xs
xsm
sm
md
lg

1 มหาวิทยาลัย 100 ร้านเหล้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


      "1 มหาวิทยาลัย 100 ร้านเหล้า"      
นี่ไม่ใช่แผ่นป้ายโฆษณาสินค้าโอทอป แต่มันคือการประจานปัญหาร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ผ่านมาปีแล้วปีเล่าผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด โดยไม่มีการควบคุม และขยายตัวไปทุกซอกทุกมุมของสถาบันการศึกษาจนมาถึงทุกวันนี้

เลิกเรียนเสร็จก็ตรงปรี่เข้าร้านเหล้าข้างมหา'ลัย ที่อยู่เรียงรายแทบชิดติดรั้ว ไล่ตั้งแต่รุ่นพี่ยันรุ่นน้องเฟรชชี่เข้าใหม่ นั่งรวมกลุ่มชนแก้วยันรุ่งสาง แบบไม่เมา..ไม่เลิกรา นี่เป็นภาพคุ้นตาของนักศึกษาไทย และถือเป็นเรื่องปกติที่ดำเนินอยู่เช่นนี้ทุกค่ำคืน...
ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ กรณีเด็กนักศึกษารายหนึ่งที่เข้าฝึกโครงการ “สุภาพบุรุษอาชีวะ” ในค่ายทหารแล้วมีอาการป่วยเป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่ม จนไม่สามารถทำการฝึกต่อได้ ซึ่งเป็นผลกระทบที่สะท้อนปัญหาข้างต้นของกลุ่มวัยรุ่นไทยอย่างชัดเจน และกำลังรอรับการเยียวยาจากสังคมให้หันกลับมาทบทวนกันอีกครั้ง

“เด็กไทย” นักดื่มตัวยง

การครองอันดับหนึ่งนักดื่มหน้าใหม่ของบรรดาเด็กนักเรียนและนักศึกษา แสดงถึงความเสื่อมถอยของวงการศึกษาไทย และช่องโหว่ของสังคมที่มีแต่รูรั่วเต็มไปหมด จากหลายเหตุปัจจัยของการเพิ่มจำนวนนักดื่มกลุ่มวัยรุ่น แต่ในความเป็นจริงมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ได้เคยดื่มแอลกอฮอล์แล้วด้วย จึงยิ่งเป็นการเพิ่มจำนวนนักดื่มในอนาคตนับแสนคน

ปัจจุบันมีนักดื่มวัยรุ่นในช่วงอายุ 15-24 ปี จำนวนกว่า 6 แสนคน ทั้งยังพบยอดตัวเลขนักดื่มหน้าใหม่ในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนคน (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ) จึงมีความเสี่ยงเป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่ม เนื่องจากเป็นนักดื่มตั้งแต่อายุยังน้อย

ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากปกติผู้ป่วยที่เป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่มต้องอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป แต่หลังๆ มาเราพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 25 ปีเป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่มมากขึ้น และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเพิ่มขึ้นมาถึง 2-3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ 2-3 ปีก่อนหน้านี้

“เมื่อเราเจาะเข้าไปในสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคแอลกอฮอล์ลิซึ่ม จะเห็นว่ากลุ่มนักศึกษาอาชีวะ สายอาชีพมี 60% ที่เป็นนักดื่มแอลกอฮอล์ นักศึกษาและนิสิตมหาวิทยาลัยมี 50% นักเรียนมัธยมฯ สายสามัญมี 40% และ ชั้นประถมฯ ที่เคยลองดื่มแล้วประมาณ 30% และมีโอกาสที่จะเป็นนักดื่มเมื่ออายุ 15 ปีขึ้นไป จนเป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่มตามมาเมื่ออายุยังน้อย ซึ่งเป็นตัวเลขที่คิดดูแล้วว่าน่าจะประเมินต่ำไป”

ปัจจัยที่ทำให้คนเป็นโรคแอลกอฮอล์ลิซึ่มเพิ่มขึ้น เริ่มต้นจากการส่งเสริมของภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการจูงใจด้วยการโฆษณาและการส่งเสริมการขาย โดยมีการลดแลกแจกแถม จึงเป็นการจูงใจด้านราคา และมีการโฆษณาอย่างที่เห็นตามสื่อต่างๆ “ชีวิตของเรา...ใช้ซะ” จึงกระตุ้นให้วัยรุ่นดื่มมากขึ้น เพราะกิจกรรมของธุรกิจแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับวัยรุ่น ทั้งกิจกรรมลานดนตรี และเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอลค่อนข้างมาก

ปัจจัยต่อมาเป็นเรื่องของค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไป วัยรุ่นเน้นที่เรื่องของความสนุกสนาน มีการจัดงานสังสรรค์มากขึ้น งานวันเกิด หลังสอบเสร็จ เนื่องจากเด็กเลียนแบบอยากจะเป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น ก็ยิ่งเร่งให้เข้าไปอยู่ในวงจรของนักดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น

