เวทีประกวดนางงามระดับชาติในประเทศไทย จะว่าไปมันก็มีอยู่หลายเวที ซึ่งแต่ละเวทีก็มีสถานีโทรทัศน์หนุนหลังการประกวดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมิสไทยแลนด์เวิลด์ของช่อง 3 มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ของช่อง 7 หรือจะเป็นนางสาวไทยของช่อง 9 จะมีก็แต่ช่อง 5 ที่ไม่มีนางงามประจำช่องของตนเอง ซึ่งการประกวดเหล่านี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการแข่งขันและคานอำนาจกันอยู่ในที โดยเฉพาะช่อง 3 กับช่อง 7 ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งที่สูสีกัน
แต่เมื่อไม่นานมานี้ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ หรือคุณแดง ช่อง 7 ได้เดินออกมาจากการเป็นผู้บริหารช่อง 7 ซึ่งลำพังมันก็เป็นข่าวใหญ่ในวงการบันเทิงไทยอยู่แล้ว แต่ที่น่าฮือฮาไปกว่านั้นก็คือ การที่ได้หอบหิ้วเอาลิขสิทธิ์การประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ซึ่งถือเป็นเวทีนางงามประจำช่อง 7 ออกมาด้วย และหันไปร่วมมือกับช่อง 5 เพื่อจัดการประกวดใหม่ในนาม มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเฟ้นหาสาวงามไปประกวด มิสยูนิเวิร์ส ในระดับโลกต่อไป
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบช็อกเล็กๆ ของวงการนางงามเลยก็ได้ เพราะยุคก่อนเวทีนางสาวไทยก็ถูกสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ถอดออกจากช่อง 7 มาแล้ว และนับแต่นี้ต่อไปคู่แข่งในสงครามขาอ่อนจะไม่ใช่แค่ช่อง 3 กับช่อง 7 ดังที่แล้วๆ มา
ตำนานการประชันขาอ่อนในไทย
เดิมทีในเมืองไทยก็มีการประชันโฉมของสาวงามเวทีท้องถิ่นทั่วภูมิภาคอยู่แล้ว แต่มาเริ่มต้นอย่างจริงๆ จังๆ กันที่เวทีการประกวดนางสาวสยาม เมื่อปี 2477 ซึ่งในครั้งนั้นกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดการประกวดเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญระบุใช้คำว่า ‘ไทย’ แทนคำว่า ‘สยาม’ เวทีนี้ก็เลยถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็นเวทีการประกวดนางสาวไทยแทน แต่เวทีนี้ไม่ได้มีเป็นประจำทุกปีเพราะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเป็นอุปสรรคอยู่ไม่น้อยจนล่วงเลยมาในปี 2491 ก็มีการจัดการประกวดอีกครั้ง
ต่อมาสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลิขสิทธิ์การจัดการประกวดนางงามตั้งแต่ปี 2503 แต่ก็มีอุปสรรคทางการเมืองเข้ามาทำให้ต้องยุติการประกวดไปหลายปี กระทั่งในปี 2527 ชาติเชื้อ กรรณสูต นายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ได้รื้อฟื้นการจัดประกวดนางสาวไทยขึ้นอีกครั้ง และในเวลาไม่นาน สุรางค์ เปรมปรีดิ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามของคุณแดง ก็เข้ามาดูแลการผลิตรายการของช่อง 7 และรับหน้าที่ดูแลการประกวดนางสาวไทยไปโดยปริยาย
ทว่าต่อมากองประกวดฯ ก็ประสบปัญหาใหญ่อีกครั้งเกิดความขัดแย้งในเรื่องสิทธิประโยชน์กับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธฯ เจ้าของลิขสิทธิ์ เวทีนางสาวไทยก็เลยย้ายไปอยู่ในการดูแลของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ไทยพีบีเอสปัจจุบัน) และปัจจุบันย้ายมาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของช่อง 9 หรือ mcot ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประกวดนางสาวไทยเมื่อก่อนนั้น จะเป็นการคัดเลือกตัวแทนสาวไทยไปประกวดนางงามจักรวาลไปพร้อมๆ กับเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศเช่นเดิม แต่ตอนนี้ถูกลดทอนเป็นเพียงทูตทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเท่านั้นเอง
