อย่าหาว่าเป็นคนรุนแรง แต่อยาก "ตบกะโหลก" คนต้นคิดแรกๆที่จะนำเครื่องแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ (Tablet Computer) แจกให้เด็กประถมปีที่ 1 ไม่แน่ใจว่าใช้สมองส่วนใดคิด เพราะสิ่งที่คุณจะหยิบยื่นให้เด็กครั้งนี้ มันคือ ของอันตรายมากกว่าจะกลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พัฒนาการของเด็กที่เพิ่งผ่านพ้นวัยอนุบาล ย่างสู่การเรียนรู้วัยประถม เด็กวัยนี้ควรแล้วหรือที่จะนั่งเรียนกับคอมพิวเตอร์ แม้ผู้ใหญ่ที่เห็นดีเห็นชอบกับการแจกแท็บเล็ต จะบอกว่า คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กชนิดนี้จะช่วยเสริมสร้าง ไอคิว (ความฉลาดทางปัญญา) และอีคิว (ความฉลาดทางอารมณ์) ของเด็กสู่โลกกว้างทางปัญญา แต่ผมก็ค้านว่า วัยเรียนรู้ที่ควรร้องเล่นเต้นระบำ ยังไม่ถึงเวลาที่จะป้อนเทคโนโลยีให้เขา เพราะเมื่อเด็กถูกป้อนมากๆ เขาจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา นั่งติดกับเก้าอี้ เก็บตัว และเขาจะมีชีวิตผูกติดกับโลกออนไลน์อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
บทสัมภาษณ์ของ รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบการแจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1ไว้อย่างน่าสนใจว่า วัย 6-7 ขวบ ไม่ควรที่จะส่งเสริมให้เขาหมกมุ่นอยู่กับคอมพิวเตอร์ เพราะจะเกิดผลต่อร่างกายและจิตใจ ทั้งสมาธิสั้น อ้วน เตี้ย สายตาสั้นสมองผิดปกติ ร้ายแรงถึงขั้นกลายเป็นเด็กมีปัญหา เก็บตัวอยู่คนเดียว
การเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ควรจะฝึกทักษะการเคลื่อนไหว ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกจด ระบาย การปา เคาะ ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การออกกำลังกาย ทักษะการสื่อสาร เช่น การฟัง คิด เขียน ต้องเป็นแบบการสื่อสาร สองทาง (Two Ways Communications) ทักษะทางสังคม เช่น การรอคอย แบ่งปัน อดทน ฯลฯ ต้องทำอย่างรอบด้าน
ผมไม่เชื่อ และคงไม่มีใครเชื่อว่า เด็ก ป.1 ทุกคนที่ใช้แท็บเล็ตแล้ว จะกลายเป็น "เด็กฉลาด" พัฒนาการดีมีไอคิวสูง ในทางกลับกัน ปัญหาเด็กโง่ ชอบก๊อบปี้ ลอกคำตอบจากกูเกิ้ล คิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่ได้ จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น
มีครูคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ขนาดลองใช้แท็บเล็ตเป็นโครงการนำร่องให้บางโรงเรียนนำไปทดลอง แค่ถามเด็กว่า วันมาฆบูชา หมายถึงวันอะไร เด็กจำนวนมากตอบเหมือนกันหมด และคำตอบยาวมาก โดยก๊อบปี้มาจากกูเกิล
แค่ทดลองใช้เห็นได้ชัดว่า เมื่อเด็กมีสิ่งอำนวยความสะดวก การค้นหาเป็นเรื่องที่ง่าย เด็กก็จะเลิกคิด หันมาใช้วิธีลอกคำตอบ สะดวกสบาย ซึ่งคำตอบที่ได้มาไม่ได้ผิด แต่วิธีหาคำตอบไม่ได้เกิดจากมันสมอง แต่เกิดจากคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีไม่ได้ผิดหรอกครับ แต่การนำไปใช้ผิดที่ ผิดเวลา ปัญหาจึงมักเกิดขึ้น ผมไม่เชื่อว่า โรงเรียนจะสามารถควบคุมวิธีใช้ ความเหมาะสมให้เด็กได้หรอกครับ เพราะเทคโนโลยีก็เหมือนสิ่งเสพติด เมื่อได้ลองใช้ ลองเล่น ความอยากรู้ ความไม่ยั้งคิดในวัยระดับนี้จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่า และปัญหามากมายจะตามมา เช่น ถ้าเด็กคนหนึ่งทำแท็บเล็ตพัง เสีย ใครจะซ่อมให้ ถ้ามีการขโมยเกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ฯลฯ
ถ้าคิดจะแจกเด็กมัธยม หรือปัญญาชนมหาวิทยาลัย ผมว่ายังดีกว่า เพราะเป็นวัยที่เหมาะสม แต่กระนั้นประชาชนผู้เสียภาษีคงเศร้าใจ เพราะเงินภาษีถูกนำไปใช้กับโครงการประชานิยมที่เอาแต่ลด แลก แจก แถม แต่ขาดจิตสำนึก ก็ไม่ควรกระทำ
ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา รู้กันบ้างไหมครับว่า มันร้ายแรงขนาดไหน...
วัฒนะชัย ยะนินทร
(wyanintorn@hotmail.com)