ส่วนใหญ่มักคิดกันว่าการดูแลสุขภาพในช่องปากแค่แปรงฟันก็เพียงพอแล้ว ตรงนี้ยังเป็นความเชื่อที่ผิดถนัด ขณะเดียวกันภัยเงียบก็ค่อยๆ คุกคามสุขอนามัยในช่องปาก ครั้นจะบังคับให้ใครต่อใครพบหมอฟันเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำก็คงจะยาก
แต่! หลังจากจบการสนทนากับ(ว่าที่)ทันตแพทย์สาวสวยทั้ง 4 คน จากรั้วมหิดล บางทีคุณอาจเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมบางอย่างไปเลย
พวกเธอกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 6 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย นศ.ทพ. ชลาธิป ชมพูนุท ณ อยุธยา (หมอน้ำตาล), นศ.ทพ. เขมชนก พรหมบุญ (หมออาย), นศ.ทพ. ศรัณย์พร วงษ์มานิยต์ (หมอปูน) และนศ.ทพ. พิมพ์รตา ไวเรืองศิริพงศ์ (หมอกุ๊ก) ซึ่งอีกไม่นานก็จะสำเร็จการศึกษาเป็นทันตแพทย์กันอย่างเต็มตัวแล้ว
บอกได้เลยว่าแต่ละคนไม่ได้งดงามเพียงรูปลักษณ์ภายนอก ทุกคนมีหัวใจของความเป็นหมอเต็มไปด้วยความโอบอ้อมอารีที่มอบให้คนไข้
พอได้เรียนรู้ทฤษฎีกันมาในระดับหนึ่ง นักศึกษาทันตแพทย์ก็คงต้องรู้สึกประหม่ากันไม่น้อยเมื่อได้ลงคลีนิคเข้าสู่กระบวนการรักษาคนไข้ที่มีชีวิตมีจิตใจมีความรู้สึก แน่นอนทุกคนคงยังจำความรู้สึกแรกครั้งนั้นได้ดี
หมอน้ำตาล : ตื่นเต้นคะ เพราะว่าที่ผ่านมาเราฝึกกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตนะ พอมาทำกับคนจริงๆ ที่มีความรู้สึก มีความเจ็บปวด ก็คิดอยู่ตลอดว่าเขาเป็นเหมือนอาจารย์ เป็นผู้มีพระคุณสามารถทำให้เราจบออกไปเป็นทันตแพทย์ที่ดี ก็อยากทำให้ดีที่สุดสมกับที่เขาไว้ใจ
หมออาย : รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกันคะ คนไข้คนแรกเป็นรุ่นน้อง คือเขาเชื่อใจว่าเราสามารถรักษาฟันให้เขาได้ ฉะนั้นต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย จริงๆ รู้สึกประทับใจคนไข้ทุกคนนะ คือสังคมไทยมันดีอยู่อย่างหนึ่งเวลาเจอคนแปลกหน้าเรานับเป็นญาติได้เลย เขาก็จะแบบรู้สึกสนิทกับเราในระดับหนึ่ง มีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย
หมอปูน : ตอนรับเคสแรก(อุดฟัน)มาก็รู้สึกประหม่าเพราะว่ามันเป็นครั้งแรกที่ทำกับคนจริงๆ กังวลเราต้องทำเหมือนกับว่าเราเก่งแล้ว เราต้องแอบคนไข้ไว้ในใจว่าเป็นคนแรกของเรา(หัวเราะ) สุดท้ายอุดฟันเสร็จคนไข้หายจากอาการป่วยก็รู้สึกประทับใจ ในที่สุดแล้วเราก็ทำให้คนไข้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้อีกครั้งหนึ่ง
