xs
xsm
sm
md
lg

“ต่ำกว่า 20 ห้ามเข้า” ข้อห้ามที่เหมือนไม่มีอยู่จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากภาพหลุด(หรือเปล่า?) ของกาโม่ - อาชวิน อยู่บำรุง หลานคนดังของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงไปปรากฏตัวงานเบียร์ซึ่งห้ามผู้อายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าร่วมงาน ทั้งที่เจ้าตัวมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น
มีเสียงหลายเสียงที่บอกว่าเพราะเป็นหลานนักการเมือง ตระกูลมีชื่อจึงทำได้ หากทว่าเมื่อลองมองย้อนไปดูภาพกว้างของสังคมแล้ว เด็กอายุ 16 เข้าร้านเหล้าได้นั้นเป็นภาพคุ้นชินไปแล้วในสังคมนี้ จากกรณีนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของการบังคับใช้กฎกับสถานบันเทิงประเภทที่มีบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นำมาซึ่งเหตุการณ์รุนแรงที่ละเมิดกฎหมายราวกับบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ตั้งแต่ปล่อยให้เยาวชนเข้าสถานบริการ ค้าขายยาเสพติด ทำร้ายร่างกาย จนถึงเหตุยิงกัน

เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในย่านสถานที่เที่ยวกลางคืนในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง นี่คือเฉพาะกรณีที่เป็นข่าวใหญ่ แต่กับกรณีเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้นและไม่เป็นข่าว ดูเหมือนการละเมิดกฎเกณฑ์ของสถานบันเทิงจะกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

รวมเหตุรุนแรงที่เป็นข่าว

ตามย่านเที่ยวชั้นนำที่คลาคล่ำไปด้วยสถานบันเทิง ผับบาร์ที่เปิดเรียงรายรอท่าให้แอลกอฮอล์ทำปฏิกิริยากับร่ายกายหลายครั้งนำมาซึ่งเหตุทะเลาะวิวาทรุนแรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สถานบันเทิงหลายแห่งมีการปล่อยให้เยาวชนเข้ามาใช้บริการได้ ก็ยิ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดเป็นกรณีเหตุการณ์รุนแรงขึ้น

โดยกรณีรุนแรงที่เป็นข่าวเกิดขึ้นเมื่อเช้าของวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุวัยรุ่นรุมตีกันที่ลานจอดรถของสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง หลังเที่ยวจากผับอินฟินิตี้ย่านห้วยขวาง มีคลิปวิดีโอบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มมีปากเสียงจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งรวมกลุ่มกว่า 20 คน เข้ารุมอีกฝ่าย มีเสียงปืนดังหลายนัด และมีผู้บาดเจ็บหนักถึงขั้นสมองบวมส่งโรงพยาบาล โดยกรณีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกิดจากการลักลอบเปิดผับเกินเวลาที่กำหนด

และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม วิรัส ดิลกศรี หรือเต่า ท่าทราย ถูกประกบยิงโดยคนร้ายขี่บิ๊กไบค์สีดำ ระหว่างขับรถบนถนนรัชดาภิเษกหลังจากไปเที่ยวผับฟิวเจอร์ย่านเหม่งจ๋าย แล้วมาเที่ยวต่อในย่านสุทธิสาร ซึ่งปมสังหารอาจมาจากเรื่องยาเสพติด โดยมีรายละเอียดถึงการเขม่นกันในผับก่อนเกิดเหตุ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งเป็นข้อสังเกตคือการที่ผับเปิดเกินเวลาถึงตี 5

แต่แล้วกรณีต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเหตุคนร้าย 4 คน ขับจักรยานยนต์ 2 คนประกบยิงอดีตเด็กเสิร์ฟที่ไปเที่ยวงานวันเกิดเพื่อนในผับย่านรัชดาฯซอย 4 ล่าสุดก็ได้มีการออกหมายจับและสืบทราบสาเหตุแล้วว่า มาจากการมีเหตุกระทบกระทั่งกันในผับ ซึ่งเกิดขึ้นเวลา 2 นาฬิกาเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังไม่ดึกเท่าไหร่นัก

