xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชน มโนมัยพิบูลย์” รองผู้ว่าฯ กทม. และแชมป์นกพิราบแข่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่อีกด้านหนึ่งใครจะรู้ว่าเขาเคยเป็นแชมป์แข่งขันนกพิราบบินเร็ว ผู้คว้าถ้วยรางวัลหลายสิบใบ และประกาศนียบัตรที่นับไม่ถ้วนทั้งการแข่งขันภายในประเทศและระดับนานาชาติ มีนกพิราบในอาณาจักรทั้งหมดกว่า 300 ตัว และเป็นผู้สร้างตำนาน “หมั่งฮวย” ในวงการนกพิราบแข่งไทยมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากการทำหน้าที่หลักเพื่อประชาชนแล้ว ดร.ธีระชน จะใช้เวลาที่เหลือในแต่ละวันเพื่อดูแลและศึกษานกด้วยใจรักอย่างจริงจัง จากประสบการณ์การเลี้ยงที่มีมากถึง 40 ปี จนหลายคนยกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกพิราบ

แชมเปียนพิราบแข่งนานาชาติ
ไม่มีถ้วยรางวัลครั้งใด สร้างความปราบปลื้มใจเท่าครั้งนี้ ซึ่งเป็นถ้วยรางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ ดร.ธีระชน มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในทุกครั้งที่ร่วมแข่งขันพิราบบินเร็ว แม้ว่าเคยเปรยๆ กับภรรยาว่าถ้าได้ถ้วยพระราชทานก็จะเลิกเลี้ยง แต่พอได้จริงๆ แล้วก็ยังไม่ยอมเลิกจนได้

“รางวัลที่สร้างความภูมิใจมากที่สุด คือการได้รับรางวัลชนะเลิศ ในมหกรรมนกพิราบแข่ง “Thailand Grand Pigeon Race 2010” ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ เส้นทางแข่งขัน เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ระยะทาง 560 กิโลเมตร ตอนนั้นนกมาพร้อมกัน 2 ตัว แต่นกของเราเดินเร็วเลยเข้าเป็นที่หนึ่งไป ได้ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเงินรางวัล 1 ล้าน 2 แสนบาท ทั้งยังสามารถนำนกไปประมูลได้อีก 1 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นกที่ประมูลได้เป็นล้านจะเป็นนกที่ได้ที่หนึ่ง”

กว่าจะถึงวันที่มีนกในอาณาจักรกว่า 300 ตัว เขาและนกต้องผ่านสมรภูมิการแข่งขันเพื่อชิงรางวัลมาแล้วหลายรายการ ดร.ธีระชน เล่าย้อนถึงการติดอันดับ 1 ใน 3 ของแข่งขันครั้งแรกให้ฟังว่า “รับถ้วยครั้งแรกได้ที่ 3 เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว จากนั้นเราจึงต่อกรงนกขึ้นไป เมื่อนกบินมาจะได้ไม่เกาะหลังคาให้บินเข้ากรงไปเลย ทำให้คราวนี้ได้รางวัลมาเยอะมากเป็นสิบๆ รางวัล”

ถ้วยรางวัลที่ตั้งอยู่บนตู้โชว์หลายสิบรางวัล ซึ่งยังไม่นับรวมประกาศนียบัตรที่เก็บไว้ภายในตู้ส่วนตัวมากมาย มีทั้งถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพฯ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร นายกสมาคมสหพันธ์ผู้เลี้ยงนกแข่งแห่งประเทศไทย และจากการแข่งขันนกนานาชาติ FCI Thailand World Championship ซึ่งทุกถ้วยรางวัลถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ แม้ว่าบางถ้วยกาลเวลาจะทำให้เก่าคร่าคร่ำไปบ้าง

ระยะหลังมานี้การแข่งขันนกพิราบระดับนานาชาติได้รับความนิยมอย่างมาก มีคนส่งนกพิราบหลากหลายสายพันธุ์ร่วมเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมากถึง 2,000 ตัว อาจเพราะด้วยเงินรางวัลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงพอสมควร การแข่งขันจึงดูครึกครื้น เหล่าบรรดานักเลี้ยงนก และหนึ่งในนั้นก็เป็นท่านรองผู้ว่าฯ ซึ่งเคยคิดแค่จะเลี้ยงเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่พอเลี้ยงไปเลี้ยงมามีนกในครอบครองหลาย 100 ตัวเสียแล้ว

