ข่าวไหนที่ว่าแรงว่าเด็ด มาตอนนี้ก็ต้องยอมหลีกทางให้ปฏิบัติการลับของนายกรัฐมนตรีที่มาการนัดพบกับนักธุรกิจหนุ่ม ภายใต้รหัส ว.5 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของภารกิจลับ ที่ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ เพราะแม้เวลาจะผ่านไปร่วมอาทิตย์แล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่???
แถมยังทำให้นักการเมืองไทยทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลเสียผู้เสียคนกันเป็นทิวแถว ตั้งแต่ 3 เกลอฝ่ายค้านจากรายการ ‘สายล่อฟ้า’ ที่พูดจาสองแง่สองง่ามจนถูกวิจารณ์เละว่า ประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับการนักการเมืองที่ดี หรือล่าสุดก็คนดังจากปากน้ำแห่งพรรคเพื่อไทย ประชา ประสพดี ที่กะจะโชว์พลังผู้แทนราษฎรพานักข่าวไปทัวร์ชั้น 7 แต่สุดท้ายทางโรงแรมกลับไม่อนุญาต เล่นเอาท่านผู้ทรงเกียรติถึงกลับเสียฟอร์มกันเลยทีเดียว
แต่ทว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสงสัยมากไปกว่านั้น ก็คือทำไมเหตุการณ์แบบนี้มันถึงเกิดขึ้นท่ามกลางโรงแรมหรูๆ เช่นนี้ด้วย เพราะต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ปรากฏการณ์โรงแรมหรูในสังคมไทยนั้นไม่ธรรมดา เพราะอยู่ในช่วงขาขึ้นสุดๆ แม้จะมีเหตุการณ์อะไรมากมายเกิดขึ้นก็ตาม ที่สำคัญบางครั้งก็มีคนนำเรื่องพวกนี้มาโยงใยในมิติการเมืองอีกต่างหาก
เพราะฉะนั้น งานนี้จำเป็นอย่างมากที่จะต้องขยายภาพให้เห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์นี้ของโรงแรมระดับ 5 ดาวในเมืองไทยไปไกลถึงไหน และมีอะไรลึกลับกว่าที่คิดหรือเปล่า
บูมจริง...บูมจัง
ต้องยอมรับว่า หากเอ่ยถึงคำว่า โรงแรมหรูหรือโรงแรมระดับ 5 ดาว หลายคนคงนับนิ้วกันไหวว่า เมืองไทยมีไม่กี่โรงแรมหรอก เท่าที่นึกออกก็มี ดุสิตธานี แมนดาริน โอเรียนเต็ล, ใบหยกสกาย ฯลฯ เพราะต้องยอมรับว่า โรงแรมที่จะมีคุณสมบัติสารพัด ไม่ว่าจะมีที่จอดรถไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนห้องพัก มีห้องพักสำหรับคนพิการไม่น้อยกว่า 2 ห้อง ขนาดห้องพักไม่เล็กกว่า 36 ตารางเมตร ไม่รวมห้องน้ำ ความสูงของห้องพักไม่ต่ำกว่า 2.40 เมตร ห้องพักทุกห้องมีมินิบาร์ มีเสียงเพลงในห้องน้ำ มีโทรศัพท์พ่วงในห้องน้ำ มีโทรทัศน์ไม่เล็กกว่า 25 นิ้ว มีฟิตเนสเซ็นเตอร์ มีอ่างน้ำวน มีสระว่ายน้ำ มีห้องสัมมนา มีระบบการประชุมทางไกล มีห้องสำหรับเด็กเล็กเล่น มีแพทย์ให้เรียกใช้บริการ 24 ชั่วโมง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการลงทุนที่สูงมาก
แต่ใครจะไปเชื่อว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โรงแรมหรูในเมืองไทยเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ทั้งในกลุ่มของนักลงทุนชาวไทยเอง และกลุ่มทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาร่วมมือกับกลุ่มทุนไทย เพราะกฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน
โดยข้อมูลจากนิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ฉบับเดือนกรกฎาคม 2553 ระบุว่า กลุ่มทุนไทยที่เข้ามาขยายธุรกิจโรงแรมอย่างชัดเจนมีเยอะมาก เช่น กลุ่มช้างของเจริญ สิริวัฒนภักดี ในนามบริษัท ทีทีซีแลนด์ จำกัดที่เข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงแรมพลาซ่า แอทธินี รวมไปถึงการเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการโรงแรมในเชียงใหม่อีกต่างหาก