ทางด้าน สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ก็เริ่มก่อตั้งเวทีประกวดนางงามระดับประเทศมิสไทยแลนด์ ยูนิเวิร์ส ขึ้น ในปี 2543 เพื่อเฟ้นหาที่สุดของสาวไทย เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมประกวดนางงามระดับนานาชาติ อย่างการประกวดมิสยูนิเวิร์ส, มิสเอิร์ธ, มิสเอเชีย ฯลฯ ส่วนมิสไทยแลนด์เวิลด์ ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ระดับประเทศอีกเวที จัดตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2528 โดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 (ซึ่งตามหลังการประกวดของช่อง 7 มาเพียงปีเดียว นัยว่าถ้าช่อง 7 ซึ่งเป็นคู่แข่งมี ช่อง 3 ก็ต้องมีด้วยเช่นกัน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาสาวงามมากความสามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดนางงามระดับโลก เช่น มิสเวิลด์ หรือมิสไชนีส อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งในปัจจุบันนั้นบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์การจัดการประกวดเวทีนี้
การเมืองเรื่องนางงาม
แต่ในปีนี้โลกของการประกวดนางงามก็ได้มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ โดยเวทีมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สที่เคยอยู่กับช่อง 7 มานับ 10 ปี ได้ติดสอยห้อยตามเจ้าของลิขสิทธิ์ออกมาอยู่กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์’ ซึ่งในประเด็นนี้ ประเสริฐ เจิมจุติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านนางงามเบอร์หนึ่งของประเทศไทยได้มองถึงสิ่งที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ว่า
“ต้องเข้าใจก่อนว่าการประกวดนางงามในไทยนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท คือการประกวดนางงามตามประเพณีอย่างนางงามสงกรานต์ ลอยกระทง และเวทีระดับชาติที่มีอยู่แค่ 3 เวทีคือมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ของช่อง 7 ที่กำลังจะไปอยู่ช่อง 5 มิสไทยแลนด์เวิลด์ของช่อง 3 และนางสาวไทยที่อยู่ช่อง 9 ซึ่งตอนนี้ก็มีข่าวแว่วๆ มาว่าจะมีการดึงเวทีนางสาวไทยจากช่อง 9 กลับมาช่อง 7 อีกครั้ง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การประกวดนางงามต้องมาอิงกับช่องทีวีต่างๆ นั้นก็คือเรื่องของการประชาสัมพันธ์นั่นเอง เพราะถ้าไม่มีช่องทางเวทีก็เกิดยาก ไม่มีมีเดียรีเทิร์นให้กับสปอนเซอร์ ผู้สนับสนุนเขาก็ไม่อยากจะเข้ามา
“ซึ่งทิศทางหลังจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็คงเป็นเรื่องของความยิ่งใหญ่ของการประกวด เพราะในสมัยที่มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปักหลักอยู่ที่ช่อง 7 คุณแดงคือผู้บริหารช่อง ดังนั้นจะทำให้การประกวดนี้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนจะออกข่าวช่วงไหนก็ได้ มีรายการหนึ่งในร้อยเพื่อโปรโมตเวทีของตนเอง ดังนั้นเวทีก็เลยดังเร็ว สามารถอัดสปอตโฆษณาได้เต็มที่ แต่พอย้ายมาช่อง 5 ก็อาจจะเหลือแค่การร่วมมือกัน ซึ่งคุณแดงจะมาเข้าร่วมบริหารช่องด้วยหรือเปล่าก็ยังไม่มีการเปิดเผย และเดิมทีช่อง 5 ก็ไม่ได้ถนัดในเรื่องบันเทิงมากนัก การประชาสัมพันธ์ก็อาจจะอ่อนลงบ้างนี่เป็นประเด็นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง”
ส่วนในเรื่องของการเป็นคู่แข่งระหว่างเวทีต่างๆ นั้นประเสริฐมองว่ามันก็ยังคงมีอยู่แน่ๆ แต่ขั้วอำนาจต่างๆ ก็จะมีการปรับเปลี่ยนไป