“มีเจ้าของกิจการหลายๆ คน อย่างเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ก็ชอบเลี้ยงนกเหมือนกัน จริงๆ แล้วด้วยภาระหน้าที่การงานในบางช่วงทำให้ต้องเลิกเลี้ยงไประยะหนึ่ง จากที่เลี้ยงแล้วเลิกมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ในใจก็ยังอยากมีนกพิราบเป็นสัตว์เลี้ยงเสมอ”

“หมั่งฮวย” สายพันธุ์โปรด
“นกเราไม่เหมือนนกของคนอื่นที่ส่วนใหญ่เป็นสีดำๆ แต่นกที่บ้านจะขาวๆ ได้ทำรูปปั้นตัวต้นกระกูลเอาไว้ด้วย” นั่นคือ “หมั่งฮวย” สายพันธุ์นกพิราบแข่ง ซึ่งเปรียบเสมือนโลโก้อีกด้านหนึ่งของ ดร.ธีระชน ที่คนในวงการนกต้องนึกถึง

สายพันธุ์หมั่งฮวยของท่านรองผู้ว่าฯ สามารถกวาดถ้วยรางวัลทั้งระดับประเทศ และระดับนานาชาติกว่าสิบรางวัล ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยมีสายเลือดของ Barcelona Champion แชมป์ St. Vincent ปี 1973 และ1975 ของโทมัส ปีเตอร์ ชาวเบลเยียม

“หมั่งฮวย เป็นภาษาจีน ภาษาไทยเรียกว่า สีดอกหญ้า เพราะเวลาหญ้าออกดอกจะมีสีขาว สีดำปะปนกัน คนเลี้ยงนกจึงเรียกสีดอกหญ้า แต่สายพันธุ์ของหมั่งฮวยนี้มีต้นตระกูลมาจากคนเลี้ยงที่ชื่อ โทมัส ปีเตอร์ ซึ่งการคัดเลือกสายพันธุ์นกเพื่อแข่งขัน ขึ้นอยู่กับเจ้าของเองว่าจะเลือกสายพันธุ์ใดเข้าร่วม นกบางประเภทตัวจะใหญ่ บินใกล้ๆ จะมาเร็ว แต่ถ้าบินไกล จะใช้ตัวเล็ก”

“คนที่คัดสรรสายเลือดนกเก่งๆ คือชาวเบลเยียม ได้ชื่อว่าเป็นนักคัดนกที่เก่ง หลังๆ มีชาวเนเธอร์แลนด์พัฒนาตามขึ้นมา และคนไทยเราก็ไม่แพ้ ซึ่งสายพันธุ์ที่บ้านเนี่ย “หมั่งฮวย” สามารถบินได้ไกลถึงระยะประมาณ 1,000 กม. ซึ่งนกตัวนี้สมัยก่อนเก่งมาก ไม่เคยมีใครทำได้ นกตัวเดียวกัน ชนะ 2 ครั้ง ในจุดเดียวกันได้ สมัยก่อนคนไทยก็ไปซื้อลูกหลานมาตัวหนึ่งเป็นแสน ปรากฏว่าบ้านเราไม่มีระยะทาง 1,000 กว่ากิโลให้เขาแข่ง ลูกหลานเขาก็จะไม่หาย แต่ไม่ชนะ จึงเอานกพันธุ์นี้มาเป็นนกฟัก คือเอามาเป็นพ่อแม่เลี้ยง โดยให้ออกลูกแล้วเอาไข่คนอื่นมาให้ป้อน เหมือนเป็นพ่อแม่บุญธรรม”

“ตอนนั้นคนข้างบ้านซึ่งเลี้ยงนกแข่งเหมือนกัน ได้เอานกสายพันธุ์ที่ว่านี้มาให้ตัวละ 100 บาท เราจึงได้ลูกเขามา มีสีสวย อาจจะเป็นนกที่ไม่ติดรางวัลเยอะแยะ แต่คิดว่าอย่างน้อยในสายเลือดก็ต้องมีอะไรดี ต่อมาลูกหลานเขาได้แสดงผลงาน ทั้งสายใต้ สายอีสาน สายเหนือ เคยชนะมาทุกพื้นที่ หลังจากเราพัฒนามา โดยหานกแข่งระยะใกล้เข้ามาผสมเพื่อให้เกิดการผ่าเหล่า เราต้องมีเทคนิคในการผสมพันธุ์ และอ่านหนังสือค่อนข้างมาก”

