xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฟาร์มในผับ รังแกสัตว์ให้ตายทั้งเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เมื่อความเจริญเข้ามาในเมืองมากเท่าไหร่ คนเราก็ไขว่คว้าหาธรรมชาติมากเท่านั้น...

สิ่งนี้เอง คือจุดขายที่ทำให้เกิดฟาร์มสัตว์ในร้านอาหารกึ่งผับแถบกรุงเทพฯ และชานเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการนำสัตว์เข้ามาเรียกลูกค้าที่กระหายธรรมชาติ โดยไม่ต้องไปไกลถึงต่างจังหวัด จึงกลายเป็นความสุขชั่วครู่ชั่วยามผ่านคืนแล้วคืนเล่า เพื่อตอบสนองความต้องการของคน จนลืมนึกไปว่าสัตว์ก็มีหัวใจที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับเสียงดังอึกทึกครึกโครมในยามค่ำคืน

ฟาร์มสัตว์ คือจุดดึงดูดลูกค้า
อ้างอยากให้สัมผัสธรรมชาติ หรือแค่อยากหากินกับสัตว์กันแน่! เมื่อนักธุรกิจบางคนใช้ความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ด้วยการนำสัตว์เป็นจุดขาย เพื่อแลกกับการดื่มด่ำธรรมชาติที่หายากในเมืองกรุง

การนำสัตว์มาเป็นจุดขายในร้านอาหาร เคยเกิดขึ้นมานานแล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการนำสัตว์แปลกเข้ามาให้ลูกค้าชื่นชม ก่อนที่เมืองไทยจะเริ่มต้นไอเดียนี้จากโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก และร้านอาหารในต่างจังหวัด ซึ่งมักมีฟาร์มสัตว์เลี้ยงนานาชนิด อย่าง แกะ แพะ วัว ม้า ให้ลูกค้าได้สัมผัสและใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด รวมทั้งบริการขายอาหารสัตว์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ป้อนอาหารเองกับมือ

The Scenery Resort สวนผึ้ง ราชบุรี รีสอร์ทชื่อดังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่นี่เป็นที่แรกๆ ในการนำแกะ สัตว์เลี้ยงขนฟูมาเลี้ยงเพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม หลังจากนั้นก็มีรีสอร์ทอีกหลายๆ แห่ง ดำเนินกิจการคล้ายๆ กันตามมา อย่าง Swiss Valley, ค้ออินเลิฟ และพื้นที่ตากอากาศเล็กๆ อีกมากมายรายรอบเมืองไทย ต่างก็มีสัตว์ชูจุดขายเพื่อเรียกนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน

นอกจากเจ้าของธุรกิจจะได้ค่าที่พัก ค่าบริการแล้ว ยังได้ค่าอาหารสัตว์ และค่าถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ซึ่งมีลูกค้านักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาใช้บริการอย่างไม่ขาดสายในแต่ละปี

การดูแลสัตว์จึงเป็นอีกหน้าที่สำคัญที่ทางรีสอร์ท ที่พัก หรือร้านอาหารต่างๆ ต้องมีการจัดการที่เป็นระบบ ตั้งแต่การเลี้ยง การดูแล ซึ่งที่เป็นปัญหาและเคยเกิดขึ้นมาแล้ว คือ การควบคุมการให้อาหารสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์อย่างมาก เช่นเดียวกับที่ โรเจอร์ โลหนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเขามีรายได้จากการขายอาหารสัตว์ เขาจะให้สัตว์อดอาหาร เพื่อที่จะได้กินอาหารเยอะๆ ในตอนที่ลูกค้ามาให้

รวมถึงการโยนสิ่งแปลกปลอมให้สัตว์กิน อย่างร้านอาหารซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการควบคุมยาก เนื่องจากลูกค้าแวะเวียนเปลี่ยนผ่านจำนวนมาก บางคนอาจเผลอโยนสิ่งที่สัตว์กินไม่ได้ จึงทำให้มันเสียชีวิต นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคุณภาพความเป็นอยู่ของชีวิตสัตว์ เมื่อถูกคนนำมาเป็นจุดขาย