ส่วนกลุ่มต่างชาติทั้งจากยุโรป อเมริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง เข้ามาเซ็นสัญญากับโรงแรมไทยแล้วปรับเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนชื่อ และเป็นการบริหารเสียใหม่ โดยผลิตออกมาในลักษณะโรงแรมเครือข่าย (Chain hotel) คือชื่อเหมือนกับโรงแรมในต่างประเทศ อย่างโฟร์ซีซั่นส์ ซึ่งก็เป็นต้นกำเนิดมาจากประเทศแคนาดา โดยว่ากันว่าที่ผ่านมาแบรนด์มีมากกว่า 15 ชื่อ และแต่ละชื่อมีมากกว่า 1 โรง อย่างกรณีของโฟร์ซีซั่นส์ก็มีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และเกาะสมุย
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเป้าหมายหลักในการโกยเงินเข้าประเทศยังอยู่ที่การท่องเที่ยว ซึ่ง ดร.เสรี วังส์ไพจิตร คณบดีคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ในปีที่ผ่านมาไทยมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 19 ล้านคน และในปีนี้น่าจะไต่ระดับมาถึง 20 ล้านคนได้ไม่ยาก ประกอบกับต้องยอมรับว่า ในอีกไม่กี่ปีนี้กลุ่มอาเซียนจะรวมตัว ซึ่งแน่นอนว่า หากไม่มีปัญหาภายในอย่างที่เป็นอยู่ เช่น การชุมนุมทางการเมือง การก่อวินาศกรรม ก็ย่อมจะขยายมากขึ้นกว่านี้ไปอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่า ทำไมยุคนี้ธุรกิจนี้จึงขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนมันจะดึงดูดต่างชาติ โดยเฉพาะแบรนด์โรงแรมใหญ่ๆ ให้อยากให้เข้าทำธุรกิจในประเทศไทยอีกด้วย
“เดี๋ยวนี้เท่าที่ทราบนี่กิจการใหญ่ๆ เท่าที่ทราบนี่ก็จะมีกิจการใหญ่ๆ ระดับ Chain hotel เข้ามาดูแลอยู่เยอะแยะไปหมด เกือบจะทั้งหมดก็ถูกบริหารจัดการโดยโรงแรมใหญ่ๆ ระดับโลก ซึ่งกลุ่มพวกนี้จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจนี้ เพราะเขามีประสบการณ์ในการทำงานสูง แล้วก็มีเครือข่ายในด้านของการตลาดอยู่เยอะมาก”
หาจุดเด่นสำคัญสุดๆ
เมื่อทิศทางของโรงแรมหรูในเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลง การแข่งขันก็ย่อมเยอะขึ้นเป็นธรรมดา แน่นอนหากจะอาศัยการป่าวประกาศว่าเป็นโรงแรม 5 ดาว สำหรับยุคนี้คงไม่เพียงพอซะแล้ว
โดยแหล่งข่าวจากวงการโรงแรมที่เชี่ยวชาญด้านภาพลักษณ์ของธุรกิจโรงแรม ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อบอกว่า การหาจุดขายถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่โรงแรมหรูในปัจจุบันต้องตามให้ทัน อย่างโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ซึ่งเป็นข่าวถือเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่บรรดานักธุรกิจและนักการเมืองชอบไปคุยเกี่ยวกับความลับทางธุรกิจหรือทางการเมืองมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะโรงแรมนี้เน้นที่ความหรูหรา มีการบริการที่เป็นสากล เพราะมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก เช่นเดียวกับการบริหารงานแม้เจ้าของจะคือ เครือไมเนอร์กรุ๊ป แต่ก็มีนำทีมจากต่างประเทศอย่างโฟร์ซีซั่นส์ ซึ่งมีประสบการณ์มากมายเข้ามาช่วย และที่สำคัญ ด้วยการวางตัวเป็นโรงแรมระดับสูง ฉะนั้นที่นี่จะไม่แจกส่วนลดอะไรให้แก่ใครทั้งสิ้น หรือแจกเฉพาะที่จำเป็น เสมือนเป็นการรักษาบริการเอาไว้ให้คนระดับชนชั้นนำที่มีฐานะเท่านั้น
