เทศกาลถือศีลกินเจ ช่วงที่คึกคักโดยเฉพาะเรื่องของ “อาหารเจ” ที่จุดเด่น คือ งดเนื้อสัตว์และกินผัก มาถึงในปีนี้ คนกินอาจต้องทำใจกับราคาอาหารเจที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากราคาโดยเฉลี่ยของพืชผักผลไม้ รวมไปถึงสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหารเจ ราคาพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ
อยู่ยาก กินยาก ราคาแพงขึ้น
เทศกาลถือศีลกินผัก หรือกินเจ เทศกาลของชาวจีนที่จะละเว้นงดกินเนื้อสัตว์ แล้วมากินผักแทน โดยผู้กินเจอาจจะมีจุดประสงค์แตกต่างกันไป ทั้งการกินเพื่อสุขภาพ หรือกินเพื่อละเว้นกรรม ดังคำกล่าวที่ว่า “หนึ่งชีวิตกินเจ หมื่นชีวิตรอดตาย" เพื่อเป็นการได้ทำบุญไปในตัว แต่มาปีนี้อาจต้องคิดหนักว่ากินเจอย่างไรให้คุ้มค่ากับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายไป เมื่อราคาผักที่แพงขึ้นมากจากเดิม
ในปีนี้เมื่อสำรวจตลาดก่อนเทศกาลกินเจจะเริ่มต้น พบว่าราคาดีดขึ้นต้อนรับก่อนหน้าไปแล้ว โดยขยับราคาตั้งแต่ 10-20 บาท ไปจนถึงผักใบที่นิยมบริโภคและนำไปประกอบอาหารหลายชนิดซึ่งมีความต้องการในตลาด เพิ่มสูงขึ้นถึง 100-200 บาท เรียกได้ว่าอาจสูงจากราคาเดิมอีกหลายเท่าตัว ซึ่งคาดว่าปีนี้เป็นปีที่ผักราคาแพงมากที่สุดในหลายรอบปี และน่าจะส่งผลให้อาหารเจขยับราคาตาม
ผักสดสำหรับประกอบอาหารเจซึ่งความต้องการมากได้ปรับราคาขึ้นหลายรายการ เช่น คะน้าจากราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท เพิ่มเป็น 80 บาท ผักบุ้งจากราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท เพิ่มเป็น 50 บาท ผักกวางตุ้งจากราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท เป็น 40-50 บาท ผักกาดขาวปลีจากราคากิโลกรัมละ 20 บาท เป็น 30-40 บาท กะหล่ำดอกจากราคากิโลกรัมละ 25-35 บาท เป็น 65-70 บาท และผักกาดหอมจากราคากิโลกรัมละ 25-45 บาท เป็น 100-120 บาท
อย่างที่ตลาดไทเอง สำรวจพบว่า คะน้ากิโลกรัมละ 80 บาท จากเดิมราคากิโลกรัมละ 60 บาท ผักบุ้งกิโลกรัมละ 50 บาท จากเดิมราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท ผักกาดหอมกิโลกรัมละ 120 บาท จากเดิมราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท ซึ่งนอกจากผักที่ใช้ประกอบอาหารในช่วงเทศกาลกินเจจะปรับราคาสูงขึ้นแล้ว ผักอย่างต้นหอมและผักชีที่ไม่เกี่ยวข้องก็เพิ่มราคาสูงขึ้นเช่นกัน โดยต้นหอมจากกิโลกรัมละ 50-60 บาท ปรับขึ้นเป็น 110-120 บาท ผักชีจากกิโลกรัมละ 100 บาท ปรับขึ้นเป็น 190-200 บาท
นอกไปจากราคาผักที่แพงขึ้นแล้ว สินค้าที่เกี่ยวข้องก็มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าจึงขอปรับราคาอาหารด้วย โดยให้เหตุผลว่า ต้นทุนประกอบอาหารเจปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาผักสดเพิ่มจากปกติ 2-3 เท่า ส่วนเครื่องปรุงรส และส่วนประกอบอาหารต่างๆ ก็ยังแพงกว่าอาหารทั่วไป เช่น ซีอิ๊วขาวแพงกว่าน้ำปลา รวมถึงเครื่องปรุง อาหารเจแห้งประเภทอื่นๆ ทั้งเต้าหู้ โปรตีนเกษตรก็มีราคาสูง โดยเฉพาะเห็ดหอมแห้งและฟองเต้าหู้น่าจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติประมาณ 15-20% ทำให้ต้องปรับราคาอาหารสำเร็จรูปเพิ่มตาม แต่ยืนยันว่าจะขึ้นราคาในระยะสั้นเฉพาะช่วงกินเจเท่านั้น และหลังจากนั้นจะลดเหลือเท่าเดิม
เหตุผักแพง พายุเข้า รับช่วงกินเจ
