แม้แต่ถนนหนทางกลางเมืองก็ค้นหาความปลอดภัยกันไม่เจออีกต่อไปแล้ว! แค่จอดรถคันหรูและวางของที่มีค่าน้อยบ้าง-มากบ้างเอาไว้ในรถ คลาดสายตาแว้บเดียวก็ถูกหัวขโมยทุบ กวาดเอาข้าวของไปครองให้เจ้าของได้เข่าอ่อนไปตามๆ กัน
อย่างที่ “โดนัท-มนัสนันท์” ดาราสาวชื่อดังถูกมือดีทุบกระจกรถฟอร์จูนเนอร์ป้ายแดง สูญทรัพย์ไปร่วมแสน ไม่ต่างจาก “แหนม-รณเดช” นักร้องหนุ่มที่ต้องเสียทั้งไอแพด สมุดบัญชี เช็คเงินสด เพราะวางกระเป๋าส่วนตัวล่อโจรเอาไว้ในรถเมอร์เซเดสเบนซ์คันงามในยามวิกาล
ยังไม่รวมอาชญากรรมแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้พลเมืองอย่างเราๆ หมดความเชื่อมั่นในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองแบบกู่ไม่กลับอีกต่อไป
รถหรูล่อใจ
สิ่งที่เหมือนกันทั้งคดีของ “โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล” และ “แหนม-รณเดช วงศาโรจน์” คือยังจับมือใครดมไม่ได้ ไม่เหลือร่องรอยคนร้ายผู้จัดการทุบกระจกรถแล้วฉกเอาข้าวของล้ำค่าของทั้งคู่ไป แม้แต่กล้อง CCTV ที่เคยกล่าวอ้างว่าติดเอาไว้เพื่อสร้างความปลอดภัยและอุ่นใจให้ประชาชนชาว กทม. ยังช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลยในกรณีนี้
ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์การโจรกรรมที่เกิดขึ้นกับ โดนัท ดาราสาวชื่อดังช่องน้อยสีตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา เธอเผยให้ฟังด้วยสีหน้าซีดเซียวและน้ำเสียงที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนว่ารู้สึกเสียดายมาก... เสียดายข้าวของทั้งหมดที่ถูกฉกไป ทั้งคอมพิวเตอร์แมคบุ๊ก กระเป๋าหนังสะพายยี่ห้อโค๊ทส์ สร้อย-แหวนคริสตัลแฮนด์เมด และเอ็กซ์เทอร์นอล ฮาร์ดดิสก์อีก 2 ตัว รวมมูลค่ากว่า 8.5 หมื่นบาท
เหตุเกิดในวันที่เธอจอดรถเอาไว้หน้าโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ เพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือพ็อกเกตบุ๊กส่วนตัว “จอดไว้ตั้งแต่ตอนสองทุ่ม พอลงมาตอนสี่ทุ่มถึงเห็นว่ารถโดนทุบ เหตุการณ์เกิดเร็วมากค่ะ ตรงนั้นมันเปลี่ยวด้วย ริมถนนอาร์ซีเอเลย บริเวณนั้นไม่มีกล้องวงจรปิด แต่ตำรวจพยายามหากล้องจากออฟฟิศต่างๆ และเอารถไปตรวจลายนิ้วมือให้ เราก็แจ้งความ เคลมประกัน โดนัททำใจประมาณนึงแล้วว่าของหาย
แต่ที่เสียดายที่สุดคือข้อมูลงานเขียนของเราและฟุตเทจหนังสั้นที่อยู่ในคอมพิวเตอร์กับฮาร์ดดิสก์ พอมันหายก็ไม่รู้จะเอามาจากไหนแล้ว ถ้าเขาเอาคอมพ์มาคืน จะให้เงินและไม่เอาเรื่องเลยค่ะ หรือถ้าใครที่ได้รับไปหรือไปเจอ ก็ช่วยติดต่อกลับมาหน่อยนะคะ... ต่อไปคงต้องระวังให้มากขึ้น” เธอทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงเนือยๆ
ส่วนนักร้องหนุ่มเสียงนุ่มอย่าง แหนม-รณเดช นั้น เรียกได้ว่าเหตุเกิดริมถนนกลางกรุงเลยทีเดียว จอดรถไว้ริมถนนราชดำริ ย่านลุมพินี เพื่อเข้าร่วมงานแฟชั่นในร้านฟาราเบลล่า แต่วันนั้นคนเยอะมาก ที่จอดรถเต็ม เขาจึงเลือกจอดเมอร์เซเดส เบนซ์ รุ่น ซี180 สีดำขลับเอาไว้ริมถนนอย่างที่เคยจอดทิ้งไว้มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยเป็นปัญหา ไม่คิดว่าครั้งนี้มันจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้
