xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก..คดีอาชญากรรม พิพากษาคนตายกลายเป็น “แพะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การคลี่คลายคดีอาชญกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในบ้านเราแม้จะผ่านขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนมาแล้ว แต่หลายครั้งกลับพบความผิดพลาดบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่สิ้นลมหายใจไปแล้ว คู่กรณีจะโยนความผิดบาป หรือทางเจ้าหน้าที่ทำสำนวนคดีอย่างไม่เป็นธรรม ก็เป็นเรื่องยากที่คนตายจะลุกมาแก้ต่างให้ตัวเอง

“ก็น่าจะสอบสวนให้ถี่ถ้วนทั้งสองฝ่ายก่อน ลงข่าวแบบนี้ไม่ยุติธรรมต่อผู้ตายเลย คนใน pantip ดูไปดูมายังสันนิษฐานเก่งกว่าตำรวจอีกอะ ขอให้คดีนี้คลี่คลายด้วยเถิด”

เป็นหนึ่งในหลายความคิดเห็นที่แสดงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แน่นอนมันสะท้อนถึงความคลางแคลงใจของประชาชนต่อการปฏิบัติงานสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะหากย้อนดูการทำงานการดำเนินคดีของผู้ปฏิบัติงานยุติธรรมก็มีความผิดพลาดให้ได้เห็นกันอยู่ ไม่ว่าจะจับผิดตัว, แพะรับบาป, สำนวนเท็จ ฯลฯ ก็เป็นปัญหาที่หมักหมมในวงการยุติธรรม

ที่สำคัญการสันนิษฐานจากพยานแวดล้อมของเจ้าหน้าที่ก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เพราะหากไม่ได้สืบสวนถึงบริบทปูมหลังของผู้ต้องหาอย่างถ้วนถี่ สังคมหรือสื่อเองก็ดีอย่ารีบพิพากษาคนตายด้วยการตั้งข้อสันนิษฐานและความน่าจะเป็นให้เปื้อนมลทิน

ซึ่งบางทีความตายของผู้ต้องหา ในหลายๆ ข่าวที่สื่อเผยแพร่ออกมาจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กลายเป็นเรื่องชวนหัวของสังคม เหยียบย้ำหัวใจของคนในครอบครัวและคนสนิทของผู้ต้องหาที่จากไปอีกต่างหาก

เรื่องที่คุณรู้..อาจไม่ใช่เรื่องจริง
จะว่าไปแล้วการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนถึงจะเป็นข้อเท็จจริงที่มีมูลมากจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ใช่ว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดเสมอไป อย่างว่าเหรียญยังมีสองด้านก็เหมือนกันบางครั้งประชาชนก็ได้รับรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียว

ช่วงที่ผ่านมาผู้เสพข่าวก็คงจะได้รับข่าวสารจำพวก คดีฆ่าตัวตาย หรือเหตุฆาตกรรม ที่ดูจะมีปมขัดแย้งในรูปคดี แม้จะปรากฏว่ามูลเหตุทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นการ 'สันนิฐาน' ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์สอบสวนมาแล้ว แต่หลายต่อหลายข่าวก็กลายเป็นประเด็นร้อนให้ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องเฟ้นหาคำตอบให้คลายสงสัย จะว่าไปข้อมูลรวมทั้งความคิดเห็นที่พรั่งพรูมาจากโลกอินเตอร์เน็ต ผู้รับสารเองก็ต้องกลั่นกรองกันอีกชั้นหนึ่งเพราะมีทั้งเนื้อหาเป็นจริงเป็นเท็จปะปนกันไป

แต่เชื่อว่าคำบอกเล่าจากคนสนิทของผู้ต้องหาที่เสียชีวิตผ่านระบบโซเซียลฯ ที่มีหลักฐานมีตัวตนชัดเจนก็ได้สร้างมุมมองใหม่ ทำให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลอีกด้านที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดูจะเข้าไม่ถึง