น่าสงสัยที่ว่าราคาผักได้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่สองสัปดาห์ก่อนกินเจ และยังมีผักห้ามกินในช่วงเจบางชนิดกลับปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งที่ไม่ได้มีความต้องการในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ และยังมีแนวโน้มที่ราคาจะยังทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. ได้ระบุข้อมูลว่า จากอิทธิพลพายุแกมี และเกิดฝนตกหนักมาตลอดเป็นระยะเวลาหลายวันเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ทำให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรม
ทั้งในส่วนของข้าวและพืชผักโดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม และราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกผักสวนครัวขนาดใหญ่ของประเทศ โดยพบว่ามีพื้นที่เสียหายรวม 18,900 ไร่ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ตลาดสินค้าพืชผลทางการเกษตรประสบกับปัญหาขาดแคลนได้ และมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจที่จะเริ่มขึ้นวันที่ 15 ต.ค.นี้
ทางแก้ปัญหาที่เร่งด่วนในช่วงเทศกาลกินเจนั้น กรมการค้าภายในจึงได้เตรียมแผนจัดโครงการผักสดจากสวนสู่ผู้บริโภคเทศกาลกินเจ โดยจะทำการเชื่อมโยงผักสดจากตลาดกลางในความส่งเสริมของกรมการค้าภายในและจากไร่เกษตรกรมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด 10-20% เพื่อแก้ปัญหาผักสดราคาแพงในช่วงเทศกาลกินเจ และลดค่าครองชีพให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม
แม้เจแพง แต่คาดคึกคักเท่าเดิม
ผลกระทบจากเทศกาลผักแพงนี้ ทำให้ แม่ค้าอาหารเจ ย่านเยาวราช ถึงกับออกปากว่า ทั้งผักและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหารเจ เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ไม่น้อย ซึ่งภาระสุดท้ายก็ต้องตกไปสู่ประชาชน คนที่กินเจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“จากที่ไปซื้อของที่ปากคลองตลาดมานะ แพงขึ้นทุกอย่างเลย ผักเอย เต้าหู้เอย อย่างปีที่แล้วเราวางงบไว้ว่าซื้อ 3,000 บาท ตอนกลับมาเงินยังพอเหลือร้อย สองร้อยบาท แต่มาปีนี้เชื่อไหม เอาไม่อยู่ จ่ายหมดไปเกือบ 5,000 บาทแล้ว แพงจริงๆ แต่บ่นไปก็คงแก้อะไรไม่ได้ นอกจากก็ต้องขายราคาแพงขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องตักให้น้อยลง”
ถึงแม้ในขณะนี้ ราคาผัก ลามไปถึงอาหารปรุงสำเร็จรูปจะราคาสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกลับพบว่า มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดอยู่ที่ 37,768 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากปีที่แล้วที่มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 35,100 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่เก็บข้อมูลมา เป็นการสะท้อนว่าบรรยากาศเทศกาลกินเจปีนี้ค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากปีนี้ประชาชนหันมากินเจเพิ่มขึ้นจาก 23.5% เป็น 28.2% ขณะที่คนไม่กินเจลดลงเหลือ 71.8%
อีกสิ่งที่พบจากการสำรวจคือเหตุที่ในปีนี้คนไทยหันมากินเจและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยเชื้อสายจีนที่ทำกันมานาน และเป็นปีสำคัญทางพุทธศาสนาครบรอบพุทธชยันตี 2,600 ปี ที่สำคัญเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี เกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้คนไทยหันมาทำบุญกินเจเพิ่มเพื่อเสริมสิริมงคลแก่ชีวิตตัวเอง
ปัญหาน่าขบคิดฝากถึงในปีต่อๆ ไปคือเรื่องของค่าครองชีพ ราคาเครื่องอุปโภค บริโภค เพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ที่ราคาผักและอาหารสูงขึ้นมากในรอบหลายปี แล้วภาครัฐจะมีแนวทางอย่างไรให้คนได้ทำบุญ ถือศีลกินเจ อย่างสบายใจ ไม่ลำบากกระเป๋าสตางค์ ??
• ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live