xs
xsm
sm
md
lg

คนรวยชนแล้วหนี คดีแค่รอลงอาญา? คุกมีไว้ขังคนจน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่เกิดเหตุวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทของเฉลิม อยู่วิทยาเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังอย่าง กระทิงแดง ขับรถเฟอร์รารี่ชนตำรวจจนเสียชีวิต เกิดเป็นกระแสรุนแรงทวงถามถึงความยุติธรรมในสังคมไทย สังคมที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุกมีไว้ขังสุนัขกับคนจน

มีหลายกรณีในสังคมไทยที่เคยเกิดขึ้น และทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่แทรกซึมไปในทุกส่วนของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขั้นตอนในชั้นศาล จนถึงการออกกฎหมาย

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ สรรพเสียงของการทวงถามหาความยุติธรรมของสังคมจะดังขึ้นแทบในทันที สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีกลไกที่ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง

คำว่า รอลงอาญา เยาวชน ทัณฑ์บน อนุญาตให้ประกันตัว ให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม กลายเป็นคำกล่าวอ้างที่จุดชนวนความไม่พอใจให้กับสังคม จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ส่งคนจนเข้าไปนอนคุก และทำให้ลืมเลือนไปแล้วว่า คนรวยคนสุดท้ายที่ติดคุกคือใคร?

กรณีไม่เป็นธรรมทางความรู้สึกของประชาชน

ปรากฏการณ์กระแสทวงถามถึงความเป็นธรรมจากกรณีที่คนรวยหรือคนที่มีชื่อเสียงสามารถรอดพ้นจากความผิด เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และแทบจะทันทีที่เกิดเหตุการณ์ หลายกรณีแฝงฝังอยู่ในบทเรียนทางด้านความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ต่อไปนี้คือบางกรณีที่ทำให้สังคมเกิดข้อกังขาต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น

เมธัส สวนศรี หรือที่รู้จักกันในชื่อเก่ง เมธัสซึ่งมีประวัติเป็นที่โจษขานถึงการกระทำผิดและรอดพ้นมาโดยตลอดตั้งแต่อายุ 17 ปีที่ก่อเหตุกักขังหน่วงเหนียวและบังคับขืนใจนางเอกวัยรุ่นชื่อดัง คดีใช้อาวุธปืนพยายามฆ่านักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต คดีร่วมกับเพื่อนทำร้ายบุตรชายเจ้าของร้านจิวเวลรีย่านวังบูรพา ทำร้ายร่างกายเจ้าของร้านเพชรในผับ คดีพรากผู้เยาว์ตั้งแต่พ.ศ. 2548 ที่ศาลตัดสินจำคุกไม่รอลงอาญาเพราะเคยก่อเหตุลักษณะเดียวกันมาแล้ว แต่ถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์สู้คดี และล่าสุดกับคดีแหกด้านตำรวจเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาซึ่งจบลงด้วยการประกันตัว

แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือที่สังคมตั้งฉายาให้เธออย่างรุนแรงว่า แพรวา 9 ศพ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเธอเป็นเยาวชนอายุยังไม่ถึง 18 ปีที่ขับรถเร็วจนเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถตู้จนมีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน สิ่งที่ทำให้อุณหภูมิสังคมถึงขั้นเดือดพล่านคงหนีไม่พ้นภาพถ่ายเธอยืนเล่นบีบีอยู่ริมถนน

ด้วยท่าทีเหมือนไม่รู้สึกผิดที่สังคมได้รับรู้ แม้หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว ยาวนานจากความโศกเศร้าของผู้เสียหาย และขั้นตอนในชั้นศาลข้ามปี สังคมยังไม่ลืมเลือนความผิดที่เธอยังไม่เคยออกมายอมรับ

บอกได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ประนีประนอมต่อความรู้สึกของสังคมเลยแม้แต่น้อย

ดาราหลายคนเมาแล้วขับแต่หลังจากฟื้นตัวได้ก็สามารถกลับคืนสู่สังคมในฐานะบุคคลตัวอย่างที่กลับเนื้อกลับใจ กรณีเหล่านั้นหลายคนก็แสดงความรู้สึกผิดจนสังคมก็ให้อภัยแล้ว เพราะท้ายที่สุดของลงโทษจากสังคม คงไม่ใช่การขับผู้ผิดไม่ให้มีที่ยืน สังคมอาจเพียงต้องการการยอมรับผิดอย่างบริสุทธิ์ใจเท่านั้น