เท่านั้นยังไม่พอ ล่าสุดไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม วัยรุ่นอายุ 17 ปีก็ถูกดักยิงหลังจากไปเที่ยวกับเพื่อนที่สถานบันเทิงย่านคลองสี่ โดยมีชนวนเหตุจากการเขม่นกับวัยรุ่นกลุ่มอื่น แน่นอนว่ายังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นแต่ไม่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลเสียของการละเมิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในสถานบันเทิงอย่างเป็นเรื่องปกติ

คลี่ปมเหตุรุนแรงในสถานบันเทิง

มาตรการป้องกันเป็นสิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเร่งคิดหาวิธีเพื่อยับยั้งก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น หลายครั้งก็ต้องใช้การสังเกตเพื่อดูว่าพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดเหตุขึ้นนั้นเกิดจากอะไร โดย พล.ต.ต. พชร บุญญสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 บอกเล่าถึงสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนว่า ไม่ได้มีจำนวนสถิติที่สูงจนน่ากลัวนัก แต่ช่วงนี้มีเหตุเกิดขึ้นหลายครั้งติดกัน จึงทำให้ดูเหมือนมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อย แต่จริงๆ แล้ว นอกจากกรณีที่เป็นข่าวก็ไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรมากมายนัก โดยสาเหตุที่เกิดขึ้น อาจมาจากจังหวะเวลาที่ทำให้เกิดเรื่อง พร้อมกับอาวุธปืนที่เหมือนจะหาได้ง่ายขึ้น

“ครั้งที่มีเหตุกลุ่มวัยรุ่นใช้อาวุธปืนยิงกันหน้าผับ กับเหตุประกบยิงที่ถนนรัชดาภิเษก เราก็ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุอาจจะเกิดจากผับที่ลักลอบเปิดเกินเวลา เราก็เพ่งเล็งที่จุดนั้น แต่ต่อมาก็ยังเกิดเหตุขึ้นอีก อย่างที่เกิดขึ้นตอนตีหนึ่ง ซึ่งยังไม่เกินเวลา ทำให้คิดว่าเหตุที่เกิดอาจเป็นจังหวะเวลา และเป็นเหตุส่วนตัวของแต่ละคน”

หลังจากหลายเหตุการณ์ที่เป็นข่าว เมื่อผ่านการสืบสวนก็ทำให้รู้ว่าชนวนเหตุส่วนใหญ่แล้วมาจากเรื่องผู้หญิง ไปมองผู้หญิงอีกโต๊ะหนึ่งบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของนักเที่ยวที่จะเขม่นกัน อาจเกิดจากอาการหึงหวง โดยลักษณะการเกิดเหตุนั้น เมื่อมีการเขม่นกันเกิดขึ้น ฝ่ายหนึ่งจะออกจากผับก่อนเพื่อไปเอาปืนแล้วกลับมาดักรอยิงคู่อริตอนจะกลับออกจากร้าน

“เท่าที่ทราบ ไม่มีการพกอาวุธมาด้วย เพราะมีด่านตรวจอยู่ และเรามีการตรวจค้น ที่พบส่วนมากคือพอมีเรื่องแล้วก็กลับไปเอาอาวุธที่บ้านแล้วมาดักยิงนอกผับอีกที ดังนั้น จึงอยากจะฝากอาไว้สำหรับผู้ที่มาใช้บริการสถานบันเทิงพวกนี้ ควรจะระมัดระวังตัว มีสติอยู่เสมอ อย่าไปทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นจะดีที่สุด”