“ที่ผ่านมา มิสไทยแลนด์เวิลด์ของช่อง 3 กับมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สของช่อง 7 นั้น ก็เป็นคู่แข่งกันอยู่ในที เพราะโดยศักยภาพของช่องก็เป็นคู่แข่งกันอยู่แล้วใครๆ ก็รู้ ก่อนหน้านี้มีถึงขั้นที่ว่า พอช่อง 7 มีงานประกวดขึ้น ในคืนเดียวกันช่อง 3 ก็จัดงานฉลองครบรอบปีของสถานี จัดงานใหญ่มาชนงานใหญ่ เพื่อเรียกเรตติ้งคนดู ก็เคยทำกันถึงขนาดนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธุรกิจบันเทิง แต่ตอนนี้พอเวทีของคุณแดงย้ายมาช่อง 5 ซึ่งไม่เคยมีนางงามประจำช่องมาก่อน ก็อาจจะกลายเป็นคู่เปรียบที่เสียเปรียบเสียหน่อย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อก่อนเรื่องการโปรโมตข้ามช่องนี่เป็นไปไม่ได้เลยนะ แต่ที่น่าสังเกตคือ ช่อง 7 ออกข่าวการประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ประมาณ 10 วินาที นั่นก็เป็นอีกหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”
นางงามรักทุกคน
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้วงการขาอ่อนในบ้านเรามีการปรับเปลี่ยนไปพอสมควร ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับเรื่องหน้าตาของช่องและการแข่งขันในธุรกิจบันเทิง แต่มองถ้าในระดับย่อยลงไปอย่างในระดับของผู้ประกวดแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ว่ามันก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบอะไรสักเท่าไร เพราะถึงอย่างไร สาวๆ ที่เข้าประกวดก็มองว่าเรื่องของการเมือง การแบ่งก๊กแบ่งค่ายของช่องโทรทัศน์ที่กล่าวๆ มา มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ไม่เกี่ยวกับตนเท่าใดนัก
อย่างวรรษพร วัฒนากุล รองมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส อันดับ 1 ปี 2553 ก็กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นนางงามเวทีไหน ก็ไม่เคยที่จะมีปัญหากัน และเธอก็บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกคนคิดกันไปเอง
“ไม่มีปัญหานะคะ อาจจะมีคนอื่นเขาคิดกันเองมากกว่า แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไร จะเวทีไหนก็นางงามเหมือนกัน เจอกันก็พูดคุยทักทายปกติ”
แต่กับ ปฏิพร สิทธิพงศ์ เจ้าของตำแหน่งนางสาวไทยประจำปี 2545 ซึ่งเป็นนางงามที่ไม่ต้องออกไปประชันขาอ่อนในระดับโลก ก็มองว่า การดำรงตำแหน่งนางสาวไทยนั้นมีเกียรติอยู่แล้วแม้จะไม่ได้มีภารกิจในการประกวดในเวทีระดับโลกก็ตาม
“นางสาวไทยคือเป็นเวทีที่เหมือนกับสืบทอดมา เป็นเหมือนแบรนด์ของประเทศไปแล้ว คนพูดถึงนางสาวไทยก็จะนึกถึงคนสวย และแม้จะไม่ได้ไปประกวดต่างประเทศ แต่ก็ได้ทำงาน ทำประโยชน์ภายในประเทศที่ถือว่าเป็นงานที่หลากหลายและน่าสนใจ”
ส่วนการประกวดในเวทีอื่นๆ ที่ผู้ชนะจะได้ไปประกวดต่อในต่างประเทศนั้น ปฏิพรก็มองว่ามันเป็นความหลากหลายและเป็นการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าใครต้องการทำงานด้านไหนแบบใด
“มันเป็นการแยกกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่ต้องการไปประกวดมิสยูนิเวิร์ส ก็มีช่องทางการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สอยู่ แต่ถ้าเกิดว่าอยากทำงานด้านอื่น ที่ไม่ต้องไปประกวดต่อก็เลือกเวทีนางสาวไทย ส่วนตัวแล้วคิดว่าบทบาทของเวทีนางสาวไทยไม่ได้น้อยลง แต่คิดว่ามันเป็นการเลือกคนให้เหมาะกับหน้าที่มากกว่า ส่วนการที่นางสาวไทยไม่ได้ไปประกวดในเวทีนานาชาติ ก็น่าจะมีผลต่อการนำเสนอข่าว เพราะการทำกิจกรรมการกุศลก็อาจจะไม่เป็นที่สนใจนัก”
..........
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มันย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการแข่งขันกันเป็นผู้นำของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ไม่มากสักเท่าใด เพราะจะว่าไปการประกวดนางงามก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มาช่วยหนุนเสริมหน้าตาสถานีโทรทัศน์เท่านั้นเอง
ซึ่งมันก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจที่ต้องมีการแข่งขันกันอยู่แล้ว ส่วนคนดูก็คงจะเป็นได้แต่เพียงผู้บริโภคที่คอยควักกระเป๋าสนับสนุนสิ่งที่สื่อนำเสนอมาให้ดูชมไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
>>>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK