xs
xsm
sm
md
lg

เสียงโอดครวญจาก ‘เขียงหมู’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากสอดส่องถึงพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ของไทย ก็จะพบอย่างแน่นอนว่า ‘หมู’ เป็นเนื้อสัตว์รสโอชาที่ประชากรกว่าค่อนประเทศนิยมนำมาประกอบอาหารรับประทาน ด้วยความที่รสชาติถูกปากและหาซื้อง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ถึงแม้ความนิยมในการบริโภคจะมีอัตราค่อนข้างคงที่แต่ในเรื่องราคาของหมูนั้นแปรผันตลอดเวลา

ล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ก็ออกมาตรการคุมเข้มราคาหมูเนื้อแดง โดยกำหนดราคาขายปลีกเนื้อหมูในตลาดสดแถบภาคกลางให้ขายไม่เกิน100 บาท/กก. ส่วนในแถบภูมิภาคไม่เกิน 105-115 บาท/กก. เพราะราคาหมูหน้าฟาร์มมีการปรับลดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งกำหนดให้จำหน่ายในราคาดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งเดือน และเริ่มกำหนดปฎิบัติกันแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสภาพการณ์จริงบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะขายกันในราคาดังกล่าวได้หรือเปล่า เพราะต้องยอมรับว่าในวงการจำหน่ายหมูนั้นมี ‘มาเฟียค้าหมู’ หรือพ่อค้าคนกลางที่เป็นกลุ่มอิทธิพลไปกว้านซื้อหมูราคาถูกแต่กลับส่งขายเขียงหมูด้วยราคาที่สูง ตรงนี้ภาครัฐเองก็มีมาตรการควบคุมด้วยกฎหมายเช่นกัน แต่ก็ไม่รู้จะได้ผลสักเท่าไหร่

ซึ่งการขอความร่วมมือแกมบังคับของกระทรวงพาณิชย์ ถึงแม้จะดูเหมือนว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ แต่ฝั่งผู้ค้ารายย่อยอาจเรียกว่าน้ำตาตกในเพราะเรียกว่าต้องขายในราคาทุนเลยก็ว่าได้

สถานการณ์ราคาในตลาดค้าหมู
หากยังจำกันได้เมื่อปีที่แล้ว กับสถานการณ์ที่ราคาหมูพุ่งสูงขึ้นถึง 150 บาทต่อกิโลกรัม ที่ถือว่าแพงเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ทั้งที่ประเทศเราเป็นผู้ส่งออกสุกรรายใหญ่แห่งหนึ่งของภูมิภาค แต่ต้องบริโภคเนื้อหมูในราคาที่แพงลิบลิ่ว ซึ่งในตอนนั้นรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเงื่อนไขการส่งออกและชะลอการส่งออกหมูไปยังต่างประเทศ พร้อมกับมีมติประกาศราคาควบคุมหมูทั้งระบบ โดยแบ่งราคาตามภูมิภาคอยู่ที่กิโลกรัมละ 81 - 162 บาท

จากสถานการณ์หมูขาดแคลนและราคาหมูเนื้อแดงปรับตัวขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ในปี 2555 ประเทศไทยก็ประสบปัญหาใหม่ นั่นคือสถานการณ์หมูล้นตลาด ที่มีมากเกินความต้องการถึงเดือนละ 70,000 ตัว จึงทำให้รัฐบาลเร่งผลักดันประชาชนให้หันมาบริโภคเนื้อหมูมากขึ้น โดยได้ออกมาตรการควบคุมราคาเนื้อหมูลงให้เหลือไม่เกิน 110 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาหมูเป็นปัจจุบัน แบ่งตามภูมิภาค อาทิ ภาคกลาง ราคาหมูเป็นอยู่ที่ 48-50 บาท/กก. ซึ่งราคาขายหน้าเขียงควรจะอยู่ที่ 100-105 บาท/กก. ภาคอีสาน ราคาหมูเป็นอยู่ที่ 52-54 บาทต่อ กก. ราคาขายหน้าเขียงจะอยู่ที่ 104-108 บาท/กก. ภาคเหนือ ราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 54-56 บาท/กก.ราคาขายหน้าเขียงจะอยู่ที่ 108-112 บาท/กก. และภาคใต้ 55-57 บาท หรือราคาขายหน้าเขียงอยู่ที่ 110-115 บาท/กก.