ปูมต้นเหตุของความรุนแรงนั้น ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เห็นว่ามาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ตั้งแต่ปัญหาปืนเถื่อนทะลักเข้าประเทศที่กำลังเร่งแก้ไข ไปจนถึงเรื่องยาเสพติดที่ต้องอาศัยการจัดระเบียบสังคม สำหรับกรณีผู้มีอิทธิพลนั้นเขายืนยันว่า ยอมให้มีไม่ได้เด็ดขาด

“ผู้มีอิทธิพล กล้าเบ่งในพื้นที่ ยิงคนแล้วไม่ถูกลงโทษ เราขอยืนยันว่าไม่มี และยอมให้มีไม่ได้เด็ดขาด”

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ทว่าสำหรับ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะทำงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับตำรวจมาหลายปี กลับเห็นว่า ต้นต่อของเหตุรุนแรงนั้นมาจากความอ่อนแอของภาครัฐทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง

“ส่วนใหญ่แล้วในสถานบันเทิงที่มีเรื่องมากๆ จะมีเรื่องของการใช้สารเสพติดเข้ามาด้วย ซึ่งตามสถานบันเทิงนั้น การรวมกลุ่มกัน พกอาวุธเข้ามา รวมถึงแต่ละร้านก็จะมีขาประจำที่มีอำนาจ ทำให้เกิดภาวะที่สามารถมีเรื่องได้ง่ายๆ แน่นอนว่าเจ้าของสถานประกอบการเองก็รู้เรื่อง แต่ห้ามไม่ได้”

โครงสร้างอำนาจในสถานบันเทิงนั้น โดยมากแล้วมีผลประโยชน์ต่อภาคการเมือง ซึ่งมีอำนาจในการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้นการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปได้ยาก รวมไปถึงส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจในการยกเลิก หรือให้ใบอนุญาตสถานประกอบการก็มีส่วนที่ทำให้สถานบันเทิงพวกนี้ไม่ต้องปิดตัวลง

“โทษเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเดียวไม่ได้ค่ะ แต่เป็นภาครัฐทั้งระบบที่อ่อนแอ และมีผลประโยชน์ที่ทำให้ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้สถานประกอบการสามารถละเมิดกฎได้ จะเรียกว่า ผู้อิทธิพลก็ไม่ถึงขั้นนั้น ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทางอาชญากรรม แต่เมื่อเกิดเรื่องเขาสามารถวิ่งเต้นได้”

เหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้ เธอมองว่า มันเป็นบทสะท้อนความอ่อนแอของภาครัฐและท้องถิ่น ภาครัฐที่อ่อนแอก็เพราะภาคท้องถิ่นอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่สาธารณสุขที่มีบทบาทในการออกใบอนุญาตสถานประกอบการ โดยรวมแล้วปัญหามาจากผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประกอบสถานบริการ

“เพราะว่าถ้าหากเข้าไปดูในเชิงลึก สถานประกอบการที่มีปัญหานั้นจะมีส่วนเกี่ยวของผู้มีอำนาจในท้องถิ่นหรือภาคการเมืองด้วย”

หนทางแก้ไขนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากภาคการเมืองก่อน หากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ก็สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ในภาครัฐทั้งระบบสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

“อันดับแรกรัฐบาลต้องไฟเขียวเลยค่ะ จะช่วยเสริมพลังอำนาจให้แก่ข้าราชการ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องควบคุมการทำงานอย่างจริงจังของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง”

จากการลงพื้นที่วิจัยเธอพบว่ามีการละเมินกฎหลายข้อ ตั้งแต่การลักลอบให้บริการเกินเวลา ปล่อยให้เยาวชนเข้าใช้สถานบริการ การใช้สารเสพติด หรือแม้แต่เหตุยิงกันที่ไม่เป็นข่าว เธอเผยว่า ยิงกันประจำ ซึ่งประชาชนในพื้นที่รู้เรื่องนี้ดี ดังนั้น ไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นจะไม่รู้ แต่ที่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะภาครัฐไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ

“ถ้าจะเริ่มเลย ก็ต้องเริ่มจากภาคการเมืองก่อน ต้องประกาศให้ชัดเจนว่ามีนโยบายไม่ได้เกิดการละเมิดกฎ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการทำหน้าที่”

โดยพฤติกรรมของสถานประกอบการที่สามารถละเมิดกฎจะพบว่า มีการตั้งด่านตรวจสกัด หรือการสุ่มตรวจน้อยครั้ง และมีการใช้สารเสพติดในร้าน ขณะที่สถานบันเทิงอื่นๆ จะถูกตรวจบ่อยจนคนไม่เข้ามาใช้บริการ

“ลักษณะนี้ยังเกิดจากการที่ลูกค้าในร้าน หรือขาประจำเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์กันทางธุรกิจด้วย ทำให้สถานบริการที่จะต้องทำธุรกิจก็ต้องพึ่งพิง แม้จะไม่อยากให้เกิดเหตุรุนแรง แต่ก็ยากที่จะห้ามปรามไม่ให้เกิดได้”

ในส่วนของการป้องกันตัวของคนทั่วไปที่ไปใช้บริการ เธอมองว่านักเที่ยวจะรู้กันดีอยู่แล้วถึงวิธีการระวังตัวต่อบุคคลที่อาจจะก่อเหตุรุนแรง เพราะบุคคลเหล่านี้จะแสดงตัวชัดเจน

“พวกนักเที่ยวก็จะรู้ว่าสถานประกอบการไหนเสี่ยง ต้องคอยดู คอยระมัดระวังตัวเอง อย่างไรก็ตาม พวกนักเที่ยวดูอาการโต๊ะข้างๆ ก็จะรู้ทันทีว่าเป็นอาการของขาใหญ่หรือเปล่า เพราะพวกที่ไปแล้วมีเรื่อง เขาก็จะแสดงลักษณะคุมสถานประกอบการนั้นชัดเจน ส่วนใหญ่เด็กเสิร์ฟที่ให้บริการก็จะรู้จัก เขาจะแสดงชัดเจน เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการไปเที่ยวกลางคืนก็อยู่ให้ห่างคนประเภทนี้ แล้วดูพฤติกรรมในสถานที่เที่ยวว่า ไม่มีพฤติกรรมที่ใช้ยาเสพติด”

จากการละเมินกฎที่พบได้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เธอยืนยันว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและควรหาหนทางแก้ไขโดยเร็ว เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานบันเทิงประเภทนี้ถูกพบเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการละเมินกฎหมายแบบนี้ไม่เหมือนกับการกระทำการประเภทอื่น อย่าง การลักทรัพย์ หรือการขายของเถื่อนที่ต้องลักลอบแอบกันทำ แต่กรณีเหล่านี้คือไม่มีความเกรงกลัวเกิดขึ้นเลย

“ตอนนี้ปัญหาความรุนแรงมันค่อนข้างมากขึ้น การใช้ความรุนแรงที่เราเห็นว่า มายิงกัน วิวาทกันมันเกิดจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด แล้วที่เป็นปรากฏการณ์สถานบันเทิง มันไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ มันทั่วเลย ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ผับที่เปิดตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ พร้อมกันนั้นอายุของผู้ที่เข้าไปใช้บริการก็ยิ่งจะน้อยลง และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ”

….

แม้ภาพหลุดเล็กๆของหลานนักการเมืองคนหนึ่งในงานเบียร์อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย อาจบอกได้ว่าไม่เห็นจะมีอะไร? ทว่าแท้จริงแล้วมันกลับสะท้อนถึงภาพการควบคุม และการบังคับใช้กฎหมายที่หละหลวมและอ่อนแอของภาครัฐทั้งระบบ ซึ่งแม้จะเป็นการละเมิดที่ดูเล็กน้อย ทว่ากลับเป็นต้นเหตุของปัญหาร้ายแรงที่เกิดในสังคมไทยอย่างเป็นเรื่องปกติแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น