และปัจจัยสุดท้ายมาจากครอบครัว เด็ก 80% มีพ่อที่ดื่มเหล้า ดังนั้นจะเห็นพฤติกรรมของพ่อ ของคนในครอบครัวที่เป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะใช้ชีวิต ทำให้เกิดความคิดว่าเมื่อพ่อเขายังดื่มได้ ถ้ามีโอกาสดื่มสังสรรค์ก็ไม่ใช่เรื่องผิด

แอลกอฮอล์ลิซึ่ม ข้างมหา'ลัย

กลายเป็นภาพคุ้นตาแล้วว่าถ้าที่ไหนมีมหาวิทยาลัย บริเวณนั้นต้องมีร้านเหล้า จนเกือบทำให้คิดไปแล้วว่า...หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดออกกฎมาแบบนี้!? เพราะไม่เห็นใส่ใจหรือแยแสที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างจริงจังเสียที

ไม่ว่าจะหันซ้ายแลขวาตรงริมรั้วของมหาวิทยาลัย ร้านเหล้าก็ตั้งอยู่รอบด้าน โดยที่ภาครัฐและผู้บริหารสถาบันการศึกษาเมินเฉย ทำเหมือนไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรเลย

จากการลงพื้นที่สำรวจ ส่วนใหญ่ร้านเหล้าเหล่านี้ได้เปิดตัวแบบร้านอาหารกึ่งผับ บรรยากาศนั่งดื่มชิลๆ สบายๆตั้งอยู่ไม่ห่างจากสถาบันการศึกษามากนัก เพียงเดินเท้าชั่วอึดใจแบบยังไม่ทันหายเหนื่อย หรือแว๊นมอเตอร์ไซค์มาไม่นานก็ถึงร้านเหล้าที่มีให้เลือกมากมาย ราวกับร้านขายของชำ เดินผ่านหน้าร้านไหนก็มีแต่พรรคพวกโบกมือทักทายกัน นั่งหน้าแฉล้มก๊งเหล้าอย่างสบายอารมณ์ เสมือนเป็นวัฒนธรรมหลังเลิกเรียนก็ว่าได้

โดยส่วนใหญ่เปิดบริการให้ลูกค้าทุกเพศทุกวัย แต่เน้นเด็กนักศึกษาเป็นพิเศษ ประมาณ 80% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด ไม่ว่าชายหรือหญิง เด็กหรือคนแก่ ก็สามารถเมาปลิ้นได้ไม่ต่างกัน เพราะนอกจากเหล้าและเบียร์ที่ถูกคอผู้ชายแล้ว เหล้าปั่นก็เข้ามาเป็นสีสันดึงดูดใจให้ลูกค้าผู้หญิงเข้าถึงง่ายขึ้น โดยเป็นการนำแอลกอฮอล์มาผสมกับพวกน้ำผลไม้ต่างๆ จึงดื่มง่าย แต่เมาไม่รู้ตัว

หลายคนคงแปลกใจว่าทำไมร้านเหล้า หรือแหล่งอบายมุขเหล่านี้ถึงเปิดและอยู่ได้โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดสถานที่ และไม่จำกัดเวลาปิด ส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายส่วยแบบเคร่งครัด ไม่ตกไม่หล่น เพราะถ้าไม่จ่ายจะเกิดปัญหาตามมาแบบไม่คุ้มเสีย แหล่งข่าวเจ้าของร้านเหล้าย่านกลางเมืองบางแสน ใกล้กับมหาวิทยาลัยบูรพา ให้ข้อมูลว่าไม่มีร้านเหล้าไหนในย่านนี้ ไม่จ่ายส่วยให้ตำรวจ เขาจะให้ลูกน้องมาเก็บรายเดือน เดือนหนึ่งมา 3 คน ให้ครั้งละ 3,000 บาท จึงเท่ากับว่าต้องจ่ายส่วยถึง 9,000 บาท/เดือน นี่เป็นแค่ร้านขนาดกลาง แต่หากเป็นร้านขนาดใหญ่ จะประมาณเดือนละ 10,000 กว่าบาท

“พวกนี้ไม่จ่ายให้ไม่ได้เลย เพราะเขาจะส่งคนมาสร้างความเดือนร้อนให้กับร้านเรา จนกว่าเราจะยอมจ่ายส่วยให้เขา บางทีก็ส่งเด็กมาตีกันหน้าร้านให้เราเสียหาย หรือหาเรื่องมาให้เราแก้ ทุกร้านจึงต้องยอมจ่ายๆ ไป เพื่อความปลอดภัยซึ่งพวกมีอิทธิพลในคราบตำรวจ เขาจะระบุเลยว่าต้องจ่ายวันไหนของเดือน เหมือนเป็นเชิงบังคับ และมาเรียกเก็บเงินถึงที่ห้ามโอนเงินเด็ดขาด เนื่องจากหลีกเลี่ยงการตรวจสอบเงินในระบบ”

ถึงแม้ร้านเหล้าจะหวานอมขมกลืนกับ “ส่วยตำรวจ” แต่ก็หน้าชื่นตาบานต้อนรับลูกค้าที่มาเยือน เพราะมันได้กำไร เสียยิ่งกว่าได้ เมื่อแลกกับการจ่ายส่วยแล้ว ถือว่าคุ้มมากในเมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้คนใช้บริการเนืองแน่น จึงต้องก้มหน้าก้มตายอมจ่ายส่วยต่อไป และนักธุรกิจรายใดเห็นโอกาสก็ผุดร้านเหล้าใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเพี้ยบ จนกลายเป็นย่านร้านเหล้าที่ลูกค้ารู้จัก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนที่เข้ามาใช้บริการไม่ขาดสาย

นอกจากนี้ประเทศไทยมีใบอนุญาตจำหน่ายแอลกอฮอล์โดยสรรพสามิตถึง ห้าแสนห้าหมื่นใบ (ไม่นับรวมร้านที่ซื้อมาวางขายแบบไม่มีใบอนุญาต) เนื่องจากใบอนุญาตมีราคาถูก ต่างจังหวัดอยู่ที่ 11 บาท/ปี ในเขตเมือง 50 บาท/ปี และกรุงเทพฯ 100 บาท/ปี ฉะนั้นพอมีใบอนุญาตยิบย่อยแบบนี้ขึ้นมาทุกร้าน จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมการจำหน่ายได้ทุกพื้นที่

“ทั้งที่กฎหมายห้ามจำหน่ายให้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี แต่จากการสำรวจ 98.7% ซื้อได้ บางครั้งใส่ชุดนักศึกษาเข้าไปซื้อด้วยซ้ำ” ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าว

ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

"แอลกอฮอล์ลิซึ่ม มันร้ายแรงยิ่งกว่าอาชญากรรม ปล้น ฆ่า หรือค้าประเวณี เพราะมีคนเสียชีวิตถึงปีละ 26,000 คนซึ่งมากกว่าคดีพวกนี้รวมกันกว่า 30 เท่า”

การดื่มสุราจนติดแอลกอฮอล์เป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ จนไม่เห็นถึงความอันตราย หลายปัจจัยมาจากความไม่รับผิดชอบต่อสังคม ผู้ใหญ่รังแกเด็ก การปลูกฝังค่านิยมผิดๆ จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง รวมถึงการตกเป็นเหยื่อของคำโฆษณา จนทำให้เกิดความคิดที่ว่าการกินเหล้าเป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่นทั่วไปทำ

ธีระ วัชรปราณี กล่าวถึงความสูญเสียจากการดื่มเหล้าว่า "ในแต่ละปีคนไทยเสียเงินค่าสุราอย่างน้อย 2 แสนล้านบาท โดยจ่ายให้กับบริษัทสีเขียว ประมาณ 1 แสนล้าน จ่ายให้สีเหลือง 4-5 หมื่นล้าน ส่วนบริษัทอื่นๆ ก็แชร์ๆ กันไป สีเขียวที่ได้กำไรมาก เพราะมีเหล้าขาว เหล้าแดง แต่ละปีจึงประกาศผลกำไรสุทธิเป็น 10,000 ล้าน

กลุ่มบริษัทธุรกิจเหล้าเบียร์ มักสร้างภาพว่าเขาเป็นนักบุญ เพราะเขารู้จุดอ่อนของตัวเอง จึงสร้างภาพด้วยเงินสนับสนุนเพื่อจัดกิจกรรมงานบุญ บุญแข่งเรือ บุญบั้งไฟ บุญแห่ชักพระ แม้กระทั่งติดสินบนนักการเมืองแทบจะทุกพรรคแม้แต่ อบต.ถ้าขอสปอนเซอร์จากพวกนี้ก็จ่ายหมด จ่ายเต็มที่เลยเพราะรู้ว่าคนที่รับเงินไปแล้วจะถือเป็นเรี่องบุญคุณกัน”

มีคนเปรียบเปรยถึงการเสียเงินจ่ายค่าเหล้าของคนไทยว่า เท่ากับค่าการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีราคาเกือบ 2 แสนล้านบาท และใช้เวลาสร้างเป็นสิบปี แต่คนไทยกินเหล้าเพียงแค่ปีเดียวเท่ากับค่าสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

ธีระ วัชรปราณี กล่าวถึงความสูญเสียด้านอื่นๆ ต่อว่า คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีๆ หนึ่งซึ่งประกอบไปด้วย ค่าอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินทั้งหลายที่สูญเสียไป บุคคลที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร บุคคลที่เส้นเลือดสมองแตกจากการดื่มเหล้า ความสูญเสียจากการที่ไม่ได้ทำงานจากการติดสุรา ปีหนึ่ง 1แสน 5 หมื่นล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายทางสังคม เศรษฐกิจที่สูญเสียไป ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 26,000 คนโดยเฉลี่ย หรือเท่ากับ 20 นาที/คน หรือชั่วโมงละ 3 คน

ด้านกรมสุขภาพจิตประมาณการว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ลิซึ่ม และควรที่จะได้รับการบำบัดประมาณ 3 ล้าน 2 แสนคน แล้วเป็นพวกที่ดื่มแอลกอฮอล์แบบเสี่ยงแล้วมีโอกาสไปทะเลาะวิวาท ไปทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเองทั้งหลาย ยังไม่ถึงกับติดเลยมี 2 ล้านคน คือคนไทยทั้งหมดตอนนี้มี 5 ล้านคนที่มีปัญหา ซึ่งประเทศไทยมีทั้งหมดตอนนี้ 20 ล้านครอบครัว 5 ล้านคนตรงนี้แทบจะอยู่ทุกครอบครัวเลย อาจเพราะคิดว่าการกินเหล้าเป็นเรื่องปกติ

ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนในวันนี้ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว คือทัศนคติของการดื่มเหล้าที่วัยรุ่นเห็นกันว่าเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นความนิยมในวัยเรียน แต่ถึงอย่างไรหากยังมีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมอยู่ การปลูกฝังค่านิยม รวมถึงคนในครอบครัวคงตามไม่ทัน เพราะการส่งเสริมการขายจากธุรกิจน้ำเมาต่างๆ มีอิทธิพลมากกว่า จากงบประมาณตัวเงินที่ใช้ถึงปีละ 4-5 พันล้านในการโฆษณา หรือคงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการควบคุมที่กฎหมายอย่างจริงจังเสียที

*** ล้อมกรอบ ***

แอลกอฮอล์ลิซึ่ม คือโรคติดสุรา หรือพิษสุราเรื้อรัง เกิดขึ้นกับคนที่มีอาการติดสุราอย่างหนัก และดื่มเป็นระยะเวลานาน จนไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ ทำให้ผู้ดื่มมีความรู้สึกอยากดื่มอีกเรื่อยๆ เหมือนเป็นการเสพติดทางใจที่มีผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งหากหยุดดื่มอาจจะทำให้มีอาการ สั่น วิตกกังวล โมโหง่าย ประสาทหลอน สับสน หรือชักได้ เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า “ลงแดง” หรือ การถอนสุรา
ต้องดื่มเหล้ามากขนาดไหนจึงจะเรียกว่าอยู่ในภาวะติดเหล้า การดื่มเหล้าแบ่งเป็น 4 ระดับด้วยกัน คือ 1. ดื่มแบบทดลองชิม 2. ดื่มเป็นครั้งเป็นคราว หรือเฉพาะตอนเข้าสังคม 3. ดื่มบ่อยๆ เป็นระยะ และ4. ดื่มจนติด หรือที่เรียกว่า แอลกอฮอล์ลิซึ่ม คนที่ดื่มจนติดแล้ว มักจะดื่มเป็นประจำทุกวัน และเพิ่มปริมาณในการดื่มมากขึ้น ถ้าหยุดดื่มจะมีอาการ เช่น ใจสั่น มือสั่น คล้ายจะเป็นลม

สถานที่บำบัดรักษาโรคแอลกอฮอล์ลิซึ่ม
- สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.ปทุมธานี www.thanyarak.go.th
- โรงพยาบาลรัฐบาลให้บริการบำบัดรักษาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดทุกประเภท และเป็นสถาบันวิชาการที่เผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านยาเสพติดระดับชาติ มีบริการสายด่วนยาเสพติด Hotline 1165 เพื่อให้บริการคำปรึกษา คำแนะนำต่างๆ ด้านยาเสพติดทางโทรศัพท์ และมีศูนย์ภูมิภาคคอยรองรับบริการผู้ป่วยตามภาคทั่วประเทศ
- โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี โทร. 039-324975
- โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ถ.หน้าสถานีรถไฟ จ.บุรีรัมย์ โทร. 044-615002
- โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โทร. 035-241027
- โรงพยาบาลยะลา จ.ยะลา โทร. 073-244711-8
- โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา โทร. 074-230800-4
- โรงพยาบาลสระบุรี จ.สระบุรี โทร. 036-316555-6
- โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี โทร. 035-502784-8
- โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี โทร. 045-255848



ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต






กำลังโหลดความคิดเห็น