กรณีล่าสุดคือกรณีของ วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดงที่ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลากร่างนั้นไปไกลก่อนจะหนีเข้าไปในบ้าน และส่งพ่อบ้านมามอบตัวเป็นแพะ จนถึงตอนนี้จะถูกจับกุมและตั้งข้อหาถึง 3 กระทงด้วยกัน 1.ขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต 2. หลบหนีไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน 3. ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ

กรณีเหล่านี้เมื่อเทียบกับ 2 กรณีคล้ายกันของ สุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดาอาชีพเก็บขยะขาย กับนันทนา น้อยบุญมา อาชีพเย็บผ้าที่ต้องตกเป็นจำเลยของคดีเดียวกันคือ ประกอบกิจการ แลกเปลี่ยน หรือจำนำภาพยนตร์ จำพวกแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ โดยทั้ง 2 เก็บซีดีมาขายเป็นรายได้เสริมที่ไม่มากนัก แต่กลับโดนโทษปรับสูงถึงหลักแสน ร้อนให้บุคคลอื่นหยิบยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวให้

ปัญหามีตั้งแต่การเลือกปฏิบัติของเจ้าพนักงาน กลไกการทำงานของศาลที่ต้องตัดสินตามตัวบทกฎหมายดูเหมือนจะไม่เป็นธรรมต่อความผิดที่เล็กน้อย แต่กลับตั้งค่าปรับไว้สูงถึงหลักแสน

เหตุผลที่ทำให้ตาชั่ง (ทางความรู้สึก) โน้มเอียง

ความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างมีเงื่อนไขเสมอ ไม่ว่าโดยสังคมหรือใครคนใดคนหนึ่ง ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือการกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดเดินมาสู่ความล้มเหลวอย่างถึงขีดสุด ไม่ว่าจะเป็นในชั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาล

ทั้งนี้ในส่วนของตัวบทกฎหมายเองในมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง ดร. บรรเจิด สิงหเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เห็นว่าข้อกฎหมายนั้นไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ เพราะกฎหมายได้เปิดช่องเอาไว้ ทำให้การบังคับใช้หลายครั้งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

“ผมมองไปในส่วนของผู้บังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใต้การโยกย้ายของฝ่ายการเมือง อัยการที่บางคนมีชื่อในบอร์ดบริหารของบริษัทต่างๆ จนเกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้ไม่มีการสั่งฟ้อง”

ช่องทางในทางกฎหมายมีดุลยพินิจที่เปิดช่องให้ ถ้ามีการปรับเป็นตัวเงินก็สามารถให้คนค้ำประกันได้ มันอยู่ที่ดุลยพินิจ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการให้ดุลยพินิจกับศาลไว้ค่อนข้างมาก ก็อาจส่งผลให้บางกรณีกลายเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่เอื้อให้เกิดคำตัดสินที่ไม่ยุติธรรมได้

“บางกรณีมีตำแหน่งหน้าที่สูง ประกอบภาระหน้าที่การงานที่ดีต่อสังคม ก็ให้รอลงอาญา มันเป็นดุลยพินิจของศาลในการพิจารณา มันไปได้สองทาง คนที่ไม่มีโอกาสติดคุก คนที่มีอำนาจทั้งหลาย ศาลไม่ใช่ประเด็น มันเป็นปัญหาทั้งหมดของระบบ”

ทางแก้ไขในความคิดเห็นของเขาคือการแยกตำรวจออกมาจากภาคการเมือง ตั้งกรรมการท้องถิ่นที่มาจากประชาชนเพื่อให้ผลของการทำงานสัมพันธ์กับการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับความคิดของ ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเธอเห็นว่าความไม่ยุติธรรมที่ประชาชนเจอนั้น ก็ไม่ต่างจากความไม่ยุติธรรมที่พนักงานตำรวจต้องเจอเช่นกัน