ขณะที่ต้นทุนการผลิตหมูในปัจจุบันอยู่ที่ 60 บาท/ กก. ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่างลงมติว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลแก้ปัญหาผิดจุดหากจะมาปรับราคาหมูหน้าฟาร์มลง เพราะปัจจุบันราคาต้นทุนในการเลี้ยงสุกรก็ปรับราคาเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่าอาหาร ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน จึงทำให้เกิดการเรียกร้องให้รัฐบาล หยุดเข้ามาแทรกแซงราคาหมู และควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันเป็นไปตามกลไกของตลาด

สำรวจแผงหมู 5 ภาค
ก็ไม่รู้ว่านโยบายควบคุมราคากระตุ้นการบริโภคเนื้อหมูของกระทรวงพาณิชย์จะสัมฤทธิ์ผลตามคาดการณ์หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามคงต้องมาสำรวจความคิดเห็นของบรรดาตัวแทนเขียงหมูจากทุกภูมิภาคเพื่อสะท้อนความเป็นไปได้ของนโยบายและสภาพจริงของตลาด

ภาคกลาง+กทม.
เริ่มจากจังหวัดนครปฐมที่เป็นแหล่งค้าสุกรแหล่งใหญ่ของประเทศไทย วัลภา ศรีเผ่าพันธุ์ แม่ค้าเขียงหมูตลาดโรงปูน จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า หากจำหน่ายตามราคาที่รัฐบาลกำหนดก็ยังถือว่าพอมีกำไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมราคาหมูเพราะมันขึ้นลงตามกลไกตลาดอยู่แล้ว

"ที่เขาประกาศควบคุมราคา ตามปกติในตัวจังหวัดมันก็ไม่ถึงอยู่แล้ว เนื้อแดงก็กิโลฯ ละ 100 บาท ถ้าพวกที่ซื้อไปขายข้าวแกงก็กิโลฯ ละ 95 บาท ตามข่าวมันจะแพงกว่านครปฐมไงคะ พวกนอกๆ ค่าขนส่งก็จะแพงกว่า ค่าน้ำมันค่าอะไรก็เลยแพงกว่า ต้นทุนเลยสูงกว่า ก็เลยคิดว่าไม่มีผลกระทบอะไร การที่เขาออกมาควบคุมราคา จริงๆ ก็ไม่ได้ควบคุมอะไรนะ เนื้อหมูมันลงมาเอง เนื้อแดงมันไม่ออก ขายไม่ไป ราคามันเลยโหลด"

กัลยา แสงอรุณ เจ้าของเขียงหมูตลาดบางพลัด ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร บอกว่า แต่ละร้านราคาจะไม่เท่ากัน หมูที่ชำแหละแล้วรับมาตกกิโลกรัมละ 100 บาทหรือมากกว่า รับมาวันละ 20 กิโลกรัม ซึ่งตอนนี้ก็จำเป็นขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท

“กำไรไม่มากหรอก ถ้าขายหมดก็ตกหลายร้อยบาทแต่ไม่ถึงพัน มันแล้วแต่วันด้วย ถ้ารายย่อยกำไรก็มาก ถ้ารายใหญ่ซื้อทีหลายกิโลฯ เราลดให้กำไรก็น้อยลง ที่เขาให้ขายกิโลฯ ละ 100 จะขายมันก็ขายได้ เพียงแค่มันไม่คุ้ม คนเราทำงานขายของมันก็อยากได้กำไร ถ้าขายแล้วไม่เอากำไร...มันก็เหนื่อยเปล่า เรื่องควบคุมราคาหมูมันต้องไปคุมตรงคนกลางนะ ถ้ากดราคาหน้าฟาร์มแต่มาปล่อยแม่ค้าอย่างเราแพงๆ บวกค่านู่นค่านี่ อันนี้ต้องแก้ปัญหาด่วนเลย ราคาพอดีๆ มันน่าจะประมาณ ไม่ต่ำกว่า 120 บาทนะ ให้คนขายได้มีกำไรบ้าง”