จากการศึกษาวิธีเลี้ยงแบบฝรั่ง ด้วยการอ่านจากตำรา ทำให้เข้าใจถึงเทคนิคการผสมพันธุ์ และวิธีการเลี้ยงหลายสิ่งหลายอย่าง จนสามารถเขียนเป็นหนังสือเพื่อเป็นความรู้ให้แก่ผู้สนใจเรื่องนกพิราบ “ระหว่างแข่งเราจะแปลบทความให้นักเลี้ยงนกเขาเข้าใจ ยาบางตัวไม่ต้องซื้อแพง เอายาคนมาให้ก็ได้ ยาพยาธิ ยารักษาโรคต่างๆ เราพยายามให้คนเขามีความรู้มากขึ้น ทำให้เรามีโอกาสไปเยี่ยมกรงโน้น กรงนี่มากขึ้น คือหนึ่งเขาอาจเห็นเราเป็นด็อกเตอร์ และเป็นรองผู้ว่าฯ เขาก็จะต้อนรับขับสู้อย่างดีเลย บ้างแบ่งนกให้ เราก็เอามาผ่าเหล่า ผสมพันธุ์ไขว้กลับเข้ามา โดยมีตัวยืนคือ หมั่งฮวย”

สีดอกหญ้า หรือสีหมั่งฮวย ในเมืองไทยถือว่าสร้างตำนานในการแข่งขันนกพิราบบินเร็วมานักต่อนัก ฉะนั้นเวลาแข่งขันมักถูกคนในพื้นที่ดักจับนกเพื่อใช้เรียกค่าไถ่ ซึ่งตั้งราคาค่าไถ่ตัวมีตั้งแต่หลักหมื่นถึงสองหมื่นเลยทีเดียว เพราะบางคนซื้อนกมาราคาเป็นแสน แต่ท่านรองผู้ว่าปฏิเสธการซื้อนกราคาแพงอย่างสิ้นเชิง “ผมไม่ค่อยซื้อราคาแพง แพงสุดที่เคยซื้อคือ ตัวละ 40,000 บาท”

เส้นทางแข่งขันนกพิราบ
แม้ว่างานราษฎร์จะล้นมือ แต่ถึงอย่างไรแล้วขอมีนกเป็นกำลังใจยามกลับบ้านก็คงหายเหนื่อย ท่านรองผู้ว่าฯ จึงมักแวะเข้ามาดูนกซึ่งเลี้ยงไว้บริเวณหลังบ้าน (ถ้ามีเวลา) เมื่อเล่าถึงตรงนี้ ดร.ธีระชน หัวเราะและพูดขึ้นว่า “ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลาเลย กลับมาเย็นๆ ก็จะแวบไปดูบ้างสักหน่อย แฟนก็จะมีบ่นๆ บ้าง”

“สมัยเด็กๆ พี่ชายเลี้ยงนกพิราบ เราก็เลยสนใจ และขอพี่ชายช่วยเลี้ยง จึงเกิดความรู้สึกผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะนกนั้นมีเสน่ห์ ทั้งในเรื่องที่แข่งแล้วบินกลับมาบ้านได้ ความที่มันเข้าคู่แล้วจะไม่แยกจากคู่ของมัน จึงเป็นลักษณะที่ดูแล้วน่ารัก น่าเอ็นดู” ดร.ธีระชน ย้อนวัยให้ฟังเมื่อครั้งยังเด็ก ก่อนที่จะเล่าถึงเส้นทางการแข่งขันนกพิราบในไทย

การแข่งขันในประเทศไทย มี 3 เส้นทางด้วยกัน คือการแข่งขันสายเหนือ สายกลาง และสายใต้ ส่วนการแข่งขันระดับนานาชาติจะมี 2 การแข่งขันที่เรียกว่า FCI Thailand World Championship ระยะทางหนองคาย และขอนแก่น ปลายทางสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ และ Thailand Grand Pigeon Race จับมือกับสมาคมสัตว์เลี้ยง ระยะทางจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ อันดับ 1 ชิงเงินรางวัลถึง 1,200,000 บาท

“ตอนนี้เป็นการแข่งขันสายอีสาน หนองคาย บึงกาฬ บางทีก็ไปถึงเวียงจันทน์ ส่วนสายเหนือ จะเป็นเชียงราย แม่สาย และสายใต้ บางทีจะเป็นสงขลา ปลายทางมาที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด”

