xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงสาวภูธรเกินครึ่งซดน้ำเมาอายุ 16 บอกอยากเข้าสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญญาณอันตราย! เอ็นจีโอเผย หญิงชนบทซดน้ำเมาเกินครึ่งเริ่มดื่มอายุ 16 ปี เหตุอยากเข้าสังคมและอยากลอง ส่วนจำนวนเลิกดื่มได้แค่ 14.6% ขณะที่ร้านค้าหน้าหมู่บ้านเป็นสถานที่ยอดฮิต ไม่จำกัดเวลาซื้อขาย ผอ."จะเด็จ" แนะ พม.-สธ. แก้โจทย์ผู้หญิงกับน้ำเมา เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ดึงกองทุนสตรีนายกฯปูช่วยบูรณาการ
 

วันนี้ (9 พ.ค.) ที่บ้านราชวิถี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิขวัญชุมชน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “สานพลังชุมชนเพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรกลุ่มผู้หญิง”

โดย นางสุภาพร ทองสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิขวัญชุมชน เปิดเผยถึงผลสำรวจการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มผู้หญิงในชุมชน ช่วงอายุ 25-60 ปี จาก 5 ตำบล 5 จังหวัดในภาคอีสานจำนวน 400 ราย พบสัดส่วนของผู้หญิงที่ดื่มถึง 59.3% เคยดื่มแต่เลิกได้ แค่ 14.6% และ ไม่เคยดื่มเลย 26.1% นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงดื่ม เพราะต้องการเข้าสังคม อยากลอง เพื่อนชวน และปัจจัยภายนอก คือ หาซื้อได้ง่าย ทุกหมู่บ้านไม่จำกัดเวลาในการซื้อขาย
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
"กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นิยมดื่มเบียร์ และเหล้าขาว มีพฤติกรรมการดื่มหนักในงานเลี้ยงสังสรรค์ และช่วงเทศกาลงานบุญประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ บุญบั้งไฟ นอกจากนี้ ยังพบว่า 95.4% หาซื้อสุราจากร้านค้าในหมู่บ้าน สำหรับสถานที่ดื่ม คือ บ้านตนเอง 42.6% บ้านเพื่อนหรือญาติ 28.3% และที่ร้านค้า 23.8% ส่วนช่วงเวลาที่ดื่ม คือ ช่วงหัวค่ำ เวลา 18.00 -21.00 น.และที่น่าตกใจ คือ กลุ่มผู้หญิงสูงอายุ ระหว่าง50-60 ปี มีลักษณะดื่มประจำเช้าเย็นโดยที่ไม่ห่วงสุขภาพ โดยนิยมดื่มมากที่สุด คือ สุราขาว 40 ดีกรี 63.0% รองลงมา เหล้าดองยา 12.0% ในทางวิชาการ พบว่า ปริมาณที่ร่างกายรับเอทานอลเข้าไปประมาณ 9.6 กรัมต่อวัน หรือ คิดเป็นเอทานอล 3.5 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว มีโอกาสเป็นโรคสุราเรื้อรัง หรือ การติดสุรา และคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 1-2 ขวดต่อวันจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ส่วนผลกระทบที่มาจากแอลกอฮอล์ คือ เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุดถึง 47.7% เช่น มีปากเสียง ทะเลาะ ทำร้ายร่ายกายคนในครอบครัว รองลงมา ผลกระทบด้านสุขภาพ 14.3%” นางสุภาพร กล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การติดสุราของผู้หญิงส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากปัญหาครอบครัวที่ผู้หญิงในชนบทไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกหรือมีบทบาทในสังคม ขาดการรับฟัง การดื่มในช่วงเทศกาลงานประเพณีต่างๆ จึงเหมือนเป็นพื้นที่ระบาย หรือปลดปล่อย ซึ่งจะพบว่ามีการแสดงออกอย่างเต็มที่ในขณะที่ผู้หญิงในเมืองเองก็มีแนวโน้มในการดื่มสุรามากขึ้น อย่างไรก็ตาม การตอบโจทย์การแก้ปัญหาผู้หญิงกับการดื่มสุราควรนำเอางานวิจัยมาเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ข้อเท็จจริงของปัญหา และสร้างเครือข่าย เพื่อการเข้าถึงปัญหาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ถูกเหมือนที่เคยรณรงค์เลิกเหล้าในผู้ชาย ทั้งนี้ การแก้โจทย์เพื่อหาพื้นที่บำบัดการติดสุราของผู้หญิงนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม.และ สธ.จะต้องมีพื้นที่รับฟังและสร้างสรรค์ให้กับกลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะ และควรนำเรื่องกองทุนสตรีเป็นตัวช่วย หรือร่วมบูรณาการการแก้ไขปัญหาผู้หญิงกับการดื่มสุราไปพร้อมกับการสร้างอาชีพ นอกจากนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในความรับผิดชอบของ สธ.ก็ควรเข้าไปสร้างพื้นที่ให้กับผู้หญิงได้ระบายทุกข์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น