กรณีวัยรุ่นชาวสวีเดนก่อคดีใช้มีดแทงนักศึกษาไทยเสียชีวิตภายในห้องพักโรงแรมในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งที่เกิดเหตุก็มีแค่ 2 คน แน่นอนคนตายไปแล้วจะมาให้การอะไรได้ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ดูแลคดีก็สอบข้อเท็จจริงจากชายสวีเดนซึ่งให้การว่าเป็นการต่อสู้เพื่อป้องกันตัว เมื่อสอบสวนต่อก็พบว่ามีหญิงสาวชาวไทยเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ซึ่งหล่อนให้การว่าก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อยังต่างประเทศได้คบหากับชายผู้เสียชีวิตและสนิทสนมกันทางเฟสบุ๊ค ต่อมาได้คบกับชาวสวีเดนและพากันเดินทางมาเที่ยวยังประเทศไทย ต่อมาชายทั้งคู่พบกันเกิดการต่อสู่เพราะความหึงหวงตน และเกิดเหตุน่าสลดขึ้น

ในเรื่องนี้เจ้านี้ตำรวจหลังสอบสวนพยานแวดล้อมก็ปักใจเชื้อว่าเป็นคดีชู้สาว แต่กระแสในอินเตอร์เน็ตคนใกล้ชิดผู้ตายก็ค่อยๆ เปิดเผยข้อเท็จจริงกันออกมา อย่างรุ่นพี่ก็ให้ข้อมูลว่าเรื่องราวนั้นไม่ได้เป็นจริงตามที่หญิงสาวผู้นั้นกล่าวอ้าง หล่อนหลงรักชายผู้เสียชีวิตแต่ไม่เคยคบหากัน หรืออย่างข้อความลับที่บอกว่าชายต่างชาติได้โพสต์ว่า “ใครเป็นกิ๊กกับ แฟนเขาจะฆ่าให้ตาย” หรืออีกกระแสก็บอกฝ่ายหญิงเป็นแม่เล้า ล่อลวงผู้ตายให้มามีสัมพันธ์กับหนุ่มสวีเดน ฯลฯ

อย่างไรก็ตามถึงตำรวจฟันธงไปว่าชาวต่างชาตินั้นมีเจตนาฆ่า แต่ข้อครหาในเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวก็ไม่สามารถคลี่คลายได้

หรือก่อนหน้า กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานฟันธงว่า นิสิตสาวจากรั้วจามจุรีฆ่าตัวตายเพราะทำศัลยกรรมแล้วไม่สวย ขณะที่สื่อเผยแพร่ออกไปก็สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวผู้เสียชีวิตอย่างมาก เดือดถึงทางด้านญาติพี่น้องเพื่อนสนิทต้องออกมาปฏิเสธว่าเหตุนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทำให้เธอคิดสั้น แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงเสียงกระซิบที่ไม่มีใครสนใจ เพราะทุกคนพิพากษาผู้ตายไปแล้ว


ระบบงานยุติธรรมบ้านเรา 'อ่อน'
ในส่วนของการคลี่คลายคดี นั้นเป็นความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าพนักงานสอบสวน ที่ต้องสร้างความโปร่งใสแก่กระบวนการยุติธรรม

รศ. เดชา สังขวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ กล่าวว่าหลายๆ คคีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนตายจะกลายเป็นแพะให้คนเป็นพ้นความผิด ซึ่งหากเทียบประสิทธิภาพในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนและการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทย ซึ่งดูมาตรฐานยังห่างไกลหากเปรียบเทียบกับสากล

“เทียบกันไม่ได้เลย บ่อยครั้งที่การดำเนินคดีทางอาญา มีการจับผิดตัว บ้านเรามันหละหลวมมาก อย่างเคสของ เชอร์รี่ แอนน์ ที่จับผิดตัวและเขียนสำนวนในลักษณะที่เป็นเท็จทั้งหมด พอเป็นเท็จอัยการกับศาลก็ช่วยไม่ได้แล้ว พนักงานสอบสวนเขียนมาอย่างไรเขาก็ว่ากันไปตามตัวอักษร เป็นไปตามสำนวนที่ทำขึ้นมา ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นการทำงานของตำรวจนครบาลของญี่ปุ่น คดีที่รุนแรงการฆ่าคนตายฆาตกรรมของตำรวจนครบาลญี่ปุ่นเกือบจะไม่พลาดเลย 98 เปอร์เซ็นที่จับตัวได้เลย คนที่ถูกจับจะถูกดำเนินคดีและลงโทษในที่สุด”