“เหตุผลที่เราชนะอาจเป็นเพราะนกลงกินน้ำน้อยครั้งกว่าตัวอื่น เราก็จะได้แต้มต่อ เราจะเลี้ยงให้เขาบินกลางวันร้อนๆ เพื่อฝึกกับอากาศร้อน อย่างแรกเราต้องฝึกให้เขาเข้ากรงเพื่อจำบ้านได้ก่อน เมื่อจำบ้านได้แล้วจึงฝึกให้บินเล่น เขาก็จะคุ้นภูมิประเทศ เราก็เริ่มปล่อยระยะทาง 1 กม. 5กม. 10 กม. 15 กม. เพิ่มระยะไปเรื่อยๆ จนถึงระยะที่เรียกว่าเอาล่ะ...ก่อนแข่งขัน เราอาจไปถึงจุด 100กม.เลย เพื่อให้เขาเคยชินกับเส้นทาง แต่ถ้านกแข่งบิน 300 กม. เราฝึกแค่ 30กม.ก็พอ ไม่อย่างนั้นมันล้าเกินไป พอแข่งจริงเดี๋ยวหมดแรงเสียก่อน” นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมคนเลี้ยงนกพิราบแข่งจำเป็นต้องมีทุนในการเลี้ยง และฝึกนกบินก่อนลงแข่งขัน

บินกลับบ้าน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่
ด้วยระยะทางการแข่งขันที่ยาวไกลหลายร้อยกิโล ทั้งตัวนกและคนเลี้ยง หรืออาจเรียกว่าเทรนเนอร์ก็ย่อมได้ ต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ โดยการศึกษาสภาพอากาศเป็นรายชั่วโมงเลยทีเดียว

“แต่ละการแข่งขันจะแตกต่างกัน ทิศทางลม อุณหภูมิที่นกจะมาถึง แต่ละอาทิตย์จึงต้องศึกษาสภาวะอากาศตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยอาศัยระบบของ msn ซึ่งใช้ดาวเทียมวนจับภาพ ฉะนั้น จึงพยากรณ์ได้เป็นรายชั่วโมง มีความแม่นยำสูง ทำให้เรารู้อุณหภูมิและทิศทางลมเป็นรายชั่วโมงได้”

นอกจากจะศึกษาปัจจัยภายนอกแล้ว ยังต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงพฤติกรรมของนกแต่ละสายพันธุ์ด้วย ซึ่งความเร็วโดยปกติของนก 1,200-1,400กม./ชม. ถ้าบินต้านลมความเร็วจะลดลงมา แต่ถ้าลมส่ง ความเร็วจะเพิ่มขึ้นอาจถึง 1,600 กม./ชม. และนกในแต่ละประเภทนั้นไม่เหมือนกัน บางตัวฝึกหรือเลี้ยงไว้โดยมีโครงสร้างสำหรับความเร็วสูง บางตัวสำหรับความเร็วต่ำ

“จากแม่สายมากรุงเทพฯ ปล่อย 7 โมงเช้า ภายในวันเดียวก็ถึงกรุงเทพฯ แล้ว แต่บางตัวก็จะค้างคืน มันขึ้นอยู่กับว่ามาถูกทิศไหม เขาเจออุปสรรคไหม อย่างเช่น อาจถูกเหยี่ยวโฉบไป บางตัวบินหายไปเลยก็มี”

“แต่ละคนที่เลี้ยงก็จะฝึกให้กลับมาที่บ้าน ยกเว้นแข่งนานาชาติจะเอาไปไว้ที่กรงรวม สายอีสานจะเลี้ยงทางตะวันออกของกรุงเทพฯ บริเวณเขตมีนบุรี สายเหนือจะเลี้ยงไปทางตะวันตก แถวพระราม 2 บินล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าสายใต้จะเลี้ยงแถวสมุทรปราการ บินข้ามทะเลมา แต่ที่บ้านตรงนี้ (โชคชัย 4) เป็นทำเลเสียเปรียบซึ่งคนแข่งนกเขาไม่เลี้ยงกัน แต่ที่เลี้ยงเพราะใจรัก”

ในแต่ละการแข่งขันนกที่เข้าร่วมแข่งมีประมาณ 2,000 ตัว อายุไม่ต่ำกว่า 8 เดือน และไม่เกิน 1 ปี ฉะนั้น นกพิราบแข่งส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 8-11 เดือน เรียกว่า yearling คือ นกปีเดียว ถ้าในเมืองนอกจะมี old bird คือ นกเกิน 2 ปีขึ้นไป นกเหล่านี้จะมีประสบการณ์เพราะเคยบินมาแล้ว จึงรู้เส้นทางได้ดีกว่านกปีเดียว

“การแข่งขันนานาชาติจะเป็นลักษณะที่เราต้องคัดลูกนกให้เขา และเขาจะนำไปเลี้ยงรวมกันที่กรงรวม นกก็จะเยอะมีเป็น 1,000 ตัว เมื่อถึงเวลาแข่งก็มานั่งลุ้นกันว่าจะมีนกของเราไหม เขาจะมีกล้องจับว่านกตัวไหนเข้ามาที่หนึ่ง ชื่อก็จะปรากฏในคอมพิวเตอร์ ซึ่งที่ห่วงขาจะมี ship link คล้ายๆ เป็นบาร์โค้ด จึงทำให้เกิดความแฟร์ในการแข่งขัน”

