเมือง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นพิธีการอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย การทำหน้าที่ทางการเมืองในฐานะฝ่ายค้าน กับฝ่ายรัฐบาลในสภาคือการขับเคลื่อนการอภิปรายเพื่อชี้แจง ทวงถามบุคคลในตำแหน่งการเมืองถึงหน้าที่ บทบาท และความถูกต้องในการทำงาน

แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วผลคือมีมติไว้วางใจ การลุกขึ้นพูดของฝ่ายค้าน การทำงานในฐานะของการตรวจสอบเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล ตลอดจนการชี้แจงของรัฐบาลก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

ทว่าสภาพการณ์ของการประชุมสภาหลายครั้งก็ชวนให้รู้สึกสิ้นหวัง

แม้จะมีมีสัน ตั้งแต่การแสดงชาร์ตหลักฐานตัวเลขในแบบประชาธิปัตย์ พร้อมคลิปแฉที่เรียกกระแสความฉาว ซัดทอดถึง การกลั่นแกล้งข้าราชการทหารโดยพล.อ.อ. สุกำพล สุวรรณทัตในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม

ต่อด้วยราชาสร้างกระแสอย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ที่แฉทั้งภาพถ่ายพร้อมคลิปการแอบเปิดบ่อนพนัน พร้อมอุ้มพระพุทธรูปพระแก้วมรกตเข้าสภาท้า ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง สาบานว่าไม่ได้รับผลประโยชน์จริง!

จากนั้นก็ต่อด้วยการแฉกรณีการทุจริตในการขุดลอกคูน้ำและการบริหารงานในอดีตบนพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักรของ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดทัย แต่มีการให้ประเสริฐ จันทรรองทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุกขึ้นชี้แจงแทนจนมีการประท้วงของฝ่ายค้าน

การอภิปรายยุคนี้ดูจะมีสีสันทั้งข้อมูล ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ทั้งยังยกพระมาพร้อมสรรพ จนประชาชนที่รับข้อมูลได้รับความบันเทิงไปอีกแบบ

แต่การตอบของรัฐบาล หลายครั้งก็มีการเบี่ยงประเด็น หรือถึงขั้นให้คนอื่นตอบแทน และหลายครั้งก็กลายเป็นกวนประสาท ปะทะฝีปากเหมือนเด็กประถมทะเลาะกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นธรรมชาติหนึ่งของการอภิปรายไปแล้ว กลายเป็นสิ่งที่หลายคนเรียกว่าชั้นเชิงเสียด้วยซ้ำ

สิ่งที่คนจับจ้องไฮไลต์ในการศึกอภิปรายหลายครั้งจึงเป็นการนำเสนอแปลกๆ หรือวาทะโต้ตอบดุเด็ด
และแม้ว่าฝ่ายค้านจะนำเสนอข้อมูลมากมายเพียงใด ประชาชนจะมองเห็นถึงความไม่ชอบธรรมในการดำเนินนโยบายชัดเจนขนาดไหน หรือมีหลักฐานที่นำมาเสนอในสภาที่แน่นหนาเพียงใด ผลสุดท้ายของการอภิปรายย่อมจบลงด้วยมติไว้วางใจอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในสภา

ทำให้การฟังการอภิปรายหลายยุคหลายสมัยจึงเหมือนเป็นการดูอะไรเดิมๆที่เพิ่มสีสันของการปาหี่ในแบบใหม่ที่เรียกกระแสฮือฮาให้แก่สังคม มากกว่าจะเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการจับผิดซักฟอกรัฐบาลอย่างแท้จริง

หรือแม้แต่การอ่านโพย หรือการจับคำพูดผิดของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็กลายเป็นขำขันโง่ๆ ที่ยิ่งจะทำให้รู้สึกสิ้นหวังต่อบุคคลที่ได้รับเลือกมาโดยประชาชน กลายเป็นเป้าโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมนับครั้งไม่ถ้วน จนสังคมแทบจะชาชิน และบอกผ่านได้แล้วว่า ถ้าไม่บกพร่องหรือวิกลจริตทางสติปัญหาจริงๆ ก็มาเป็นนักการเมืองได้

พฤติกรรมในการรับชมการถ่ายทอดการประชุมสภาของประชาชนก็เป็นไปในทางแบ่งฝังแบ่งฝ่าย แสดงความเห็นชนิดที่ว่า ต่อให้ผิดหากเป็นฝ่ายที่รักก็ถูกต้องเสมอ ยิ่งเมื่อล่าสุดกับการอภิปรายของฝ่ายค้านต่อนโยบายจำนำข้าวที่โกงทุกขั้นตอน ทว่าเอกสารลับที่สุดที่ยื่นถอดถอนนายกยิ่งลักษณ์กลับไม่มีเรื่องจำนำข้าว!

นี่เองที่เป็นใบประกาศชัดเจนว่า สภาแห่งนี้คือโรงละครของผู้ทรงเกียรติอย่างไม่ต้องสงสัย

ในสภาเอาฮา นอกสภาต้องเอาจริง!

การอภิปรายในสภานั้น แม้จะมีการสื่อสารที่สร้างสีสันมากมายจนหลายคนคิดว่า เอาจริงกันบ้างเถอะ แต่ ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองว่า การอภิปรายที่มีสีสันช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยตื่นตัวต่อการเมืองมากขึ้น

“สิ่งที่ทำถ้ามันไม่หยาบคายหรือผิดอะไร ผมก็เห็นว่าฝ่ายค้านเอาข้อมูลมาอภิปรายซึ่งน่าสนใจ หลายอย่างก็ชัดเจน ผมว่ามันก็สร้างความแปลกใหม่ที่ทำให้ประชาชนจดจำ เหมือนเป็นเอกลักษณ์ของนักการเมืองแต่ละคนด้วย การนำเสนอข้อมูล รวมถึงรูปแบบการอภิปรายที่ดึงดูดความสนใจมีส่วนต่อสังคมด้วย”

การเมืองในสภานั้นอาจจะยังมีส่วนที่หวังผลทางการเมืองอยู่ด้วย ชูวิทย์เป็นกรณีศึกษาที่ต้องพูดถึงกับสไตล์เฉพาะตัวในการเรียกเสียงฮือฮา ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ มองว่า เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และส่งผลทางจิตวิทยาให้เกิดความแตกต่าง กับผู้เสพก็มีรสชาติมากขึ้น

“กลายเป็นความบันเทิง จุดขายเฉพาะตัว เป็นสไตล์ที่คนอาจจะไม่คิดอะไรมาก ในการเรียกร้องความสนใจ ทำให้น่าเชื่อถือ เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองด้วย”

หากแต่ที่สำคัญคือการทำงาน การอภิปรายในสภานั้นผส.ดร.สัมฤทธิ์เห็นว่า เป็นการหวังผลในระยะยาวมากกว่า โดยการทำให้รัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือ และเวทีนี้ก็สร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมามากมาย

“ในเกมการเมืองการอภิปรายยังไงฝ่ายค้านก็ไม่ชนะ เพราะถือเสียงข้างน้อยกว่า แต่การสร้างความน่าเชื่อถือกับประชาชนว่า การดำเนินงานของรัฐบาลไม่โปร่งใสเป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องทำ แม้ตอนนี้มันก็ยังไม่ถึงกับทำให้รัฐบาลอ่อนลงก็ตาม”

อย่างไรเสีย ในระยะยาวแล้ว นักวิชาด้านรัฐศาสตร์มองว่าในปัจจุบันไม่มีระบบการติดตามการคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง ว่าง่ายๆคือ พอพูดในสภาจบปุบก็จบกันไป

“การอภิปรายในสภาหลายคนอาจจะเบื่อ มองว่าเป็นพิธีการอย่างหนึ่งที่ไม่มีความหมาย จริงๆแล้ว มันต้องมีกลไกอื่นๆ ต่อจากนั้นด้วย กลไกของวุฒิสภา หรือประชาสังคมในการตรวจสอบ”

กรณีเก่าก่อนนั้นการถูกอภิปรายในสภาหลายเรื่องถูกพูดจนเป็นตราบาป แต่การที่ปัจจุบัน พูดแล้วเงียบหาย นักการเมืองฝ่ายค้านจึงไม่ใช่คำตอบในการซักฟอกรัฐบาล หากแต่เป็นในภาคส่วนอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนักวิชาการ สื่อ หรือประชาสังคม

แต่การเมืองแบ่งฝักฝ่ายในปัจจุบัน การฟังการอภิปรายที่เต็มไปด้วยอคติของพรรคที่รักที่ชอบ ทำให้การอภิปรายแทบจะไม่ส่งผลใดๆ นอกจากเป็นการเปิดเวทีวิวาทะกัน ในการแก้ไขปัญหานี้นั้น ผศ.ดร.สัมฤทธิ์ เห็นว่า สังคมไทยต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาเป็นกรณีๆไป

“กรณีนี้ผิด ก็ต้องว่าไปตามผิด มันจะมีสีไม่ได้ ทุจริตจริงๆ เห็นชัด การเมืองในเรื่องที่ถูกผิดอย่างการทุจริตต้องไม่มีสี หรือแบ่งฝ่าย”

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายแม้หลายคนอาจจะมองว่าไม่มีความหมาย แต่ก็เป็นหน้าที่หนึ่งของนักการเมือง

“การอภิปรายฝ่ายรัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัด มันตลกเกินไปถ้าจะพูดไปเรื่องโน่นเรื่องนี้ ฝ่ายค้านก็อย่าเรียกคะแนนนิยมส่วนตัวหรือเอาสะใจ ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน และไม่ใช่ทำแบบเล่นละครให้มันจบๆไปเท่านั้น”

…....

พื้นที่ของการอภิปรายถูกมองว่าเป็นละครฉายซ้ำที่ไม่มีความจริง มีแค่หัวโขนของบทบาทที่สร้างขึ้น แต่ระบบกลไกของประชาธิปไตยก็ไม่ได้มีมุ่งแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในสภา หากแต่นอกสภาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ขับเคลื่อนสังคมได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น