ด้วยความซับซ้อนของกฏหมาย และปมที่ยังคลี่คลายไม่ถึงที่สุดก็อาจทำให้ข้อเท็จจริงของรูปคดีพลิกได้เหมือนกัน

“เป็นไปได้ว่าคนที่ผิดอาจกลับไปสู่สถานภาพผู้เสียหายได้ กรณีทะเลาะวิวาทแล้วฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย ก็ต้องมีการพิสูจน์กันว่าจริงหรือไม่อย่างไร ผู้ที่กระทำการสอบปากคำต้องสอบข้อเท็จจริงให้ได้ว่าที่เขาให้การมันจริงหรือเปล่า หรือว่ามันเท็จ เพราะ ณ ขณะนี้คนตายให้การอะไรไม่ได้แล้ว เป็นไปได้ว่าคนที่อยู่อาจจะให้ข้อมูลที่เป็นจริงหรือเป็นเท็จก็ได้

“พนักงงานสอบสวนต้องดูสภาพแวดล้อมทั้งหมดหลายๆ อย่าง แม้กระทั่งคำให้การณ์ของพยานต้องสืบกันดู เขาต้องสืบให้มากกว่านี้ คือทุกอย่างมันจะจบด้วยสำนวนคดีของพนักงงานสอบสวนนี่แหละ”

รศ. เดชา แนะถึงการทำงานของตำรวจไทยว่าต้องสืบค้นข้อเท็จจริงให้มากกว่านี้ ต้องพยายามสร้างมาตรฐานต่อองค์กรสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน คลี่คลายคดีอย่างถี่ถ้วน จับกุมผู้กระทำความผิดอย่างรัดกุม เช่นเดียวกันในส่วนของผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายที่เสียชีวิตไปแล้วก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา

“พนักงานสอบสวน ตำรวจไทย ในเรื่องมาตรฐานการทำการสอบสวนยังไมได้มาตรฐานเท่าที่ควรหากเทียบกับสากล มันก็มีอยู่หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการพัฒนาทางด้านสังคม เทคโนโลยีไม่เพียงพอ แต่ว่าประสิทธิภาพของอีกส่วนหนึ่งก็มาจากการได้ฝึกฝน

“ตอนนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็กำลังพัฒนาประสิทธิภาพของพนักงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่คิดว่าก็คงยังไปได้ไม่ถึงไหนถ้าเทียบกับต่างประเทศ อย่างเช่นสิทธิของผู้เสียหาย สิทธิของผู้ตกเป็นผู้ต้องสงสัย เหล่านี้พนักงงานสอบสวนของเรายังมีความหละหลวมกันค่อนข้างมาก ยังไม่อยู่ในมาตรฐานของสากล มันก็นำไปสู่การดำเนินคดีที่ไม่มีประสิทธิภาพดีในงานยุติธรรม จริงๆ แล้วต้องหาข้อเท็จจริงให้แม่นยำที่สุดแล้วเอาผู้กระทำผิดจริงมาลงโทษ”

นอกจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฯ ที่สำคัญผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็ต้องมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว เคารพสิทธิของผู้เสียหายสิทธิของผู้ต้องหาที่เสียชีวิตไปแล้วหรือมีชีวิตอยู่ก็ดี ระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพราะสื่อก็เป็นตัวกลางสำคัญในการพิพากษาผู้ตายผู้ตกจำเลยสังคม

…..............................
รูปคดีจะดำเนินไปในทิศทางไหนก็คงขึ้นอยู่กับการสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานในระบบงานยุติธรรม การทำงานอย่างรัดกุม โปร่งใส สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปฏิบัติงาน เป็นสิ่งที่ประชาชนกำลังจับตาดูอยู่







กำลังโหลดความคิดเห็น