หมอกุ๊ก : คือเข้าใจว่าคนไข้มีหลายบุคลิก ครั้งแรกที่เจอกันเหมือนจะดูถูกด้วยเพราะเห็นเราเด็ก แล้วตอนนั้นเรายังใหม่ต้องไปวัดความดันให้เขาแล้วก็วัดผิดหลายรอบเลย คือปกติจะทำฟันอย่างเดียวไงคะ แต่เขาก็ลักษณะนี้มาตลอด สุดท้ายประทับใจคือเขามาบอกเราว่าถ้าหมอจบแล้วจะไปทำคลินิกที่ไหนบอกด้วยนะ เดี๋ยวจะไปทำด้วย...หมอทำดีนะ มันก็ทำให้รู้สึกว่าเราภูมิใจนะ(หัวเราะ)
จะว่าไปถ้าลองสำรวจพฤติกรรมการพบทันตแพทย์ของคนไทยแล้วก็จะทราบในทันทีมากกว่าครึ่งนั้นละเลยในเรื่องสุขภาพช่องปาก ปล่อยให้เป็นภัยเงียบคุกคามจนในที่สุดอาการปรากฏถึงเข้ารักษา พูดง่ายๆ ก็คือคนไทยเน้นการรักษาแต่ไม่ได้ใส่ใจดูแลสุขอนามัยช่องปากแต่แรก ซึ่งทันตแพทย์สาวทั้ง 4 คน ลงความเห็นว่าโรคที่เข้ารับการรักษามากที่สุดก็คือ
หมอน้ำตาล : ถ้าเป็นเด็กส่วนใหญ่ฟันผุ แต่ถ้าในวัยผู้ใหญ่เยอะสุด โรคปริทันต์ เหงือกอักเสบ ที่เห็นมีเลือดออกเวลาแปรงฟันเหมือนในโฆษณา คือคนเรายังรอให้ปรากฏอาการชัดก่อนถึงจะมา ถึงตระหนักขึ้นว่าฟันมีปัญหา
หมอกุ๊ก : หลายๆ คนยังเข้าใจว่าเลือดออกเวลาแปรงฟันเป็นเรื่องปกติ กลิ่นปากเป็นเรื่องปกติ เหงือกบวมก็เป็นเรื่องปกติ แต่มันไม่ใช่ไงคะ
หมอปูน : กว่าจะรู้ตัวอีกที ก็ฟันโยกต้องถอนแล้ว คนไข้เป็นแบบนี้เยอะซึ่งมันน่าเสียดาย ความจริงฟันคนเราอยู่ตลอดชีวิตนะคะ ไม่ใช่ต้องใส่ฟันปลอม แต่ว่าด้วยความไม่รู้คิดว่าคนแก่สุดท้ายฟันก็ต้องใส่ฟันปลอม
หมออาย : บางคนเข้าใจผิดคิดว่าฟันมี 3 ชุด ฟันน้ำนม ฟันแท้ และก็ฟันปลอม(ยิ้ม)
กล่าวพร้อมกัน : มันไม่ใช่ จริงๆ มีแค่สองชุด สามารถรักษามันได้ตลอด อย่างที่บอกว่าการแปรงฟันเป็นพื้นฐาน
หมออาย : การให้คนไข้แปรงฟันเป็นสิ่งที่ยากมาก
หมอน้ำตาล : โรคเหงือกมันเป็นโรคเรื้อรัง มันจะเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กขึ้นไป เพราะฉะนั้นกว่าจะแสดงอาการจริงๆ จะเป็นวัยทำงาน
หมอปูน : เชื้อโรคที่เกี่ยวกับโรคปริทันต์ เหงือกอักเสบ มันค่อยๆ ลุกลาม
หมอกุ๊ก : สัญญาณแรกภาวะเหงือกอักเสบคือการแปรงฟันแล้วเลือดออก ก็คือเหงือกมันไม่แข็งแรง ปกติคนเราเหงือกมันจะแข็งและแน่นเวลาแปรงฟันเลือดไม่ออก สังเกตได้เลยคนไหนเริ่มเป็นแล้ว คืออาการแปรงฟันแล้วเลือดออก มีกลิ่นปาก คือภาวะที่เริ่มแล้วปัญหาของเหงือกอักเสบ
หมออาย : ถ้าเรายังแปรงฟันไม่สะอาดยังทำความสะอาดได้ไม่ดีพอเชื้อโรคมันก็จะลุกลามมากกว่าเหงือกลงไป คือกระดูกที่อยู่ใต้ลงไปอีก