“โฟร์ซีซั่นส์มีทั้งลักษณะโรงแรมและลักษณะรีสอร์ต คือในบ้านเรานั้นโรงแรม 5 ดาวที่มีเครือข่ายที่เป็นสากลมันก็มีอยู่หลายแห่ง แต่ละอันก็มีจุดเด่นต่างกันไป อย่างไฮแอท เอราวัณ กับโฟร์ซีซั่นส์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ภาพพจน์แตกต่างกันพอสมควร โดยโฟร์ซีซั่นส์มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยกว่าโรงแรม 5 ดาวอื่นๆ ในละแวก แล้วอาหารการกินก็จัดได้ว่าดีสามารถรองรับแขกได้ โดยที่ผ่านมาที่นี่มีการจัดงานเวิลด์ กรูเมต์ ที่เอาเชฟดังๆ ระดับโลกมาทำอาหารให้แขกได้กินทุกปี ดังนั้นนอกจากเรื่องของความสวยงามของห้องและสิ่งก่อสร้าง บริการที่ดีแบบมาตรฐานสากลแล้ว เรื่องอาหารก็เด่นมาก
“ส่วนในย่านเดียวกัน เช่น ไฮแอท เอราวัณนั้นพยายามจะแข่งอยู่เหมือนกัน แต่สู้ไม่ได้เพราะคนไม่ค่อยนิยม ถัดไปอีกก็เป็นอินเตอร์คอนติเนตัล เป็นพวกโรงแรมห้องเยอะแต่ไม่มีจุดเด่นเป็นพิเศษ ส่วนฮิลตันก็มีชื่อเสียงไม่แพ้โฟร์ซีซั่นส์หรอก คือที่นี่เขาจะพยายามรักษาแขกของเขาไว้ตลอด มีฮิลตัน เวิลด์ไวด์ คือประมาณว่าจะไปที่ไหนในโลก ถ้าพักฮิลตันก็จะได้รับมาตรฐานเดียวกัน”
เช่นเดียวกับ โรงแรมหรูอื่นๆ อย่างโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ก็จะเป็นที่นิยมมากสำหรับการจัดงานเลี้ยงหรืองานแต่งงาน เพราะมีบรรยากาศที่ดี ติดแม่น้ำ มีรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งพอมีงานเข้าไปจัดก็จะโดดเด่นขึ้นมาทันใด โดยเฉพาะห้องออเทอร์เลานจ์ ซึ่งว่ากันที่น่าสวยมาก แต่ในทางกลับกันก็จะไม่ใช่ที่นี่เป็นที่ประชุมสัมมนาหรือการคุยธุรกิจ เพราะโรงแรมไม่ได้ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง การเดินทางไปมาก็อาจจะไม่สะดวกมากนัก
แต่ถ้าเป็นสมัยที่โรงแรมแบรนด์ต่างชาติยังไม่เข้ามาไทยมากนัก โรงแรมที่จะถูกใช้มากก็คือ พวกโรงแรมไทยนั่นเอง โดยแหล่งข่าวยกตัวอย่าง โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเมื่อก่อนพวกนักธุรกิจหรือนักการเมืองจะเข้ามาพบที่นี่บ่อยมาก เพราะถือว่าหรูที่สุดในประเทศ ฉะนั้นจึงพออนุมานได้ว่า การจะนัดพบหรือการติดต่อประสานงานใดๆ ระดับเกรดของสถานที่ก็น่าจะเป็นจุดประสงค์สำคัญที่คนพวกนี้เลือกใช้
โรงแรมหรูท่ามกลางนัยทางการเมือง
เห็นรูปแบบการใช้โรงแรมของคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง และเห็นถึงการเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่จำนวนไม่น้อยในธุรกิจโรงแรมกันไปแล้ว แม้ตัวอย่างกลุ่มของเจริญยกมาอาจจะยังไม่ชัด แต่ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้ สมัยที่ธุรกิจนี้ยังไม่บูมมากก็จะพบว่า มีตระกูลใหญ่ๆ ไม่น้อยเข้ามาจับธุรกิจนี้ เช่น ตระกูลชินวัตร ที่มีซื้อโรงแรมเดอ วิว จาก พีระพงษ์ ถนอมพงษ์พันธ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมเอสซีปาร์ค ตั้งแต่ปี 2541 หรือวิชัย รักศรีอักษร จากกลุ่มคิงเพาเวอร์ ก็มีธุรกิจโรงแรมพลูแมน เช่นเดียวกับไพวงษ์ เตชะณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็มีธุรกิจโรงแรมโบนันซ่า เขาใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้ามองเผินๆ เรื่องโรงแรมกับการเมืองย่อมมีความสัมพันธ์กันไม่มากก็น้อย
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ในทางตรงนั้นมีไม่มากนัก เพราะกลุ่มทุนใหญ่ๆ มักจะมีผลในทางอ้อมมากกว่า อย่างการให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมบ้าง ซึ่งก็ถือเป็นการผูกสัมพันธ์ตามระบบวิธีคิดแบบการเมืองไทยทั่วไป ส่วนคนที่มีธุรกิจโดยตรง ส่วนใหญ่จะเข้ามาเพราะมีความผูกพัน หรือสนใจส่วนตัวมากกว่าการตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจ
“สำหรับเมืองไทยกลุ่มทุนก็ต้องแทงกั๊กเป็นธรรมดา แต่ต้องยอมรับว่าความเกี่ยวพันกับการเมืองมีน้อย เพราะธุรกิจโรงแรมไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทางการเมืองมากเท่าใด ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มอื่นอย่างก่อสร้าง ขณะที่กลุ่มที่เข้ามาโดยตรง ผมเชื่อว่าเป็นเพราะชอบมากกว่า หรือไม่อาจจะเป็นเพราะต้องการต่อยอดธุรกิจมากกว่า โดยเราสังเกตได้ว่าเจ้าของโรงแรมมักทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือบางคนก็อยากลงทุน เช่น กรณีของคุณทักษิณ (ชินวัตร) ที่ซื้อโรงแรม ก็อาจจะเป็นเพราะเขามีเงินเยอะ ก็เลยทำหลายๆ อย่าง แต่อย่างว่า เมื่อคุณเป็นนักการเมืองแล้ว ตัวเองก็มีโรงแรม หากจะคุยหรือพบปะกันก็มาคุยกันที่นี่”
เพราะฉะนั้น หากวิเคราะห์ตามคำพูดของผู้เชี่ยวชาญก็พอสรุปได้ว่า ผลทางการเมืองก็คือผลพลอยได้จากการประกอบธุรกิจนั่นเอง และตัวอย่างก็มีให้เห็นมากมาย เช่น การจัดประชุมของพรรคเพื่อไทยที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าเจ้าของสถานที่เป็นผู้ใหญ่ในพรรค หรือแม้แต่ตอนที่พระอริสมันต์ ฐิตมนฺโต หนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ในช่วงการปราบปรามกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ด้วยการปืนตึกของโรงแรมเอสซีปาร์ค ก็สะท้อนได้อย่างดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อนุญาตให้ลูกน้องเข้ามาใช้พื้นที่ของตัวเองเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ที่มองว่าการที่กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจโรงแรมในเมืองไทยมากขึ้นจะสะท้อนนัยทางการเมืองหรือเปล่านั้น รศ.ดร.สมชายก็ยืนยันว่าคงไม่แน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มอเมริกาและยุโรป เพราะโดยปกติเวลาอยู่ในสังคมของตัวเอง พวกนี้จะพยายามตีตัวออกห่างการเมือง เพราะประชาชนจะไม่ไว้ใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
“ในเมืองนอกจะไม่มีเลยว่า โรงแรมนี้เป็นของพรรคไหน เพราะเขากลัวข้อครหาของผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีอะไรอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง และที่ยิ่งไปกว่านั้นบางประเทศ ประธานาธิบดีต้องลาออกด้วยเหตุผลว่า ไปใช้โรงแรมแล้วได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษจากเจ้าของโรงแรม เพราะฉะนั้น มันจึงสะท้อนในเรื่องจริยธรรมการเมืองเขาไม่มีปัญหา เพราะความเชื่อมโยงทางธุรกิจแทบตัดไปได้เลย”
ฉะนั้นพอไปลงทุนในต่างประเทศอย่างเมืองไทยจึงไม่ได้เกี่ยวพันมากนัก และถ้าเกิดถูกตรวจสอบพบว่ามีความเกี่ยวข้องกัน ตัวบริษัทก็จะถูกประเทศแม่ลงโทษ เพราะตรงนี้เขามีกฎไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่งที่มีข่าวว่า เจ้าของธุรกิจไปให้เงินแก่ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ชาวอเมริกันคนนั้นก็ถูกรัฐบาลลงโทษอย่างรุนแรง เพราะการทำแบบนี้จะช่วยเรื่องต้นทุนของบริษัทมากขึ้น
..........
แม้เหตุเกิดที่โฟร์ซีซั่นส์จะมีหรือไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ในต้องยอมรับว่า ในทางหนึ่งเรื่องของโรงแรมก็สะท้อนอะไรได้มากมายเต็มไปหมด เอาง่ายๆ แค่วิธีคิดหาโรงแรมว่าจะพูดคุยกันที่ใด แค่นี้ก็บอกได้แล้วว่า ค่านิยมของคนในสังคมโดยเฉพาะคนใหญ่คนโตนั้นเป็นเช่นใด
>>>>>>>>>>
............
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