“จอดห่างจากประตูร้าน 100-200 เมตร พอเสร็จจากงานก็ดึกแล้วเหมือนกัน ก็ไปหาอะไรทานกับเพื่อนๆ กลับมาอีกทีประมาณตี 3 ตี 4 ผมเปิดรถขับ ขับไปขับมา เอ๊ะ! ทำไมได้ยินเสียงลมตี เราก็นึกว่าศอกเราไปโดน ก็กดกระจกขึ้น แต่กดเท่าไหร่กระจกก็ไม่ขึ้น หันไปดู เฮ้ย! กระจกแตก จอดรถรื้อของดูถึงได้รู้ว่ากระเป๋าผมหายไปเลยแจ้งความ กลับมาคิดอีกที ผมก็ไม่ควรจอดรถไว้นานขนาดนั้นหรอก ผมจอดไว้จนกลับมาเหลือรถผมอยู่ตรงนั้นคันเดียวละ (ถอนหายใจ) ข้างในกระเป๋าที่ถูกขโมยไปก็มีสมุดบัญชี 3 เล่ม มีเช็คเงินสดด้วย ซึ่งผมอายัติไปแล้ว แล้วก็มีไอแพดครับ”
ด้านความคืบหน้าทางคดีในตอนนี้ ยังไม่มีเบาะแสของคนร้ายเพิ่มเติม เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด ส่วนจุดใกล้ที่สุดที่มีกล้องวงจรปิดนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่าอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งห่างออกไปมาก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นหน้าคนร้ายอย่างที่ใจต้องการได้ งานนี้ CCTV จึงเป็นเพียงหลักฐานจางๆ ที่หยิบมาใช้ประโยชน์ไม่ได้แต่อย่างใด
เกิดเหตุใครจะรับผิดชอบ?
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามข้อใหญ่ๆ ผุดขึ้นมาในหัวว่า ต่อไปประชาชนผู้มีรถ จะรับมือการสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร? จะไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อนร่วมโลกได้มากน้อยแค่ไหน? ใครจะรับประกันได้ว่า ทุกครั้งที่ดับเครื่องและทิ้งรถเอาไว้ตามถนนหนทาง เราจะไม่ใช่ผู้เคราะห์ร้ายรายต่อไป? ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ถึงแม้จะมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าที่จอดรถ แต่เมื่อไม่มีพื้นที่ให้เข้าไปจอด สุดท้ายก็ต้องยอมเสี่ยง จอดทิ้งไว้ริมถนนอยู่ดี
เพื่อช่วยให้ปวดหัวกับปัญหาเหล่านี้น้อยลง “ผศ.ดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฏ” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอชี้แนะแนวทางเอาไว้ ในฐานะที่ช่วยดูแลปัญหาเรื่องระบบให้แก่ กทม. และกระทรวงคมนาคมมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว
“การจอดรถ ถ้าสมมติมันเป็นที่จอดรถที่มีการเก็บค่าใช้บริการ การไปจอดรถตรงนั้นก็จะเป็นเรื่อง “กฎหมายการฝากของ” คือเจ้าของพื้นที่ก็ต้องมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของรถคันนั้น ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เจ้าของพื้นที่ก็ต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้เจ้าของรถ
แต่ห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่งจะเลี่ยงปัญหาเรื่องนี้ด้วยวิธีไม่เก็บเงินค่าจอดรถเลย จะได้ไม่เข้าข่ายกฎหมายการฝากของ ถ้าไปจอดในห้างสรรพสินค้าที่ไม่มีการเรียกเก็บเงิน หรือแม้กระทั่งแจกคูปอง ก็ให้รู้ไว้เลยว่าเขาไม่มีส่วนรับผิดชอบใดๆ กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ
หรืออย่างบางที่ ให้บัตรจอดรถมา จะเขียนเงื่อนไขเอาไว้เลยว่า กรุณาอย่าวางสิ่งของมีค่าไว้ในรถ ถ้าเกิดสูญหาย ทางห้างฯ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งนั้น เป็นการเซฟตัวเองไปเลย เราในฐานะผู้ใช้บริการ เป็นเจ้าของรถ ก็ต้องคอยดูแลทรัพย์สิน คอยระวังตัวเองให้ดีๆ ครับ จะมาหวังพึ่งคนอื่นให้รับผิดชอบทีหลังก็คงจะยาก”
ที่สำคัญ ต้องคอยสังเกตให้ดี เพราะไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่ควักเงินให้แก่ผู้มาแบมือขอหลังดับเครื่อง จะหมายความถึงสัญญาว่าจะรักษาดูแลรถให้ “ต้องดูดีๆ ว่าที่เก็บตรงนั้นเป็นสถานที่ของเอกชน เขาเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นจริงๆ หรือบางถนน บางสาย มันเป็นที่สาธารณะ แล้วมีคนทำทีว่าไปโบกรถให้จอด อันนั้นอาจจะแค่อำนวยความสะดวกในการโบกให้ รับเงินจากเราไป ก็ถือเป็นค่าโบก แต่ไม่ได้รับประกันว่าเป็นค่าฝากรถนะ ที่จอดรถบางที่ก็มีเรื่องอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรื่องแบบนี้คงต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนดูแล”
ถามว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะออกกฎบังคับให้ร้านค้า-ร้านอาหารในประเทศไทย หรืออย่างน้อยๆ ในเมืองหลวง สร้างที่จอดรถให้เพียงพอต่อจำนวนลูกค้าภายในร้านนั้นๆ อาจารย์จิตติชัยได้แต่ถอนหายใจอย่างปลงๆ แล้วตอบว่า
“จะโทษว่าเป็นความผิดของร้านค้าต่างๆ ที่ไม่กั้น-ไม่สร้างที่จอดรถให้เพียงพอต่อจำนวนลูกค้า นั่นก็อาจจะใช่ส่วนหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว เมื่อเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น คนที่เสียผลประโยชน์ส่วนหนึ่งก็คือเจ้าของกิจการเองนั่นแหละครับ ลูกค้าก็คงไม่ไว้วางใจที่จะเอารถมาจอดแถวนั้นแล้ว ร้านค้าเหล่านี้อาจจะช่วยป้องกันได้ด้วยการจัดเวรยามมาดูแล ส่วนบริเวณพื้นที่เปลี่ยวในเขตต่างๆ ทาง กทม.ก็ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจน่าจะมีการทำแผนที่พื้นที่จุดเสี่ยง ไหนๆ ก็ป้องกันกันไม่ทันแล้ว ควรจะบอกให้ประชาชนรู้ตัว จะได้ระมัดระวังกันมากขึ้น”
พึ่งตัวเองไว้ก่อน ดีที่สุด
เมื่อถูกชงมาให้ลองไปถามทางเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง จึงรับเอาคำแนะนำนั้นมาปฏิบัติทันที ติดต่อไปที่ “พล.ต.ต.มานิตย์ วงศ์สมบูรณ์” รอง ผบช.น. จึงได้รับทราบอีกมุมมองหนึ่งจากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ว่า “ช่วงหลังๆ มานี้ มีเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นหลายครั้งจริงๆ ครับ”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สามารถจับกุมแก๊งทุบกระจกเอาไว้ได้หนึ่งราย หลังพบเห็นว่ามีพฤติกรรมแปลกๆ ขับขี่รถจักรยานยนต์เวียนวน ทำท่าเหมือนพยายามสอดส่องสายตาเข้าสำรวจภายในรถยนต์ บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันปตท. แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตรงเข้าตรวจค้น
พบของกลางมากมาย ทั้งกระเป๋าถือผู้หญิงสีแดง กระเป๋าสะพายหนังสีน้ำตาล ภายในบรรจุทรัพย์สินของผู้เคราะห์ร้ายอยู่ สอบสวนจึงทราบว่าคนร้ายทั้ง 2 คนนี้ เพิ่งก่อเหตุทุบกระจกรถยนต์และลักทรัพย์สินภายในรถในย่านลาดพร้าวมาสดๆ ร้อนๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าการรวบตัวคนร้ายแก๊งทุบรถจะทำได้ง่ายๆ เช่นนี้เสมอไป แถมยังค่อนไปในทางยากเสียมากกว่าด้วยซ้ำ รองผู้บัญชาการฯ มานิตย์ ถึงขั้นออกปากเลยว่ามันคือการลักทรัพย์ที่ทำได้ง่ายที่สุดและเฝ้าระวังได้ยากที่สุดแล้ว