ภาคเหนือ
นันทิตา ผดุงพนา แม่ค้าหมูตลาดต้นพะยอม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดใจว่า การกำหนดราคาดังกล่าวนั้นเป็นไม่ไปได้

“ขายหมูที่ตลาดมาได้ 3 - 4 ปีแล้ว ราคาตอนนี้อยู่ที่โลละ 130 ถ้าจะให้มาขาย 100 - 115 มันก็แล้วแต่ว่าคนที่เขาขายส่งจะลดราคาลงไหม เพราะเราก็รับมาอีกที ถ้าเขาไม่ลดเราก็ขายต่ำกว่านี้ไม่ได้หรอก มันต้องควบคุมมาตั้งแต่หน้าฟาร์มไม่ใช่มาบังคับกันที่ราคาหน้าเขียง แต่ถ้าจะบังคับจริงๆ จะไปทำอะไรได้ ถ้างั้นก็ต้องเลิกขายไปเลย เพราะถ้าขายไม่ได้กำไรจะขายไปทำไม”

แม้ทางกระทรวงพาณิชย์จะหวังใจว่า การควบคุมราคาจะส่งผลกระตุ้นพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน นันทิตา กล่าวว่าก็ไม่จริงเสมอไปเพราะอย่างตอนที่ราคาหมูพุ่งสุ่งกิโลกรัม 140 บาท ก็ยังมีคนบริโภคจำนวนมาก

“ส่วนเรื่องที่ว่าถ้าขายถูกแล้วคนจะมากินเพิ่มนั้น มันอาจจะไม่เกี่ยวกันหรอก ตอนนี้เศรษฐกิจมันไม่ดี มีคนซื้อน้อยลง แต่เมื่อก่อนนั้นสมัยที่เศรษฐกิจยังดีอยู่ ขายอยู่ที่โลละ 140 ก็ยังมีคนซื้อมากกว่านี้ จริงๆ เขาพยายามบังคับมาหลายรอบ ตั้งแต่สมัยหมูโลละ 140 แล้ว ซึ่งถ้าต้นทางหน้าฟาร์มเขาลดให้เรา เราจะขายราคาไหนก็ได้”

ภาคใต้
จิง ทองพันธุ์ เจ้าของเขียงหมูตลาดสดเทศบาลทับเที่ยง จังหวัดตรัง กล่าวว่าในตลาดรับหมูเนื้อแดงนั้นมากิโลกรัมละประมาณ 100 บาท จะขายกันตั้งแต่ราคา 100 - 130 บาท ส่วนในเรื่องราคาที่ควบคุมเข้ามาควบคุมนั้นถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ทางด้านผู้ขายก็คงตกที่นั่งลำบาก

“ถ้าพูดถึงว่าเป็นความเหมาะสมของผู้บริโภคหรือไม่..เหมาะสม แต่ในด้านความเป็นจริงมันไม่เหมาะสมเลย เพราะต้นทุนจะสูงกว่ามาก แต่สำหรับผู้บริโภคเป็นสิ่งดีแน่นอน ถ้าสามารถยืนราคานี้เป็นราคาที่ผู้เลี้ยงผู้ขายไม่ขาดทุนมันจะเหมาะสมกว่าเพราะบางทีต้องขายราคาทุนและขาดทุนด้วยบางครั้ง คือขายมันไม่ได้หมายความว่าจะขายดีทุกวัน และการแข่งขันมันก็มีเยอะด้วย แล้วยิ่งทำราคาหมูถูกผู้ขายมันจะมีมากขึ้น แต่เวลาหมูแพงผู้ขายจะลดลงเพราะสู้ไม่ไหวกับการเอามาขายและขาดทุน”

