แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นพิกัดศูนย์กลางของเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าหลายปีมานี้ เราได้รับแรงสะเทือนเสียทุกครั้งไป โดยเฉพาะตามตึกสูงระฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ที่สร้างความตื่นตระหนกอยู่เนืองๆ ซึ่งสิ่งที่น่าวิตกไปกว่านั้นคือ บรรดาตึกสูงในประเทศเรายังขาดมาตรการรองรับกรณีแผ่นดินไหว และยังมีการเปิดเผยอีกว่า ผืนดินในเมืองหลวงนั้นอ่อนมาก ถ้าเกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรงตึกสูงทั้งหลายมีความเสี่ยงถล่มแน่นอน
เหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.6 ริกเตอร์ ที่ประเทศพม่า (11 พ.ย.) ถือเป็นเหตุครั้งล่าสุด ถึงบ้านเราจะไม่ได้รับแจ้งเหตุรุนแรงเพราะอยู่ห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตร แต่ชาวกรุงที่อยู่บนอาคารสูง รวมทั้งชาวบ้านทางภาคเหนือก็สัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือน ส่วนประเทศที่เกิดเหตุนั้นได้รับความสูญเสียอย่างหนัก
อย่าชะล่าใจ เพราะสภาพพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นมีลักษณะเป็นแอ่ง ลักษณะพื้นดินด้านล่างอ่อนเป็นเลน ลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายกับกรุงเม็กซิโก ซิตี ที่ในอดีตเคยได้รับความเสียหายครั้งใหญ่จากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางออกไปมากกว่า 300 กิโลเมตรราวปี 2528 ซึ่งกลายเป็นบทเรียนที่ผู้เชี่ยวชาญแขนงที่เกี่ยวข้องในไทยร่วมศึกษาหาเพื่อหาแนวทางลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ตึกสูงเสียดฟ้า อัตราเสี่ยงที่มากกว่า
ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว (24 มี.ค. 2554) ก็เคยเกิดกรณีแผ่นดินไหวในประเทศพม่าที่สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวไทยเช่นกัน เพราะแรงสั่นสะเทือนในครั้งนั้นส่งผลให้ตึกรามบ้านช่องของเราเสียหายไปด้วย ซึ่งดูจะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมไทยเริ่มตระหนักในภัยพิบัติธรณีวิปโยค
ครั้งนั้นหลังเหตุการณ์สงบ สำนักงานกรุงเทพฯ ก็เร่งตรวจสอบตึกสูงหลายแห่ง ไล่ตั้งแต่ตึกที่รู้จักกันดี อย่างตึกใบหยก, โรงแรมดุสิตธานี, อาคารพาณิชย์ย่านสาทร สีลม ฯลฯ
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ในกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นดินอ่อน ฉะนั้น หากเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงตึกสูงๆ ก็เตรียมรับสภาพย่อยยับทุกหย่อมหญ้า ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าวย้ำว่าเมืองหลวงของเราเป็นพื้นที่เสี่ยง
“ทั้งกรุงเทพฯ แอ่งของกรุงเทพฯ มันคลุมหลายจังหวัด กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนแอ่งดินอ่อน แต่เดิมเป็นทะเลมาก่อน เพราะฉะนั้น มันเป็นพื้นที่ดินอ่อนที่ใหญ่มาก”
ไม่ว่าตึกสูงจะตั้งตระหง่านย่านไหน สีลม, บางรัก, สาทร, พญาไท, ห้วยขวาง, ดอนเมือง ฯลฯ รับรองได้ว่ารับผลกระทบไม่แพ้กัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวอธิบายถึงโครงสร้างของตึกสูงในกรุงเทพฯ ว่า เรื่องมาตรฐานการออกแบบก่อสร้าง จะอาคารพาณิชย์เสียดฟ้า หรือดอนโดฯ หรูหลายสิบชั้น ส่วนมากถูกออกแบบภายใต้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ แต่อาจติดในเรื่องการต้านแรงแผ่นดินไหว
“ถ้าไม่ได้ออกแบบให้อาคารทนแรงสั่นได้ อาคารก็จะมีทั้งอาคารอ่อนแอ ธรรมดา และแข็งแรงปนกันไป ต่างกัน ถ้าตั้งใจออกแบบให้อาคารนั้นทนแผ่นดินไหวได้ อาคารทุกๆ ตัว ที่ออกแบบอย่างถูกวิธีก็จะทนได้ในระดับหนึ่ง”
แผ่นดินไหวเขย่ากรุงเทพฯ ชั้นใน-ชั้นนอก
ถามว่าตึกสูงในประเทศไทยรองรับความรุนแรงได้แค่ไหน ทางผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวท่านเดิมก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนนัก เพราะต้องดูปัจจัยในการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งประกอบด้วย โดยเฉพาะศูนย์กลางที่เกิดเหตุ รวมไปถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง
“พื้นดินสั่นสะเทือนถ้าสั่นเบาๆ โครงสร้างมันยังทนได้ ถึงโครงสร้างไม่ได้ออกแบบต้านทานแผ่นดินไหวเลยก็ทนได้ แต่ถ้ามันสั่นแรงขึ้นๆ ค่อนข้างตัวอาคารอ่อนแอ หรือมีจุดอ่อนอยู่เยอะก็จะเสียหายรุนแรง และมันอาจจะพังทลายบางส่วน มันแล้วแต่ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ความเหนียวของตัวโครงสร้าง”
ตามข้อมูลจดหมายข่าว IPRB รศ.ดร.อมร พิมานมาศ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรม โครงสร้างและสะพาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้อธิบายถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหว ได้แก่ 1. พื้นที่นั้นอยู่ใกล้รอยต่อของเปลือกโลก หรือ Ring of Fire หรือรอยเลื่อน ที่มีศักยภาพที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว 2. พื้นที่นั้นตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนหรือไม่ 3. โครงสร้างของอาคารบ้านเรือนในพื้นที่นั้นออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวหรือเปล่า
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางก็เป็นอันตรายได้ แน่นอนว่าตึกรามบ้านช่องที่ตั้งบนพื้นดินอ่อนในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งปริมณฑล อย่างนทบุรี ปทุมธานี ไปจนถึงสมุทรปราการ และสมุทรสาคร ยิ่งเป็นอาคารบ้านเรือนที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อป้องกันภัยแผ่นดินไหวย่อมได้รับผลอย่างหนัก
ปรับมาตรฐานอาคารรับแรงสะเทือน
อาจเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่เคยเผชิญเหตุการณ์แผ่นดินไหวขั้นรุนแรง การก่อสร้างอาคารสูงจึงไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการรองรับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวเท่าที่ควร ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า เบื้องต้นของการก่อสร้างอาคารในประเทศไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2550 ออกมาบังคับใช้ แต่เนื้อหายังไม่ชัดเจน มาตรฐานที่กำหนดไว้ก็ไม่ทันยุคทันสมัย
2 ปีถัดมา กรมโยธาธิการก็จัดทำข้อกำหนดให้เหมาะสมมากขึ้น สร้างมาตรฐานใหม่แก่อาคารสูงในเขตกรุงเทพฯ และทั่วประเทศเพื่อรองรับป้องกันในเรื่องแผ่นดินไหว
แต่ยอมรับว่า วิศวกรผู้คุมงานก่อสร้างก็ดี หรือเจ้าของโครงการตึกสูงก็ดี ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก เพราะเป็นเรื่องใหม่ และยังต้องปรับตัวกันอีก ดร.เป็นหนึ่งให้ทัศนะว่า ความตื่นตัวมีเพิ่มขึ้นแน่นอน การเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้นมีผลต่อการรับรู้ เกิดการติดตาม และสร้างความเข้าใจ ประชาชนเองมีส่วนกดดันเพื่อเร่งสร้างมาตรฐานใหม่ให้ตึกสูงในเมืองไทย
“มีความตื่นตัวแต่ว่ายังไม่มีแอ็กชันที่ดีพอ อาคารรุ่นใหม่ก็พยายามที่จะออกแบบเป็นเรื่องเป็นราว ทางเราให้การแนะนำเป็นเรื่องเป็นราวไปเหมือนกัน แต่หลายโครงการก็ยังไม่ได้ใส่ใจเรื่องพวกนี้ ประชาชนต้องทราบเรื่องนี้ก่อน ในหมู่วิศวกรก็มีทั้งคนที่ใส่ใจ และไม่ใส่ใจ ในหมู่ของเจ้าของโครงการหลายเจ้าก็ใส่ใจมากขึ้น บางที่แม้ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยก็ยังเอาจริงเลย”
แม้การออกแบบ หรือแก้ไขโครงสร้างอาคารให้รองรับแรงสั่นไหวของแผ่นดินนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทางเจ้าของโครงการฯ ก็ต้องยอมจ่าย เพราะนั่นหมายถึงสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ
….................
ไม่รู้ว่าโลกของเรากำลังเขาสู่ยุคแห่งภัยพิบัติหรือเปล่า เพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ธรรมชาติได้มอบบทเรียนครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าแก่มนุษย์ ถึงเราจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงไร แต่ท้ายที่สุดก็คงฝืนธรรมชาติไม่ได้
จะว่าไปภูมิศาสตร์ของประเทศไทยยังถือว่าโชคดีกว่าหลายๆ ประเทศ เพราะไม่ได้ตั้งบริเวณศูนย์กลางการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ผลกระทบก็ถือว่ายังน้อย อย่างไรก็ตาม บรรดาตึกสูงราวกับสร้างขึ้นมาท้าทายปรากฏการณ์ธรรมชาติคงนิ่งนอนใจต่อภัยพิบัติไม่ได้ เร่งสร้างมาตรการป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ เถิด
ข่าวโดย : ASTVผู้จัดการ LIVE