“นอกจากประชาชนได้รับความไม่ยุติธรรมแล้ว จริงๆ ตำรวจก็เจอกับความไม่ยุติธรรมด้วย ไม่มีระบบคุณธรรมอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานของตำรวจ เพราะการทำงานแยกขาดการเจริญทางหน้าที่การงาน ตอนนี้ใครมีเงิน วิ่งเต้นได้ตำแหน่งก็มีความเจริญทางหน้าที่การงาน ขณะที่คนที่ทำงานนั้น ทำเอามัน ทำเพื่ออุดมการณ์ ไม่ได้ทำแล้วมีความเจริญทางหน้าที่การงาน”

โดยรายละเอียดของไม่ยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ชั้นแรกต้องพบเจอนั้น เกิดจากวัฒนธรรมของระบบอุปถัมภ์ และผลประโยชน์ทางธุรกิจทับซ้อน ซึ่งมีอำนาจของฝ่ายการเมืองคอยโยกย้ายบงการอยู่เบื้องหลัง ทำให้ตำรวจต้องเดินไปตามกลไกอำนาจนั้นอย่างยากจะขัดขืน

“วัฒนธรรมในการเอื้อประโยชน์ให้กันแบบนั้นมันแข็งแรงขึ้นจนเป็นความจริงของสังคมที่ตำรวจต้องวิ่งเข้าหานายทุนนักธุรกิจที่มีบารมี มีอำนาจต่อพรรคการเมือง อย่างน้อยเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งโยกย้าย ดังนั้นจะโทษตำรวจอย่างเดียวไม่ได้ มันเกิดจากระบบที่มีปัญหา”

ระบบที่เป็นปัญหานั้นคือการผูกโยงคานอำนาจที่การโยกย้ายตำรวจอยู่ในมือของนักการเมือง

“ลดการแทรกแซงกับกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ถ้ายังผูกโยงกระบวนการยุติธรรมไว้กับระบบการเมืองไทยที่ยังไร้คุณภาพอย่างในปัจจุบันนี้ กระบวนการยุติธรรมก็จะบิดเบี้ยวทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ตำรวจอย่างเดียว เพราะตำรวจอย่างเดียวทำไม่ได้ จะถูกคานโดยอัยการและศาล ฉะนั้นตอนนี้มันบิดเบี้ยวทั้งระบบ”

หนทางหนึ่งในการทวงถามความยุติธรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เธอมองว่าจะต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงระบบกระบวนการยุติธรรม เสียงของสังคมที่ร้องหาความยุติธรรมในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เธอมองว่าไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีความใดๆ เป็นเพียงกระแสชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เพราะไม่มีการรวมกลุ่มของคนที่เรียกร้องตรงนี้อย่างชัดเจน คนที่เป็นต้นเหตุของความไม่ยุติธรรมก็ทนทานต่อไป ความไม่ยุติธรรมการยังดำรงอยู่

“สื่อสามารถนำเสนอได้แค่บางช่วง เวลาผ่านไปคนก็ลืมเอง ระบบยังดำรงอยู่ มันต้องแก้ที่โครงสร้าง วัฒนธรรม ต้องดึงเอาตัวระบบ ต้องเรียกร้อง เอ็นจีโอ ภาคส่วนต่างๆ ต้องเรียกร้องกัน กระบวนการยุติธรรมมันล้มเหลวจนใกล้จะถึงขีดสุดแล้ว ถ้าปล่อยไว้สังคมไทยก็จะก้าวไปสู้ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นเรื่อยๆ”

….

เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกถ่างให้กว้างขึ้น กระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบี้ยวจนไม่เหลือเค้าเดิมของความเที่ยงตรง เสียงวิพากษ์และความไม่พอใจของสังคมก็ยังคงมีต่อไป การลงโทษที่ถูกต้องตรงตามตัวบทกฎหมายอาจเป็นหนทางที่ถูกต้องตามตัวหนังสือ แต่กับสังคมที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของการถูกเอาเปรียบและความไม่เท่าเทียม คำพูดที่ผุดขึ้นมาบ่อยครั้งว่า คุกมีไว้ขังหมากับคนจน จึงยังคงเป็นสัจธรรมที่น้อยครั้งจะไม่เป็นจริง






กำลังโหลดความคิดเห็น