xs
xsm
sm
md
lg

ดึง นศ.ทันตแพทย์ช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะทันตแพทย์ 9 แห่ง ประกาศเป็นคณะปลอดบุหรี่ 100% พบนักศึกษาทันตแพทย์สูบบุหรี่ 1-2% ลดลงจาก 5 ปีก่อน 1 เท่า สสส.หนุน เครือข่ายทันตแพทย์ ดึง นิสิต นักศึกษาทันตแพทย์ ช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ มั่นใจช่วยลดจำนวนสิงห์อมควันหน้าใหม่-เพิ่มยอดผู้ป่วยเลิกบุหรี่ หลัง ม.มหิดล นำร่อง พบผู้ป่วยเลิกบุหรี่ภายใน 6 เดือน ปีละ 10% สูงกว่าวิธีอื่น 3-4%

วันนี้ (30 พ.ค.) ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ พล.ท.พิศาล เทพสิทธา นายกสำรองทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการโครงการกลยุทธ์วิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า วิชาชีพทันตแพทย์เป็นหนึ่งในวิชาชีพสุขภาพที่ได้ร่วมโครงการการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ ดำเนินการภายใต้โครงการกลยุทธ์วิชาชีพทันตแพทย์ เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ ผลจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2551 ส่งผลให้คณะทันตแพทยศาสตร์จาก 9 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้ประกาศนโยบายคณะทันตแพทยศาสตร์ปลอดบุหรี่ 100% เพื่อร่วมรณรงค์ให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ทั้งในส่วนของนักศึกษา บุคลากรของคณะ และผู้ป่วยทันตกรรม

“ไทยมีนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ทั่วประเทศราว 4 พันคน จากการสำรวจการสูบบุหรี่ของนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 1-3 ทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 พบว่า มีผู้สูบ หรือเคยสูบบุหรี่ราว 1-2 % น้อยกว่าการสำรวจเมื่อ 5-6 ปี ที่อยู่ที่ 4% หรือลดลงประมาณ 1 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการร่วมโครงการกลยุทธ์วิชาชีพทันตแพทย์เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่สนับสนุนให้บุคลากร ทันตแพทย์ นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ ให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการรณรงค์การสูบบุหรี่” พล.ท.พิศาล กล่าว

พล.ท.พิศาล กล่าวต่อว่า ได้มีรายงานวิจัยของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ผู้ป่วยโรคเหงือกที่สูบบุหรี่ต้องมาพบแพทย์ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน เป็นประจำ ซึ่งถูกซักถามเรื่องการสูบบุหรี่ และได้รับความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่และส่งต่อสายด่วน 1600 เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ สามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน 6 เดือนมากกว่า 10% สูงกว่าการใช้วิธีการเลิกบุหรี่อื่นๆ ที่อยู่ที่ 6-7% ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ป่วยเชื่อฟังทันตแพทย์ รับฟังคำแนะนำแล้วเกิดความตระหนักในโทษของบุหรี่ และการมีระบบติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

รศ.ทญ.วัชราภรณ์ ทัศจันทร์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประกาศเป็นคณะทันตแพทย์ปลอดบุหรี่ 100% ดำเนินการครอบคลุมทั้งในส่วนที่เป็นสถานศึกษาและสถานพยาบาล ซึ่งพื้นที่ภายในคณะห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ 100% หากพบนักศึกษา หรือบุคลากรสูบบุหรี่จะมีการตักเตือน และแจ้งว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งให้ข้อมูลการช่วยเหลือในการเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ หรือสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้นักศึกษาตระหนักและเลิกสูบบุหรี่ในที่สุด ส่วนผู้ป่วย ทางทันตแพทย์ หรือนักศึกษาทันตแพทย์ จะซักถาม หรือดูประวัติผู้ป่วยว่าสูบบุหรี่หรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโทษและพิษภัยของบุหรี่ พร้อมให้คำปรึกษา รวมถึงช่วยเหลือผู้ป่วยในการเลิกสูบบุหรี่ และบริการส่งต่อผู้ป่วยยังหน่วยงานเฉพาะทางในการเลิกบุหรี่ อาทิ สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ซึ่งจะมีระบบติดตามอาการผู้ป่วยด้วย

สำหรับ คณะทันตแพทยศาสตร์ปลอดบุหรี่ 100% ทั้ง 9 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.มหาวิทยาลัยมหิดล 4.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 5.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 7.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 8.มหาวิทยาลัยนเรศวร และ 9.มหาวิทยาลัยรังสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น