พิราบแข่ง หรือพิราบสนามหลวง?
สายพันธุ์พิราบมีมากมายหลายร้อยสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก เมื่อเทียบกับสุนัขแล้วนั้นจะเห็นความต่างแต่ละสายพันธุ์อย่างชัดเจน แต่นกพิราบหน้าตาจะคล้ายคลึงกัน ในการแข่งขันนกพิราบจึงใช้ชื่อเรียกเป็นชื่อเจ้าของมากกว่าที่จะเรียกสายพันธุ์นั้นๆ

เมื่อเป็นอย่างนี้หลายคนอาจสงสัยว่านกพิราบที่ใช้แข่งขันกันอยู่นั้น มีนกพิราบสนามหลวงบ้างไหม แล้วมันเอาไปแข่งขันได้หรือเปล่า ดร.ธีระชน จึงขอให้คำตอบแบบเคลียร์ๆ มาว่า “อย่างนกพิราบจรจัด นกเร่ร่อนที่เห็นในกรุงเทพฯ หรือท้องสนามหลวง เป็นนกท้องถิ่น เอาไปไกล 50 กิโลก็บินกลับมาไม่ถูกแล้ว เพราะว่าเขาไม่ได้ถูกพัฒนามาเพื่อการแข่งขัน ถ้าคนทั่วไปเห็นอาจคิดว่านกพิราบแข่งกับนกพิราบท้องถิ่นไม่เห็นมีลักษณะตรงไหนที่แตกต่างกัน แต่สำหรับคนเลี้ยงนกแล้วจะรู้เลยทันทีว่าตัวไหนเป็นพิราบชนิดใดบ้าง”

“นกท้องถิ่นที่เราเห็นทั่วไป ตาเขาจะดุๆ ดำๆ ตัวมอมแมม เหมือนสุนัขจรจัดกับสุนัขที่เราเลี้ยงมันจะตัวต่างกัน นอกจากเขาไม่ถูกพัฒนาเพื่อการแข่งขันแล้ว เมื่อเขาเป็นสัตว์จรจัด เรื่องของสุขภาพก็จะตามมา อาจติดเชื้อไข้หวัดสมองอักเสบ หรือนกที่นำออกจากสนามหลวงเป็นหมื่นๆ ตัวเนี่ย พอจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อจะเห็นแมลงวันพรุดออกมาหรือมีตัวไรเป็นร้อยเลย น่ากลัวมาก ขนเป็นรูๆ เลย แต่นกที่เราเลี้ยงต้องถ่ายพยาธิ ทำวัคซีน จุ่มน้ำยาเป็นประจำ ถึงแม้ไม่มีตัวไรก็ตามก็ต้องทำเพื่อกันความเสี่ยง เพราะฉะนั้นสัตว์เลี้ยงกับสัตว์เร่ร่อนสุขภาพมันต่างกันอย่างชัดเจน อายุก็จะยืนยาวกว่าบางตัวถึง 17 ปีก็มี”

“ส่วนเรื่องปัญหามูลนกพิราบตกใส่หลังคาบ้านนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนกวัด นกจรจัด อย่างหลังบ้านเขาก็จะมีปัญหาเรื่องนกจรจัด ส่วนนกเราเขาจะรู้ว่าจะเกาะตรงไหน เราจะมีหนามแหลมกันไว้ พอเกาะหลังคากรงเลี้ยงก็จะเข้ากรงทันที บางคนเขาก็จะไม่เข้าใจ”

ทุกวันนี้ ดร.ธีระชนยังคงร่วมแข่งขันนกพิราบ และได้ชัยชนะคว้าถ้วยรางวัลแทบทุกอาทิตย์ นักเลี้ยงนก ระดับรองผู้ว่าฯ กทม.คนนี้ ในอีกไม่นานเขาคงสร้างประวัติศาสตร์การแข่งขันนกขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เป็นนักเลี้ยงนกคนเดียวที่ได้ครองถ้วยรางวัลในการแข่งขันนกนานาชาติมากกว่าหนึ่งถ้วยรางวัลถึงสองปีซ้อนมาแล้ว

 
 
 
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย ธนารักษ์ คุณทน
รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สายพันธุ์หมั่งฮวย






กำลังโหลดความคิดเห็น