ยกสวนผึ้งมาไว้กรุงเทพฯ
จากความต้องการใกล้ชิดธรรมชาติของคน โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองซึ่งไม่มีโอกาสไปเยือนต่างจังหวัดสักที จึงเป็นจุดขายให้พ่อค้าหัวใสผุดไอเดียยกสวนผึ้งมาอยู่ในกรุงเทพฯ เองเสียเลย เพื่อเอาใจนักท่องราตรีที่เม็ดเงินสะพัดมากกว่าต่างจังหวัดเป็นไหนๆ

จึงก่อเกิดสัตว์เลี้ยงในร้านอาหารต่างๆ และมีความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ร้านเด็กเลี้ยงแกะ ร้านสามวันสองคืน ฯ ซึ่งจำลองบรรยากาศอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ด้วยคอนเซ็ปต์ ฟาร์ม แอนด์ เรสเตอรอง

ยามดึกฟ้ามืดสลัวเป็นเวลาแห่งการพักผ่อน เห็นเป็ดว่ายน้ำอยู่ในสระ กระต่ายวิ่งอยู่ใต้ต้นไม้ มีม้าและแกะกำลังริมหญ้าอยู่ข้างๆ นั่งฟังเพลงจากวงดนตรีสด พร้อมกับการรับประทานอาหารไปด้วย ช่างเป็นบรรยากาศที่น่าพิศมัยไม่น้อย แต่หากลองมองกลับกัน ความสุขนี้เกิดเป็นคำถามในใจของคนบางคนว่า เป็นความเห็นแก่ตัวของคนหรือเปล่า ที่นำสัตว์เข้ามาอยู่ในสถานที่ ซึ่งไม่ใช่ที่ที่มันควรจะอยู่

บางร้านปิดตี 2 แต่ถ้าเป็นวันศุกร์ และวันเสาร์ ปิดถึงตี 5 ประกอบกับเสียงเพลงที่ดังตลอดมากกว่า 6 ชั่วโมง ถ้าหากคนยังไม่กลับ สัตว์ก็ไม่ต้องหลับต้องนอนกันเลยทีเดียว

"ทารุณสัตว์ เอาม้าเอาวัวมาอยู่ใกล้วงดนตรี เครื่องเสียงดัง แล้วมันจะได้หลับได้นอนได้ยังไงกัน สงสารมันจัง" นี่เป็นความเห็นบางส่วนของชาวเน็ต ที่เคยเข้าไปใช้บริการร้านอาหารจำพวก ฟาร์ม แอนด์ เรสเตอรอง

โรเจอร์ โลหนันท์ ให้ความคิดเห็นว่า อย่างนี้ต้องดูว่าเจตนาของเขาคืออะไร ถ้าไปช่วยชีวิตสัตว์แล้วเอามาประกอบธุรกิจ ดูแลเขาดี ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาเริ่มจากไอเดียทางธุรกิจก่อน เราต้องบอกเขาเหมือนที่เคยบอกกับกรมอุทยานฯ หรือสวนสัตว์ที่จัดคอนเสิร์ตในป่าเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับสัตว์ป่า คุณเคยถามมันหรือเปล่าว่ามันชอบไหมกับเสียงดนตรีดังหนวกหู บางคนเขาก็บอกว่ามันชินแล้ว แต่ความเคยชินมันไม่ได้แปลว่ามันถูกต้องนะ อย่างผมโดนด่าทุกวัน ผมก็ชิน แต่ไม่ได้แปลว่าผมชอบ