“อาศัยจังหวะคนไม่มี ก็หาเครื่องมือง่ายๆ มาทุบ บางรายก็ใช้ค้อน ใช้หิน ห่อผ้าหนาๆ แล้วก็มาทุบ เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังเป็นที่น่าสังเกต เสียงก็จะไม่ดังเพล้ง พอดีกับกระจกรถยนต์ที่ถูกออกแบบมาให้แตกแล้วเป็นเม็ดๆ เกาะตัวกัน เพื่อไม่ให้เศษกระจกทำอันตรายแก่คนนั่งในรถ เพราะฉะนั้น ทุบแล้วมันจะมีใยติดออกมาเป็นแผง ใช้มือกระทุ้งๆ อีกนิดเดียวก็เรียบร้อย ไม่เกิดเสียงดังเหมือนกระจกภายในบ้าน ทำได้ไม่ยาก
คนพวกนี้เขาจะเดินสำรวจก่อน หาไฟฉายหรือมองเข้ามาในรถ ถ้าเห็นว่ามีเอกสาร กระเป๋าถือ หรือถุงอยู่ในรถ เขาก็จะมองไว้ละว่าเดี๋ยวต้องทุบคันนี้ จะเลือกคันที่มีของวางเอาไว้ หลังจากนั้น อาศัยจังหวะที่ไม่มีคน ตำรวจขับรถผ่านไปแล้ว ปฏิบัติการทันทีและใช้เวลาเพียงนิดเดียว ทุบแล้วก็หยิบของในรถผ่านทางกระจก ไม่ได้เปิดประตูรถ เพราะงั้น สัญญาณเตือนภัยก็จะไม่เตือน เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเราๆ ก็เลยป้องกันลำบากครับ คนร้ายก็เลยนิยมใช้วิธีนี้ในการขโมยทรัพย์สิน
เราเลยต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยนะครับในการระมัดระวัง ไม่ควรจะเก็บทรัพย์สินเอาไว้ในรถครับ โดยเฉพาะเวลาต้องจอดรถในที่เปลี่ยว เหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นรถที่จอดริมถนนและไกลจากตัวร้าน โอกาสที่จะสอดส่องดูแล ทางร้านก็ดูไม่ถึง ทางตำรวจก็ดูไม่ทัน”
ถามว่าจะมีการประกาศพื้นที่จุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมเหล่านี้บ้างหรือไม่? พล.ต.ต.มานิตย์ อ้ำอึ้งเล็กน้อยแล้วตอบว่า “เราได้สั่งทางฝ่ายสืบสวนไปแล้วครับให้เพิ่มความเข้มในการสอบมากขึ้น การจับกุมคือการป้องกันที่ดีที่สุด พอจับเขาได้แล้ว เขาจะได้ไม่กลับมาทำอีก แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนร้ายที่ก่อคดีแบบนี้มีอีกเยอะครับ เราได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ให้จัด รปภ.ออกมาช่วยตำรวจดูแลไปแล้วด้วยส่วนหนึ่ง เพราะลำพังกำลังตำรวจที่มีอยู่ คงดูแลได้ไม่ทั่วถึง
ส่วนเรื่องการประกาศจุดเสี่ยงนั้นก็เป็นความคิดที่ดีครับ เราเองก็อยากจะให้คำแนะนำกับประชาชนเหมือนกัน ขณะนี้เรามีทีมงานที่จัดตั้งมาเพื่อวิเคราะห์และแก้ไขเรื่องอาชญากรรมคอยลงไปดูปัญหาตรงนี้อยู่ ล่าสุดนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เพิ่งให้งบประมาณมาครับ เพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มตามพื้นที่ต่างๆ กำหนดเอาไว้ว่าจะแจกจ่ายให้แต่ละเขต สถานีละ 10 ตัว ก็ขึ้นอยู่กับว่าโรงพักไหน ประชุมกันแล้วว่าจุดไหนคือจุดเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมที่สุดในเขตนั้น ก็เอากล้องไปติดเพิ่มตรงนั้น อาจจะจุดละ 2-3 ตัวบ้าง แล้วแต่ครับ นอกจากนี้เราก็ประสานไปยังร้านค้าภาคเอกชนด้วย ขอร้องให้เขาหันกล้องของเขาส่วนหนึ่งออกมาฝั่งถนน มาส่องหน้าร้านและริมถนนด้วย ก็น่าจะช่วยได้อีกเยอะนะครับ”