ภาคอีสาน
กัญญารัตน์ วงศ์วานิชกุล เขียงหมูตลาดย่าโม จังหวัดนครราชสีมา แจกแจงว่า รับหมูมาในกิโลกรัมละ 90-95 บาท และขายอยู่ในช่วงราคา 100-110 บาท ถึงแม้ภาครัฐจะไม่มีการควบคุมตนก็ขายในราคาดังกล่าวอยู่แล้ว

“เราพอได้กำไรเราก็ขาย คือให้มันพอขายได้ เพราะมันขายยาก ตลาดย่าโมจะขายกัน 110 บาท แต่ก็มีบางเจ้าก็ยังขาย 115-120 อยู่เลย ตอนนี้ถึงไม่บังคับเราก็ขายราคานี้ ลูกค้าเขาก็อยากได้ของถูก เจ้าไหนซื้อเยอะก็ลดให้ เอาพอไม่ขาดทุน”

อย่างไรก็ตาม ราคาหมูจะสูงหรือแพงนั้น สิ่งสำคัญก็ขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง กัญญารัตน์ กล่าว

“มีการบังคับราคาก็ดี ทางเจ้าของเขียงพวกเถ้าแก่เขาก็ต้องส่งเรามาถูกลง ทุกอย่างในเวลานี้มันขึ้นอยู่กับเถ้าแก่ ถ้าเขาไม่ลงก็ทำอะไรไม่ได้ คือบางทีเรารู้ว่าของมันลงแต่เขาไม่ลงให้ เรารับเขาไง เขายืนราคาอย่างนั้น”

ภาคตะวันตก
วิรัตน์ มงคลบุตร พ่อค้าเขียงหมูตลาดทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี บอกว่า ตอนนี้จำหน่ายหมูเนื้อแดงในราคา 120 บาท หากลูกค้าซื้อเยอะก็ลดลงเหลือ 115-110 บาท

“ที่นี่เรารับมาจากนครปฐมก็กิโลกรัมละ 100 บาท รับมาแค่วันละตัวเดียว เพราะเราขายเรื่อยๆ บางวันขายไม่หมดก็มี (ตัวหนึ่งตกประมาณ 100 กิโลกรัม) กำไร 5 บาท 10 บาท ต่อกิโลกรัม”

เขาเปิดเผยว่าหากจะให้ลดราคาลงมาที่ 105 - 155 บาท นั้นสามารถทำได้ แต่คงต้องไปควบคุมราคาหน้าฟาร์มกับพ่อค้าคนกลางให้ได้เสียก่อน

“ ถ้าจะขายราคานั้นมันก็ขายได้นะ แต่คือขายโดยที่ไม่เลาะหนังออก ไม่งั้นกำไรก็แทบไม่มี คือตอนนี้ที่เราขายอยู่ 120 บาทเนี่ย มันกำลังดีแล้ว ถ้าจะบังคับราคาผมว่าต้องไปบังคับที่หน้าฟาร์ม กับพวกพ่อค้าคนกลางที่เขาก็บวกราคาจากค่าขนส่งเพิ่ม
...........

ก็ยังไม่แน่ใจเท่าใดนักว่ามาตรการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ปล่อยมาเป็นระลอกๆ จะช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ การเล็งเห็นว่า ต้นทุนของสุกรหน้าฟาร์มจะค่อนข้างต่ำ แล้วมาคุมเข้มราคาขายกับผู้ค้ารายย่อยนั้นเป็นกระบวนการควบคุมที่ถูกต้องแล้วหรือ

เพราะดูเหมือนว่าคนที่สามารถกำหนดราคาหมูได้จริงๆ นั้นคือกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ซึ่งตรงนี้เองทาง ภาครัฐฯ ก็คงต้องไล่เบี้ยจัดการขั้นเด็ดขาดให้ได้เสียก่อนที่จะประกาศควบคุมราคา เพราะนั้นเท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมกลุ่มผู้ค้าปลีก
>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น