“โดยธรรมชาติสัตว์ทั่วไป มันไม่ชอบเสียงอึกทึกหรอกครับ มันรำคาญ เพราะสัตว์พวกนี้หูไวกว่าคนเราเยอะมาก ถ้าเปิดเพลงเบาๆ ให้ม้าวัวฟังก็อีกเรื่องนะ ถ้าสภาพแวดล้อมดี เอาใจใส่ดีก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่ใช่สัตว์ป่า แต่เป็นสัตว์เลี้ยง มันไม่มีข้อห้ามว่าสัตว์ไม่ต้องช่วยคนทำมาหากิน แต่ถ้าไปเที่ยวจับสัตว์มาเป็นจุดขาย ฉีดยาสัตว์ให้มันนอนหมอบเฉยๆ ให้มันเรียกร้องรายได้ แบบนี้เรียกว่าทารุณ”

ติดโรคได้ หากไร้การจัดการที่ดี
การนำสัตว์เข้ามาเพิ่มบรรยากาศในร้านอาหาร กินอาหารไป เล่นกับสัตว์ไป แต่อย่าเล่นกับสัตว์เพลินจนลืมใส่ใจสุขภาพของตัวเอง เพราะบางครั้งเราอาจเผลอสัมผัสสัตว์เหล่านั้นแล้วหยิบอาหารเข้าปาก ถ้าจำนวนสัตว์น้อยก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าจำนวนมากจึงต้องเลือกร้านที่มีการจัดการควบคุมที่ดี เพื่อไม่มีเกิดโรคนำมาสู่ตัวเราได้

น.สพ.ทฤษดี ชาวสาวเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์สามารถให้บริการในเรื่องของการควบคุมรักษา และจัดเลี้ยงดูให้ถูกสุขลักษณะในการดูแลตรงนั้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลได้ในเรื่องการเกิดปัญหาสุขภาพของสัตว์ที่กำลังป่วยอยู่ ถ้าทางผู้ประกอบการไม่ใส่ใจดูแลก็อาจเกิดโรคมาสู่คนที่ไปใช้บริการได้

“สิ่งนี้จึงขึ้นอยู่กับการจัดการดูแลของทางร้านเอง โดยการแบ่งโซนให้สัตว์อยู่เป็นสัดเป็นส่วน ซึ่งการจัดโซนจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งคนที่ไปใช้บริการและสัตว์ที่เลี้ยงไว้เหล่านั้นด้วย”

ฉะนั้นการเลี้ยงสัตว์ภายในร้านอาหาร ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ หรือคิดแค่ทำๆ ไปเพื่อเอาผลกำไร โดยไม่ใส่ใจ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการต้องขออนุญาตภาคส่วนท้องถิ่นก่อน อย่างเช่น ถ้าอยู่ในต่างจังหวัด เป็นพื้นที่ อบต.ไหนต้องไปขออนุญาต อบต.นั้น หรืออยู่เขตเทศบาลไหนต้องไปขออนุญาตเขตเทศบาลนั้นด้วย

การนำสัตว์มาเป็นจุดขายนั้นไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามีการเลี้ยงการดูแลเป็นอย่างดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และไม่เป็นการรบกวนต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์มากเกินไป แต่ถึงอย่างไรแล้วธรรมชาติของสัตว์ทุกชนิด ถ้าอยู่ในธรรมชาติที่มันควรอยู่ก็ย่อมดีกว่าที่ใครจะเอามาครอบครองไว้เอง เพียงเพราะความเห็นแก่ตัวของตัวเราเองเท่านั้น

ฉะนั้นการมีจิตสำนึกหรือเจตนาที่ดีของคนที่ไม่ต้องการเบียดเบียนสัตว์ ไม่เห็นเงินสำคัญไปกว่าชีวิตเพื่อนร่วมโลก อาจเป็นเครื่องลบล้างข้ออ้างที่ว่า อยากให้คนเมืองได้รู้สึกถึงบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติเหมือนอยู่สวนผึ้งจริงๆ ก็ได้






กำลังโหลดความคิดเห็น