หมอกุ๊ก : คือเชื้อโรคมันก็จะไปกัดกินกระดูกฟัน จนกระทั่งถึงปลายรากฟันก็เริ่มโยก สุดท้ายมันก็ค่อยๆ กัดกินไปเรื่อยๆ จนไม่มีกระดูกที่ปลายราก ฟันก็จะหลุดออก คือภาวะของปริทันต์
หมอปูน : ส่วนของแนวทางป้องกันที่ง่ายที่สุดแล้วมันคือแค่การแปรงฟัน อย่างเวลาที่เรากินอาหาร นอกจากเป็นอาหารของเรายังเป็นอาหารของเชื้อโรคด้วย
หมอน้ำตาล : คนส่วนมากจามาตอนมีอาการเยอะแล้ว
หมอกุ๊ก : รักษาอย่างมากก็ได้แค่คงอาการ อาจจะรักษาให้กลับไปเป็นอย่างเดิมไม่ได้ อย่างเช่นปริทันต์ ฟันโยกใกล้หลุดจะทำให้กระดูกมันขึ้นมาเหมือนเดิมตอนวัยรุ่นไมได้แล้ว อย่างมากมันเป็นแค่ระยะคงอาการ
หมอน้ำตาล : ฟันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราสูญเสียฟันไปความสามารถในการเคี้ยวอาหาร หรืออกเสียงได้ ประสิทธิภาพในเรื่องต่างๆ มันก็จะลดลงส่งผลต่อการใช้ชีวิตด้วยเหมือนกัน
หมออาย : ก็อยากทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพช่องปาก คนมักจะลืมไปว่าช่องปากจริงๆ แล้วมันมีความสำคัญกับเรามาก จริงๆ สุขอนามัยในช่องปากมันบอกในเรื่องสุขภาพกายได้ด้วย
หมอปูน : เรื่องสุขภาพช่องปาก จริงแล้วคนที่สามารถดูแลได้ดีที่สุดก็คือตัวคนไข้เองมันเป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายเขา การทำความสะอาดง่ายๆ เลย คือการแปรงฟัน(เน้นว่าต้องถูกวิธีด้วย)เป็นกิจกรรมที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ แค่เราแปรงฟันเช้า กลางวัน เย็น วันละ 3 ครั้งก็สามารถดูแลช่องปาก บวกกับการมาตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือนก็จะทำให้อนามัยโดยรวมของคนไทยดีขึ้น
หมอกุ๊ก : อย่าคิดว่าเรื่องในช่องปากไม่สำคัญเป็นเรื่องเล็กน้อยนะ ต้องให้ความสำคัญ พอๆ กับสุขภาพร่างกายด้วย อยากให้มาตรวจสุขภาพฟัน คุณหมอไม่ได้ใจร้ายอีกอย่างจะได้แนะนำด้วยว่าตอนนี้ปัญหาอะไรควรแก้ไขอย่างไร
…....................
หรือจะมาที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณถนนโยธี เขตราชเทวี ก็มีบริการตรวจสุขภาพช่องปากพร้อมให้คำปรึกษาฟรีโดยนักศึกษาทันตแพทย์
ทางที่ดีหันมาใส่ใจสุขอนามัยในช่องปากทางกันเสียตั้งแต่วันนี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป อีกอย่างมีหมอฟันน่ารักๆ จิตใจดีแบบนี้คงได้เวลาใส่ใจสุขภาพฟันกันอย่างจริงๆ จังๆ แล้วละ!
เรื่อง/ภาพ : ทีมข่าว Live