อีกหนึ่งปัญหาสำหรับคนใช้รถคือ ถูกเจ้าถิ่น “รีดไถค่าจอดรถ” เกี่ยวกับเรื่องนี้รองผู้บัญชาการบอกเอาไว้ว่า “เคยได้รับแจ้งมาบ้างเป็นบางจุดครับ เวลาคนใช้รถจอดรถ ก็จะมีคนเดินไปเดินมาวนรอบรถ เราเองก็มีการกวดขันให้มีการจับกุมอยู่แล้วครับเพราะถือว่าเป็นความผิด แต่ส่วนใหญ่เวลาผู้เสียหายเจออย่างนี้ จะไม่ค่อยเข้ามาแจ้งความกัน บางทีคนที่ต้องจ่ายเงินก็ขี้เกียจรำคาญ เลยทำให้ไม่มีเจ้าทุกข์มาร้องทุกข์ที่สถานี”
ฉะนั้น ไม่ว่าจะถูก “ทุบรถ” หรือ “ไถค่าจอด” ขอให้แจ้งมาที่ 191 ตลอด 24 ชั่วโมง “เรามีถึง 60 คู่สาย ระบบจะแจ้งไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทางศูนย์ก็จะประสานงานไปยังแต่ละพื้นที่ ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปเร็วอยู่แล้ว” ส่วนคนที่ไม่อยากพลาดท่า กลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายถูกทุบกระจก-ฉกเอาของมีค่าไปอีกราย รองผู้บัญชาการ มานิตย์ ขอฝากทิ้งท้ายไว้ว่า
“คนส่วนใหญ่ที่พลาด เพราะชอบเอากระเป๋าเอกสารวางไว้ในรถ กระเป๋าของคุณสุภาพสตรีที่ดูมีราคาบ้าง หรืออาจจะเป็นซองใส่เงิน เป็นถุงที่มองดูน่าจะใส่ของมีค่าเอาไว้ คนร้ายก็ทุบเอาไป โดยเฉพาะช่วงหลังๆ จะเป็นของประเภทคอมพิวเตอร์, ไอแพด, ไอโฟน ที่ถูกขโมยไปด้วย เพราะบางครั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นของที่เราใช้ติดตัว พกไปไหนมาไหนตลอด เราหิ้วไปมาจนลืมไปแล้วว่านี่คือของมีค่า ลืมวางทิ้งไว้ในรถ พอหายถึงได้รู้ว่ามันมีราคา ก็ต้องระมัดระวังให้มากๆ เพราะตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานหรือทางภาครัฐออกมารับผิดชอบในส่วนนี้นะครับ ส่วนตัวร้านเองก็ไม่น่าจะรับผิดชอบอะไรให้เรา เพราะมันเป็นที่จอดริมทาง ที่จอดสาธารณะครับ”
อาจจะเริ่มจากวิธีที่อาจารย์จิตติชัย แนะนำไว้ก่อนก็ได้ “เอาของไว้ท้ายรถช่วยเซฟได้มากที่สุด อย่างน้อยก็ไม่ล่อตาล่อใจ หรือถ้าเอาจะงัดจริงๆ มันก็ใช้เวลานานกว่าทุบกระจกแน่นอน โดยเฉพาะรถที่ดูดี รุ่นใหม่ๆ หน่อยยิ่งต้องระวัง หัวขโมยต้องประเมินแล้วว่าคนที่ใช้รถแบบนี้ต้องมีเงินแน่ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามาย้ายของมีค่าไว้กระโปรงหลังรถในจุดที่จอดที่เปลี่ยวๆ นะครับ อันนั้นก็ยังน่ากลัวอยู่ดี ควรจะย้ายซ่อนไว้ตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน หรือย้ายในที่ที่คนพลุกพล่าน และอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยได้คือการทำประกันภัย ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมาจะได้มีคนที่เข้ามาดูแล แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้บรรเทาลงไปได้ และถ้าต้องจอดในที่เปลี่ยวจริงๆ ก็ควรจะถามชาวบ้านแถวนั้นก่อนว่าตรงนี้น่ากลัวหรือเปล่า จอดได้ไหม ต้องหัดระวังตัวเอง”
ในเมื่อหันหน้าไปทางไหนก็ดูเหมือนจะพึ่งไม่ค่อยได้ ร้านค้าก็มีที่จอดรองรับลูกค้าได้ไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ก็มีกำลังดูแลประชาชนได้ไม่ทั่วถึง ถ้ารักจะจอดรถตามพื้นที่ริมทาง-จอดค้างบนที่สาธารณะแล้ว คงต้องตั้งสติและ “พึ่งตัวเอง” ให้มากที่สุด ที่เหลือก็แล้วแต่ว่าจะโชคดีหรือโชคร้าย
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE